มาโนช พรหมสิงห์ เรื่อง

“Who controls the past controls the future: who controls the present controls the past.” ส่วนหนึ่งจากนวนิยาย ‘1984’ ผลงานของ George Orwell

กระแสการทุบทำลาย ลบทิ้ง หรือบิดเบือน การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 ซึ่งทยอยกระทำมาเป็นเวลายาวนาน แล้วต่อเนื่องหนักขึ้นในระยะนี้ ก็เหมือนลบลืมหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งผมเคยเขียนถึงมาก่อนหน้านี้ อาทิ กบฏผีบุญในอีสาน การล้อมปราบนักศึกษา มศว.มหาสารคาม เมื่อค่ำวันที่ 6 ตุลาฯ 19 และอีกหลายเรื่องราวที่ไม่เคยรับรู้หรือถูกลบออกจากความทรงจำของผู้คน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสพบคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาไม่เคยรับรู้มาก่อนเรื่องหนึ่งคือ ผลกระทบต่อคนไทยเชื้อสายญวนแถบอีสาน หลังการล้อมฆ่าผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งผมรู้สึกว่า ชาติพันธุ์ที่เป็นเพื่อนพ้องพี่น้องของเราไม่ควรจะถูกกระทำเยี่ยงนี้ 

ยิ่งในปัจจุบัน (หรือตั้งแต่เริ่มสร้างรัฐชาติด้วยซ้ำ) ที่คุณจะคว้านหาชาติพันธุ์ไทยแบบบริสุทธิ์นั้น มันไม่มีอยู่แล้ว พลเมืองโลกได้ค่อยๆ หลอมรวมเข้าด้วยกันมาช้านาน และยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเกินกว่าที่เส้นพรมแดนหรือชาติพันธุ์บริสุทธิ์ (race) จะธำรงอยู่ได้ มันเป็นสิ่งที่ควรกล่าวว่า เราคือมวลมนุษยชาติ มิใช่คนไทยแท้ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใครในโลกอีกต่อไป

คนญวนเริ่มอพยพมาตั้งถิ่นฐานในรัฐไทยตั้งแต่บรรพกาล นับแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ที่ องเชียงสือ (เหงียน ฟุก อันห์) เข้ามาในสมัย ร.1 จนกลับไปได้เป็นพระเจ้ายาลอง กษัตริย์ปกครองเวียดนาม ต่อมาในสมัย ร.4 ก็เดินทางมาทางเรือมาอยู่อาศัยแถบภาคกลางกับฝั่งซ้าย-ขวาแม่น้ำโขง 

อาจกล่าวว่า คนญวนเข้ามาในยุคสงครามอินโดจีน ทำสงครามกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส กับช่วงญี่ปุ่นบุกครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกครั้ง เมื่อทหารเวียดมินห์ของเวียดนามเหนือปลดปล่อยกรุงไซ่ง่อน สงครามเวียดนามและเวียดนามรวมประเทศสถาปนาการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ 30 เมษายน 2518 คนญวนก็อพยพหนีเข้ามาอยู่ในไทยระลอกใหญ่

สมัยเป็นเด็ก ผมนั่งรถเมล์จากฝั่ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำมูล ชื่อ สะพานเสรีประชาธิปไตย (สร้างปี 2496-2497 ปลายสมัยจอมพล ป.) ผมลงรถที่หัวสะพานฝั่งเมืองอุบลฯ แล้วเดินผ่านชุมชนชาวญวนติดวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ทะลุสู่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (หลังเก่า)

พอเลิกเรียนก็เดินย้อนกลับเส้นทางเดิม ตั้งแต่ ม.ศ.1 จนจบ ม.ศ.5 สังเกตและจดจำได้ว่า ในบ้านชาวญวนจะมีแท่นบูชาบรรพบุรุษกับภาพประธานโฮจิมินห์และในตอนเย็นย่ำ เด็กจะนั่งล้อมวงเป็นกลุ่มพร้อมสมุดดินสอเพื่อเรียนภาษาเวียดนาม

ผมมีเพื่อนเรียนมัธยมในห้องเดียวกัน เป็นเด็กเชื้อสายเวียดนาม พ่อแม่ของพวกเขาเปิดร้านถ่ายรูป ร้านอาหารเวียดนาม ร้านขายหมูยอกุนเชียง ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายของชำ หรือทำสวนดอกไม้สวนผัก เขาบอกผมว่า พ่อแม่สอนให้ยึดถือคำขวัญของลุงโฮ ที่ว่า -โต๋ ก๊วก เตน เฮ้ด- ชาติเหนือสิ่งอื่นใด กับ -เกิ่น เกียด เลียม จิ๊นห์- จำเป็นต้องประหยัด ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม

ครั้นปี 2518 ประเทศในอินโดจีน ทั้งลาว เขมรและเวียดนาม ล้วนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ความหวาดกลัวว่าไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน กระบวนการต้านภัยคอมมิวนิสต์จึงเข้มข้นยิ่งขึ้น 

