ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่องและภาพ 

อาทิตย์ มูลสาร ไทยโสธร หรือ ฝ้าย หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะจิตรกรและเจ้าของร้านหนังสือ Book in The Otherness กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งนัดพบที่เหล่านักคิด นักเขียน นักอ่าน นักวิจารณ์ มักจะรวมตัวกันกินลาบงัว ดื่มเบียร์คราฟต์ราคาหลายตังค์ แล้วนั่งเสวนาถึงหนังสือและเรื่องราวสังคมการเมือง 

อาทิตย์ มูลสาร หรือ ฝ้าย ผู้จัดการนิทรรศการรถบัสหมอลำเคลื่อนที่ (Molam Mobile Bus Project) ของหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

คนที่รู้จักเขาบอกเราว่า งานหลักของฝ้ายไม่ใช่เจ้าของร้านหนังสือ แต่เขาคือคนทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมศึกษา เขาเป็นผู้สนใจด้านภาษาและวัฒนธรรม จบปริญญาโทจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล งานวิจัยที่เขาศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “หมอลำ” 

โดย “ฝ้าย” เลือกศึกษาศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงหมอลำ เขาเคยเล่าให้เราฟังว่า ระหว่างการศึกษาวิจัย เขาค้นพบว่า หมอลำ กลอนลำลาวอีสาน เป็นเครื่องมือทางการเมืองประเภทหนึ่งที่คนในภาคอีสานใช้ในการสื่อสารทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐที่กดขี่ นำเสนอความยากลำบากในภาคอีสาน รวมถึงเป็นสื่อรณรงค์ทางการเมืองในยุคสงครามเย็นของไทยอีกด้วย 

ปัจจุบัน เขาเป็นผู้จัดการนิทรรศการรถบัสหมอลำเคลื่อนที่ (Molam Mobile Bus Project) ของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) นิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราวของหมอลำในอดีต ประเด็นที่น่าสนใจคือ การนำเสนอเรื่องราวของหมอลำการเมืองในยุคสงครามเย็น 

เดอะอีสานเรคคอร์ดไม่พลาดที่จะนัดพูดคุยระหว่างที่เขากำลังจัดเตรียมนิทรรศการรถบัสหมอลำ หน้าโรงเรียนบ้านดอนอีลุ่ม ต.ตลาดไทร อ.ประทาย จ.นครราชสีมา เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับที่มาของนิทรรศการรถบัสหมอลำที่เขาดูแล รวมถึงถือโอกาสพูดคุยถึงหมอลำกับการเมืองว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร? และหมอลำเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนอีสานอย่างไร?

รถนิทรรศการรถบัสหมอลำจะมีรถอยู่ 2 คัน รถบัสคือรถนิทรรศการหมอลำ ส่วนอีกคันเป็นรถบรรทุกหกล้อ ซึ่งเป็นเวทีหมอลำเคลื่อนที่ ภาพโดย Molam Bus รถนิทรรศการหมอลำ

จุดเริ่มต้นนิทรรศการหมอลำในรถบัสเป็นมาอย่างไร 

เราทำโครงการนี้ภายใต้หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน หรือ Jim Thompson Art Center และร่วมกับจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม (Jim Thompson Farm) พูดง่าย ๆ โครงการนี้เป็นของจิมทอมป์สันนั่นเอง 

ตอนแรก จิม ทอมป์สัน ขายผ้าไหมอีสาน และมีจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีหมู่บ้านอีสาน มีการจำลองวิถีชีวิตคนอีสาน มีสถาปัตยกรรมเก่าๆ ของอีสานอยู่จำนวนมาก ทีมผู้บริหารจึงคิดว่า จิมทอมป์สันมีอะไรเกี่ยวกับอีสานมากอยู่แล้ว จึงคิดหาอะไรมาจัดแสดงเพิ่ม

ภาพบันทึกการแสดงของหมอลำในช่วงยุค 2500 บางส่วนที่แสดงในนิทรรศการรถบัสหมอลำ ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

นี่เป็นสาเหตุที่มีกลอนลำอีสานในอดีตมาจัดแสดงใช่ไหม?

