มาโนช พรหมสิงห์ เรื่อง

As long as you’ve got passion

and are willing to work hard,

You can do anything you want in this life.

พลังแห่งมิตรภาพของเหล่ามิตรสหายหลากรุ่นร่วมอุดมคติอุดมการณ์ รวมทั้งการทุ่มเททำงานหนักเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ทำให้ passion แห่งการขับเคลื่อนวารสารชายคาเรื่องสั้น ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน แม้จะสะดุดอยู่บ้าง ด้วยปัญหาขาดเงินทุนดำเนินการ 

ทว่าพวกเรา ‘คณะเขียน’ ก็ต่อสู้ดิ้นรนขวนขวายแก้ปัญหาทำงานอย่างต่อเนื่อง ล้มลุกคลุกคลานกันมาจนครบหนึ่งทศวรรษ ฮีโร่ของงานนี้ ไม่ใช่พวกเราหรอก

ฮีโร่คือนักอ่านนักเขียนที่ยังเอาจริงเอาจัง ที่ยังมี passion ต่อวรรณกรรมของประเทศ ไม่ว่ารุ่นไหน ไม่ว่าจะรุ่นเล็กเด็กเมื่อวานซืนหรือรุ่นใหญ่ หากมีขนาดของหัวใจยิ่งใหญ่พอ โดยเฉพาะในสภาวะของสังคมขณะนี้ ที่การปกครองยังห่างไกลจากเสรีประชาธิปไตย (อันมีผลต่อเสรีภาพในการอ่าน-คิด-เขียน) รวมทั้งสภาวะตื่นตระหนกต่อวัฒนธรรมการอ่านของผู้คน 

คำกล่าว หนังสือตายแล้ว การอ่านตายแล้ว เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ จนขวัญผวา ในรอบสิบปีที่ทำหน้าที่บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้น ผมขอตั้งข้อสังเกตและบอกล่าวถึงอดีตกับอนาคต ดังนี้

  1. ต้นฉบับเรื่องสั้นที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ
  2. การเข้ามาเยือนชายคาแห่งวารสารชายคาเรื่องสั้นของคนรุ่น Gen-Y และ Gen-Z
  3. การเปิดพื้นที่ของ ‘คณะเขียน’ เพื่อทำงานร่วมกับ The Isaan Record
  4. วารสารชายคาเรื่องสั้นถูกระงับการอนุมัติทุนดำเนินการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ต้นฉบับเรื่องสั้นที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ

นับจากยุคเริ่มต้นที่ติดต่อขอเรื่องสั้นมาตีพิมพ์อย่างไร้ค่าตอบแทน จนถึงยุคถัดมาที่ได้การหนุนช่วยเงินดำเนินการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงเปิดกว้างรับต้นฉบับเพื่อประกวดจากนักเขียนและผู้สนใจทั่วประเทศและมีค่าเรื่อง (เงินรางวัลเรื่องชนะการประกวด)

ปรากฏว่าจำนวนของต้นฉบับที่ส่งมาถึงเรานั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ประกาศเปิดรับ อีกทั้งคุณภาพของเนื้องานโดยรวมยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย (สังเกตได้จากการประกวดเพื่อผ่านตีพิมพ์กับการพิจารณาตัดสินรางวัลชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยมในแต่ละเล่มแต่ละปี ที่คุณภาพใกล้เคียงกันมาก ซึ่งเราต้องถี่ถ้วน รอบคอบ และถกเถียงกันยาวนานเพื่อให้รอบด้านทุกแง่ทุกมุม และเราก็หาทางออกสำหรับการประกาศรางวัลยอดเยี่ยม ด้วยการกล่าวถึงเรื่องสั้นอื่นที่พลาดรางวัลอย่างชื่นชมยกย่อง (เรื่องสั้นโดดเด่น) ไว้ในคำประกาศด้วย)

ต้นฉบับจะมีทุกแนว (genre) ส่งมาจากนักเขียนทุกระดับ ทุกวัย ตั้งแต่นักเรียนมัธยม นิสิตนักศึกษา นักเขียนมือใหม่กับนักเขียนอาชีพ ซึ่งมีผลงานรวมเล่มและรางวัลจากสนามต่างๆ มาก่อน

