ภาณุพงศ์  ธงศรี เรื่องและภาพ 

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกันอย่างคับคั่ง ถือเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา 

ปรากฏการณ์นี้อยู่ในความสนใจของ ผศ.วินัย ผลเจริญ นักวิชาการจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ผู้ศึกษาการเติบโตของพลังของคนรุ่นใหม่ในอีสาน “ภาณุพงศ์  ธงศรี” มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการคนนี้ช่วงบ่ายวันหนึ่ง 

ผมเริ่มต้นคำถามแรกว่า มองการเคลื่อนไหวของนักศึกษาคนรุ่นใหม่อย่างไร

อาจารย์วินัยฟังคำถามแล้วนิ่ง เสมือนกำลังครุ่นคิด ก่อนตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ถ้าย้อนไปในอดีต เวลามีการเคลื่อนไหวระดับประเทศ มักจะเริ่มที่กรุงเทพฯ ก่อน จากนั้นนิสิตนักศึกษาในภาคอีสานจึงร่วมเคลื่อนไหว 

อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่จังหวัดมหาสารคามก็มีนิสิตเคลื่อนไหว รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมรดกตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ เพราะเป็นการกระจายการศึกษาสู่ภูมิภาค มหาวิทยาลัยในภาคต่างๆ ก็เป็นฐานที่ทำให้มีนักศึกษาไปเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งเป็นคราว

หากมองตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ติดตามจากข่าว ก็มีนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดมหาสารคาม อุบลราชธานี และขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อยู่และมีจัดการเรียนการสอนทางด้านรัฐศาสตร์ ผมคิดว่านิสิตนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเหล่านี้เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดกิจกรรม

“การเคลื่อนไหวที่จำกัดโครงสร้างอำนาจด้วยกฎหมายจึงกดไม่ให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ แสดงออกได้ไม่เต็มที่” เขาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่กดทับนักศึกษา 

ถามว่ามีการแสดงออก มีการเคลื่อนไหวไหม ก็ต้องบอกว่า มี ส่วนระดับที่ถึงขั้นส่งผลกระทบนั้น ต้องบอกว่าจำนวนคนที่เข้าร่วมอาจจะยังไม่มาก

วันแรกของการรัฐประหารปี 2557 มีนิสิตจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มมส. รวมตัวกันทำป้ายผ้าที่มีข้อความต่อต้านการรัฐประหาร แล้วนำป้ายผ้าไปติดตามตลาดน้อย หน้ามหาวิทยาลัย หอนาฬิกาในเมือง ซึ่งตอนนี้ก็มีทหารมากันเยอะ

ถ้าผมจำไม่ผิดนะ แม้การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ก็ยังมีทหารเข้ามาติดตามความเคลื่อนไหว ด้วยข้อจำกัดแบบนี้ ทำให้นิสิตนักศึกษาที่อยากจะเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งกล้า ส่วนหนึ่งก็ไม่กล้า

วินัย ผลเจริญ นักวิชาการจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) อธิบายถึงการใช้อำนาจหลังรัฐประหารกดทับไม่ให้นักศึกษาแสดงออกทางการเมือง 

เมื่อพูดคุยถึงตรงนี้ทำให้รู้ว่า การเคลื่อนไหวของนิสิตในแต่ละภูมิภาคเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ผมจึงถามต่อถึงบทบาทของนิสิตที่มีต่อการเมืองในมหาวิทยาลัยลดหายไปหรือไม่  

อืม… ก็มีหลายอย่างประกอบกัน โครงสร้างอำนาจที่กดไว้ก็มีส่วนทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่กล้า ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องสภาพสังคมที่อยู่ในยุคสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ การรับรู้จึงกระจัดกระจายทำให้คนแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างกัน แต่เรื่องการเมืองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่นิสิตนักศึกษาสนใจ 

ส่วนนิสิตนักศึกษาที่ไม่สนใจการเมือง ก็มีมากเช่นกัน โดยพวกเขาก็สนใจในสาขาวิชาที่เรียน หากสนใจข่าวก็อาจจะเป็นข่าวบันเทิง ข่าวสังคม ข่าวซุบซิบ หรือแม้แต่การติดตามละคร เป็นต้น 

“ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยทีเดียวไม่ได้รู้สึกถูกกดโดยอำนาจเผด็จการในการกำจัดการแสดงออก พวกเขาก็ยังอยู่สุขสบาย ไม่ได้เดือดร้อน ยังมีกิน ยังทำงานได้”

