กรุงเทพฯ – องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมอบรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2562 โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมส่งผลงาน ซึ่งผลการตัดสินมีสื่อมวลชนประเภทสื่อออนไลน์ที่ได้รับรางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่ เว็บไซต์บีบีซีไทยจากการนำเสนอรายงานข่าวเรื่อง “แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล” และเว็บไซต์ 101.world จากการนำเสนอเรื่อง “ประเทศไร้ใบหน้า ผู้คนไร้แผ่นดิน ตามหาความเป็นมนุษย์ในคำว่า ชาติ” 

ตัวแทนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ดขึ้นรับรางวัลชมเชยสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี 2562 จากองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับรางวัลชมเชยจากการนำเสนอข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ 4 รางวัล ประกอบด้วย เว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ดจากการนำเสนอเรื่อง “ค้านเหมืองแร่โพแทชเมืองสกลฯ ชัยชนะที่รอวันสิ้นสุด” เว็บไซต์เดอะอีสานเด้อ นำเสนอเรื่อง “นิตยา ม่วงกลาง: ฉากและชีวิตของผู้ยากไร้ในอุทยานไทรทอง” เว็บไซต์ประชาไท นำเสนอเรื่อง “สิ่งที่เราเห็นแล้วรีบเดินผ่าน…ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน อยู่อย่างไร ใครดูแล” และเว็บไซต์ Pepporoni News จากการนำเสนอเรื่อง “จากตำรวจในสงครามยาเสพติดสู่ชีวิตนักโทษประหาร” 

ส่วนรางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวไม่เกิน 20 นาที) ปรากฎว่า สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ได้รางวัลดีเด่นจากการนำเสนอเรื่อง “SLAPP ฟ้องปิดปาก ปิดเสียง” ส่วนประเภทสารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที) มีผู้ได้รับรางวัลดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่ รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากการนำเสนอเรื่อง “ดีเอ็นเอ ซิมการ์ด ปฏิบัติการสองแพร่ง” และสถานีโทรทัศน์พีพีทีวีเอชดี 36 จากการนำเสนอเรื่อง “การกลับมาของบิลลี่”

สุชาณี รุ่งเหมือนพร อดีตนักข่าววอยซ์ทีวีผู้ถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทจากการนำเสนอข่าว ขึ้นกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม: Journalism is not a crime”

หลังประกาศผลรางวัล สุชาณี รุ่งเหมือนพร อดีตนักข่าววอยซ์ทีวีผู้ถูกฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทจากการนำเสนอข่าว ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม: Journalism is not a crime” เธอกล่าวว่า ในวันที่เข้าฟังคำพิพากษาที่จังหวัดลพบุรี เธอไม่คิดว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นแบบนี้ ด้วยเพราะเชื่อมั่นมาตลอดในฐานะสื่อมวลชนว่า การรายงานข่าวที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน 

“ตอนที่ผู้พิพากษาตัดสิน ดิฉันไม่ทันต้ังตัว หัวใจของดิฉันในฐานะนักข่าวคนหนึ่งก็แทบแตกสลาย ตอนรอประกันตัวก็ถูกนำตัวไปอยู่ห้องขังหรือในคุกนั่นเอง ซึ่งทนายความบอกว่า อาจจะได้นอนคุกถ้าประกันตัวไม่ทัน หลังถูกตัดสินคดี รู้สึกผิดหวังกับตัวเองและรู้สึกแย่มาก อยากขอโทษสื่อมวลชนทุกคนที่ทำเกิดความหวาดกลัวในวงการ” สุชาณีกล่าว 

หลังถูกตัดสินคดี อดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีเคยถามตัวเองว่า เธอควรเลิกเป็นนักข่าวไหม แต่หากเลิกเป็นนักข่าว สังคมจะอยู่อย่างไร นอกจากนี้การเป็นแม่ของลูกชายวัย 9 เดือน ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้องอดทน 

“ต่อจากนี้ ดิฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ได้แต่ภาวนาว่ามันจะไม่แย่ไปกว่านี้ หลังจากถูกฟ้องก็รู้สึกโดดเดี่ยว จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องสื่อมวลชนมาร่วมกันต้ังองค์กรสื่อที่พร้อมจะสู้เพื่อพวกเราและปกป้องจิตวิญญาณสื่อ” 

image_pdfimage_print