1

#Saveอนาคตตัวเอง: บทพิสูจน์การตื่นตัวอีกครั้งของนักศึกษาอีสาน

วีรวรรธน์ สมนึก เรื่อง 

ตั้งแต่วินาทีที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ทั้งยังเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี บรรยากาศบนโซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นที่ระบายความหม่นเศร้าระคนโกรธของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองขนาดกลางพรรคนี้ไปในทันที

จากที่เห็นและเป็นไป ประชากรจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ คือกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาชาวอีสาน โดยการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนนำพรรคเพื่อไทยในหลายเขต และหนึ่งในนั้นคือ เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดขอนแก่น ด้วยคะแนนของนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ ทำให้ “ฐิตินันท์ แสงนาค” ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่เข้าเส้นชัย ทิ้งห่างคู่แข่งตัวเต็งจากพรรคเพื่อไทยไปอย่างขาดรอย 

 กระทั่งเมื่อกระแสคัดค้านคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญลามลุกเรื่อยมาจากส่วนกลาง เราจึงเห็นการตื่นตัวอีกครั้งของพลังนักศึกษา ตั้งแต่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย หรือแม้กระทั่งนักเรียนจากโรงเรียนเดชอุดมที่จังหวัดอุบลราชธานีก็ร่วมจัดด้วย

ที่สำคัญกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ ไม่ได้หยุดเพียงแค่ “#Saveอนาคตใหม่” แต่พวกเขายังให้ความสำคัญกับการ “#Saveอนาคตตัวเอง” ด้วย ซึ่งเป็นการออกมาแสดงจุดยืนว่า พวกเขาอยากจะเห็นบ้านนี้เมืองนี้เป็นไปในทิศทางใด

การชุมนุมของนักศึกษา ม.มหาสารคาม 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ลานแปดเหลี่ยม เพื่อคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ ภาพจากเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย

ความหวังเคลื่อนไหว…ประชาธิปไตยฟื้นตื่น  

พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตปี 1 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าถึงจุดเริ่มต้นของ “แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย” ว่าเพิ่งก่อตั้งเมื่อปลายปี 2562 หลักจากจัดกิจกรรม Flash Mob คู่ขนานกับกิจกรรมที่จัดขึ้นที่ BTS สกายวอล์ค กรุงเทพมหานคร หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส. ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่  

“เราไม่อยากให้ภาคส่วนอื่นสู้เพียงลำพัง เราอยากแสดงออกว่า คน’สารคาม หรือนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่ทน ไม่ถอย และมีศักยภาพที่จะจัดกิจกรรมทางการเมือง” พงศธรณ์กล่าวด้วยความหวัง 

ส่วนการยุบพรรอนาคตใหม่นั้นพงศธรณ์มองว่า จังหวัดมหาสารคามเป็นเมืองที่มีสถาบันการศึกษาเป็นจำนวนมาก และมีนิสิตนักศึกษาไม่น้อย อย่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีนิสิตตั้ง 4 หมื่นกว่าคน หรือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอีกเกือบ 2 หมื่นกว่าคนและยังมีวิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค และสถาบันการศึกษาอื่นๆ อีก ส่วนใหญ่นิสิตนักศึกษาในจังหวัดมหาสารคามเลือกพรรคอนาคตใหม่

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว โดยนิสิตจากวิทยาลัยการเมืองการปกครองคนนี้กล่าวอีกว่า การยุบพรรคฯ มีส่วนทำให้นักศึกษาตัดสินใจเข้าร่วมกับกิจกรรม เพื่อแสดงออกว่า เสียงของเขาไม่ได้หายไป ความรู้สึกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจึงเป็นการตั้งคำถามว่า 

“อีกแล้วเหรอที่การเมืองในรัฐสภา ถูกตัดตอนโดยผู้มีอำนาจ” เป็นการตั้งคำถามของนักศึกษาปีที่ 1 

“พวกเขาก็มีหัวใจ หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของพวกเขาก็มีคุณค่า และไม่ต้องการให้รัฐบาลผู้มีอำนาจมองข้าม” พงศธรณ์กล่าวถึงบรรยากาศการจัดกิจกรรมจุดเทียนบริเวณลานแปดเหลี่ยมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่เป็นวันยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจัดกิจกรรมแบบนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในภาคอีสาน เพื่อเป็นการรวมพลังและสร้างกำลังใจ ไม่ให้เหล่านิสิตนักศึกษารู้สึกสิ้นหวังไร้ทางออก