เวลามีกิจกรรมทางการเมือง จึงมีเฉพาะคนที่สนใจการเมืองจริงๆ  แต่พวกเขาจะประเมินสถานการณ์ก่อน หากประเมินแล้วว่าเสี่ยง พวกเขาก็ไม่กล้าเข้าร่วม ก็มีบางส่วนที่ไม่สนใจเลย ใครจะเคลื่อนไหวอะไรก็เคลื่อนไหวไป เขาก็จะเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งของเขา หรือกิจกรรมอย่างอื่นที่เขาสนใจอะไรแบบนี้ หรือไม่สนใจกิจกรรมทางสังคมเลยก็มี 

คุยมาถึงตรงนี้จึงเห็นได้ว่า จากการสังเกตของอาจารย์ พลังนักศึกษาไม่ได้ไปไหน ผมจึงถามต่อถึงข้อห่วงใยของผู้ใหญ่บางคนที่ว่า การทำกิจกรรมทางสังคมของนักศึกษาอาจทำให้ผลการเรียนเสีย

เป็นผลดีนะ (ตอบสวนทันที) ผมคิดว่า กิจกรรมเป็นตัวช่วยในการเรียน คนทำกิจกรรมเก่งไม่ใช่เรียนไม่ดีนะ นิสิตจำนวนมากเรียนดีด้วย แต่เวลาพูดถึงเรียนดี เราอาจจะไม่ได้วัดที่เกรดอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงคนที่คิดเป็น ใช้เหตุผลได้ดี 

นักศึกษาที่สนใจทำกิจกรรม แล้วทุ่มเทให้กับกิจกรรม มักจะมีความคิดที่เป็นระบบ เรียกว่าเขามีจุดยืนทางความคิดที่ชัดเจน พร้อมที่จะปกป้องความคิดของเขาว่าสิ่งที่เขาทำน่ะถูก เพราะฉะนั้น ต้องใช้เหตุผล ใช้ความคิดมาคอยสนับสนุนการกระทำของตนเอง ผมเห็นว่า การจัดกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาส่งผลบวกต่อชีวิตมากกว่าผลลบ 

เป็นคำตอบที่หนักแน่นในฐานะครูที่เห็นลูกศิษย์หลายรุ่นเรียนรู้และเติบโต ผมจึงอยากรู้ว่า อาจารย์ควรมีบทบาทสนับสนุนนักศึกษาทำกิจกรรมอย่างไร 

อาจารย์ไม่รอช้าที่จะตอบคำถามนี้ โดยบอกว่า อาจารย์สนับสนุนอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ขัดขวาง หากดูที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มมส. ถ้านิสิตอยากจะจัดกิจกรรม อาจารย์ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องเสรีภาพ แต่บางทีการอยู่ในระบบราชการก็มีการสั่งการลงมาจากข้างบน (ผู้บริหาร) ทำให้อาจารย์จำนวนหนึ่งไม่กล้าสนับสนุนอย่างเปิดเผย แต่อาจจะแอบเชียร์ ซึ่งทำให้บางคร้ังนิสิตก็ไม่กล้าที่จะไปเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง 

ในแง่ปัจเจก ผมไม่ห่วงนะครับ แต่ผมห่วงในระดับมหาวิทยาลัย เวลามีคนทำกิจกรรมทางการเมือง ก็มักจะถูกบีบโดยผู้มีอำนาจที่อยู่เหนือกว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ แต่พอมาถึงมหาวิทยาลัย ผู้บริหารเองก็ไม่กล้าพอ คือเกรงกลัวผู้มีอำนาจโดยเฉพาะฝ่ายทหาร แม้ว่าเขาไม่มีอำนาจโดยตรงที่จะสั่งการอะไรด้วยซ้ำ 

“เข้าใจว่าเป็นอำนาจโดยอ้อมที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ยังกลัวอยู่ ยังไม่กล้าที่จะสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา ข้อจำกัดคือ ระบบราชการที่มีผู้มีอำนาจอยู่ข้างบนสั่งลงไปข้างล่าง การสั่งการอาจเป็นลายลักษณ์อักษร บางครั้งก็เป็นเรื่องของการขอร้องมาด้วยวาจา เป็นเรื่องแบบไม่เป็นทางการ”อาจารย์วินัยกล่าวทิ้งท้าย

image_pdfimage_print