
ภาพปกจาก istock.com/tongpatong
หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง
ไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา ซึ่งทำให้มีคนตาย 27 คน และบาดเจ็บถึง 57 คน
ไม่มีใครอยากเห็นการวิสามัญฆาตกรรม จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารหนุ่มผู้มีอนาคตไกลในโลกใบนี้
แต่เราจะเรียนรู้จากความสูญเสียนี้ได้อย่างไร
หากย้อนดูเรื่องราวและคำถามบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของจ.ส.อ.จักรพันธ์ จะพบว่า ทหารหนุ่มคนนี้ตั้งคำถามถึงระบบ “นาย” กับ “ลูกน้อง” หลายครั้ง ซึ่งสังคมไทยก็รู้กันดีว่า ภายในกองทัพปกครองกันแบบ “นาย” เป็นใหญ่
“ลูกน้อง” เป็น “ผู้น้อย” สั่งหันซ้าย หันขวาหรือแม้กระทั่งต้องกระโดดกบก็ได้…ถ้านายสั่ง !
การไม่เชื่อฟังคำสั่งนายจึงเห็นได้น้อย หากฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรงที่เรียกว่า “ซ่อม”
ผู้เขียนไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่า ทำไมจ.ส.อ.จักรพันธ์ถึงได้อาจหาญบุกยิงผู้บังคับบัญชาถึงบ้าน
แต่สันนิษฐานว่า เขาคงมีความเจ็บแค้นเจ็บปวดกับสิ่งที่ประสบพบเจอในชีวิตการเป็นทหารพอสมควร

เราคงไม่มีทางรู้สาเหตุที่แท้จริงว่า เกิดอะไรขึ้นระหว่าง “นายกับลูกน้อง” เพราะทั้งสองคนไม่มีชีวิตอยู่ที่จะอธิบายให้ฟังแล้ว
แต่ผู้เขียนมีโอกาสรับรู้ความเจ็บปวดของระบบทหารจากน้องชายที่เคยเป็น “พลทหาร” เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน
เขาถูกซ้อมทรมานจนกะโหลกศีรษะแตก เพียงแค่ฝ่าฝืนคำสั่ง “นาย”
เขาปิดเรื่องนี้ไว้และห้ามแม่ไม่ให้บอกผู้เขียน เพราะรู้ดีว่า ถ้าผู้เขียนรู้เรื่องเข้า จะต้องเป็นเดือดร้อนแน่
พอผู้เขียนรู้เรื่องก็โกรธจัดถึงขั้นร้องไห้ด้วยความคับแค้นใจและอยากฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้บังคับบัญชาที่ทำให้น้องชายบาดเจ็บปางตาย
ไม่ใช่เพื่อต้องการเงินค่าชดเชยหรือค่าทำขวัญ แต่ต้องการบอกผู้บังคับบัญชาของน้องชาย ซึ่งอยู่ในฐานะพลทหารว่า “คุณทำแบบนี้กับคนไม่ได้” และต้องการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติระหว่างนายกับลูกน้องของระบอบทหาร
ผู้เขียนจึงเค้นถามน้องชายให้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟัง
เขาเล่าแบบอ้อมๆ แอ้มๆ แล้วบอกว่า “เขาผิดเองที่ฝ่าฝืนคำสั่งและไม่อยากเอาเรื่อง ปล่อยมันไปเถอะ เดี๋ยวเขา (ผู้บังคับบัญชา) จะได้รับผลกรรมนั้นสักวัน”
ตอนนั้นผู้เขียนรู้สึกว่า “น้องชายอ่อนแอ ไม่กล้าสู้”
แต่ในความเป็นจริง เขาอาจพูดถูก เพราะเขาอยู่กับระบบแบบนั้นจากการถูกเกณฑ์ทหารนานกว่า 2 ปี
น้องชายผู้เขียนบอกว่า ระบบนายเป็นใหญ่ในกองทัพเอื้อให้เกิดการซ้อมทรมานและการกดขี่ความเป็นมนุษย์ของผู้ด้อยกว่าได้ง่าย
กรณีน้องชายของผู้เขียนที่ถูก “ซ่อมปางตาย” ไม่ใช่รายแรกที่เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นแทบทุกวันในกองทัพ เพียงแค่จะเป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าวเท่านั้น
ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์คุณหมอ เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.พรรคภูมิใจไทยและอดีตผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำงานกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 15 ปี
คุณหมอบอกว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ที่กำลังพลบุกทำร้ายผู้บังคับบัญชาอยู่บ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นข่าว
นั่นหมายความว่า การใช้ความรุนแรงแบบโต้กลับเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรั้วทหาร แต่พวกเขาปกปิด ไม่เรียนรู้และไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง
ความรุนแรงที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา กระทำแม้เป็นเรื่องยากที่จะให้อภัย โดยเฉพาะจากญาติผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บ
แต่ก็ควรค่าเหลือเกินที่จะเข้าใจความคับแค้นที่มันระเบิดจากอกของเขา จนนำมาสู่ความตายของผู้เป็นนายและคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ถึงเวลาหรือยังที่จะทบทวนระบบการใช้ความรุนแรงในรั้วทหาร
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กองทัพจะถูกปฏิรูป
คงไม่มีใครอยากให้ลูกหลานหรือเครือญาติเป็นทหาร ถ้าก้าวแรกก็รู้แล้วว่าต้องพบเจอความรุนแรงและการถูกซ้อมทรมาน
และขอไว้อาลัยแก่ผู้สูญเสียทุกคน