1

O-NET วัดอะไรในตัวเด็ก

ภาพปกจาก เว็บสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

กานดา ประชุมวงค์ เรื่อง 

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันสอบ O-NET (Ordinary National Education Test) ซึ่งเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนชั้น ป.6  ม.3 และ ม.6 เป็นการประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 

ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 นั้น กำหนดการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ไว้ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ ซึ่งการวัดประเมินผลระดับชาติก็วัดโดยการสอบ O-NET

ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ประกาศตารางสอบ O-NET ประจำปีการศึกษา 2562 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดการสอบอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งในระดับชั้น ป.6 จะสอบวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 และประกาศผลสอบวันที่ 25 มีนาคม 2563 

ส่วน ม.3 จัดสอบระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2563 และประกาศผลสอบวันที่ 26 มีนาคม 2563 และ ม.6 สอบระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2563 และประกาศผลสอบวันที่ 27 มีนาคม 2563

หากพูดถึงการสอบ O-NET ใครที่เคยทำงานในโรงเรียนหรือใครที่เรียนจบมาแล้ว คงจะจินตนาการได้ไม่ต่างกันว่า ช่วงเดือนธันวาคมจนถึงวันสอบวัดประเมินผล O-NET ของทุกปี การศึกษาจะเป็นช่วงของการจัดติวเข้มให้นักเรียนในแต่ละระดับชั้นที่ต้องสอบเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทาง O-NET 

หลังจากประกาศผลสอบ นักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงสุดหรือได้คะแนนเต็ม ทางโรงเรียนก็มักจะจัดทำป้ายไวนิลติดไว้หน้าโรงเรียนเพื่อแสดงความยินดี

เมื่อปีการศึกษา 2558 ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ปรับลดการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และอังกฤษ 

แต่ปีการศึกษา 2560 ได้ปรับให้นักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ให้สอบเพียง 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอังกฤษ ทว่านักเรียนชั้น ม.6 ยังคงสอบ 5 กลุ่มสาระตามเดิม

นักเรียนที่จะต้องทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาตินั้นจัดว่าอยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในปีการศึกษา 2556-2560 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีจำนวนนักเรียนที่ศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีช่วงอายุ 3-17 ปี ดังนี้

ตารางแสดงจำนวนนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานปีการศึกษา 2556-2560 ข้อมูลจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

“เด็กที่นี่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม อาศัยอยู่กับตายาย ถามว่าข้อสอบ O-NET วัดอะไรเด็กได้ไหม ไม่น่าจะได้หมด เพราะว่าเด็กแต่ละที่แตกต่างกัน” พรรณีกล่าวและว่า “เด็กบ้านนอก ถ้าได้คะแนนดีขึ้นหน่อย ครูก็ดีใจแล้ว เนี่ยใกล้จะสอบแล้ว เขายังสนใจเรื่องอื่นอยู่เลย” เธอกล่าวจบแล้วชี้ไปที่กลุ่มนักเรียนชายที่กำลังเตะฟุตบอลกันอย่างเมามัน 

“พวกเขาไม่ได้มาโรงเรียนเพื่ออ่านหนังสือ ทั้งที่ใกล้จะ Pre O-NET แล้ว เขาไม่ได้คิดว่าคะแนนเหล่านี้จะสำคัญกับชีวิตขนาดนั้น สิ่งที่สำคัญสำหรับเขาคือ วันนี้จะมีอะไรกินไหม กลับไปยายจะด่าเขาไหม ยายจะต้องให้เขาทำอะไรไหม นี่คือสิ่งที่เขาคิดแล้วก็เอาตัวรอดไปวันๆ” พรรณีกล่าวอย่างเข้าใจธรรมชาติของเด็กนักเรียน 

สุพรรณี กลางมณี ครูชำนาญการพิเศษ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

สิ่งที่ครูชำนาญการพิเศษคนนี้กังวลคือ ผลสอบ O-NET จะส่งผลต่อการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา ซึ่งประเมินโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยงจะมาประเมินอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุกๆ 5 ปี 

“หากนักเรียนมีคะแนนสอบได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรือน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ ทางโรงเรียนก็มีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านการประเมิน และก็จะส่งผลให้ทางโรงเรียนต้องกลับมาเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อปรับปรุงให้ผ่าน ทำให้ครูต้องยุ่งเรื่องเอกสารกระทั่งไม่มีเวลาสอนหนังสือ” เธอบอกอย่างหนักใจ 

นักเรียนชายที่มักใช้เวลาเล่นฟุตบอลหลังเลิกเรียนมากกว่าการติวหนังสือเพื่อเตรียมสอบวัดผล

ประเด็นนี้ สิทธิชาติ สมตา และพรพินันท์ ยี่รงค์ ได้ศึกษาเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ชายแดน” อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยพบว่า ความไม่เท่าเทียมเป็นบ่อเกิดแห่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

นักวิชาการทั้งสองคนพบว่า ปัจจัยของตัวผู้เรียนที่มีผลต่อผลการเรียนประกอบด้วย อายุ เพศ การทบทวนบทเรียน การมาโรงเรียนสาย การร่วมแข่งขันและการเป็นตัวแทนของโรงเรียน ส่วนปัจจัยจากครอบครัว ได้แก่ เบี้ยเลี้ยงประจำวัน ลักษณะการเดินทางการขอค้าปรึกษา และการได้รับรางวัล/คำชมเชย  

ส่วน นพรัตน์ ใบยา ได้ศึกษาเรื่อง “การประเมินความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษา” โดยพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ นักเรียนและครอบครัว โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนของผู้ปกครอง ส่วนครูพบว่า คุณภาพการจัดการเรียนเป็นเรื่องสำคัญ 

“ควรมีการวัดผลประเมินผลอย่างหลากหลาย” ผลวิจัยระบุ 

จะเห็นว่าระบบการศึกษาไทยยังคงเป็นไปในรูปแบบของการแข่งขันเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการสอบ O-NET, NT (National Test) หรือ การสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นการสำรวจระดับนานาชาติทุก 3 ปี เพื่อประเมินระบบการศึกษาทั่วโลก ส่งผลให้การบริหารในโรงเรียนของแต่ละแห่งพยายามสร้างให้ตัวเองโดดเด่น มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับนับถือแก่ผู้ปกครองและผู้เรียน  

จากการกล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยังผลให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาเป็นทอดๆ