ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่องและภาพ

ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5 )ในตัวเมืองขอนแก่น สูงเกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.) 

ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กดังกล่าวถือว่าอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จนรัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมต้องออกมารณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่กลางแจ้ง

ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วขนาดเทียบเท่าประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ถือเป็นขนาดที่อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูดดม เพราะมันเล็กจนสามารถเข้าสู่อวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ได้ง่ายเพียงผ่านการหายใจ 

ความเล็กของมันสามารถผ่านทะลุไปถึงถุงลมปอดได้ในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อเข้าไปแล้ว มันจะทำลายอวัยวะภายในระบบทางเดินหายใจและอาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจถี่ หลอดลมอักเสบ จนเกิดอาการหอบหืดและถุงลมโป่งพองได้

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตัวแทนจากทุกภาคส่วนในจังหวัดขอนแก่นได้ร่วมหารือกันถึงสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่นในขอนแก่นที่อาคารหอการค้าจังหวัดขอนแก่น 

ชัชวาล อัยยาธิติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น อธิบายถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 

สาเหตุฝุ่นในเมืองขอนแก่น 

ชัชวาล อัยยาธิติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า แหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองในเมือง โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมของคนเมือง เช่น จากบ้านเรือน การเผาไหม้ขยะ เศษไม้แห้งเขตบ้านเรือน สถานประกอบการ โรงงานที่อยู่ในเขตเมือง และจากการคมนาคมในเขตเมือง รวมถึงฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง 

เขากล่าวอีกว่า ไม่เพียงฝุ่นในตัวเมืองเท่านั้น ฝุ่นจากชานเมืองก็พัดเข้าสู่เขตเมืองเช่นกัน เพราะชานเมืองขอนแก่นมีหมู่บ้านมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีพื้นที่การเกษตรที่มีกิจกรรมการเผาและบางที่ก็เกิดไฟไหม้ป่า 

“อากาศในเมืองแย่อยู่แล้ว เมื่อมีอากาศแย่จากนอกเมืองเพิ่มเข้ามาอีก ยิ่งทำให้ในเมืองมีอากาศแย่ลง ผมจึงเสนอในการประชุมเรื่องนี้หลายครั้งแล้วว่า ควรลดการก่อมลพิษจากทั้งในเมืองและนอกเมือง แต่ในขอนแก่นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าในเมือง” ชัชวาลกล่าว

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนนี้ยังกล่าวอีกว่า การจัดควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดมี 4 ระดับ ระดับชุมชน ระดับเมือง ระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียง และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

“ตอนนี้ มลพิษทางอากาศและฝุ่นควันที่ลอยเข้าสู่ประเทศไทยก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน อย่างกรณีฝุ่นควันจากการเผาชีวมวลจากกัมพูชาที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 – ข้อมูลเพิ่มเติมชัชวาลกล่าว

มาตรการแก้ไขของรัฐยังไม่ถูกทาง

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ถือเป็นปัญหาระดับประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และมีแผนแก้ไขโดยมอบหมายให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหา

แต่สำหรับ ชัชวาล เห็นว่า การแก้ไขปัญหามีหลายแผน เช่น มาตรการฉีดละอองน้ำก็ทำได้เฉพาะในเขตเมือง แต่มันไม่ได้แก้ไขต้นตอปัญหาหรือมาตรการงดย่างหมู อีกทั้งบอกประชาชนลดการกินหมูกระทะก็ไม่ได้แก้ปัญหานี้ หรือการบอกให้ประชาชนลดการสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็บอกว่ามาตรการสร้างหอฟอกอากาศก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

โครงการวิจัยเรื่อง การจัดการธาตุอาหารเพื่อการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนของ ม.ขอนแก่น นำเสนอโดยอาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร ม.ขอนแก่น

ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากการเผาอ้อย

หนึ่งในสาเหตุการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในตัวเมืองขอนแก่นที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน คือการเผาใบอ้อยสดก่อนและหลังเก็บเกี่ยวของชาวไร่อ้อยในจังหวัดขอนแก่น 

วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์ พลพินิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร ม.ขอนแก่น ผู้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง การจัดการธาตุอาหารเพื่อการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนของ ม.ขอนแก่น กล่าวถึงเรื่องสาเหตุที่ชาวไร่อ้อยต้องเผาใบอ้อยว่า เนื่องจากชาวไร่ขาดแคลนแรงงานและไม่มีเงินเช่าและซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยในการตัดต้นอ้อย รวมถึงปัจจุบันค่าจ้างแรงงานตัดอ้อยก็มีราคาสูงขึ้น 

“การเผาอ้อยทำให้ลดการจ้างแรงงานตัดอ้อย พอเผาอ้อย คนตัดอ้อยก็สามารถตัดและเก็บเกี่ยวอ้อยได้จำนวนมากขึ้น” วรรณวิภากล่าว

วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์ พลพินิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร ม.ขอนแก่น อธิบายถึงสาเหตุที่เกษตรกรต้องเผาอ้อย 

นอกจากนี้ ผลวิจัยของเธอยังพบอีกว่า หลังเก็บเกี่ยวชาวไร่อ้อย ก็จะเผาเศษใบอ้อยที่อยู่ในแปลงอีกคร้ัง เพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูกในครั้งถัดไป 

“ในแปลงอ้อย หลังการตัดจะมีเศษใบอ้อยอยู่เป็นจำนวนมาก ผลวิจัยพบว่าเศษใบอ้อยอยู่ในแปลงมีมากถึงร้อยละ 10 ของผลผลิตอ้อยในแปลง หากผลผลิตอ้อย 10 ตัน จะทำให้มีเศษใบอ้อยประมาณ 1 ตันต่อไร่ ชาวไร่อ้อยจึงต้องเผา” วรรณวิภากล่าวและว่า “ เพราะใบอ้อยหนาและย่อยสลายยาก ถ้าจะให้ย่อยสลายในดินต้องใช้เวลา 8 เดือน การเผาจึงกำจัดได้เร็ว” 

อย่างไรก็ตามก็ยังมีชาวไร่อ้อยบางรายนิยมตัดอ้อยสดและไม่เผาเศษใบอ้อย เพราะเศษใบอ้อยจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำในแปลงไว้ ในที่สุดก็จะทำให้ดินมีความชุ่มชื้นมากกว่าแปลงที่เผากว่า 10 เท่า 

วรรณวิภากล่าวว่า เมื่อปี 2562 รัฐบาลมีนโยบายให้โรงงานน้ำตาลไม่รับซื้ออ้อยไฟใหม้ ทำให้ปริมาณอ้อยสดที่โรงงานรับซื้อมีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.9 เมื่อปี 2562 เป็นร้อยละ 60 เมื่อปี 2563 ตรงนี้สะท้อนว่า ชาวไร่หันมาตัดอ้อยสดเพิ่มขึ้น แต่คำถามคือ ทำไมยังเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาไร่อ้อยอยู่ คำตอบอาจเป็นเพราะว่า ชาวไร่อ้อยไม่ได้เผาต้นอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว แต่ชาวไร่อ้อยเผาไร่อ้อยหลังเก็บเกี่ยว นั่นคือ การเผาเศษใบอ้อยที่หลงเหลือในแปลง

“วิธีการแก้ไขปัญหาตอนนี้คือ ต้องหาวิธีกำจัดเศษใบอ้อยในแปลงของชาวไร่ใหม่ ไม่ให้พวกเขาเผา แต่ควรจะรณรงค์ให้นำใบอ้อยไปใช้ประโยชน์ เช่น อัดเป็นก้อนไปขายทำเป็นปุ๋ย หรือส่งให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า” นักวิชาการผู้นี้เสนอทางออก 

ชาวไร่อ้อย จ.ร้อยเอ็ด ตัดอ้อยหลังจากเผาเพื่อเตรียมที่ดินปลูกอ้อยในฤดูถัดไป ภาพโดย Mike Eckel

รถตัดอ้อยต้นทุนสูง แรงงานคนเพิ่ม 

ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ รองศาสตราจารย์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยคู่กับวรรณวิภากล่าวว่า ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยไม่เผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว เพราะสร้างมลพิษทางอากาศและมีการส่งเสริมให้ชาวไร่เก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดอ้อย แต่วิธีนี้กลับสร้างต้นทุนให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น 

ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ รองศาสตราจารย์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เสนอข้อมูลในการทำไร่อ้อยของเกษตรกร 

