เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เรื่อง
“ที่ไหนมีเหมืองหิน ที่นั่นมักจะมีความรุนแรง” คำพูดนี้อาจจะไม่ได้กล่าวเกินจริงมากนัก เพราะที่พื้นที่ตำบลดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ยืนยันคำกล่าวนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งย้ำสะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงจากการต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หินในจังหวัด
25 ปี แห่งการต่อสู้กับการสูญเสีย 4 ชีวิต หลังลุกขึ้นมาต่อต้านเหมือง
บทเรียนอันสุดเจ็บปวดของนักต่อสู้กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได “อาจจะไม่มีใครกล้าพูดว่าใครเป็นคนฆ่า แต่ถ้าถามว่าใครได้ประโยชน์จากการตายของ 4 ชีวิต คงจะเห็นภาพชัดกว่า”
หากไล่ดูลำดับเหตุการณ์ (timeline) ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เราจะเห็นที่มาที่ไปของความรุนแรงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มจากการขอประทานบัตรทำเหมืองหินปูนที่ภูผายา ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้าน
การเพ่งเล็งภูเขาลูกนี้ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ซึ่งเจ้าของเป็นนักธุรกิจใหญ่จากจังหวัดอุดรธานี จึงเป็นเหมือนการเริ่มจุดชนวนความรุนแรงในพื้นที่

ภาพเขียนสีอายุในถ้ำภูผายา จ.หนองบัวลำภู ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งอารยะธรรม
เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านหลายหมู่บ้าน จนเป็นการคัดค้านขนาดใหญ่ และบริษัทก็ต้องผิดหวัง เมื่อบนภูผายา พบภาพเขียนสีโบราณ ซึ่งกลายเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่กรมศิลปากรให้การรับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ความฝันของการทำเหมืองหินปูนที่ภูผายาจึงถูกดับมอด !
แต่ความหวังก็ไม่หมดไปเสียทีเดียว เมื่อการประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมของรัฐ ได้ปูทางไว้ให้อีกหลายแห่งในจังหวัดหนองบัวลำภู โดยเฉพาะในท้องที่ตำบลดงมะไฟแห่งนี้ที่มีปริมาณสำรองหินอุตสาหกรรมมากถึงร้อยละ 45 ของแหล่งหินสำรองในจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อภูผายาทำเหมืองไม่ได้ เป้าหมายจึงเปลี่ยนไปเป็นภูผาฮวก (รวก) เมื่อปี 2537 การกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นเหมือนการราดน้ำมันเข้ากองไฟ ทำให้ชาวบ้านยิ่งลุกฮือมากขึ้น มีการรวมตัวเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อหน่วยงานราชการต่างๆ หลังจากเริ่มขอประทานบัตรได้เพียงหนึ่งปี
ผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านถูกลอบยิงเสียชีวิตไปถึง 2 คน ได้แก่ บุญรอด ด้วงโคตะ และ สนั่น สุวรรณ
การลอบยิงส่งผลกระทบต่อการต่อสู้ของชาวบ้านโดยตรง สิ่งที่เกิดขึ้น คือความหวาดกลัว เพราะสารที่ส่งมาจากคนยิง-คนสั่งการ คือการข่มขู่ให้ชาวบ้านหยุดคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินปูน
แต่ที่ไหนมีการกดขี่คุกคามให้กลัว ที่นั่นย่อมมีความคับแค้นใจ และความคับแค้นใจนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งหรือขีดจำกัดหนึ่ง มักแปรเปลี่ยนเป็นพลังต่อต้านเสมอ
หลังการตายของ 2 ชีวิตไม่นาน แม้ผู้คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเหมืองจะลดลงไปบ้างจากความหวาดกลัว แต่จำนวนคนที่ยังยืนหยัดสู้อยู่ก็ยังมีอีกจำนวนมาก
รวมถึงผู้นำชุมชนคนสำคัญ อย่าง กำนันทองม้วน คำแจ่ม ผู้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเพียงไม่กี่คนที่ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนมาโดยตลอด ทำให้กำลังใจของชาวบ้านมีมากขึ้นไปอีก
ถึงแม้จะมีคนคัดค้านมากขนาดไหน แต่ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู กลับลงพื้นที่รังวัดก่อนการสัมปทานของบริษัทเอกชน ท่ามกลางเสียงคัดค้าน และเมื่อปี 2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม และ สม หอมพรมมา ก็ถูกยิงเสียชีวิต ช่วงจังหวะนั้นบริษัท ธ. ศิลาสิทธิ จำกัด กลับได้รับประทานบัตรทันที
การ “เชือดไก่ให้ลิงดู” เป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้เสมอ จากคนที่เห็นแก่ตัว ด้วยการขโมยภูเขาที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
แม้ทุกวันนี้จะจับตัวคนร้ายไม่ได้หรือบทสรุปของคดีจะค้านสายตาชาวบ้านมากแค่ไหน แต่ถ้าถามว่าใครอยู่เบื้องหลัง ชื่อที่ปรากฏในหัวใจของคนในพื้นที่ทุกคนย่อมเป็นคนๆ เดียวกันอย่างแน่นอน
เหมือนกับที่สังคมกำลังตั้งคำถามที่เกิดขึ้นที่ห้าง Terminal 21 ที่โคราชว่า ความผิดไม่ได้อยู่แค่เฉพาะตัวของทหารผู้ก่อเหตุรุนแรงฆ่าอย่างน้อย 27 ชีวิต แต่มันมีความผิดเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบที่ผูกโยงไปถึงหน่วยงานต้นสังกัดที่ทำให้ทหารผู้นั้นสร้างเหตุจูงใจจนก่อเหตุรุนแรงขึ้น
สังคมก็ควรถามแบบเดียวกันว่า เบื้องหลังมือปืนที่ยิง 4 ชีวิต ในตำบลดงมะไฟ มีเหตุจูงใจอะไรจึงทำให้ผู้ว่าจ้างมือปืนต้องจ้างมือปืนมาก่อเหตุความรุนแรง และภายใต้โครงสร้างรัฐที่มีทั้งอำนาจและกฎหมายอยู่ในมือ ยังมีใครมีอิทธิพล อำนาจ และผลประโยชน์เหนือกว่ารัฐอีกที่สามารถเปิดไฟเขียวให้ก่อเหตุยิง 4 ชีวิตดงมะไฟจนถึงแก่ชีวิตได้
จนถึงบัดนี้รัฐผู้เป็นองค์กรและตัวแทนในการใช้อำนาจแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอันแท้จริง ทำไมถึงยังจับมือปืน ผู้จ้างวาน ผู้รู้เห็นเป็นใจ และผู้หนุนหลัง ไม่ได้แม้สักคนเดียว
กรุณาติดตามตอนที่ 2 “ใครอยู่เบื้องหลังเร่งรัดผลักดันวาระต่ออายุเหมืองหินปูนเข้าสภา อบต.ดงมะไฟ ?