ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่องและภาพ

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “กลุ่มผู้หญิงอีสาน” อาทิ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนและคนทำงานด้านสิทธิของผู้หญิงในกลุ่มงานพัฒนาต่างๆ ร่วมจัดงานวันสตรีสากลประจำปี 2563 และเสวนาหัวข้อ “ผู้หญิงอีสาน ข้อเสนอเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ” ณ ห้องทองใบ ทองเปาด์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การสัมนาครั้งนี้ได้สรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดการแสดงออกถึงการดูหมิ่นผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกอีก หลังเกิดกระแสผู้หญิงอีสานออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านบทความ “อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม” ของ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ซึ่งดูถูกผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ และเผยแพร่บนเว็บไซต์นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-19 ธันวาคมปีที่ผ่านมา 

“เราคือผู้อพยพจากการแต่งงาน” วิมลวรรณ บลูเดา หญิงอีสานที่เคยแต่งงานกับชาวเยอรมัน

แต่งงานกับชาวตะวันตกไม่ได้สบายอย่างที่คิด

วิมลวรรณ บลูเดา ชาวจังหวัดร้อยเอ็ดที่เคยแต่งงานกับชาวเยอรมันนานกว่า 16 ปี กล่าวว่า หลังจากแต่งงานกับชาวตะวันตก ชีวิตก็ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ตั้งแต่เริ่มต้นคบหาดูใจกัน การสื่อสารถือเป็นอุปสรรคอย่างแรก ทำให้ต้องเรียนและฝึกพูดภาษาเยอรมันเพื่อสื่อสารกับสามีให้รู้เรื่อง รวมถึงต้องฝึกภาษาเพื่อเอาไปใช้ในการทำงาน

“ถ้าพูดกับคนเยอรมันไม่รู้เรื่อง ก็ทำงานหาเงินไม่ได้ ต้องสู้และเรียนรู้เพื่อให้พูดได้ สื่อสารกับคนที่นั่นได้” วิมลวรรณกล่าว

ส่วนความเชื่อที่ว่า สามีชาวตะวันตกจะดูแลและให้เงินใช้ตลอดเวลานั้น วิมลวรรณบอกว่าเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะความจริงในชีวิตคู่ พวกเธอต้องทำงานหาเงินเพื่อดูแลพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย และตอนนี้สามีเธอเสียชีวิตแล้ว 

“ตอนที่อยู่ที่เยอรมัน พี่ต้องทำงานรับจ้างทำความสะอาดในร้านอาหารและบ้านเพื่อนบ้าน แม้จะพยายามยื่นวุติการศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อให้มีรายได้ดี แต่คนเยอรมันก็ไม่รับเข้าทำงาน เพราะเราไม่ใช่คนเยอรมัน เราคือผู้อพยพจากการแต่งงาน” วิมลวรรณกล่าว

อยู่เยอรมันยังมีคนดูถูกเหยียดหยาม

วิมลวรรณเล่าย้อนถึงประสบการณ์ช่วงที่แต่งงานกับชาวเยอรมันเมื่อ 15 ปีที่แล้วว่า เธอมักจะได้ยินคำติฉินนินทาว่าเรียนจบระดับปริญญาตรี แต่ทำไมไปหาสามีฝรั่งในผับในบาร์ พร้อมดูถูกเรื่องรูปลักษณ์หาว่าเธอหน้าตาก็ไม่ดีและอายุก็มาก แต่ทำไมถึงยังหาสามีฝรั่งได้ เป็นต้น ทั้งนี้ วิมลวรรณยังกล่าว ไม่เพียงเฉพาะในสังคมไทยและสังคมอีสานเท่านั้นที่ที่เหยียดหยามผู้หญิงอีสานที่อพยพย้ายถิ่นจากการแต่งงาน  

มีอยู่วันหนึ่ง ระหว่างทำงานที่ร้านนวดแผนไทย ชายชาวเยอรมันขอมีอะไรมากกว่านวด แต่พี่ปฏิเสธว่าที่นี่ไม่มีบริการทางเพศ ชายคนนั้นตอบกลับในเชิงดูถูกว่า เขามีเงินและสามารถซื้อบริการทางเพศกับผู้หญิงอีสานที่ร้านนี้ได้” วิมลวรรณเล่าประสบการณ์อันขมขื่นเมื่อครั้งทำงานร้านนวดในประเทศเยอรมัน 

นอกจากนี้ เธอยังกล่าวอีกว่า แม้จะแต่งงานและมีสิทธิเป็นพลเมือง แต่ก็ถือเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมเท่าที่ควร อีกทั้งคนในประเทศนั้นยังมองว่าเป็นผู้หญิงที่ผ่านการทำงานขายบริการทางเพศมาหรือไม่ จึงได้มาแต่งงานกับชาวตะวันตก 

 “การไปทำงานต่างประเทศและมีสามีเป็นฝรั่ง ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ ไม่ทำงาน หรือไม่อยากเรียน แต่ที่บ้านไม่มีเงินส่งเรียน” พิณทอง เล่ห์กันต์ นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีอีสาน (ซ้ายมือ)