“การตัดอ้อยแบบไม่เผาใบทำให้ต้นทุนการทำไร่อ้อยสูงขึ้นมาก แค่รถตัดอ้อย ราคารวมดอกเบี้ยแล้วก็ประมาณ 14 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไฟแช็คราคา 6 บาท ห่างกันประมาณ 5 – 8 ล้านเท่า” ขวัญตรีกล่าว

เธอยังกล่าวอีกว่า แม้ชาวไร่อ้อยจะมีเครื่องจักรในการตัดอ้อยและเก็บเกี่ยว ก็ใช่ว่าจะไม่ใช้แรงงานคนช่วยตัด เพราะการตัดอ้อยต้องมีรถบรรทุกที่ขับตามหลังเพื่อเก็บอ้อยและมีรถคีบอ้อย รวมแล้วมีรถรวมกัน 3 คัน และต้องมีแรงงานคนดูแลเครื่องจักรแต่ละเครื่องอีก

“คนดูแลรถคีบอ้อย 1 คน ดูแลรถตัดอ้อย 3 คน ดูแลรถบรรทุก 2 คน จะเห็นว่าจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นหลายเท่า” ขวัญตรีกล่าว

เธอหยิบยกข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) เรื่องค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยรถตัดอ้อยต่อวันปี 2562 ที่ระบุว่า ค่าจ้างแรงงานคนตัดอ้อยสดจะอยู่ที่ 186 บาท ค่าเครื่องคีบจะอยู่ที่ตันละ 170 บาท และค่าจ้างรถตัด 162 บาท แต่ปัจจุบันพบว่า ราคาแต่ละส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 แล้ว

มิตรผลหนุนเกษตรกรไม่เผาไร่อ้อย

ไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้บริหารโครงการมิตรบ้านไผ่ กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า มิตรผลเห็นด้วยกับการนำเครื่องจักร อย่างรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย และรถบรรทุกมาเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย และไม่สนับสนุนให้ชาวไร่เผาต้นอ้อย แต่ต้องเข้าใจว่า ถ้าให้ชาวไร่ซื้อเครื่องจักรเหล่านั้นมาใช้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยเพิ่มสูงขึ้น

 “ไม่ใช่ว่าไร่อ้อยทุกแปลงของชาวไร่อ้อยจะนำรถตัดเข้าไปใช้ได้ เพราะพื้นที่ปลูกอ้อยแคบ ไม่มีถนนให้รถขนาดใหญ่เข้าไปตัด และไร่บางพื้นที่อยู่ในพื้นที่เนินสูง” ผู้บริหารกลุ่มมิตรผล กล่าวและว่า “ตอนนี้บริษัทพยายามแนะนำให้ชาวไร่ในเครือข่ายสร้างถนนขนาดเท่าตัวรถ ให้รถตัดอ้อยเข้าไปตัดและลำเลียงอ้อยออกมาจากไร่ได้” 

ส่วนการเผาใบอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวนั้น ไพฑูรย์กล่าวว่า บริษัทพยายามรณรงค์ให้ชาวไร่ใช้ใบอ้อยในการคุมดิน แล้วปล่อยให้ใบอ้อยย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดิน รวมถึงให้ใบอ้อยทำหน้าที่ชะลอการไหลของน้ำ เพื่อให้น้ำขังในไร่และซึมลงดินทำให้ดินชุ่มชื้นไม่แห้งแล้ง

“ตอนนี้บริษัทมีนโยบายรับซื้อใบอ้อยสด โดยให้ราคาสูงถึงตันละ 1,000 บาท และมีการรับซื้ออ้อยสดในราคาสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ รวมทั้งมีรางวัลให้กับคนที่พบเห็นชาวไร่อ้อยเผาต้นอ้อย ด้วยการแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี หากคดีสิ้นสุดแล้วผู้เผาถูกลงโทษ บริษัทจะมีรางวัลให้” ไพฑูรย์กล่าวทิ้งท้าย 

ล่าสุดเวลา 8.00 น. ของวันนี้ (13 ก.พ. 2563) กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

สารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานได้แก่ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 41 – 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ซึ่งเกินมาตรฐานที่บริเวณ เกินมาตรฐานที่บริเวณต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา, ต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย

แนะนำให้ผู้คนที่อยู่กลางแจ้งสวมใส่สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว อาทิ โรคทางเดินหายใจควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน

image_pdfimage_print