ชานนท์ ไชยทองดี เรื่อง 

จีระยุทธ อรรคบุตร เรื่อง 

ในยุคที่เอ่อล้นไปด้วยข้อมูลจากสื่อหลากประเภทหลายเนื้อหา ผู้คนเกิดการผันเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิถีปฏิบัติในมากรูปแบบ จนเกิดคำถามว่า ยุคนี้ อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้คน

เมื่อความจริงเคยเป็นสิ่งที่คนแสวงหา แต่มาวันหนึ่งเราต่างพบว่า เราล้วนมีความจริงกับคนละแบบ จากคนละข้อมูล

การไหลเวียนเปลี่ยนผ่าน ถ่ายเทข้อมูลจำนวนมาก ทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น เราได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง เราได้เชื่อในสิ่งที่ไม่เคยเชื่อและทำให้เราทำในสิ่งที่อาจจะไม่เคยทำ

ปี 2010 เราได้เห็นวารสาร “ชายคาเรื่องสั้น” ของคณะเขียน

 ปี 2020 เรายังคงได้เห็นวารสาร “ชายคาเรื่องสั้น” ของคณะเขียน

“รวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้น” ซึ่งเป็นวารสารรวมเรื่องสั้นว่าด้วยเรื่องอีสาน เกิดจากการรวมตัวนักเขียนอิสระในภาคอีสานที่เรียกตัวเองว่า “คณะเขียน” เช่น มาโนช พรหมสิงห์ ภู กระดาษ, ภูมิชาย คชมิตร ฮอยล้อ เมื่อ พ.ศ. 2552 เพื่อจัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นแบบต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 เล่ม โดยมีมาโนช พรหมสิงห์ เป็นบรรณาธิการ ยกเว้นชายคาเรื่องสั้นลำดับที่ 4 “โลกสันนิวาส” ที่มี อนุสรณ์ ติปยานนท์ เป็นบรรณาธิการ 

เล่มลำดับที่ 1–4 ทางคณะเขียนได้ขอเรื่องสั้นจากนักเขียนทั่วประเทศที่มีชื่อเสียงมาร่วมตีพิมพ์ โดยไม่ได้จ่ายค่าเรื่องให้นักเขียนแม้แต่คนเดียว เช่น เดือนวาด พิมวนา เรวัฒน์ พันธุ์พิพัฒน์ ชัชวาล โคตรสงคราม อนุสรณ์ ติปยานนท์และนักเขียนอิสระอื่น ๆ 

วารสารชายคาเรื่องสั้นได้จัดทำโดยมีเรื่องสั้นรับเชิญ เรื่องสั้นประกวด และเรื่องสั้นแปลจากนักแปล ซึ่งได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

ชายคาเรื่องสั้นเล่มลำดับที่ 5 เป็นครั้งแรกที่เปิดประกวดรับต้นฉบับเรื่องสั้นว่าด้วยอีสานของชายคาเรื่องสั้นจากนักเขียน ประชาชน และนักเรียนนักศึกษา มาคัดสรร คัดเลือกและตัดสินต้นฉบับเรื่องสั้นที่ดีสุดจำนวน 10 – 12 เรื่อง ให้เข้ารอบสุดท้ายเพื่อตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและบรรณาธิการยังได้คัดเลือกเรื่องสั้นยอดเยี่ยมประจำปี

ส่วนหนึ่งของวารสารชายคาเรื่องสั้น ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2553

เสียงอีสานในชายคาเรื่องสั้น

เรื่องสั้นว่าด้วยเรื่องอีสานในวารสารชายคาเรื่องสั้น ได้ปรากฏมิติเสียงอีสานที่สะท้อนผลผลิตทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น การอธิบายความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนชนบทอีสาน 

การอธิบายการเมืองในปริมณฑลทางวัฒนธรรม การสร้างพื้นที่ของความเป็นอีสานที่เต็มไปด้วยการต่อรอง ต่อสู้ ช่วงชิงการนิยามความหมายของความเป็นอีสาน ภายใต้อำนาจรัฐที่บีบบังคับเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง 

ตลอดจนสร้างรหัสทางวัฒนธรรมที่มีการเล่า โดยใช้กลวิธีที่หลากหลาย ตั้งแต่การเล่าด้วยรูปแบบธรรมดาพื้นๆ จนถึงการเล่าเรื่องแบบแนวคิดสัจนิยมมหัศจรรย์ โดยมีตำนาน เรื่องเล่า ผี วิญญาณ และปีศาจมาเกี่ยวข้อง 

เรื่องสั้นว่าด้วยอีสานในวารสารชายคาเรื่องสั้น ได้สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ในสังคมอีสานที่โดนกระทำโดยอำนาจของรัฐ เช่น การเหยียดทางชนชั้นในสังคม ความเป็นเพศในวัฒนธรรมที่มองผ่านการเมือง ความต้องการสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง การต่อต้านระบบเผด็จการและต้องการความเป็นประชาธิปไตยคืนสังคม ความดี/ความชั่ว/ความยุติธรรม/ความอยุติธรรมของความเป็นมนุษย์ ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา

ปัจจุบันชายคาเรื่องสั้นเดินมาถึงฉบับที่ 13 ครั้ง ครั้งหนึ่ง มาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการ “ชายคาเรื่องสั้น” เคยกล่าวว่า

“ขอให้ทุกท่านจงมาร่วมชื่นชม กลุ่มดอกไม้เล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่พร้อมใจกันชูช่อผลิบาน ในวันคืนของความมืดมน เบ่งบานด้วยกล้าหาญและซื่อตรงต่อพันธกิจชีวิตของตน ขอโปรดจงมาร่วมชื่นชม ดูแล และปกป้อง จงหว่านโปรยเมล็ดพันธุ์ไปทั่วแผ่นดิน แล้ววันของความหวังก็จักมาเยือนในอีกไม่นาน…วันแห่งการผลิบานสว่างไสวของมวลดอกไม้ทั่วทั้งแผ่นดินมาตุภูมิแห่งนี้”

เนื้อหาของเรื่องสั้นส่วนหนึ่งที่บรรณาธิการชายคาเรื่องสั้นเลือกเพื่อการตีพิมพ์ มีการนำเสนอหรือสะท้อนความเป็นอีสานภายใต้แนวคิดทางการเมืองวัฒนธรรม รวมถึงผลกระทบจากผู้มีอำนาจ แม้อาจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหน้าที่โดยตรง 

แต่การที่เรื่องสั้นสักเรื่องสามารถ “ปลดเปลื้อง” หรือชี้นำให้นักอ่านได้รู้ว่า ณ ดินแดนแห่งนี้ มีมากกว่า “กรุงเทพฯ” ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะนอกเหนือจากจะหมายถึงการลดอคติในตัวคนนอกที่มองเข้ามา หรือกระทั่งลดอคติที่คนในมีต่อตัวเอง ยังหมายถึงการมองคนอย่างเท่าเทียมกันด้วยนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่ “คณะเขียน” ผู้สร้างสรรค์ “ชายคาเรื่องสั้น” กำลังพยายามทำ คือการทำให้อีสานก้าวพ้น “มายาคติ 3 แบบ คือ โง่ จน เจ็บ” 

เรื่องเล่า เรื่องราว และประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องอีสาน

เรื่องราวของผู้ที่ถูกครอบงำและกดขี่ด้วยอำนาจ มักจะอิงอยู่กับเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ของของ

ชาติและประวัติศาสตร์โลก ด้วยเหตุนี้ในชีวิตประจำวันจึงปรากฏการเมืองในลักษณะนี้ คือ การใช้เล่าเรื่อง เป็นเรื่องราวที่อิงอ้างด้วยประวัติศาสตร์ โดยที่ผู้คนในสังคมต่างมีเรื่องเล่าของตนเอง และใช้เรื่องราวนั้นๆ ในการสนับสนุนการกระทำของตนเองให้มีความชอบธรรมและมีความถูกต้องเสมอ 

เรื่องสั้น “ฝนน้ำตา” ของ ธีร์ อันมัย ในรวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 2 “ร่างกลางห่ากระสุน” มีการใช้เรื่องเล่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฝนน้ำตาที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 

การใช้บั้งไฟที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมมาต่อรองกับอำนาจที่ครอบงำ และการเสพสุขของชนชั้นนำบางกลุ่มบนความทุกข์ของชนชั้นระดับล่าง 

เรื่องสั้น เรื่อง “ศพหนังสือ” ของ มาโนช พรหมสิงห์ ในรวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 3 “เปลือยประชาชน” มีการใช้เรื่องเล่าของแถนและไพร่ฟ้า 

เรื่องสั้นดังกล่าวมีการใช้เรื่องเล่าเพื่อสื่อถึงทางเลือกในการกระทำ มีเรื่องเล่าของคนละดับล่างที่ใช้วิธีการยืนหยัดความเป็นตัวตนของตนเองด้วยการไม่เชื่อในสิ่งที่รัฐประกาศ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประชาชนที่ได้แสดงการต่อสู้ต่อรองกับอำนาจทางการเมือง มีเรื่องเล่าของชนชั้นแรงงานชาวอีสานที่ต้องพลัดถิ่นฐาน มีเรื่องเล่าขับเคลื่อนให้เกิดการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งผ่าน และการแสดงออกเชิงอำนาจในการต่อสู้และต่อรองผ่านสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ชนชั้นทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมว่าด้วยเรื่องอีสาน 

การแบ่งชนชั้นทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมว่าด้วยเรื่องอีสาน ปรากฏประเด็นของการแบ่งชนชั้นทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม คือ การแสดงให้เห็นผลกระทบจากภาวะของการเมือง และเศรษฐกิจตกต่ำ จนนำไปสู่ช่องว่างของชนชั้นผู้ใช้แรงแรงกับชนชั้นนายจ้าง

เรื่องสั้น “งั้วง่าว” ของ ภู กระดาษ ในรวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 2 “ร่างกลางห่ากระสุน” ได้กล่าวถึง “ชนชั้นกลาง” ส่วนใหญ่ที่มีความรู้สึกดีใจต่อเหตุการณ์รัฐประหารที่บ้านเมืองจะได้สงบสุข และมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น แต่ไม่นานประชาชนต่างได้รับผลกระทบจากภาวะของทางเมือง เช่น ราคาสินค้าสูงขึ้นและเกิดอัตราการว่างงานมากขึ้น จนนำไปสู่ช่องว่างของชนชั้นผู้ใช้แรงแรงกับชนชั้นนายจ้าง ทำให้ชนชั้นนายจ้างใช้อำนาจที่เหนือกว่ามาต่อรอง และควบคุมชนชั้นแรงงาน 

นั่นจึงทำให้สภาพทางชนชั้นของผู้ใช้แรงงานอยู่ก้ำกึ่งระหว่าง “ทาส” กับ “แรงงาน” และไม่มีสามารถใช้วิธีการ เพื่อใช้ต่อรอง ต่อต้าน และต่อสู้กับอำนาจ และ

ความอยุติธรรมที่เป็นผลพวงจากภาวะความขัดแย้งทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 

เรื่องสั้น “กลาย” ของ เตชภณ แสงวงศ์ ในรวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 5 “สุสานของความสุข” ได้นำเสนอการแบ่งชนชั้นทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม คือการเหยียดชนชั้นทางชาติพันธุ์ในสังคมไทย 

ปฏิบัติการว่าด้วยการช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมว่าด้วยเรื่องความเป็นอีสาน

ปฏิบัติการวัฒนธรรมทางชนชั้นโดยคนระดับล่าง ได้มีวิธีใช้การโต้ตอบด้วยไม่ยอมจำนนตามข้อเสนอของภาครัฐ เพื่อยืนหยัดความเป็นตัวตน และท้าทายอำนาจของรัฐโดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงการกระทำโดยใช้อำนาจทางเมืองของรัฐที่ต้องการเข้าถึงทรัพยากร และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ นั้น ๆ

เรื่องสั้น “พ่อใหญ่ปุ่ย” ของ ฮอยล้อ ในรวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 1 “มายากลแห่งภาวะฉุกเฉิน” ได้ปรากฏปฏิบัติการทางวัฒนธรรม คือการแย่งชิงพื้นที่ของผู้มีอำนาจ (อำนาจรัฐ, ชนชั้นนำ) จากผู้ไร้อำนาจ (ประชาชน, คนระดับล่าง) 

