นักศึกษา ม.ราชภัฏสกลนคร จุดเวียนไว้อาลัยต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เครดิตภาพ สำนักข่าวประชาไท

กิตติมา ขุนทอง เรื่อง

เสียงของความไม่เดียงสา

“อาจารย์ เราจะทำอะไรได้บ้าง เลือกตั้งบัตรเขย่งแบบนี้  พวกผมรับไม่ได้ โกงชัด ๆ” (หลังวันเลือกตั้ง )

“อาจารย์ พวกเราไปลงชื่อถอดถอน กตต. มา ถอดได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่อย่างน้อยก็ได้ทำ” (หลังการเลือกตั้ง)

“อาจารย์ ถ้าเขาชุมนุมที่กรุงเทพฯ หนูจะไป หนูโกรธ มันไม่ถูกต้อง มันไม่เป็นธรรม แกล้งกันชัดๆ” (ค่ำคืนหลังประกาศยุบพรรคอนาคตใหม่)

“อาจารย์ หนูอยากไฮด์ปาร์ก หนูทนไม่ไหวแล้ว หนูไม่กลัวอะไรทั้งนั้น กลัวแต่รัฐบาลโง่ ” (ช่วงบ่ายก่อนกิจกรรม flash mob ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร – มรภ.สกลนคร) 

“อาจารย์ วันก่อนได้ไป flash mob ไหม ผมตั้งใจว่าจะไป แต่เผลอหลับไปตอนเย็น เสียใจไปไม่ทัน แถมยังโดนแม่ว่าอีก แม่ฝากไปไล่ลุงตู่” (หลังกิจกรรม flash mob มรภ.สกลนคร)

คุณได้ยินเสียงเหล่านี้บ้างไหม? 

ได้ยินบ่อยแค่ไหน? 

การใช้ประโยคคำถามดังกล่าวไม่ได้ต้องการถามเพื่อโอ้อวดว่าได้ยินมากกว่าหรือน้อยกว่าใคร เพียงแต่อยากจะสะท้อนให้เห็นถึงอาชีพอาจารย์ในสภาวะการเมือง หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ว่ามักประสบพบเจอกับคำถามและบทสนทนาทางการเมืองจากนักศึกษาอยู่เสมอ 

จากการประมาณการ ไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยครั้งในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา 

ในฐานะอาจารย์ หลายครั้งก็ได้แต่รับฟังอย่างเข้าใจและเห็นใจผู้ที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

เทอมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับผิดชอบสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปวิชาหนึ่