100 Times Reproduction of Democracy: ผลิตซ้ำแต่ไม่อยากจดจำ
กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ เรื่อง
“จุฬญาณนนท์ ศิริผล” หนึ่งในผู้กำกับหนังสั้นโครงการภาพยนตร์ Ten Years Thailand ภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับเลือกฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2561
หากนับว่าภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขาคือ Forget Me Not ที่ฉายในนิทรรศการ Museum of KIRATI ในงาน Bangkok City Gallery เมื่อปลายปี 2560 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ภาคต่อของนิทรรศการที่ทำให้เขาได้รับเชิญในฐานะศิลปินไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น
Forget Me Not จึงเป็นภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามกับชนชั้นกลางที่เคยร่วมชุมนุมในเหตุการณ์โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในอดีต โดยเฉพาะช่วงก่อนรัฐประหารปี 2557 ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนอำนาจนอกรัฐธรรมนูญให้เข้าปกครองประเทศและนำพาประเทศย้อนหลังกลับสู่ระบอบเดิม
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Forget Me Not (2561) ที่ถูกฉายในนิทรรศการ Museum of KIRATI
ปีนี้เขากลับมาด้วยภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สอง คือ 100 Times Reproduction of Democracy (2562) ที่ฉายรอบปฐมทัศน์ในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 ที่หอภาพยนตร์ ในเทศกาล 100 Times Reproduction of Democracy
หนังเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เสมือนจริงที่เล่าชีวิตของจุฬญาณนนท์ โดยฉากชีวิตเริ่มต้นเมื่อปี 2556 ที่เขาได้รับการว่าจ้างโดยวาจาให้ผลิตภาพยนตร์สั้นให้กับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเพื่อใช้ในการสื่อสารและให้ความรู้เรื่องโรคข้อเข่าเสื่อม ภาพยนตร์ชื่อ ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง (A Cock Kills a Child by Pecking on the Mouth of an Earthen Jar)
กระทั่งภาพและเสียงของหนังสั้นไม่เหลือร่องรอยที่อาจสืบได้ว่าเป็นเรื่องเดิม เหลือเพียงแสงสีเขียวที่กระพริบและเสียงที่แทบฟังไม่ออก กลายเป็นผลงานชื่อ 100 Times Reproduction of A Cock Kills a Child by Pecking on the Mouth of an Earthen Jar แปลตรงตัวว่า การทำซ้ำของไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่งจำนวน 100 ครั้ง
หนังตั้งคำถามถึงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเหนือผลงานศิลปะด้วยการทำ DVD ที่บรรจุไฟล์ 100 Times Reproduction of A Cock Kills a Child by Pecking on the Mouth of an Earthen Jar แล้วทำสำเนาออกมาทั้งหมด 100 เอดิชั่น และนำไปวางขายตามที่ต่างๆ
ช่วงท้ายๆ ของ 100 Times Reproduction of Democracy ได้ประมวลภาพเหตุการณ์กิจกรรมทางการเมือง
หลังจากฟังคำพูดของหมอดู ตัวละครหลักรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะใช้ชีวิตต่อไป หมอดูเสนอให้เขาเลิกทำหนังการเมืองและให้ทำหนังหรือศิลปะที่พูดถึงความงามของธรรมชาติและเด็กแทน (art for art’s sake)
ตัวละครจึงถอนเงินที่ได้จากการขายแผ่น DVD ไปซื้อตุ๊กตาไก่ที่ถูกหล่อจากแม่พิมพ์ 100 ตัวไปขอขมาที่ศาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ศาลเสด็จเตี่ยที่ถูกสร้างขึ้นทำซ้ำมากมายทั่วประเทศ) ณ โรงพยาบาลที่ว่าจ้างให้เขาทำวิดีโอเรื่องข้อเข่าเสื่อม แล้วเขาสาบานว่าจะหยุดทำงานศิลปะเกี่ยวกับการเมือง
ฉากหนึ่งของหนังเรื่อง Myth of Modernity (2014)
ภาพยนตร์จบลงด้วยเพลง Harlem Shake เช่นเดียวกับในหนังสั้น จุฬญาณนนท์ ซึ่งเป็นตัวละครหลักได้เสียดสีสังคมด้วยแสดงหลายท่วงท่า ซึ่งแต่ละท่าก็กล่าวถึงเรื่องราวในภาพยนตร์ที่เขาทำ เช่น การนั่งสมาธิใน Myth of Modernity (2014) พระใส่หมวกกันน๊อคใน Monk and Motorcycle Taxi Rider (2013) ท่าแพลงกิ้งจาก Planking (2012) ท่าคุณหญิงกีรตินั่งพับเพียบจาก Forget Me Not (2561) ท่าเล่น DVD ไหว้ขอขมาและการแจกใบประกาศนียบัตร
ภาพยนตร์ 100 Times Reproduction of Democracy (2562) ดูจะเป็นการตั้งคำถามถึงความเป็นเจ้าของหรือลิขสิทธิ์
A Cock Kills a Child by Pecking on the Mouth of an Earthen Jar (2013) เป็นตัวอย่างที่ดีของ Hypertext ที่ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของอีกไป เป็นของจุฬญาณนนท์ หรือโรงพยาบาล หรือหน่วยงานของโรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่ว่าจ้างเขาหรือของรายการเกมโชว์ที่เอาภาพจากหนังสั้นไป สำนึกเรื่องของทรัพย์สินส่วนตัว หรือลิขสิทธิ์ มีที่มาจากอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เป็นสิ่งยืนยันความเป็นปัจเจกชน
ส่วนในโลกหนังสือกระดาษผู้อ่านเป็นได้เพียงแค่คนวิจารณ์ แต่ไม่มีอำนาจในตัวบทหนังสือ หากแต่ Hypertext ได้ทำให้ผู้อ่านเป็นเจ้าของตัวบทไม่ต่างจากผู้ประพันธ์ ดังเช่นผู้ที่ซื้อ DVD ของจุฬญานนท์ แม้จะทำให้เขามีเงินไปซื้อไก่มาแก้กรรม เช่นเดียวกับคนที่รับใบประกาศนียบัตร อาจกล่าวได้หรือไม่ว่า พวกเขาเหล่านั้นก็มีส่วนทำให้จุฬญานนท์เรียนจบปริญญาโท หรือทำ 100 Times Reproduction of Democracy (2562) ออกมาได้
นั่นทำให้ 100 Times Reproduction of Democracy (2562) เป็นผลจากการที่จุฬญานนท์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักจนนำไปต่อยอดเป็น Hypermedia ที่ 100 Times Reproduction of A Cock Kills a Child by Pecking on the Mouth of an Earthen Jar ถูกนำไปเป็น DVD และนำไปขายนำไปวางไว้ตามจุดที่เขาเอาไปขาย และถูกนำไปเทียบกับหมุดคณะราษฎร การอ่านดังกล่าวจึงไม่ใช่การอ่านเงียบ เช่น การดูวิดีโอใส่หูฟังเพียงลำพัง
หากแต่เป็นการไปถามเจ้าหน้าที่เฝ้าการฉายภาพยนตร์ดังกล่าวว่าไฟล์เสียหรือไม่ หรือแม้กระทั่งมีผู้ซื้อแผ่น CD บางคนก็ถามจุฬญานนท์ในกล่องข้อความเฟซบุ๊กว่าไฟล์เสียหรือไม่ การอ่าน Hypermedia จึงต้องใช้โสตประสาทในการรับรู้มิใช่เพียงการมองเห็นอีกต่อไป