แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่อง
ความแห้งแล้ง ชาวนา สารเคมีการเกษตร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และหนี้สิน ความสัมพันธ์เหล่านี้ดูเหมือนจะถูกสร้างจนกลายเป็นวงจรถาวรของชีวิตบนผืนดินที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปเสียแล้ว
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวนา และนาข้าว คือโจทย์ใหญ่ของปัญหาและการพัฒนาที่ทำให้เกษตรกรอีสานยังถูกมองว่า “โง่ จน เจ็บ”
นโยบายการพัฒนาหลายยุคจึงมุ่งสู่การลดจำนวนเกษตรกร ลดพื้นที่ทำนา แล้วปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชพลังงาน อีกทั้งพยายามผลักดันให้มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ข้าวและสินค้าการเกษตรแทบทุกชนิดถูกกดราคา ผลที่ตามมา คือ ภาระด้านปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการปนเปื้อนของมลพิษ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและสภาพสังคมที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
รัฐบาลในยุค คสช. มีนโยบายปรับนาข้าวในภาคอีสานจำนวน 42.75 ล้านไร่ ด้วยคำสวยหรู “เปลี่ยนนาดอนเป็นไร่อ้อย”
พร้อมกับกำหนดนโยบายให้มีเขตเกษตรเศรษฐกิจเมื่อปี 2556 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดเขตความเหมาะสมสำหรับพืชเกษตรเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ภาคอีสานมี 20 จังหวัด 322 อำเภอ 2,678 ตำบล ที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีเนื้อที่ทั้งภาค 105.53 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นทีป่าไม้ 15.65 ล้านไร่ พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 63.87 ล้านไร่ และพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 26.01 ล้านไร่
มีพื้นที่สำหรับนาข้าว 42.75 ล้านไร่ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ
ทั้งนี้เขตเกษตรเศรษฐกิจกำหนดให้มีพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวในภาคอีสาน 20 จังหวัด เหมาะสมกับการปลูกมันสำปะหลัง 20 จังหวัด เหมาะสมกับการปลูกอ้อยป้อนโรงงาน 20 จังหวัด หมาะสมกับการปลูกยางพารา 18 จังหวัด และเหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มี 12 จังหวัด
โดยมีเป้าหมายจะแทนที่นาข้าวในเขตไม่เหมาะสมหรือ “ข้าวนาดอน” ด้วยการปลูกอ้อยโรงงานประมาณ 8-10 ล้านไร่ เพราะการปลูกอ้อยใช้น้ำน้อยกว่าและเกษตรกรจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการปลูกข้าว

แล้ง-ท่วมซ้ำซากรุนแรงขึ้น
แผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2561/62 ของสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทานระบุว่า ลุ่มน้ำหลักในภาคอีสาน ได้แก่ ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีปริมาณน้ำท่ารวม 61,516 ล้านลบ.ม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำท่าสูงกว่าภาคกลางและภาคเหนือที่มีปริมาณน้ำท่า 24,978 ล้านลบ.ม. และ 38,575 ล้านลบ.ม แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 7.12 ล้านไร่ โดยแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งในเขตชลประทานเมื่อปี 2561/62 มีการจัดสรรน้ำให้ภาคการเกษตรได้เพียง 1.539 ล้านลบ.ม. เท่านั้น
ส่วนแผนที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่ทำการเกษตร ปี 2560/61 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดทำโดยกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต่อความแห้งแล้งรวม 2.4 ล้านไร่ ใน 14 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
คำถามคือ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้ง มีความรุนแรงและกระจุกตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นด้วยสาเหตุใด เพราะในภาคมีอีสานมีปริมาณน้ำท่าหรือปริมาณฝนมากกว่าภาคกลางและภาคเหนือ
เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปี ทำการเกษตรอาศัยน้ำฝนและลักษณะของดินไม่อุ้มน้ำ ขณะที่สถานการณ์อีกด้านหนึ่งคือ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในภาคมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ตัวเลขในตารางชี้ว่า มีพื้นที่เกิดภัยแล้งในภาคอีสาน รวม 104 ล้านไร่ มากกว่าเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรที่มีอยู่ 63.87 ล้านไร่ และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ 13.8 ล้านไร่ ยังเกิดภัยแล้งซ้ำซากมากกว่า 5-7 ครั้ง และพื้นที่ 7.6 ล้านไร่ เกิดภัยแล้งซ้ำซากมากกว่า 7 ครั้ง