แกนนำนักศึกษาคนนี้จึงพยายามจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มแสดงจุดยืนเพื่อสื่อสารกับรัฐบาลใน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) ขอให้รัฐบาลลาออกและจัดการเลือกตั้งใหม่และเพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อการกระทำของรัฐบาลนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 (2) ขอให้รัฐบาลจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และ (3) นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากเสียงของประชาชน ไม่ใช่มาจากการโหวตเสริมของวุฒิสภา 

ส่วนการจัดกิจกรรม flash mob ที่ลานแปดเหลี่ยมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พงศธรณ์มองว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะสามารถดึงมวลชนมาร่วมเป็นจำนวนมาก 

“เราไม่ได้ออกมาเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เราอยากออกมานานแล้ว และตอนนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ตอนแรกผมประเมินไว้ว่า คนน่าจะมาประมาณ 500 คน แต่พอถึงวันจริงกลับมีคนมาถึง 3 พันคน” เขากล่าวย้อนถึงบรรยากาศการชุมนุมที่ผ่านมา

ด้าน สรวิชญ์ หล่าธรรม นักศึกษาปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในสมาชิก “กลุ่มกิจกรรม เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” บอกว่า การชุมนุมเริ่มจากกระแสยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่หลังจากนั้นได้ขยับมาเป็นเรื่องโครงสร้าง โดยมีการเรียกร้องความไม่เป็นธรรมและต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 

สำหรับข้อเสนอที่ทางกลุ่มฯ อยากเห็นจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้มี 4 ข้อ ได้แก่ (1) การรับผิดของคณะรัฐประหารในคดีกบฏ (2) แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ (3) นายกรัฐมนตรีควรลาออกและแต่งตั้งรักษาการนายกฯ และ (4) จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

สรวิชญ์กล่าวยอมรับว่า การจัดกิจกรรมในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องพึ่งกระแสการเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยส่วนกลาง ถ้ากระแสในเมืองตก กระแสต่างจังหวัดก็จะลดหายตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวก็เห็นตรงกันว่า ควรจะมีการรวมตัวกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย

“วันที่เราออกมาเคลื่อนไหว ยังไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหลายเรื่อง เช่น การรุกป่าของปารีณา (ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี) และอำนาจของกองทัพบก แต่ทั้งหมดทั้งมวล เรามีเป้าหมายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรมนูญ” แกนนำนักศึกษา ม.อุบลราชธานี กล่าว 

เขาถือว่า การออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้เป็นการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะดูโลกสวย แต่เขาก็หวังไปไกลถึงการสร้างแรงกดดันให้รัฐบาล 

“ความอยุติธรรมมันผลักดันพวกเขาให้ออกมา” ไผ่ ดาวดิน ปราศรัยในกิจกรรม #มข.พอกันที ข้างหอศิลป์ใกล้บึงสีฐาน ม.ขอนแก่น ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

เพราะความอยุติธรรม จึงผลักดันพวกเขาให้ออกมา

ปรากฎการณ์ที่นักศึกษาในอีสานออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้อยู่ในสายตาของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน อดีตแกนนำนักศึกษาและนักกฎหมาย 

“ความอยุติธรรมมันผลักดันพวกเขาให้ออกมา” ไผ่ ดาวดิน กล่าว 

เขายังกล่าวอีกว่า เหตุผลที่ทำให้นักศึกษาออกมา เกิดจากการเลือกตั้งครั้งแรกที่ไม่มีความชอบธรรม และต่อมาก็มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เสียงของพวกเขาที่เลือกพรรคนี้ดูไม่มีความหมาย เมื่อรวมกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ก็มีการใช้กลไกของรัฐ ทำให้พวกเขาเห็นว่าฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอยู่เสมอ จึงสั่งสมจนวันหนึ่งเมื่อเขาเริ่มทนไม่ไหว จึงเริ่มออกมา

“ผมได้ไปเห็นบรรยากาศกิจกรรม flash mob ใน 2 พื้นที่ คือ ม.ขอนแก่นและม.ราชภัฏชัยภูมิ เท่าที่สังเกต จะมีคนหน้าใหม่ ทำให้เห็นว่า พวกเขาจะไม่ทนอีกต่อไป และจะไม่อยู่แต่ในทวิตเตอร์อีกแล้ว พวกเขาพร้อมที่จะออกมาแสดงจุดยืนแล้ว” อดีตแกนนำนักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าว 

จตุภัทร์ ยังวิเคราะห์อีกว่า หลังบรรยากาศวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ หลายคนที่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมมาก่อน แต่เหตุการณ์ทำให้พวกเขาตัดสินใจออกมา 