ความยากจนทำให้คนอีสานต้องออกเดินทาง

พิณทอง เล่ห์กันต์ นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีอีสาน แกนนำผู้รณรงค์ต่อต้านความคิดเห็นในบทความ “อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม” กล่าวว่า สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง คนจนก็จน คนรวยก็รวยมาก แม้โอกาสทางการศึกษาจะเปิดให้เด็กทุกคนได้เรียน อย่างเท่าเทียมกัน แต่ทุกคนก็ไม่มีเงินไปเรียนเท่ากัน แม้ประตูมหาวิทยาลัยจะเปิดต้อนรับนักศึกษาอย่างเท่าเทียม แต่ครอบครัวคนอีสานก็เลือกไม่ส่งลูกเรียน เพราะไม่มีเงินส่งเสียลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย 

“ผู้หญิงอีสานจึงต้องดิ้นรนทำงานหาเงินเอาตัวรอดและส่งเสียดูแลครอบครัว การไปทำงานต่างประเทศและมีสามีเป็นฝรั่ง ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ ไม่ทำงาน หรือไม่อยากเรียน แต่ที่บ้านไม่มีเงินส่งเรียน การเรียนระดับสูงขึ้นมีค่าใช้จ่ายสูง สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถคว้าโอกาสในการเรียนต่อ” นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีอีสานกล่าว

“ครอบครัวชาวอีสานบางครอบครัวสนับสนุนให้ลูกสาวมีสามีฝรั่ง เพราะสามีชาวไทยนิสัยไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบ” พัชรินทร์ ลาภานันท์ ผู้ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมในอีสาน

หญิงอีสาน…ลูกสาวกตัญญู 

พัชรินทร์ ลาภานันท์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมในอีสาน กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ผู้หญิงอีสานเลือกที่จะแต่งงานข้ามชาติกับชายชาวตะวันตก เพราะผู้หญิงในสังคมอีสานถูกคาดหวังจากโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมอีสานที่ต้องการให้ลูกสาวต้องกตัญูญู ทำหน้าที่เมียที่ดี ทำหน้าที่แม่ที่ดี

“ลูกกตัญญูในความคิดของคนอีสาน คือ ผู้ชายบวชทดแทนพระคุณพ่อแม่ พาพ่อแม่ขึ้นสวรรค์ ลูกสาวจึงต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่แทนผู้ชาย ทำให้ท่านมีชีวิตสุขสบาย โดยเฉพาะยามแก่เฒ่า เงื่อนไขนี้จึงเป็นความกดดันให้ผู้หญิงต้องดิ้นรนหาทางมีชีวิตที่ดีผ่านการแต่งงาน เพื่อหวังว่าจะได้มีชีวิตที่ดี มีเงินส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่” พัชรินทร์กล่าว 

แต่งงานกับฝรั่ง เพราะชายไทยไร้ความรับผิดชอบ

พัชรินทร์กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชายชาวตะวันตกผ่านการมีสามีคนไทยและมีลูกแล้ว แต่หย่าร้าง ดังนั้นภาระเลี้ยงดูลูกจึงตกเป็นของผู้หญิง แต่ผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่ได้เลี้ยงดูแค่ลูก แต่ยังเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย 

“ครอบครัวชาวอีสานบางครอบครับสนับสนุนให้ลูกสาวมีสามีฝรั่ง เพราะสามีชาวไทยนิสัยไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบ แต่สามีฝรั่งมีกฎหมายดูแลลูกติด ให้ลูกติดเรียนที่โรงเรียนประเทศนั้นๆ ได้” พัชรินทร์กล่าว

รรยากาศการร่วมฟังเสวนาหัวข้อ “ผู้หญิงอีสาน ข้อเสนอเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ”ของ “กลุ่มผู้หญิงอีสาน” 

เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงอีสาน

หลังการสัมนา “กลุ่มผู้หญิงอีสาน” ได้อ่านแถลงการณ์ผู้หญิงอีสาน

เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ เนื่องในวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

แถลงการณ์บางส่วนระบุว่า พวกเรา ผู้หญิง ผู้ชาย และเพศหลากหลายในอีสาน ขอเรียกร้องให้รัฐเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยอมรับและเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในการพัฒนา ทั้งการปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการจัดสวัสดิการ การเงิน การคลัง และอื่นๆ  

“ควรมีสัดส่วนตัวแทนของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในคณะกรรมการต่างๆ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ระดับชาติ และองค์กรอิสระต่างๆ จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” แถลงการณ์ระบุ 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้จัดตั้งสำนักงานอิสระเพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริม คุ้มครอง สร้างการเรียนรู้ความตระหนัก และเปลี่ยนทัศนคติ จารีตประเพณีของสังคมในเรื่องสิทธิของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมไทย ขจัดการเลือกปฏิบัติ พัฒนา ติดตาม และประเมินผลการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ ให้เข้าใจและสามารถปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งระดับบุคคลและองค์กร

“ควรเพิ่มอำนาจของผู้หญิงและประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เช่น จังหวัดจัดการตนเอง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น การมีองค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากรัฐ การปฏิรูประบบภาษีให้มีความก้าวหน้า” แถลงการณ์ระบุอีกว่า “นอกจากนี้ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสัดส่วนจากทุกเพศสภาพ” 

ในวันพรุ่งนี้ (11 มีนาคม) เวลา 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มผู้หญิงอีสานจะเข้ายื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ผู้เขียนบทความ “อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม” ที่ศาลอาญาขอนแก่น เนื่องจากบทความดังกล่าวทำให้ผู้หญิงอีสานได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง 

image_pdfimage_print