สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เรื่องและภาพ 

ชัยภูมิ – ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้านใน 2 ตำบล ได้แก่ ต.ห้วยแย้ และ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิกว่า 30 คนได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ตัวแทนศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (Recoftc) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานและตัวแทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมาเพื่อพิจารณาแผนบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติไทรทองเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

สุเทพ เกตุเวชสุริยา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติแห่งชาติไทรทอง กล่าวว่า ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผกระทบตามการเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลในทางปฏิบัตินั้น  

“เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีมติให้อุทยานแห่งชาติไทรทองและ P-Move สามารถจัดทำแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมภายใน 30 วัน ดังนั้นจึงได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำแผนของภาคประชาชนมาวางแผนร่วมกันเพื่อนำไปสู่ข้อยุติและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” สุเทพกล่าว

ส่วนปราโมทย์ ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวบ้านได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่เป็น 5 แผน ได้แก่ 1.แผนจัดการที่ดินและทรัพยากร โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน คือ พื้นที่ริมห้วย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่ากันชน พื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ตรวจยึดเดิม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม 

กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูป กล่าวอีกว่า ส่วนแผนที่ 2 คือ แผนพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 10% 3.แผนพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่าย 4.แผนการพัฒนาองค์ความรู้ชุมชน และ 5.แผนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพราะในหมู่บ้านหินรูมีหินที่เป็นรูปทรงต่างๆ ที่น่าสนใจที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ 

ตัวแทนชาวบ้านบางส่วนที่ถูกฟ้องร้องข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทองได้ถ่ายรูปร่วมกับเจ้าหน้าที่ฯ หลังหารือจนได้ข้อสรุปว่า จะจัดพื้นที่ป่าร่วมกัน

ขณะที่วรพล ดีปราศัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง กล่าวว่า อุทยานฯ ได้จัดทำแผนขึ้นเมื่อปี 2561 โดยมี 8 แผนเพื่อจัดระเบียบชุมชนว่า ใครอยู่ตรงไหน อย่างไร รวมถึงเป็นแผนการจัดการที่ดินที่ต้องสำรวจพื้นที่และตรวจสอบคุณสมบัติของประชาชนให้แล้วเสร็จภายปีนี้

“ทางจังหวัดฯ ต้องเป็นคนออกคำสั่งเพื่อทำเป็นแผนผังแผนที่ให้ชัดเจน ซึ่งอาจมีการปลูกพืชต่างๆ อย่างผสมผสาน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ และต้องมีการติดตามประเมินผล ซึ่งแผนนี้จะสอดคล้องกับพรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562” วรพลกล่าว

ขณะที่ ระวี ถาวร นักวิชาการจากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กล่าวว่า หลังจากนี้จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นประมาณเดือนเมษายนจะวางแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกัน 

“คาดว่าจะสามารถเสนอแผนจัดการพื้นที่ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประมาณเดือนพฤษภาคม โดยแผนนี้ต้องทำให้ละเอียด เพราะ 5 ชุมชนที่มีปัญหาในอุทยานแห่งชาติไทรทองถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาที่ดินภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพย์ฯและ P-Move ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าพอสมควร” ระวีกล่าว

ศิริวรรณ ศรีคำมวน แกนนำชาวบ้านหนองผักแว่น ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่เขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ

ศิริวรรณ ศรีคำมวน อายุ 58 ปี แกนนำชาวบ้านหนองผักแว่นอ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า รู้สึกพึงพอใจ เพราะพวกเราเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งมานาน ตอนนี้ถือว่า สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

“ชาวบ้านต้องการเพียงการทำประโยชน์ในที่ดินทำกินอย่างปลอดภัย ไม่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น”ศิริวรรณ กล่าว 

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิจำนวน 14 คน ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าสงวนในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองตั้งแต่ปี 2558 ตามคำสั่ง คสช. 64/2557 และ 66/2557 เพื่อทวงคืนผืนป่า 

ทั้ง 14 คนถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวหาว่ามีความผิดตามพพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 จนถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากจำคุก 5 เดือนขึ้นไปและต้องชำระค่าเสียหายเป็นเงินคนละหลายแสนบาท ขณะนี้ทุกคนได้รับการปล่อยตัวแล้ว 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

ภาคประชาคมโลก 226 ทั่วโลก ร้องรบ.ไทยรับรองสิทธิในที่ดินชุมชนบ้านซับหวาย ชัยภูมิ  

ขอสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารกลับคืนให้ชาวบ้านซับหวาย ชัยภูมิ 

กรรมหรือความไม่เป็นธรรมที่ทำให้ “กบ” หญิงนักสิทธิที่ดินชัยภูมิถูกตัดสินจำคุก

image_pdfimage_print