เงินรางวัลประกวดเพื่อผ่านตีพิมพ์เรื่องละ 2,000 บาท และเงินรางวัลชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยมประจำปี จำนวนไม่กี่พันบาทนั้น คงมิใช่เหตุแห่งการยอมรับเชื่อถือ ที่นักเขียนร่วมสมัยมอบให้กับเราแน่นอน 

นั่นจึงเป็นการยอมรับเชื่อถือที่ควรค่าแก่การได้รับการค้อมคารวะจากพวกเรา ขอสัญญาว่าเราจะตอบแทนน้ำจิตน้ำใจของมิตรสหายทุกท่าน ด้วยการทำงานให้หนักยิ่งขึ้นอย่างไม่ท้อถอย

การเข้ามาเยือนชายคาแห่งชายคาเรื่องสั้นของคนรุ่น Gen-Y และ Gen-Z

นิสิตนักศึกษาและเด็กนักเรียนมัธยม ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ในช่วง Gen-X และ Gen-Z ได้ส่งผลงานเรื่องสั้นเข้ามายังวารสารชายคาเรื่องสั้นทุกเล่มตลอดมา นั่นย่อมเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งชี้ชัดว่ายังมีคน Generation ใหม่ของสังคมที่ยังมี passion ต่อการสืบทอดวัฒนธรรมการอ่านการเขียนของประเทศ

เมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 40 ปีของการล้อมสังหาร 6 ตุลาคม วารสารชายคาเรื่องสั้นร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ ด้วยการจัดแบ่งเรื่องสั้นประกวดเป็นสองส่วน คือ เฉพาะส่วนของนักเรียนนิสิตนักศึกษากับส่วนของปัญญาชน ซึ่งเป็นนักเขียนอาชีพ

ปรากฏว่าเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลดีเด่นของนักเรียนนิสิตนักศึกษา (เทียบได้กับรางวัลยอดเยี่ยมของนักเขียนอาชีพ) เป็นของนักเรียนชั้น ม.6 ใน จ.อุบลราชธานี

และเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นรอบการประกวดเรื่องสั้นตามปกติ โดยมิได้จำแนกเยาวชนกับมืออาชีพจำนวน 2 เล่ม เช่นทุกปี กลับปรากฏว่า เยาวชนนักเรียนชั้น ม.5 ใน จ.ขอนแก่น คว้ารางวัลชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยมไปครอง

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไร ?

มันสะท้อนถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในโลกวรรณกรรมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วย passion ซึ่งจะมาบอกเล่าทัศนะ ความคิดเห็น และมุมมองใหม่ๆ อย่างมีศิลปะผ่านวรรณกรรม

เมื่อปี 2016 เรื่องสั้น “เสียงสุดท้าย” ของ ณัฐพร อุวิทัต ในชายคา 7 ได้ตั้งคำถามอย่างฉงนฉงายต่อพ่อ ซึ่งเป็นที่เคารพรักเชื่อฟังและเป็นคนดีมีพระคุณที่สุดนั้น อาจมีสิ่งน่าหวาดหวั่นน่ากลัวแฝงอยู่ 

ส่วนเมื่อปี 2019 เรื่องสั้น “นกใต้มหาสมุทร” ของ โมไนยา บุญช่วยชู ในชายคา 13 ได้เรียกร้องชีวิตปัจเจกที่อุดมด้วยความคิดความใฝ่ฝัน ซึ่งพ้นไปจากกรอบคิดจากอำนาจมายาคติและวาทกรรมของสถาบันหลักในสังคม (ครอบครัวกับโรงเรียน) เป็นการร้องขอชีวิตคนๆ หนึ่ง คืนมาสู่เจ้าของชีวิต

แหละประจวบเหมาะกับคนวาดภาพหน้าปกของชายคา 13 : บุตรธิดาแห่งสยาม คือเยาวชนหญิงนาม ‘ดวงแก้ว’ ขณะนั้นเธอเพิ่งจะเรียนจบชั้น ม.ปลาย และได้เป็น First-time Voter ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 24 มีนาคม 2019 พอดิบพอดี

