Staffan Herrström เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พูดคุยถึงมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนของสวีเดนกับนักศึกษา นักกิจกรรม และสมาชิกชุมชนท้องถิ่นในงานเทศกาลสิทธิมนุษยชนอีสานครั้งที่ 10 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2562
ในเทศกาลสิทธิมนุษยชนอีสานครั้งที่ 10 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี Staffan Herrström เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนร่วมพูดคุยกับตัวแทนคนอีสาน นักวิชาการ นักกิจกรรม และนักศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคอีสานและประเทศไทย
เสาวนีย์ อเลกซานเดอร์ จากคณะศิลปศาสตร์ เป็นผู้ซักถามท่านทูต Herrström เกี่ยวกับประสบการณ์ของประเทศสวีเดนและการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
เสาวนีย์: อยากให้ท่านอธิบายให้ฟังว่าชาวสวีเดนมีมุมมองเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร
Herrström: อย่างแรกเลย ผมคิดว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องที่ถ้าคุณไปถามคนสวีเดนว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร หลายคนจะบอกว่าสิ่งแรกที่คิดถึง คือ การมีเสรีภาพในการแสดงออก เพราะสิ่งนี้เป็นส่วนประกอบขั้นพื้นฐานในสังคมของเราและในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก อีกทั้งยังลงรากฐานมายาวนานในสังคมสวีเดน เมื่อ 2-3 ปีก่อนสวีเดนได้จัดงานรำลึกการครบรอบ 250 ปีแห่งการออกกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อ
อย่างที่สอง คือ ผมคิดว่ามีการกล่าวถึงการมีส่วนร่วมค่อนข้างมากในฐานะของส่วนประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในประวัติศาสตร์ของสวีเดนได้มีการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นขึ้นเพื่อแทนที่รัฐบาลกลางที่ปกครองประเทศเมื่อกว่าสองศตวรรษก่อนขึ้น สิทธิของประชาชนในการปกครองท้องถิ่นของตนเองกลายมาเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของประเทศของเรา
สิทธิสตรีและสิทธิของกลุ่ม LGBTI (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender/Transsexual and Intersexed – เลสเบียน เกย์ ไบเซกซ์ช่วล ทรานสเจนเดอร์/ทรานสเซกซ์ช่วล และอินเตอร์เซกซ์-หมายเหตุ) มีความก้าวหน้ามากในชั่วชีวิตของผมที่ได้เห็นมา หากถามคนสวีเดน น้อยคนจะคิดว่าผู้หญิงยังไม่มีความเท่าเทียมทางเพศในสังคมอย่างเต็มตัว แต่สำหรับสิทธิความเท่าเทียมทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ตัวอย่างสุดท้าย คือ เมื่อคนสวีเดนและชาวยุโรปชาติอื่นเป็นผู้บริโภค พวกเขาจะให้ความสำคัญมากกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืน สิ่งนี้มีอิทธิพลต่อประเทศอื่นด้วย คนสวีเดนให้ความสำคัญกับการมีทางเลือกในการบริโภคโดยอาศัยข้อมูลเพื่อปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน
“การได้เห็นความกล้าหาญของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทุกคนที่ผมได้พบในประเทศต่าง ๆ ทั้งแทนซาเนีย โปแลนด์ เวียดนาม และลาว ผมรู้สึกตื้นตันกับความทุ่มเท พลังงานและความกล้าหาญของพวกเขา” เอกอัครราชทูตสวีเดน Staffan Herrström: ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
เสาวนีย์: ท่านเคยเห็นตัวอย่างการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสร้างสรรค์ ที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ว่าที่ใดในโลกนี้มั้ยคะ
Herrström: ก็อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาว่าเมื่อผมพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในฐานะนักการทูต ผมมักจะพยายามไม่สร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลหรือกลุ่มต่างๆ ในประเทศที่ผมประจำการอยู่ ซึ่งวิธีนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่สร้างสรรค์ แต่เราก็มักจะย้ำเสมอว่าเราไม่ได้สนใจในหัวข้อต่างๆ เพราะเป็นการปฏิบัติของประเทศสวีเดน แต่สิ่งนี้ถือเป็นหลักการปฏิบัติสากลด้วย ซึ่งเป็นหลักการที่เราให้การยอมรับในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ผมมักจะยกตัวอย่างประสบการณ์ในประเทศสวีเดน เช่น เรื่องของการออกกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อเมื่อ 250 ปีก่อนตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงกฎหมายที่ก้าวหน้ามากเกี่ยวกับสิทธิของสาธารณะในการเข้าถึงข้อมูล เช่น ในหน่วยงานสรรพากรของสวีเดนหรือสำนักนายกรัฐมนตรีของสวีเดน เอกสารต่างๆ ของหน่วยงานเหล่านี้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะทั้งสิ้น ยกเว้น บางกรณีแต่ก็น้อยมากๆ