ส่วนพื้นที่น้ำท่วมในรอบ 10 ปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นความถี่ 2-4 ครั้ง คลอบคลุมพื้นที่ 5.5 ล้านไร่ แม้จะมีสัดส่วนไม่มากถ้าเทียบกับพื้นที่ทั้งภาค แต่หากมองจากสถาพภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง พื้นที่ที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมากกว่า 5 ล้านไร่ และมีพื้นที่น้ำท่วมใหม่เพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี จำนวน 1 ครั้ง ที่ 8.2 ล้านไร่ หมายความว่าในภาคอีสานมีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมซ้ำซากเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ล้านไร่
นักวิชาการต่างชี้ว่า สถานการณ์ท่วม-แล้งจะทวีความรุนแรงขึ้น สาเหตุใหญ่ๆ เกิดจากการบริหารจัดการน้ำ การตัดไม้ทำลายป่า ปริมาณฝน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยายตัวของชุมชน เมือง และอุตสาหกรรม
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวมานี้ ทุกรัฐบาลควรใช้ปัญหาท่วม-แล้งเป็นนโยบายประชานิยมทางการเมืองและพยายามผลักดันแผนและโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ครอบคลุมทั่วทั้งภาคมาทุกยุคสมัย
ล่าสุดกับการผลักดันให้ภาคอีสานเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหลายสาขา เพื่อลดสัดส่วนในภาคการเกษตร โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งในภาคจะต้องเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอีกประมาณ 14 ล้านไร่

ความแห้งแล้งจากการปลูกอ้อยในพื้นที่นาดอนในภาคอีสานทำให้ผลผลิตของเกษตรกรตกต่ำ ภาพจากเว็บไซด์ฐานเศรษฐกิจ
ปฐมบทท่วม-แล้ง เพราะม้างคันแทนา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรหนึ่งในสามของประเทศ แม้สังคม-เศรษฐกิจค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็น “ยืนสองขา” คือเมื่อลูก-หลานเรียนจบเข้าทำงานในอุตสาหกรรมส่งเงินกลับบ้านให้ครอบครัว แต่ส่วนใหญ่ประชากรยังคงอาชีพเกษตรกรเป็น “หลังพิง” ที่สร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยที่ดินทำกินและการปลูกข้าวเป็นหลัก
แต่วิถีวัฒนธรรมการทำนาปลูกข้าวในภาค ไม่เพียงเป็นขาหนึ่งข้างของระบบสังคมและเศรษฐกิจในครัวเรือน แต่ยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบนิเวศ ดิน น้ำ และอาหารบนที่ราบสูงอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ ดังคำโบราณว่า “ทำนาได้ปลาได้น้ำ”
คำถามคือ นโยบายเขตเกษตรเศรษฐกิจที่เริ่มดำเนินการไปแล้วในการเปลี่ยนนาดอน 8-10 ไร่ เป็นไร่อ้อย หรือการเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ จากปัจจุบันที่มีพื้นที่อยู่ 16 ล้านไร่ ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยทั้งหมดจะมาแทนนาข้าวที่ปัจจุบันมีอยู่ 42.75 ล้านไร่ จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบนผืนดินที่ราบสูง
ประการแรกด้วยสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของภาคเป็นที่ราบสูง ดินไม่อุ้มน้ำ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน การทำนาของเกษตรกรจะมีการสร้างคันนาที่เรียกว่า “คันแท” สูง ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีเพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับปลูกข้าว และเป็นคันแทที่ยกสูงมากกว่าพื้นที่ปลูกข้าวในภาคกลางหรือภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม เนื่องจากยิ่งมีความต่างระดับของพื้นดินมากแค่ไหนก็ยิ่งต้องกั้นคันแทมากขึ้นและสูงขึ้น
หากนำพื้นที่ปลูกข้าวในภาคอีสานจำนวน 42.75 ล้านไร่ มาคำนวณ จะพบว่าที่นา 1 ไร่ เฉลี่ยแล้วจะมีคันแทสองขั้นและคันแทสูงประมาณ 2 ฟุต เพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับปลูกข้าว เมื่อเตรียมดินพร้อมแล้วประมาณเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน พื้นที่นาข้าว 1 ไร่ จะเก็บกักน้ำไว้ 960 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ตลอดระยะเวลา 4 เดือน
สำหรับพื้นที่ปลูกข้าว 42.75 ล้านไร่ จะเก็บกักน้ำไว้ประมาณ 41,040 ล้านลบ.ม.