ใช่ ทีมผู้บริหารจึงคิดว่า จะนำหมอลำมาจัดแสดงเพิ่ม หลังจากนั้น คนในทีมก็เริ่มค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับหมอลำ จนออกมาเป็นนิทรรศการหมอลำครั้งแรกที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2557 ชื่อนิทรรศการว่า “แคนล่อง คะนองลำ” ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Joyful Khaen, Joyful Dance” 

แล้วงานเป็นอย่างไรบ้าง ประสบความสำเร็จแค่ไหน

ก็สนุก แต่เราก็คิดว่า นิทรรศการนี้ เหมือนนิทรรศการหมอลำเบื้องต้นที่จัดให้ฝรั่งและคนกรุงเทพฯ ดู คล้ายๆ กับหมอลำ 101 ยังไงยังงั้น ทีมงานจึงกลับมาย้อนคิดทบทวนดูว่า เออ… นิทรรศการนี้ยังมีความรู้ไม่แน่นพอ เพราะว่าจริงๆ หมอลำมีหลายแบบ หมอลำดั้งเดิมมีหลายพื้นที่ จึงคิดว่า เราจะน่าจะมีนิทรรศการแคนล่อง คะนองลำนี้ไปจัดให้พี่น้องชาวบ้านอีสานได้ดู

ตอนแรกตั้งใจจะไปจัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แต่คิดไปคิดมาแล้วเห็นว่า มันเข้าไม่ถึงชาวบ้านจริงๆ มันเข้าถึงเพียงแค่พื้นที่ทางการศึกษาเท่านั้น จึงลองคิดใหม่ ซึ่งพบว่า บริษัทจิม ทอมป์สัน มีรถบัสเก่าที่ใช้รับ-ส่งคนงาน แต่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จึงขอนำมาแปลงเอาเบาะนั่งออกให้หมด แล้วจัดนิทรรศการหมอลำบนรถไปเลย

นอกจากรถบัส เรายังนำรถหกล้อของบริษัทมาปรับเป็นเวทีเคลื่อนที่ หากมีงานแสดงรถทั้งสองคันนี้จะเดินทางไปพร้อมกัน ไปร่วมงานบุญ งานวัดตามหมู่บ้านต่างๆในอีสาน 

เราไม่ได้ไปจัดแสดงนิทรรศการแค่นั้น แต่เราจะไปร่วมงานในหมู่บ้าน ถ้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งในขอนแก่นมีงาน เราก็จะขอไปร่วม หรือที่ยโสธร อุบลราชธานี มหาสารคาม มีงาน เราก็ไปขอร่วมด้วย 

“ม้าป่งเขา เสาออกดอก” ชื่อนิทรรศการ (ม้าป่งเขา อุปมาถึง มอเตอร์ไซค์ เสาออกดอก ต้นเสาที่มีดอกงอกออกมา อุปมาถึง เสาไฟฟ้า) ประโยคอุปมาอุปมัยในกลอนลำประเภท “กลอนอัศจรรย์” ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ 

ทำไมต้องไปร่วมแสดงในงานวัดงานบุญ เพราะเขาอาจจะมีการแสดงหมอลำอยู่แล้วหรือเปล่า?

เป้าหมายหลัก คือเพื่อนำความรู้ในนิทรรศการไปแสดงให้ชาวบ้านดู และหวังให้ชาวบ้านมาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับหมอลำในแต่ละพื้นที่ นิทรรศการหมอลำของเรามีความรู้มากหรือน้อย ชาวบ้านอาจจะช่วยดูและช่วยวิจารณ์ได้ 

ประมาณว่า งานหมอลำที่เราโชว์มีจัดเก็บหรือแสดงที่ไหนบ้าง หรือบางอย่างใกล้จะสูญหายแล้ว ต้องรีบไปจัดเก็บ บันทึกไว้ ส่วนถามว่าทำไปเพื่ออะไร ก็เพื่อว่าในอนาคต เราจะมีพิพิธภัณฑ์หมอลำอยู่ที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

ทำไมจึงอยากทำหน้าที่จัดเก็บเรื่องราวของหมอลำ 

คุณต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า การจดบันทึกของคนอีสาน ที่เรารู้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในวัด การบันทึกก็เป็นภาษาท้องถิ่น เช่น บันทึกเป็นอักษรธรรม อักษรไทน้อย 

