อติเทพ จันทร์เทศ เรื่องและภาพ

ฤดูร้อนเดือนเมษยนปี 2562 แดดที่พนมเปญร้อนเกินกว่าจะบรรยายหรืออาจเรียกได้ว่า เหงื่อกายท่วมตัว 

ระหว่างเดินสะพายกระเป๋าสีขาวใบใหญ่ข้างกายเข้าไปในชุมชนจูงเกาะ ริมแม่น้ำโขง เขตจโรยจังวา เมืองพนมเปญ ผมพบบ้านที่สร้างด้วยไม้ยูคาลิปตัส ตอกตรึงเข้าไว้กับผนังไม้อัดแบบผุพังนับร้อยๆ แผ่น บางหลังถูกห่อหุ้มด้วยแผ่นไวนิล ตั้งเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำหน้าพระราชวังพนมเปญฝั่งทิศตะวันตก 

ใครที่เคยไปเยือนกรุงพนมเปญอาจจะเคยล่องเรือชมแม่น้ำจตุรมุข ซึ่งเป็นการไหลมารวมกันของแม่น้ำ 3 สาขา ได้แก่ แม่น้ำโตนเลสาบ แม่น้ำสาขาท้องถิ่นและแม่น้ำโขง

บรรยากาศริมน้ำยามเย็นจึงอบอุ่น งดงามไม่ต่างจากแสงแห่งพระอาทิตย์ที่กำลังค่อยๆ อัสดงลงตามเวลา 

ความงามของธรรมชาติอาจทำให้คุณอยากจิบไวน์แดงกับคนคู่ใจหรือสั่งปลากระพงราดพริกตัวใหญ่ ต้มยำทะเลกินคู่กับข้าวร้อนๆ เสิร์ฟพร้อมเบียร์เย็นๆ แก้วละ 20 บาท ราคานี้คงไม่เหนือบ่ากว่าแรงเกินกว่าจะจ่าย 

จังหวะที่จิบเบียร์เย็นๆ เรือกลับกำลังล่องผ่านเมืองอันแสนจะวุ่นวาย 

ผมพบอาคารหลายหลังตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งพระราชวังพนมเปญ เป็นสถาปัตยกรรมยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสที่ยังหลงเหลือให้เห็นแบบข้ามกาลเวลา 

บางส่วนถูกจับจองหลังสิ้นยุคเขมรแดง บางส่วนกำลังโดนรื้อถอนด้วยทุนจีนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกัมพูชา 

ตลอดการล่องเรือ ผมเห็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ยูคาลิปตัสแล้วมุงด้วยแผ่นไวนิล เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ หน้าพระราชวังพนมเปญฝั่งทิศตะวันตก 

เท่าที่ทราบข้อมูล ชุมชนจูงเกาะเกิดขึ้นได้เพียง 5 ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนัก แต่พวกเขากลับต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานของการจัดระเบียบเมือง รวมทั้งต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงของที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างง่อนแง่น 

สถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญจึงเปรียบเหมือนเศษหญ้าแห้งที่พร้อมลุกไหม้เมื่อถูกโหมแรงไฟ  

การถูกกีดกันทางศาสนาและความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยจากรัฐเท่าที่ควร เพราะคนในชุมชนเป็นชาวมุสลิมเสียส่วนใหญ่ ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นภาคเอกชนกลับต้องแบกรับภาระและเผชิญความท้าทายในการช่วยเหลือและจัดการที่อยู่อาศัยให้แก่คนจนเมืองเหล่านี้ 

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ย้ายออกจากสลัมบริเวณสะพานที่มีความแออัดสูง ซึ่งบางส่วนเป็นชาวประมงดั้งเดิม พวกเขาอาศัยที่ดินริมฝั่งแม่น้ำสร้างเป็นที่พักอาศัยแบบชั่วคราว บางคนก็อาศัยอยู่บนเรือที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกพอประทังชีวิต 

ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ส่วนหนึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานล่างของพนมเปญ บางส่วนมีอาชีพขับรถรับจ้างและบางส่วนก็ค้าขายในย่านท่องเที่ยวของพนมเปญ 

ภาพถ่ายชุดนี้ (Photo Essay) พยายามทำความเข้าใจ และร่วมค้นหาชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนเมืองในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผ่านการบันทึกและการออกเดินทางเก็บข้อมูลวิจัยความมั่นคงทางอาหารเพื่อประกอบการรายงานการศึกษาในภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ผมกำลังศึกษาอยู่

 