หากนำมาเทียบกับข้อมูลของสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ที่ระบุว่า เมื่อปี 2561/62 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำท่าในช่วงฤดูฝน 55,278 ล้านลบ.ม. พื้นที่ปลูกข้าวจะกักเก็บน้ำไว้ได้ถึง 74.2% ของน้ำท่าทั้งหมด และน้ำจำนวนนี้ยังมากกว่าปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 12 แห่ง ในภาค (1 พฤศจิกายน 2561) ที่มีปริมาตรเพียง 4,858 ล้านลบ.ม. และปริมาตรที่ใช้การได้เพียง 3,208 ล้านลบ.ม. เท่านั้น
ระยะเวลา 4 เดือน ที่คันแทช่วยเก็บน้ำไว้ในนา นายังเป็นพื้นที่แพร่พันธุ์และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนอีกหลายชนิด รวมถึงเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้กับเกษตรกรในภาคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ
คันแทยังมีหน้าที่ช่วยดักตะกอนหน้าดินที่ไหลมากับน้ำเอาไว้เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้ดินในนา หน้าที่สำคัญอีกประการคือ การเป็นธนาคารน้ำ โดยการกักเก็บน้ำของคันนาจะช่วยให้น้ำซึมลงไปยังน้ำใต้ดินได้ และสร้างความชุ่มชื้นให้กับดินเมื่อหมดฤดูฝน หรือการเก็บน้ำไว้ในช่วงมรสุมในฤดูแล้ว นอกจากนั้นนาข้าวยังเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ด้วย
หากมีการเปลี่ยนนาข้าวที่มีระบบการจัดการน้ำด้วยคันแทไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ไม่ต้องการน้ำขัง ประเมินแค่เป้าหมายเปลี่ยนนาดอน 10 ล้านไร่ เป็นไร่อ้อย ในช่วงฤดูฝนเมื่อไม่มีคันแทนากักน้ำ จะมีน้ำท่า 9,600 ล้านลบ.ม. ไหลหลากลงที่ต่ำหรือที่ราบลุ่มอย่างรวดเร็ว เป็นมวลน้ำที่มากกว่าจำนวนน้ำในเขื่อน 12 แห่ง ในภาคดังที่กล่าวในข้างต้นมากกว่าสองเท่า ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องเจอกับภัยพิบัติท่วมซ้ำซากมากขึ้น
การไหลบ่าของน้ำอย่างรวดเร็วจะสร้างความแห้งแล้งมากยิ่งขึ้นเนื่องจากไม่มีคันแทเป็นธนาคารกักเก็บน้ำ และดินจะยิ่งขาดความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากไม่มีคันแทกักเก็บตะกอนหน้าดิน รวมถึงแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่เกิดจากการกักเก็บน้ำในนาจะหายไป
ผลกระทบจากการ “ม้างคันแท” ไม่ใช่เรื่องเล็ก และเป็นหายนะระลอกใหญ่ที่จะเปลี่ยนทั้งระบบนิเวศของที่ราบสูงจากหน้ามือเป็นมือ
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ว่า ดิน น้ำ อากาศ สุขภาพ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในภาคเข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว ในอนาคต หากนโยบายการพัฒนายังคงมองที่ราบสูงอย่างหยาบและตัดตอน ภาคอีสานจะไม่เหลือความพร้อมความสมบูรณ์ไว้ให้พัฒนาในด้านต่างๆ ได้อีกต่อไป
หมายเหตุ ม้าง แปลว่า ทำลาย ล้าง รื้อ, คันแท แปลว่า คันนา