ภาพปกจากกิจกรรม #มข.พอกันที เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563

ธีระพล อันมัย

ความเดิมเมื่อปีที่แล้ว

ปลายเดือนมกราคม 2562 หรือปีกว่ามาแล้ว ผมได้มีโอกาสฟังการประกวดสุนทรพจน์ของนักศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวข้อ “การเลือกตั้งในมุมมองของเยาวชนคนอีสาน” มีผู้เข้าประกวดทั้งหมด 12 คน เป็นหญิง 7 คนและชาย 5 คน

เนื้อหาของสุนทรพจน์ที่นักศึกษานำเสนอประกอบด้วย หนึ่ง หลักการประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักเสรีประชาธิปไตยสากล เพราะยังมีกลุ่มจารีตนิยม อนุรักษ์นิยมที่คอยควบคุมไม่ให้ประชาธิปไตยไทยเติบโต 

สอง ความสำคัญของการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่นับว่าการปกครองนั้นเป็นระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว

และสาม การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเยาวชนและคนหนุ่มสาว เพราะการเลือกตั้งของประเทศไทยก่อนหน้านั้นคือ วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 

หากวันนั้นเยาวชนคนหนึ่งอายุ 17 ปี ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งในตอนนั้น ตอนนี้ปี 2562 เยาวชนคนนั้นจะมีอายุ 25 ปี ทั้งที่ตามหลักสากลเขาควรได้เลือกตั้งอย่างน้อย 1 – 2 ครั้ง แต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศนี้ก็ยิ่งทอดเวลาให้ปราศจากการเลือกตั้งมานานถึง 8 ปี

เกือบ 5 ปีแล้วที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) น้ำเสียงของผู้ประกวดสุนทรพจน์ในวันนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งจริงๆ 

แม้ว่าวันนั้นจะมีกระแสข่าวว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกมาก็ตาม เพราะที่ผ่านมา เมื่อผู้นำคณะรัฐประหารประกาศว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ท้ายสุดก็ถูกเลื่อนถึง 4 ครั้ง

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นการกำหนดอนาคตของประเทศ” นักศึกษาคนหนึ่งกล่าวย้ำ

ขณะที่นักศึกษาอีกคนกล่าวว่า “การเลือกตั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ”

ผู้ประกวดสุนทรพจน์อีกคนกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีกติกาที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สร้างเงื่อนไขให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 250 คนสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจหน้าที่บางอย่างเหมือน ส.ส. ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนมีสิทธิ์แค่ 1 สิทธิ์ เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ ประชาชนมีสิทธิ์เลือกทั้งผู้แทนแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยการเลือกตั้งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเผด็จการ

ที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษคือ ความไม่โปร่งใส ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลทหารอาจเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง

บทสรุปของผู้ประกวดสุนทรพจน์ ส่วนใหญ่รณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เลือกคนดี มีความสามารถ พร้อมทั้งกล่าวถึงรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจการปกครองมาเกือบ 5 ปี ว่าไม่มีความสามารถในการบริหาร

เลือกตั้งภายใต้อำนาจ คสช.

การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีกติกาแปลกไปจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 นั่นคือ ประชาชน 1 คน มีสิทธิ์เลือกตั้ง 1 สิทธิ์ คือ เลือก ส.ส. เขตเพียง 1 เบอร์ และเบอร์ของผู้สมัครจากพรรคเดียวกันก็ไม่ได้เป็นเบอร์เดียวกันอีกต่อไป จำนวน ส.ส.เขตทั่วประเทศก็ลดลงจาก 375 ที่นั่ง เหลือ เพียง 350 ที่นั่งเท่านั้น เฉพาะภาคอีสานก็ลดลงถึง 10 ที่นั่ง จากเดิม 126 ที่นั่ง เป็น 116 ที่นั่ง

เขตเลือกตั้งก็ถูกเปลี่ยนแปลงจนแทบไม่สามารถเอาเหตุผลเรื่องแนวเขตทางภูมิศาสตร์หรือหลักการปกครองใดๆ มาอธิบายได้ เช่น เขต 7 จ.อุบลราชธานี กินพื้นที่จากอำเภอโขงเจียมมาถึงอำเภอเมืองอุบลราชธานี ทำให้ผู้ลงสมัคร ส.ส.เขตนี้ต้องหาเสียงอย่างยากลำบาก 

ภายใต้การควบคุมของกลไกอำนาของ คสช. ที่สกัดกั้นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทุกวิถีทาง ทั้งการดูดผู้สมัครหรือโปรย้ายค่าย รวมถึงการกีดกันไม่ให้ใช้สถานที่ราชการหรือพื้นที่สาธารณะสำหรับปราศรัยหาเสียง แต่ถ้าเป็นฝ่ายของตนก็จะได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

ผลการเลือกตั้งออกมาปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยยังคงได้ที่นั่ง ส.ส. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าพรรคอื่น นั่นคือ ได้ 84 ที่นั่ง (จากเดิม 104 ที่นั่งเมื่อปี 2554) พรรคภูมิใจไทยได้ 16 ที่นั่ง (ข้อมูลปี 2554 ได้ 13 ที่นั่ง) พรรคพลังประชารัฐได้ 11 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง (เดิม 4 ที่นั่งในปี 2011) ส่วนพรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนาได้ ส.ส.ไปพรรคละ 1 ที่นั่ง

ภายใต้กติกาที่กำหนดโดยกลไกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ได้ลดจำนวน ส.ส.อีสานจากพรรคเพื่อไทยลงถึง 20 ที่นั่ง นั่นเป็นเงื่อนไขให้พรรคพลังประชารัฐที่อ้างคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต จัดขั้วจับมือกับพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กพรรคน้อยตั้งรัฐบาล หลังจากการเลือกตั้งผ่านไปได้ 2 เดือน