เรื่องสั้น “คิดฮอด” ของ สองขา ในรวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 5 “สุสานของความสุข” ได้กล่าวถึงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม คือ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ” ที่ใช้สื่อถึงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งน้อยคนจะเคยอ่านเนื้อความในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ได้ปรากฏปฏิบัติการทางวาทกรรม กล่าวคือ การใช้วาทกรรมสร้างความชอบธรรม เพื่อต่อรองกับอำนาจที่ครอบงำ เช่น “อย่าเหยียบเงาพระ อย่าเหยียบหัวคน อย่าเหยียบกฎหมาย” 

เรื่องสั้น “ไม่เพียงแต่ทอผ้าเท่านั้น” ของ ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ในรวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 6 “มวลดอกไม้แห่งยุคมืด” ได้กล่าวถึงความไม่แน่นอนหรือความผันผวนที่นำมาสู่ความย้อนแย้งในประวัติศาสตร์ของลาวล้านช้างฝั่งขวา คือมีประชาชนที่คิดจะต่อสู้กับอำนาจของรัฐ ซึ่งในเรื่องสั้นเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในอุดมการณ์ และใช้เป็นภาพตัวแทนของระบอบอำนาจแบบเก่า 

อีกทั้งยังเป็นการใช้ประวัติศาสตร์ให้ความหมายหรือนิยามระบอบการเมือง การที่พยายามจะประดิษฐ์ความทรงจำทางสังคมขึ้นมาใหม่ การต่อสู้เชิงอำนาจด้วยการใช้ประวัติศาสตร์ต่อรอง ตลอดจนปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่นำไปสู่ความเป็นสมัยใหม่

สรุป

เรื่องอีสานในรวมเรื่องสั้นชายคาเรื่องสั้นข้างต้น สามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้แก่ มีการแย่งชิงพื้นที่หรือที่ดินระหว่างเจ้าของพื้นที่ คือ “คนระดับล่าง” กับ ผู้มีอำนาจ คือ “ภาครัฐ” มีการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมวัตถุที่มีความหมายทางการเมืองและใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจที่ครอบงำสังคมไทย มีการวาทกรรมและเรื่องเล่าเชิงสำนวนสุภาษิตของอีสานเกี่ยวกับคนไร้อำนาจ (คนระดับล่าง) ที่ใช้ในกระบวนการต่อต้าน ต่อรอง ต่อสู้ สร้างความสมดุลทางอำนาจและสร้างความเป็นตัวตน มีการใช้เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ให้ความหมายหรือนิยามระบอบการเมืองและพยายามจะประดิษฐ์ความทรงจำทางสังคมขึ้นมาใหม่ 

บรรณานุกรม

ชัชวาลย์ โคตรสงคราม (2558) ไม่เพียงแต่ทอผ้าเท่านั้น ใน มาโนช พรหมสิงห์, ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 6 มวลดอกไม้ในยุคมืด (1-17) กรุงเทพฯ: เขียน เตชภณ แสงวงศ์. (2558) กลาย ใน มาโนช พรหมสิงห์, ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 5 

สุสานของความสุข (65-81) กรุงเทพฯ: เขียน ธีร์ อันมัย. (2554) ฝนน้ำตา ใน มาโนช พรหมสิงห์, ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 2 

 ร่างกลางห่ากระสุน (71-84). กรุงเทพฯ: เขียน, ภู กระดาษ. (2554). งั้วง่าว. ใน มาโนช พรหมสิงห์, ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 2 

ร่างกลางห่ากระสุน (153-179). กรุงเทพฯ: เขียน, มาโนช พรหมสิงห์ (ออนไลน์, 2558) เดอะ อีสานเรดคอร์ด (2558, กรกฎาคม) 

“ตัวหนังสือของคนสวน” สัมภาษณ์: มาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการ 

“ชายคาเรื่องสั้น” วารสารสายเลือดอีสาน สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ลำดับที่ 3 เปลือยประชาชน (177-198) กรุงเทพฯ: เขียน

สองขา (นามแฝง) (2556) คิดฮอด ใน มาโนช พรหมสิงห์, ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 5 สุสานของความสุข (1-11) กรุงเทพฯ: เขียน

ฮอยล้อ (นามแฝง) (2553) พ่อใหญ่ปุ่ย ใน มาโนช พรหมสิงห์, ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 1 มายากลแห่งภาวะฉุกเฉิน (15-43) กรุงเทพฯ: เขียน

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print