-1-
ผืนดิน

ที่ดินบริเวณนี้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ซึ่งเกิดจากตะกอนดินของแม่น้ำสาขาต่างๆ ทับถมกันจนเป็นที่ดอน ในช่วงหน้าแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – พฤษภาคมชุมชนจูงเกาะจึงสร้างเป็นที่อยู่อาศัย

เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคมบ้านบนดินก็จะกลายเป็นบ้านที่สามารถลอยน้ำได้ สำหรับบางคนต้องย้ายบ้านขึ้นมาอยู่ติดบริเวณโรงแรมแม่โขงที่อยู่ไม่ไกลกันนัก 

อารีย์ ชายวัยสามสิบต้นๆ หนึ่งในผู้อาศัยอยู่ในชุมชนจูงเกาะเล่าว่า เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมามีการไล่รื้อสลัมในพนมเปญ ทำให้ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องอพยพออกไปอยู่นอกเมือง เธอก็ต้องย้ายออกจากสลัมในเมืองมาอยู่ที่ชุมชนจูงเกาะ

“บริเวณนี้เป็นที่ดอนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถือเป็นที่สาธารณะ พวกเราคิดว่า รัฐคงไม่มาไล่ เพราะอยู่ติดกับแม่น้ำ ชาวบ้านมาอยู่ที่นี่ เพราะหาอาหารง่าย ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีตลาดขายปลา”อารีย์เล่า

 

-2-
แสงแห่งชีวิต

เสาไม้ยูคาลิปตัส แม้จะทำให้บ้านดูไม่แข็งแรง แต่บ้านบางหลังกลับสามาถจุคนได้นับสิบ แผ่นไวนิลที่นำมามุงกระต๊อบที่พวกเราเรียกว่า “บ้าน” ทำให้ชีวิตพวกเขาดูเรียบง่ายขึ้น 

ภายในชุมชนไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะรัฐบาลไม่จ่ายไฟ บางครอบครัวจึงอาศัยพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ แต่การจะสิ่งนี้ได้พวกเขาต้องใช้ติดตั้งประมาณ 130 ดอลล่า สหรัฐฯ หรือราว 4,000 บาท 

บางครอบครัวจึงอาศัยแบตเตอรี่รถยนต์เพื่อเป็นพลังงานในการดำรงชีพ ถ้าบางคนไม่มีก็ต้องทนอยู่กับความมืดหรืออยู่ภายใต้แสงสว่างของเปลวเทียน

 

-3-
ห้องน้ำรวม

บ้านทุกหลังไม่มีห้องน้ำส่วนตัว บางคนจึงต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นสถานที่ชำระร่างกายและซักล้างเสื้อผ้า ส่วนห้องน้ำสาธารณะจะอยู่บริเวณศาลากองทุนในชุมชน โดยมีห้องส้วมประมาณ 10 ห้อง สร้างด้วยสังกะสี ไม่ไกลจากห้องน้ำสาธารณะมีแทงค์น้ำ 3-4 แทงค์เพื่อเอาไว้ใช้บริโภค ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากภาคเอกชน 

 

-4-
กิจกรรมยามเย็น

การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ทุกข์ระทมนัก เพราะหว่างที่เราล่องเรือผ่านก็เห็นกลุ่มชายราว 10 คนกำลังสนุกสนานกับการเล่นตะกร้อ 

บางคนเรือที่ล่องผ่านหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกความสนุกสนานนี้ไว้ เพื่อแบ่งปันให้ผู้คนนอกพื้นที่ได้เห็นว่า ความสุขของคนเราไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน 

“บางวันผมไม่มีงานทำ ไม่มีคนจ้าง ก็ออกมาเล่นกับเพื่อน ถ้าวันไหนมีงานก่อสร้างให้ทำ คงไม่มีเวลามาเล่นหรอก”อารี เด็กหนุ่มวัยยี่สิบกลางๆ ยืนเท้าสะเอวมองลูกตะกร้อระหว่างคุยกับผม 

 

-5-
ป้ายไวนิลและพลาสติก

บ้านไม้ยูคาลิปตัส ถูกมุงและห่อหุ้มผ้าใบสีเขียวเพื่อบังแดด บังฝนและสายลมหนาว ซึ่งเจ้าของบ้านเตรียมพร้อมเสมอสำหรับการเคลื่อนย้ายบ้าน เมื่อฤดูฝนมาเยือน ส่วนอีกฝากฝั่งของชุมชนเป็นตึกสูงยืนตระหง่าอยู่ริมแม่น้ำฝั่งพระราชวังพนมเปญ 

 