การเปิดพื้นที่ของ ‘คณะเขียน’ เพื่อทำงานร่วมกับ The Isaan Record

หลังจากคณะเขียนบางคนเข้าไปร่วมเขียนบทความและคัดสรรเรื่องสั้นและบทกวีบนเว็บไซต์ The Isaan Record การพัฒนาความร่วมมือกันทำงานด้านวรรณกรรมอีกมากมายก็พัฒนางอกเงยตามมา อาทิ

  1. การคัดสรรเรื่องสั้นของนักเขียนที่ชนะการประกวดที่ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารชายคาเรื่องสั้น เพื่อนำเสนอซ้ำในเว็บไซต์ The Isaan Record (โดยมีค่าเรื่องให้อีกครั้งและบางเรื่องจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ) อันเป็นเรื่องสั้นที่นำเสนอประเด็นทางสังคมการเมือง ซึ่งควรรำลึกถึงและจดจำ เช่น เหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ช่วงเมษา-พฤษภา 2010 เป็นต้น
  2. การร่วมจัดตั้ง-กลุ่มนักเขียนอีสานเพื่อประชาธิปไตย (NEW 4 D : The Northeastern Writers for Democracy) เพื่อร่วมทำงานวรรณกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสังคม การปกครองเสรีประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ตลอดจนขบวนการต่อสู้ทางสังคมการเมืองของคนอีสานตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

วารสารชายคาเรื่องสั้นถูกระงับการอนุมัติทุนดำเนินการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ด้วยเหตุผลว่า ‘วรรณกรรม’ มิใช่งานศิลปวัฒนธรรม ดังนั้นจึงมีเฉพาะงานในแนวขนบและงานท้องถิ่นนิยมที่ได้รับทุนอย่างต่อเนื่องเท่านั้น และเป็นผลพวงของการเปลี่ยนสังกัดของมหาวิทยาลัยต่างๆ จากกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงใหม่ ซึ่งดูจะปรับการพิจารณาโครงการต่างๆ ให้เน้นไปยังเรื่องของท้องถิ่นนิยม วัง และวัดเท่านั้น

คณะเขียนจึงดิ้นรนหาหนทางติดต่อพูดคุยกับมิตรสหายที่ทำงานอยู่ในมูลนิธิไฮน์ริช เบิลล์ ยื่นโครงการเพื่อขออนุเคราะห์เงินทุน เพื่อต่อลมหายใจให้วารสารชายคาเรื่องสั้น

และในที่สุดโครงการของเราก็ผ่านการพิจารณา โดยได้รับการอนุมัติทุนดำเนินงานให้เพียงบางส่วน ซึ่งนั่นก็นับเป็นความกรุณาอย่างมหาศาลต่อหนังสือวรรณกรรมชายขอบ (ที่ไม่เคยถูกนับมาตลอดอายุสิบปีของมัน) ของบ้านนี้เมืองนี้

มูลนิธิไฮน์ริช เบิลล์ เป็นมูลนิธิที่ดำเนินการและสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อสังคม ตั้งขึ้นโดยใช้ทั้งนามและอุดมคติอุดมการณ์ของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวเยอรมัน นาม ไฮน์ริช เบิลล์ (Heinrich Böll) เป็นนักเขียนที่ถือว่าพันธกิจสำคัญของนักเขียนนอกจากเขียนแล้วจักต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย 

ตัวเขาเองยังยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างกล้าหาญตลอดช่วงชีวิต นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้มีผู้คนอ่านงานเขียนของเขามากที่สุดคนหนึ่งของโลก หนังสือของเขาได้รับการแปลหลายภาษา เขาได้ความสำเร็จอย่างงดงามในการพรรณนาถึงและปกป้องสามัญชน ผู้ไร้ที่ยึดเหนี่ยว ถูกเหยียบย่ำ คุกคาม และในการนี้ ก็เสมือนเป็นการเรียกร้องความเห็นใจจากผู้ที่พบว่า ตนเองก็มีส่วนเหมือนกับสามัญชน ดังที่เขามองเห็น

ชายคาเรื่องสั้นยังไม่ตาย 

ชายคาเรื่องสั้นยังมีชีวิตอยู่

 ‘Chaika’ alive

image_pdfimage_print