หากมองต่อ คนนอกอีสานหรือคนไม่รู้อักษรธรรมจะอ่านไม่ออก หากนำข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์จะยากมาก จนอาจทำให้ไม่มีใครสนใจ และอาจถูกลืม และสุดท้ายหายไปจากประวัติศาสตร์ ดังนั้นต้องมีการบันทึกเป็นภาษาไทย ภาษาราชการ และภาษาสากล

แต่ว่าในโลกงานวิจัยหมอลำในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ที่เรียกว่า ร่วมสมัยหรือสมัยนิยม ที่มีอิทธิพลในสังคมไทยหรือแม้กระทั่งระดับโลกอย่างทุกวันนี้ที่ผมสนใจ มันไม่ตอบสนองความสนใจผม ส่วนมากการวิจัยเกี่ยวกับหมอลำจะเป็นเรื่องภูมิปัญญากลอนลำหรือกลอนลำกับท้องถิ่น ไหวพริบปฏิภาณกลอนลำ สุนทรียะในกลอนลำ เป็นต้น มันจมอยู่เพียงแค่เรื่องทางเทคนิค 

แต่ผมเห็นว่า หมอลำมันมีเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมด้วย จึงอยากศึกษาเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าหมอลำมันปฏิสัมพันธ์กับสังคม ทั้งสังคมอีสานและสังคมไทย ไปจนถึงสังคมโลก ผ่านมิติต่างๆ ทั้งมิติทางการเมือง การสื่อสาร และมิติทางภาษา

“คนคิดถึงหมอลำแต่ความม่วนซื่นโฮแซว (ความสนุกสนาน) หรือไปพูดถึงแต่พิธีกรรมในหมอลำ พูดถึงภูมิปัญญาภาษาสวยงาม จนหลงลืมไปว่า มันก็มีการเมืองอยู่ในหมอลำ” อาทิตย์ มูลสาร ไทยโสธร หรือ ฝ้าย ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

แสดงว่า ภาษาลาว โดยอักษรธรรม อักษรไทยน้อย ระบบการจัดเก็บมันไม่สมบูรณ์หรือเปล่า ทำให้ต้องมาจัดเก็บเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีก?

แน่นอนเลย เพราะว่าเรื่องการจัดเก็บข้อมูล ผมไม่คิดว่าเป็นแค่ภาคอีสานหรือลาว แต่เป็นประเทศไทยทั้งหมด เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของการเขียนและอ่าน แต่เป็นวัฒนธรรมการใช้ปากพูดบอกเล่าไป สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเก็บหลักฐานได้ มันหายไป คนรุ่นหลังก็ไม่สามารถศึกษาได้หรือมีหลักฐานที่ชัดเจน 

การจัดเก็บในหอสมุด ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์ที่เก็บข้อมูลในอดีตไม่เพียงพอหรือ เพราะสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ในอีสานก็มีการเก็บหลักฐานเหมือนกัน ทำไมต้องมาเก็บไว้บนรถบัสอีก?

ผมมั่นใจว่า ระบบการจัดเก็บของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในกรุงเทพฯ หรือในอีสาน จัดเก็บเรื่องราวของหมอลำเป็นอย่างดี แต่ขอโทษนะครับที่ต้องบอกว่า คนไทยไม่เข้าหอสมุด หอจดหมายเหตุ หรือพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้ห้องเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ มันมีความสนุกและคนเข้าถึงมากกว่านั้น 

พิพิธภัณฑ์หมอลำเราต้องมีชีวิตมากกว่านี้ ให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ เราต้องไปปฏิสัมพันธ์กับศิลปิน สถาปนิก หรือแม้กระทั่งนักดนตรี เพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอยู่เรื่อยๆ 

แล้วที่ถามที่ว่าเขาจัดเก็บดีหรือไม่ เขาก็จัดเก็บดีแน่ๆ ผมเข้าใจอยู่แล้ว แต่คิดว่ามันดีเกินไป จนคนเข้าไม่ถึงและไม่สนใจ แล้ววันหนึ่งมันก็จะหายไปเฉยๆ

ในนิทรรศการมีการแสดงกลอนลำทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นหลายกลอนลำ เป้าหมายเพื่อต้องการบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

ดูนิทรรศการหมอลำบนรถนี้ มันไม่ใช่หมอลำแบบม่วนซื่นหรือหมอลำแบบพูดถึงวิถีชีวิต แต่เป็นหมอลำการเมือง และเป็นการเมืองที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์การเมืองระดับโลก อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปของหมอลำกับอุดมการณ์ทางการเมืองว่าทำไมถึงมาสนใจเรื่องนี้