-6-
เสียงของเธอ

พวกเราอาศัยอยู่ในบ้านไม้ที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก ใช้ผ้าใบพลาสติกมุงเป็นหลังคาบ้านเพื่อกันแสงแดดและสายฝน วันไหนที่ไม่มีเงินซื้อข้าวสาร ทุกคนในครอบครัวต้องอดอาหารอย่างน้อย 2-3 วัน เมื่อมีข้าวสารก็จะนำมาทำเป็นข้าวต้มใส่ผักบุ้งและปลาที่ได้หาได้จากชุมชนใกล้เคียง”

“สามีของฉันต้องออกไปหาปลาจากแม่น้ำโขง ห่างจากบ้านราว 300 เมตรเพื่อจับปลาไปขายที่ตลาดในพนมเปญ ซึ่งจะขายได้ในราคา 200–300 บาท จากนั้นก็จะนำเงินมาซื้อข้าวสารและอาหาร พวกเรามีค่าใช้จ่ายประมาณวัน 200 บาทต่อวัน” มีด รอยฮิมา ชาวชุมชนจูงเกาะ เขตจโรยจังวา กรุงพนมเปญ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561

 

-7-
อาชีพ

“ตอนที่ครอบครัวขาดแคลนอาหาร ตอนไม่มีเงินซื้อข้าวสาร ผมต้องกินไข่เป็ดเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 1-2 วัน ถ้าโชคดีหน่อยก็จะคนมาบริจาคข้าวสารที่ชุมชน บางคร้ังของบริจาคอาจขัดหลักศาสนาของชุมชน พวกเขาก็ต้องปฏิเสธไป” 

“ส่วนผมมีอาชีพเสริมด้วยการขับรถรับจ้าง ซึ่งจะมีรายได้ประมาณ 100-300 บาท/วันก็เพียงพอต่อการใช้ชีวิตนะ” ปัดตรี ชุมชนจูงเกาะ เขตโจรยจังวาฬ กรุงพนมเปญ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 21 มีนาคม 2562

คนในชุมชนอาชีพหลากหลาย บ้างรับจ้างทำงานตามร้านอาหาร ทำงานโรงงาน ทำงานก่อสร้าง เก็บหาของเก่าขาย พนักงานทำความสะอาดโรงแรม ส่วนผู้ชายที่มีรถมอเตอร์ไซด์ก็จะออกไปรับจ้าง 

 

-8-
บ้านเรามีกัน 8 คน

ผมพบครอบครัวหนึ่งในชุมชนจูงเกาะ พวกเขามีลูก 8 คน อยู่ในบ้านริมแม่น้ำที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก พวกเขาต่อเติมบ้านเป็น 3 ชั้นเพื่อรองรับสมาชิกในครอบครัวให้ได้ทั้งหมด เด็กหลายคนมีร่างกายผอมแห้ง ไม่สมส่วน ซึ่งอาจเกิดจากภาวะขาดแคลนอาหาร

นี่เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของคนจนเมือง กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาที่กำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ผู้คนจำนวนมากกำลังเผชิญกับการจัดสรรที่อยู่อาศัย โดยรัฐไม่เหลียวแล 

คนในชุมชนจูงเกาะแห่งนี้ ส่วนหนึ่งไม่มีทางไป พวกเขาจึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสอดคล้องกับทักษะ คือ การทำประมง 

คนจนเมืองจำนวนเมืองไม่มีที่อยู่อาศัย พวกเขาต้องอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ตามพื้นที่ดอน ขณะเดียวกันต้องอาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ความเจริญเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบอาชีพและหางาน 

การลงพื้นที่ในกัมพูชาเป็นเวลากว่า 4  เดือนทำให้ผมเข้าใจรายละเอียดชีวิตของผู้คน ไม่เพียงเพราะเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารของ “คนจนเมือง” ที่ต้องเผชิญเท่านั้น 

แต่ผมยังได้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องอยู่อาศัย การเข้าถึงความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และการศึกษาที่ประเทศพัฒนาเกือบทุกประเทศรวมทั้งไทยกำลังเผชิญ 

งานชิ้นนี้จึงเลือกนำเสนอเรื่องราวของคนจนเมืองที่พวกเขากำลังแสวงหาความมั่นคงในชีวิตเพื่อไม่ให้ใครลืมว่า “ตราบใดที่ความจนยังรุกคืบ ลมหายใจก็ไม่มีวันพ่ายแพ้” 

ผลงานชิ้นนี้เป็นตอนที่ 2 หลังจากเผยแพร่ ตอน ความทรงจำในชาติพันธุ์เขมรของผม 

 

image_pdfimage_print