ภาพหน้าปกจาก : http://www.watpamahachai.net/Document12_6.htm
วิทยากร โสวัตร เรื่อง
เมื่อปีพุทธศักราช 2233 – 2235 หรือช่วงปลายสมัยอยุธยา ท่านราชครูหลวงโพนสะเม็ก (พระครูโพนสะเม็ก) ผู้งดงามด้วยศีลาจารวัตรและความปราดเปรื่องปรีชาญาณจนชาวบ้านชาวเมืองเรียกกันติดปากว่า ยาคูขี้หอม ได้ล่องเรือจากนครหลวงเวียงจันทน์มาบูรณะพระธาตุพนม ซึ่งด้านหนึ่งก็ถือเป็นกุศโลบายในการอพยพย้ายประชาชนเพื่อหลบหนีราชภัยอย่างสันติ
การบูรณะครั้งนั้นถือเป็นครั้งสำคัญยิ่ง เพราะเมื่อสืบเสาะลงไปจะพบว่า รูปพระธาตุพนม เท่าที่มีหลักฐานปรากฏที่เห็นได้ ก็แต่สมัยที่ท่านได้บูรณะไว้เท่านั้น ส่วนรูปทรงต่างๆ ก่อนหน้านั้นพบแต่เพียงในตำนานหรือหนังสือโบราณ (ไม่มีรูป) และองค์พระธาตุที่ท่านบูรณะและสร้างเสริมขึ้นสมบูรณ์พร้อมด้วยศิลปะของลาวล้านช้างหรือลาวลุ่มน้ำโขง ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของพระธาตุสำคัญๆ ในภาคพื้นนี้เลยทีเดียว และอยู่มาได้ 200 กว่าปี
ทั้งยังทรงอิทธิพลถึงขนาดว่า ตำนานการสร้างธาตุ พระปราสาท สถานที่สำคัญๆ ในลุ่มน้ำโขง หรือโดยเฉพาะในอีสาน ส่วนใหญ่จะโยงกับตำนานการสร้างพระธาตุพนม ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่กว่าก็ตาม(1)
ต่อจากนั้น พระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็น ‘ครูศิลป์ชั้นเลิศ’ จึงรับนิมนต์มาซ่อมแซมบูรณะในปี 2444 (ตรงกับช่วงปลายรัชการที่ 5) กระนั้น ด้วยปรีชาญาณด้านศิลป์ ท่านก็เพียงแต่
‘เซาะชะทรายพระธาตุ กำจัดต้นไม้ต้นหญ้าที่เกาะจับอยู่ออกไป แล้วถือปูนใหม่ แต่ภูมิถ้วน ๓ ลงจนถึงพื้น ประดับกระจกปิดทอง ประดับดอกที่ทำด้วยดินเผา ติดแผ่นจังโกทองคำที่ยอดพระธาตุ ซ่อมกำแพงชั้นกลางก่อเพิ่มให้สูงอีก 1แขน และถือปูนใหม่สิ้นทองคำเปลว 3 แสนแผ่น’ (2)
พูดให้ง่ายว่า ท่านไม่ได้ลบรอยครูลาวโบราณ และถ้ามองจากมิติทางสังคม ก็เห็นได้ว่า พระธาตุพนม อันเป็นรูปสัญญะแห่งศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของคนลาวลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาขา ได้รับการดูแลรักษาจากคนพื้นถิ่นเป็นสำคัญรวมเวลาได้ 249 ปี (นับจากที่ยาคูขี้หอมมาบูรณะ)
ลุถึงปีพุทธศักราช 2483 ระหว่างสถานการณ์พิพาทอินโดจีนของไทยกับฝรั่งเศส
หลวงวิจิตรวาทการ (3)ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มาตรวจนมัสการพระธาตุพนม และได้มีมติให้ซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร
ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ปราชญ์และศิลปินเมืองอุบลฯ เขียนบทความชื่อ “ธาตุพนม ทรากพัง ศรัทธาอันมีชีวิต” ลงในวารสารเมืองโบราณ ฉบับพระธาตุพนม พ.ศ.2518 โดยอ้างเอาคำพูดของ ‘ผู้เฒ่าโพธิ์ขาว’ ซึ่งเคยเป็นสามเณรที่ร่วมขบวนไปกับพระครูวิโรจน์รัตโนบล เพื่อบูรณะพระธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ. 2444 ว่า
‘…แบบขององค์พระธาตุพนม โดยหลวงวิจิตรวาทการและช่างกรมศิลป์ในการบูรณะต่อมานั้น ไม่ถูกต้อง ไม่สง่านุ่มนวลเหมือนของเดิม ช่างกรมศิลป์ไม่เข้าใจ เป็นหน้าที่ราชการของเขา เป็นทิฏฐิหน้าที่ของเขาทั้งสิ้น เนื้อซีเมนต์แข็งหยาบกระด้างเหมือนใจหยาบ ดูไปเป็นรูปขวด ของเก่าเส้นไหล ระฆัง ตีนหีบ พุ่มบัวบุษบกนั้น พื้นเดิมนั้นงามสุขุมกว่า’