ทั้งสงครามจิตวิทยาและการปราบปรามด้วยกำลังอาวุธแบบเหวี่ยงแห โดยเน้นไปยังคอมมิวนิสต์เวียดนาม เพราะกองกำลังเวียดมินห์มีส่วนในการร่วมรบกับจักรวรรดินิยมอเมริกา เคียงคู่กับกองทัพแดงของลาวและเขมร ในการปลดปล่อยประเทศ และสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ขึ้นได้สำเร็จ

การสร้างข่าวปลอมเพื่อเพิ่มความเกลียดชังหวาดกลัวต่อประเทศและคนญวน เริ่มจากการสร้างข่าวว่าคนญวนในไทยทำมาค้าขายเก็บเงินใส่ปี๊บ แล้วส่งกลับประเทศแม่เพื่อให้ช่วยเปลี่ยนไทยเป็นคอมมิวนิสต์ ข่าวการสะสมอาวุธแล้วบุกโจมตีค่ายทหารจีไอที่อุบลฯ กับค่ายรามสูรที่อุดรฯ แต่ถูกยิงตายหมด หนักที่สุดในอีสานคือ การปล่อยข่าวว่ากินอาหารญวน แตงโม มันแกว (ซึ่งคนญวนใส่หรือฉีดยาบางอย่างเข้าไป) แล้วจะ ‘หำหด’ ทันที

มันเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) กับฝ่ายตรงข้ามทุกยุคสมัย ซึ่งขึงครอบคลุมแผ่นดินอีสานมายาวนาน

จาก hate speech กลายเป็น hate crime ในช่วงใกล้ๆ และหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ที่มีเสียงเรียกร้องให้กำจัดคนญวนซึ่งปลอมเป็นนักศึกษาเข้าชุมนุมพร้อมอาวุธสงคราม ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังการล้อมฆ่า 6 ตุลาฯ 19 บ้าน ร้านค้า การทำมาหากินของคนญวนถูกต่อต้านคุกคาม โดยมีการบุกเข้าพังร้าน บ้าน ปล้นสะดมข้าวของ บุกเข้าทำร้ายทุบตี ตะโกนด่าทอขับไล่ จนต้องปิดบ้านเก็บตัวเงียบ หรือหนีไปอยู่กับคนรู้จักมักคุ้นนอกเมือง ส่วนที่อุดรธานีมีการทุบตีคนญวนจนเสียชีวิต แล้วนำศพไปแขวนประจานที่น้ำพุกลางเมือง 

สวนดอกไม้สวนผักถูกทิ้งร้างเหี่ยวเฉาเน่าตาย แผงขายอาหารญวนในตลาดสด รกร้างว่างเปล่า เหตุการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นแทบทุกจังหวัดในอีสานที่มีชุมชนคนไทยเชื้อสายญวน ทว่าทุกอย่างก็คลี่คลายลง เมื่อรัฐประกาศนโยบาย 66/23 ทำให้คนป่าทยอยคืนเมือง และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลาย

แหละนี่คือหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกลบหายจากหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากหลายเหตุการณ์ รวมถึงการพยายามลบหลักฐานการปฏิวัติ 2475 ที่รุนแรงขึ้นในขณะนี้ แล้วทำไมหรือ? เพราะการสอดแทรกเข้าไปในอดีต แล้วบอกว่าสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นนั้น น่าสยดสยองยิ่งกว่าการจับคนไปทรมานและเผชิญหน้ากับความตายหลายเท่านัก 

หากคำโกหกมดเท็จสามารถย่ำเดินเข้าไปในประวัติศาสตร์อย่างองอาจผึ่งผาย ก็ย่อมเป็นดั่งที่ George Orwell เขียนไว้ในนวนิยาย ‘1984’ ว่า -ผู้ใดควบคุมปัจจุบันได้ ผู้นั้นคือผู้ควบคุมอดีต แหละหากอดีตถูกควบคุมปรับเปลี่ยนแล้ว คนพวกนั้นย่อมควบคุมอนาคต

เราศึกษาเรียนรู้เรื่องกบฏผีบุญ การล้อมฆ่า 6 ตุลาฯ 19 กับการทำร้ายคนญวน การปราบคนเสื้อแดงช่วงพฤษภา’53 การค้าและใช้แรงงานทาสผิวดำในอเมริกา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยฮิตเลอร์ เพราะเราไม่อยากให้มันเป็นอมตะ เราอยากปลดปล่อยตัวเองออกจากมัน

เราอาจจะคิดฝันหรือจินตนาการได้ยิ่งกว่าบรรพบุรุษ พยายามดิ้นรนให้ตนเป็นอิสระ มองไปยังอนาคตในทางเลือกอื่น มันเพิ่มทางเลือกในการสร้างโลกและสังคมที่ดีกว่าสำหรับพวกเราทุกคน

image_pdfimage_print