เสียงอีสานรุ่นใหม่

ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ผู้เขียนได้ไปสังเกตการณ์การหาเสียงของพรรคการเมืองในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่มี ส.ส.10 ที่นั่ง (จากเดิม 11 ที่นั่ง) พบว่า การหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองจะแตกต่างกันออกไป 

พรรคพลังประชารัฐจะสามารถจัดการให้คนเข้าร่วมฟังการปราศรัยได้เป็นจำนวนมาก แต่บรรยากาศการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมฟังปราศรัยจะไม่คึกคัก ไม่มีชีวิตชีวาเหมือนพรรคเพื่อไทย 

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคที่คนรุ่นใหม่ที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเข้าร่วมฟังมากที่สุด บรรยากาศการหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่คล้ายแฟนคลับไปกรี๊ดไอดอล จึงได้เห็นภาพของวัยรุ่นรุมล้อมถ่ายภาพคู่และเซลฟี่กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ตอนนั้น) ปรากฏบนโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง 

จากการสัมภาษณ์นักเรียนและนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกพบว่า กระแสของคนรุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่เลือกพรรคอนาคตใหม่ รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย

กระแสของพรรคอนาคตใหม่เกิดมาจากปรากฏการณ์แฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อและนโยบายที่ทางพรรคหาเสียงไว้ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและลบล้างผลพวงของรัฐประหาร การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร 

ส่วนกระแสที่เลือกพรรคเพื่อไทยนั้น มีคำอธิบายจากนักเรียน ม.ปลายว่า “ต้องเลือกให้ชนะขาด ต้องเอาชนะทางยุทธศาสตร์ให้ได้”

ช่วงใกล้วันเลือกตั้ง แม่ของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า หลานสาวที่ไปเรียนต่างจังหวัดโทรศัพท์มาบอกว่า ให้เลือกพรรคอนาคตใหม่ แม่ก็ได้แต่หัวเราะและไม่บอกว่าจะเลือกพรรคอะไร แต่ที่แน่ๆ ไม่เอาพรรคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผลการเลือกตั้งปี 2562 อย่างที่ทราบกันคือ พรรคเพื่อไทยชนะ ได้ ส.ส.เขตมากที่สุด แต่ภายใต้อำนาจคณะรัฐประหารและมือตีนในนามองค์กรอิสระที่พร้อมจะเงื้อฟันคู่ต่อสู้ จึงทำให้ไม่ได้สิทธิ์ตั้งรัฐบาล 

แต่ครั้นกลับไปสำรวจผลการเลือกตั้งอันดับ 1-4 จาก 116 เขตเลือกตั้งทั่วภาคอีสาน กลับพบความน่าสนใจว่า พรรคอนาคตใหม่มีคะแนนเกาะกลุ่มติดท็อปโฟร์หรือสี่อันดับแรกแทบทุกเขตเลือกตั้ง (มีเพียง 2 เขตที่ติดอันดับ 5 และอีก 2 เขตถูก กกต. ตัดสิทธิ์) โดยเฉพาะเมืองใหญ่ อย่างเขต 1 ขอนแก่น ผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคอนาคตใหม่เอาชนะพรรคเพื่อไทย

ขณะที่เขต 1 อันเป็นเขตเมืองอย่างอุดรธานี อุบลราชธานี และนครราชสีมา พรรคอนาคตใหม่ก็มีคะแนนเกิน 20,000 คะแนน นั่นคือส่วนหนึ่งของคะแนนสะสมจากคนรุ่นใหม่ที่เทให้จนทำให้พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.ถึง 81 ที่นั่ง

การจัดกิจกรรมของนักศึกษา ม.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพจากเพจเพซบุ๊กวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี

หนึ่งปีผ่านไปกับการต่อสู้ครั้งใหม่

ก่อนจะครบขวบปีการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองและห้ามจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา 

คล้อยหลังจากวันนั้น นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในภาคอีสานหลายแห่ง ออกมารณรงค์ทำแฟลชม็อบ เช่น  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำกิจกรรม #กันเกราไม่เอากะลา (ครั้งที่ 1 ที่คณะศิลปศาสตร์ ครั้งที่ 2 ที่คณะรัฐศาสตร์) 

ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกมารณรงค์ทำกิจกรรม #มข.พอกันที #KKUขอโทษที่ช้า โดนสลิ่มลบโพสต์ ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม 

มหาวิทยาลัยมหาสารคามทำกิจกรรม #ถึงจะอยู่ไกลขอส่งใจที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีทำกิจกรรม #ถึงมออยู่ใกล้หลายค่าย ก็ไม่ได้ชอบเผด็จการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร #เปล่งเสียงสู้จากภูพาน มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ #ชัยภูมิจะไม่ทน เป็นต้น จนไปถึงการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมที่เห็นว่า ศัตรูของพวกเขา คือ เผด็จการ ความอยุติธรรม และอำนาจอนุรักษ์นิยม

สิ่งที่ผู้เขียนได้ฟังจากการประกวดสุนทรพจน์เมื่อปีกลาย กลายมาเป็นความจริงในปีนี้ การเลือกตั้งครั้งแรกที่รอคอยอย่างยาวนานของคนรุ่นใหม่ถูกทำให้ไร้ความหมายและถูกทำลายด้วยเล่ห์กลอำนาจ

วันนี้เราจึงได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่บนโลกออนไลน์บางส่วน กระโดดออกมาบนโลกออฟไลน์แล้วรวมตัวกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ทางการเมือง ซึ่งดูเหมือนว่า การต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่กำลังเริ่มขึ้น จะแฟลชม็อบหรือลงถนน หรือฝ่อไปเอง ก็ต้องช่วยกันประเมิน

image_pdfimage_print