และ รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องธาตุหรือสิมอีสาน ก็ตอกย้ำเรื่องนี้ในงานวิจัยสำคัญเรื่องธาตุอีสาน (2532) ว่า
‘นั่นแหละถึงเป็นการบูรณะแบบกระทำย่ำยีต่อองค์พระธาตุพนมโดยแท้จริง เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปทรงส่วนยอดขององค์พระธาตุจากต้นแบบของงานช่างทางภาคอีสานลงโดยสิ้นเชิง… นอกจากเป็นการบูรณะที่ทำลายรูปแบบดั้งเดิมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ฐานทั้ง 2 ชั้นขององค์พระธาตุอย่างมหาศาล จนไม่อาจแบกรับน้ำหนักไว้ได้ ฐานก่ออิฐดินเผาชั้นแรกได้แยกเป็นแนวยาว เห็นได้ชัดเจนจากด้านหน้า และแผ่นอิฐตรงซุ้มประตูหลอกได้ถล่มลงมา’ (แต่ผมก็สงสัยอยู่ว่าทำไมอาจารย์วิโรฒถึงบอกว่า ช่างทางภาคอีสาน ทั้งๆ ที่ต้นแบบของพระธาตุพนมที่กล่าวถึงนั้นเป็นฝีมือของยาคูขี้หอมซึ่งเป็นลาว)
แต่อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีนี้ ผมอยากจะให้ความยุติธรรมกับจอมพล ป. ในมิติทางการเมืองที่ว่า คณะรัฐบาลของแก ซึ่งต้นกำเนิดมาจากคณะราษฎรนั้น ได้ต่อสู้เชิงสัญลักษณ์กับระบอบกษัตริย์ในเรื่องอนุสาวรีย์มาอย่างจริงจัง แน่ล่ะว่าการสร้างเสริมองค์ธาตุพนมให้สูงใหญ่ขึ้นมากนั้นด้านหนึ่งเป็นการลบรอยช่างลาวส่วนหนึ่งไป แต่ในด้านมวลชน แกได้ใจราษฎรลาวทั้งสองฝั่งโขง ด้วยการยกศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของคนลาวทั้งสองฝั่งโขงให้ใหญ่ขึ้นสูงขึ้น เด่นเป็นสง่าขึ้น และได้ทำให้ภาพพระธาตุพนมองค์นี้กระจายไปในชนลาวตลอดสองฝั่งและติดตาผู้คนมาถึงวันนี้
ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือว่า เรารู้ทั้งรู้ว่าพระธาตุพนมจะพัง แต่ทำไมถึงปล่อยให้พัง ทั้งที่พระในวัดและประชาชนก็เห็นความเสื่อมทรุดนี้ แต่ไม่อาจทำอะไรได้ เพราะต้องรอกรมศิลป์ที่มาขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมไว้ แล้วการทำการใดๆ ต่อองค์พระธาตุพนม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลป์นั้น ถือว่าเป็นความผิด (แม้ว่าการณ์นั้นๆ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อองค์พระธาตุก็ตาม) ก็ได้แต่ปล่อยไปอย่างนั้น
มีบันทึกหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ถูกกล่าวถึงเลย ทั้งๆ ที่ช่วงแรกของการพังนั้น ทางวัดพระธาตุพนมได้พิมพ์เผยแพร่ไปเป็นจำนวน 10,000 เล่ม
“ได้ทราบว่า เมื่อต้นปีนี้ (2518) เคยมีการประชุมปรึกษาหารือกันภายในวัดพระธาตุพนมเกี่ยวกับองค์พระธาตุ กลัวว่าจะพังทลาย เพราะเห็นฐานส่วนล่างเก่าแก่คร่ำคร่ามาก บางแห่งก็ผุพังในสภาพเช่นนี้ พระธาตุอาจพังลงมามิวันใดก็วันหนึ่งข้างหน้า…”
และทางกรมศิลป์เองก็เป็นแต่เพียงดูดายต่อองค์พระธาตุพนม ด้วยวุ่นอยู่กับการดูแลโบราณสถาน/วัตถุไทยแต่ในส่วนกลาง
จนกระทั่งเวลาประมาณ 1 ทุ่มเศษของคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ฝนตกฟ้าคะนอง พระธาตุพนมก็พังทลายลงมาอย่างที่ไม่สามารถซ่อมแซมจากฐานเดิมได้เลย