รถคันนี้มันคล้ายๆ พิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ และพิพิธภัณฑ์นี้ก็พูดถึงหมอลำกับการเมือง เหตุผลที่รถคันนี้พูดถึงหมอลำกับการเมือง ก็เพราะการเมืองถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอยู่แล้ว ทุกวันนี้ คนสนใจการเมืองมากขึ้น คนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ 

ผมคิดว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และในพื้นที่หมอลำก็มีเรื่องการเมืองอยู่ด้วย ผมมองว่า คนแทบจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย คนคิดถึงหมอลำแต่ความม่วนซื่นโฮแซว (ความสนุกสนาน) หรือพูดถึงแต่พิธีกรรมในหมอลำ พูดถึงภูมิปัญญาภาษาสวยงาม จนหลงลืมไปว่า มันก็มีการเมืองอยู่ในหมอลำ 

สำหรับผม หมอลำ กลอนลำ เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง เป็นการสื่อสารที่คนยินยอมรับฟังอย่างรื่นหูด้วย ฉะนั้นจึงทำให้หมอลำเป็นสื่อทางการเมืองที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ในยุคที่สื่อยังไม่ได้มีมากถึงขนาดนี้ 

ผมจึงสนใจหมอลำในส่วนที่เป็นการสื่อสารทางการเมือง เพราะว่าคนอื่นเขาไม่ค่อยสนใจกัน เราอยากทำให้คนทั่วไปได้เห็นว่า หมอลำมันมีหลายมิติกว่านั้น

เห็นว่าทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับหมอลำการเมืองด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับนิทรรศการนี้

เหตุผลหนึ่งที่ผมทำนิทรรศการนี้ เพราะว่าผมทำวิทยานิพนธ์ “หมอลำกับการเมือง การสร้างความเป็นชาติของไทย” อยู่แล้ว คำถามของผมง่ายๆ คือว่า เราเห็นประกาศสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ห้ามคนในภาคอีสาน “เล่นแอ่วลาว ห้ามเล่นหมอลำ ห้ามเล่นเป่าแคน” ประกาศนี้มีเรื่อยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 

จากนั้น ผมก็สนใจคำว่า ศิลปินแห่งชาติสาขาหมอลำ ซึ่งโครงการศิลปินแห่งชาติตั้งขึ้นมาในช่วงปี 2527 จึงตั้งคำถามว่า ก่อนหน้านี้ทำไมไม่มีศิลปินแห่งชาติสาขาหมอลำอีสาน ผมจึงตั้งคำถาม 

สุดท้ายก็ค้นพบว่า หมอลำเคยเป็นสื่อที่กระด้างกระเดื่องกับการเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้วเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 วันหนึ่งถ้าคุณ (รัฐไทย) “เอาหมอลำอยู่ คุณก็เอาคนอีสานอยู่ได้” เข้าใจหรือไม่ แสดงว่า ถ้าควบคุมหมอลำอยู่ คุณก็รวมอีสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยได้ในเชิงวัฒนธรรมอย่างสนิทใจและฝังใจ 

แม้การใช้อำนาจควบคุมนี้ไม่ใช่อำนาจทางการเมืองแบบไปเข่นฆ่า ไปโบยตี ยิงปืน หรือใช้กฎหมาย แต่เป็นการใช้อำนาจทางการเมืองแบบฝังใจคนอีสานไปแล้วว่า กูเป็นคนไทย (ไม่ใช่คนลาวอีสาน) 

นอกจากนี้ ผมก็สนใจหมอลำในช่วงยุคสงครามเย็นด้วย เพราะในช่วงนั้น ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายเสรีประชาธิปไตยในประเทศไทย มีการใช้หมอลำเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นสื่อทางการเมืองต่อสู้กัน ฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายเสรีประชาธิปไตยต่างแต่งกลอนลำ ร้องหมอลำ ชวนคนอีสานร่วมอุดมการณ์ของแต่ละฝ่าย 

ดังนั้นจึงทำให้หมอลำถูกจัดให้เป็นการสื่อสารทางการเมืองและเป็นสื่อทางการเมืองที่ได้ผลในการเมืองไทยยุคหนึ่งด้วย

image_pdfimage_print