ผมไม่ได้มีหน้าที่ไปบอกว่าประเทศอื่นว่า ควรเลียนแบบประเทศสวีเดน แต่ก็สามารถนำตัวอย่างเหล่านี้ไปเป็นแรงบันดาลใจได้
ผมมักจะคิดหาวิธีเข้าหาประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในแบบที่ไม่สามารถมองได้ว่า เป็นความขัดแย้ง ผมคิดว่าภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นการนำไปสู่การพูดคุยในเรื่องสิทธิเหนือที่ดิน สภาพแวดล้อมและสิทธิแรงงาน ประเด็นเหล่านี้ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเท่านั้น แต่เกี่ยวกับภาคธุรกิจ ผู้บริโภคและภาคประชาสังคมด้วย
นี่คือ (ยกหนังสือขึ้นให้ผู้ฟังได้เห็น) สิ่งที่เราเสนอไปยังยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ-หมายเหตุ) ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศและแผนธุรกิจ คุณสามารถถามไปยังรัฐบาลได้ว่า “เอาล่ะ เรามีแผนนี้แล้ว แล้วเราจะทำอะไรบ้าง”
เสาวนีย์: ในฐานะที่เคยเดินทางมาหลายประเทศและเคยเห็นวัฒนธรรมที่ต่างกัน เมื่อพบเห็นการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ท่านประหลาดใจกับเรื่องใดมากที่สุด
Herrström: ความประหลาดใจด้านบวก คือ การได้เห็นความกล้าหาญของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทุกคนที่ผมได้พบในประเทศต่างๆ ทั้งแทนซาเนีย โปแลนด์ เวียดนาม และลาว ผมรู้สึกตื้นตันกับความทุ่มเท พลังงานและความกล้าหาญ และการไม่ยอมแพ้แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากของพวกเขา ผมอาจจะไม่ควรรู้สึกประหลาดใจ แต่ผมก็ประหลาดใจและรู้สึกถ่อมตนมากเวลาพบพวกเขา โลกต้องการคนประเภทนี้มากขึ้น
ส่วนความประหลาดใจด้านลบ คือ สิ่งที่เราพบเห็นในช่วงที่ผ่านมาเป็นแนวโน้มของการหดตัวลงของพื้นที่ภาคประชาสังคม โดยรัฐบาลในหลายประเทศเป็นเผด็จการ มีการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ เพราะหลายคนคิดว่าอย่างน้อยในช่วงทศวรรษ 1990 โลกกำลังมุ่งไปสู่การเคารพหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มันน่าเศร้าแต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงานหนักขึ้นเพื่อให้สิทธิมนุษยชนได้รับการเคารพ
เสาวนีย์ อเลกซานเดอร์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวกับผู้เข้าร่วมงานเป็นภาษาอีสาน ระหว่างแปลและอธิบายประเด็นที่ท่านทูตสวีเดนกล่าวถึง ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
เสาวนีย์: อะไรคือทักษะและคุณลักษณะที่ควรมีในตัวเราที่จะทำให้เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
Herrström: ผมคิดถึงคุณลักษณะ 2-3 ประการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หมายถึงความสามารถในการมองเห็นตัวเองในสถานการณ์ของผู้อื่น ซึ่งหมายถึงคุณจะหยุดและคิดว่า “มันอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้” ที่เราอาจจะเกิดมาเป็นคนไร้รัฐ มันอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ที่เราจะถูกจองจำและไม่สามารถติดต่อกับใครได้เลย มันอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ที่โดนปิดปากเพียงเพราะแสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมหรือการละเมิดอะไรก็ตามที่เราเห็นอยู่
และอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ความเคารพ ความสามารถและความเต็มใจในการรัปฟังผู้อื่น โดยไม่ได้มองว่าเป็น “ตัวเรา” หรือ “พวกเรา” แต่พุ่งความสนใจไปยัง “ตัวคุณ” และ “พวกคุณ” ผมได้ทำสิ่งเหล่านี้ที่นี่ ผมพยายามฟังและเรียนรู้จากการมาเทศกาลสิทธิมนุษยชนแห่งนี้ ซึ่งทำให้ผมเปิดใจรับรู้แง่มุมต่างๆ มากขึ้น