ธีร์ อันมัย เรื่อง
หากลองทบทวนประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อต่อรอง เพื่อการปลดปล่อย และเพื่อความเป็นธรรมของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เราจะพบว่า ตลอดระยะเวลากว่า 119 ปี นับจาก ค.ศ. 1901 หรือ พ.ศ. 2444 (ที่ราชสำนักสยามได้ทำการปราบกบฏผู้มีบุญเมื่อวันที่ 4 เดือนเมษายน 2444 (วันที่สี่ เดือนสี่ สองพันสี่ร้อยสี่สิบสี่) ที่จังหวัดอุบลราชธานี จนมีคนล้มตายจำนวนมาก)
จนถึงปัจจุบันเราจะพบว่า ผู้คนบนดินแดนที่ราบสูงได้แสดงให้เห็นถึงการลุกขึ้นต่อสู้และแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเป็นการยืนยันตามแนวทางเสรีประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง เช่น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 1932 (ปี 2475) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นภูมิภาคที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์การเมืองที่ส่งเสริมแนวทางเสรีประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง เป็นภูมิภาคที่มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเฉลิมฉลองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ กระจายตัวในหลายจังหวัด มีนักการเมืองหัวก้าวหน้า เช่น 4 รัฐมนตรีอีสาน หรือช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีขบวนการเสรีไทยเพื่อปลดปล่อยไทยจากการเป็นผู้แพ้สงคราม โดยการนำของปัญญาชนไทยในต่างแดน ขณะที่ในประเทศไทยนั้นก็มีปัญญาชนอย่างเตียง ศิริขันธ์ ที่รวบรวมผู้คนบนดินแดนที่ราบสูงเข้าเป็นกำลังหลักของขบวนการเสรีไทย
ครั้นโลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างอุดมการณ์ซ้ายกับขวาก็พบว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลายเป็นฐานที่มั่นหลัก หรือเขตงาน 2 มีพื้นที่แทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้ง 15 จังหวัด (ตอนนั้นประเทศไทยมี 71 จังหวัด มีพื้นที่แทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์จำนวน 36 จังหวัด) และมีประชาชนเข้าร่วมกับอุดมการณ์สังคมนิยมเพื่อต่อกรกับอำนาจศักดินาและจักรวรรดินิยม มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1965 ที่บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม กรณีเผาบ้านนาทราย อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลหัวสิงห์ อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 1974 เป็นต้น แต่ปัจจุบันแทบจะถูกกลบลบเลือนไป หากไม่ได้มีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัด
หลังสงครามเย็นสิ้นสุด ขบวนการต่อสู้ของคนอีสานเปลี่ยนรูปมาเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรและทวงคืนสิทธิชุมชน สิทธิในที่ทำกิน ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรและต้นทุนทางสังคม หรือการต่อสู้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน ทั้งจากกรณี โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) การเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล การเคลื่อนไหวของสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) และสมัชชาคนจน (สคจ.) เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่ยุคการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมเข้มข้น กระทั่งเกิดการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมา เมื่อมีการลงประชามติปรากฏว่าพื้นที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญมากที่สุด (มีเพียงจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์เท่านั้นที่โหวตรับ) และเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจัดให้มีการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2016 ก็ปรากฏว่า ภาคอีสานก็ยังเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากการทำรัฐประหาร
แม้จะล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่การล้อมปราบประชาชนกลางเมืองหลวงของประเทศไทย ก็ยังเกิดขึ้นท่ามกลางสายตาประชาคมโลก และเหตุการณ์ที่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้กองกำลังทหารล้อมปราบคนเสื้อแดงหรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน – 21 พฤษภาคม 2010 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่มีคนตายเกือบ 100 คน บาดเจ็บจำนวนมาก และถูกจับกุมคุมขัง ส่วนมากเป็นคนอีสาน