“อีกสิ่งที่น่าสนใจรอบนี้คือ ผู้มีอำนาจทำให้วัยรุ่น นักศึกษา เพิกเฉยแบบนี้ต่อไปไม่ได้ พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวโดยที่ไม่มีใครกระตุ้นหรือปลุกระดม” ไผ่ ดาวดินกล่าวและว่า “นักศึกษาอาจจะสนุกตามวัย มีการเล่น แฮชแท็ก มีการขิงกันว่า ที่นี่ออกมาแล้ว แล้วที่นั่นเมื่อไหร่จะออกมาบ้าง”

จตุภัทร์ กล่าวสรุปว่า การจัดกิจกรรมชุมนุมของพวกเขา หากเทียบกับผู้ใหญ่ อาจจะไม่ได้ดีที่สุด เพราะเป็นเพียงการเริ่มต้นและกำลังเรียนรู้ 

“ตอนนี้ สิ่งที่เราทำได้คือ เฝ้ามองให้กำลังใจพวกเขา และรอฟังข้อเสนอจากเขาว่า อยากเห็นประเทศเดินหน้าไปทางไหน เพราะนี่เป็นยุคของเขาแล้ว” จตุภัทร์ กล่าว อย่างมีความหวัง

ส่วนนักศึกษาหญิงในกลุ่มดาวดิน อย่าง “แป้ง – วิศัลยา งามนา” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวถึงความฝันในการขับเคลื่อนสังคมด้วยการจัดกิจกรรมทางการเมืองนั้น เพื่อต้องการเห็นพลังนักศึกษาประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง

“เป้าหมายสูงสุด เราต้องการให้เกิดผลสะเทือนต่อสังคมและนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกครอบงำโดยรัฐเผด็จการ” แป้ง ดาวดิน กล่าวและว่า “ตอนนี้ได้ผนึกกำลังกับนักศึกษาอีสานถึง 6 สถาบัน เพื่อขับเคลื่อนและจัดกิจกรรมร่วมกัน โดยเราเชื่อว่า ช่วงปิดนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันมากขึ้น” 

ส่วนการกิจกรรม มข.พอกันที ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นบริเวณลานหน้าคณะนิติศาสตร์ในวันที่ 14 มีนาคม เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนเข้ามาส่วนร่วม

“การเป็นครูอาจารย์ควรสนับสนุนให้เขาได้เรียนรู้ แทนที่จะไปปิดกั้น” ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

บทบาทสถานการศึกษาต่อการเคลื่อนไหวครั้งใหม่

เมื่อสอบถามไปยัง ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สังเกตการเคลื่อนไหวของพลังนักศึกษาอย่างใกล้ชิดว่า นักศึกษาไม่เคยถูกให้ความสำคัญมากก่อน ตั้งแต่การใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก ผลเลือกตั้งได้ทำร้ายเขา และกลไกรัฐธรรมนูญทำให้พรรคที่เกิดจากคณะรัฐประหารได้เปรียบและกลายมาเป็นรัฐบาล 

“พวกเขารู้สึกว่าคะแนนของเขาถูกทำลายจากหลายองค์ประกอบ เช่น การทำงานขององค์กรอิสระ อย่าง กกต. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ทำให้เขาผิดหวังอยู่ซ้ำๆ นี่จึงเกิดจากความอึดอัดใจ” ธีระพลกล่าวจากการสังเกตพฤติกรรมของลูกศิษย์  

สำหรับบทบาทครูอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยจากปรากฎการณ์นี้ เขาบอกว่า เท่าที่เห็นตอนนี้มี 3 กระแส ได้แก่ สนับสนุน เพิกเฉยและไม่เห็นด้วย 

“เรื่องมาขนาดนี้แล้ว คุณเฉยไม่ได้แล้ว ถ้าจะขัดขวาง ก็ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักศึกษา การเป็นครูอาจารย์ควรสนับสนุนให้เขาได้เรียนรู้ แทนที่จะไปปิดกั้น” นักวิชาการจากรั้ว ม.อุบลราชธานีกล่าว 

ในฐานะนักวิชาการผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างต่อเนื่อง เขาเห็นว่า การมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ประกาศใช้ในยุค คสช. ทำให้การทำกิจกรรมหลายลักษณะถูกปิดกั้น แต่พื้นที่สถาบันการศึกษาได้รับการยกเว้น

“ในรัฐธรรมนูญเขียนว่า การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้นสถาบันการศึกษาควรจะเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาหรือนักเรียนได้ใช้พื้นที่เคลื่อนไหว ให้เหมือนกับช่วงที่ กปปส. ออกมา เพราะตอนนั้นหลายสถาบันการศึกษายังเคยปิดมหาวิทยาลัยชุมนุมเลย แล้วนี่ยังจะผลักให้นักศึกษาออกจากสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้พวกเขาเจอสถานการณ์ที่น่ากังวลมากกว่านี้” นักวิชาการผู้นี้กล่าวทิ้งท้าย