ว่ากันว่า เมื่อข่าวพระธาตุพนมล้มพังทลายนั้นกระจายมาถึง คนลาวในภาคอีสานร่ำไห้อาลัยอยู่แรมปี นั่นเพราะว่าในส่วนลึกของสำนึกและความรู้สึกต่อพระธาตุพนมของคนลาวอีสานนั้น เป็นดังที่พระสุขุมวาทเวที อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางกาฬสินธุ์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เขียนจดหมายลงวันที่ 18 สิงหาคม 2518 ถึงเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมและเจ้าคณะจังหวัดนครพนมขณะนั้น ความตอนหนึ่งว่า
“กระผมคิดว่า พระเจดีย์บรรดามีในเมืองไทย เมื่อนำมาเทียบดูกันแล้ว ไม่มีที่ไหนเท่าทันองค์พระธาตุพนมเรา เอาด้านเก่าแก่ ของเราก็กว่าเขา ด้านวิจิตรศิลป์หรือวิจิตรกรรม ด้านอำนาจความลึกลับมหัศจรรย์ ของเรา ก็กว่าเขาทั้งนั้น”
ตามที่ได้สอบถามดูเหล่าคนที่เคยเดินเท้าไปไหว้ธาตุนั้น ทุกคนรู้สึกเหมือนกันว่า พระธาตุพนมคือพระพุทธเจ้า เมื่อพระธาตุพนมถูกปล่อยให้ล่มพังลง ก็เหมือนว่าพระพุทธเจ้าได้ตายลงอีกครั้งหนึ่ง
อาจจะด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ถือโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ทำนองว่า “เมื่อพระธาตุได้มีอันเป็นไปก็เสียใจ ชาติก็เช่นเดียวกัน อย่าให้แตกสลายจะเสียใจยิ่ง องค์พระธาตุได้แสดงอาการเตือนให้ชนในชาติร่วมรักสามัคคีอย่าแตกสลาย เช่นองค์พระธาตุ”
จากนั้น ก็มีการกระจายข่าวทั่วภาคอีสานว่าหัวอกพระพุทธเจ้าแตก (พระธาตุพนมล่มพัง) เพราะภัยคอมมิวนิสต์ เหมือนอย่างเมืองลาว
กระนั้นยังไม่พอ เมื่อมีการบูรณะหรือสร้างขึ้นมาใหม่ สัดส่วนก็ยิ่งผิดไปจากเดิม และมาทราบกันภายหลังว่า เพราะกรมศิลป์ไม่ได้วัดสัดส่วนใดใดไว้เลย นั่นจึงเป็นเหตุให้
‘ตอนที่บูรณะพระธาตุพนมใหม่ รู้หรือเปล่าว่า เขาเอาช่างคนเก่ามาแกะลาย เอาบล็อกเก่ามาเลย พอเอาขึ้นใส่ก็ใส่ไม่ได้ เพราะบล็อกเล็กกว่า เลยมาทำใหม่ มาแกะใหม่ แสดงว่าเขาไม่ได้พิถีพิถันอะไรเลย ถ้าไม่งั้นจะไปลากเอาบล็อกเก่ามาทำอะไร คนก็คนเก่า…’ (4)
สอดคล้องกับที่ รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ให้ความเห็นไว้ในงานวิจัยเรื่องธาตุอีสานว่า ‘พระธาตุพนม ค.ส.ล. 2520 (คอนกรีตเสริมเหล็ก) องค์รีโปรดักท์ผิดส่วนไปบ้างเพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ที่ไร้สุนทรียรสก็ตรงลายสลักอิฐที่เก็บขึ้นไปปะติดแต่ไม่ปะต่อกัน’
แต่จุดที่ผมเห็นว่าไร้สุนทรียรสที่สุด กลับเป็นจุดๆ หนึ่งที่ได้ทำลายจารีตธรรมเนียมปฏิบัติ อันถือว่าเป็นจิตวิญญาณขั้นสูงของช่างลาวสองฝั่งโขง
อ้างอิง
(1) ประเด็นนี้น่าจะมีปัญหาอยู่เพราะยังยืนยันชัดไม่ได้ว่าพระธาตุพนมนั้นสร้างจริง ๆ ตอนไหน แต่ความเหลื่อมในเรื่องเวลานี้ก็เป็นผลดีคล้ายวีรบุรุษในตำนานที่เปิดพื้นที่ให้จินตนาการได้รอบทิศ เชื่อมโยงได้มาก พูดให้ง่ายคือมันได้กลายสภาพเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ทางความคิดและจินตนาการ
(2) เก็บความจาก ‘อุรังคนิทาน’ โดย พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว อุทุมมาลา)
(3) ในนิยายเรื่อง ดอกฟ้าจำปาศักดิ์ของท่านผู้นี้ได้มีฉากที่พระธาตุพนมซึ่งผู้เขียนได้ซ่อนนัยยะทางการเมือง-ประวัติศาสตร์ลชาตินิยมรวมศูนย์ไว้อย่างแนบเนียน
(4) พระครูโกศลพนมกิจ, เวทีเสวนาเรื่องจดหมายเหตุพระธาตุพนม เอกสารสรุปการสัมมนาวิชาการ แม่น้ำโขง : ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม กับกระแสของความเปลี่ยนแปลง, ๒๕๕๒