หากทบทวนวาทกรรมทางการเมืองที่ฝ่ายอำนาจรัฐไทยใช้กับคนอีสานและการต่อสู้ของคนอีสานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราก็จะพบว่า รัฐไทยทั้งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็จะใช้ขบวนการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการตั้งชื่อประณาม (name calling device) การลุกขึ้นสู้เพื่อลดทอนสาระสำคัญของการต่อสู้ให้ดูเลวร้าย เช่น เรียกกบฏผู้มีบุญว่า “กบฏผีบ้าผีบุญ” หรือ “กบฏผีบุญ” เรียกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ว่า “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)” หรือสร้างวาทกรรมเพื่อบั่นทอนการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนว่า “ขายเสียงขายสิทธิ” “เห็นแก่อามิสสินจ้าง” รวมทั้งสร้างวาทกรรมทำลายการต่อสู้ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาว่า “เป็นพวกขัดขวางการพัฒนา” “รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหว” ประณามคนเสื้อแดงว่า เป็น “พวกเผาบ้านเผาเมือง” เป็น “ควายแดง” เป็นต้น
เมื่อย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนบนแผ่นดินที่ราบสูงในอดีตกว่า 100 ปีกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะพบว่า หลายเรื่องถูกทำให้สูญหาย หลายอย่างถูกทำลายให้ลืมเลือน หลายเรื่องถูกตอกย้ำให้ดูต่ำต้อยเลวทรามและก่นประณามให้อัปยศถดถอย
ครั้นสำรวจแวดวงวรรณกรรมของนักคิดนักเขียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมสมัยในห้วงสิบปีที่ผ่านมา ก็พบว่า บางส่วนได้ไหลไปตามวาทกรรมอำนาจรัฐกรุงเทพฯ เหยียบย่ำซ้ำเติมคนอีสานให้จมอยู่ใต้วาทกรรม โง่ – จน – เจ็บ เราจึงเห็นว่า หลังการล้อมปราบคนเสื้อแดง ได้มีนักเขียนลูกอีสานบางคน บางกลุ่มเข้าร่วมก่นประณามและซ้ำเติมคนตายด้วยน้ำมือรัฐด้วยบทกวี บทความ และเรื่องสั้นของพวกเขา

ส่วนหนึ่งของวารสารชายคาเรื่องสั้นที่มีจุดกำเนิดจากเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2553
ขณะเดียวกันก็มีนักเขียน นักวิชาการลูกอีสานอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกรู้สากับชะตากรรมของคนเสื้อแดงที่ถูกกระทำและไม่เห็นด้วยกับกลุ่มอำนาจนิยมส่วนกลาง และในจำนวนนั้นก็มีนักเขียนอิสระภาคอีสานจำนวนหนึ่ง ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์การล้อมปราบคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 รวมกลุ่มกันขึ้นในนาม “คณะเขียน” (like to write, light to live) โดยการนำของ มาโนช พรหมสิงห์ จัดทำวารสาร “ชายคาเรื่องสั้น” ขึ้นมา เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับนำเสนอความคิด งานเขียนที่สะท้อนความเป็นไปบนแผ่นดินที่ราบสูงที่สวนกลับกระแสของนักเขียนส่วนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่อิงแอบแนบชิดอยู่กับอำนาจและอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม
จากการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา มีนักเขียนและนักวิชาการเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย มาโนช พรหมสิงห์ ชัชวาล โคตรสงคราม เสนาะ เจริญพร ภู กระดาษ ชานนท์ ไชยทองดี ธีรยุทธ บุษบงค์ ไพรยุทธ์ สะกีพันธ์ วิชัย จันทร์สอน วิทยากร โสวัตร จารุพัฒน์ เพชราเวช ธีร์ อันมัย และโมไนยา บุญช่วยชู นักเขียนรางวัลชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยม 2019 พร้อมทั้งมี เดือนวาด พิมวนา นักเขียนรางวัลซีไรต์ และไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
“นักเขียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อประชาธิปไตย (The Northeastern Writers for Democracy: NEW4D)” ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือเบื้องต้นกับเดอะอีสานเรคคอร์ด โดยกำหนดพันธกิจร่วมกันว่า 1 – 3 ปีจากนี้ (2020 – 2022) สมาชิกกลุ่ม NEW4D จะผลิตงานวรรณกรรม ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ รวมทั้งบทสัมภาษณ์ และผลงานวิชาการที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เสรีประชาธิปไตย และความหลากหลายที่สะท้อนความเป็นไปบนแผ่นดินที่ราบสูงตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน โดยจะนำเสนอผ่านเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด
ในเบื้องต้นได้กำหนดว่า ภายในปีนี้จะมีเรื่องสั้น 10 เรื่อง จาก ภู กระดาษ จารุพัฒน์ เพชราเวช ธีร์ อันมัย และ โมไนยา บุญช่วยชู กวีนิพนธ์ 40 บท จาก วิชัย จันทร์สอน ธีรยุทธ บุษบงค์ อรรณพ วรรณศรี เป็นต้น และบทความวิชาการอย่างน้อย 2 บท โดยที่ประชุมมีมติให้ มาโนช พรหมสิงห์ เป็นบรรณาธิการเรื่องสั้นและนวนิยาย ธีรยุทธ บุษบงค์ เป็นบรรณาธิการกวีนิพนธ์ ส่วนบทความและบทสัมภาษณ์นั้นให้กองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์คทำหน้าที่บรรณาธิการ
หลังจากการประชุมผ่านพ้นไป งานกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และนวนิยายเริ่มมีความเคลื่อนไว นับตั้งแต่มีนาคม 2020 เป็นต้นไป อย่างน้อย 1 ปี จากนี้ เดอะอีสานเรคคอร์ดจะมีผลงานจาก NEW4D ส่วนจะดีไม่ดีอย่างไรให้คุณภาพของงานเป็นตัวตัดสินในอนาคต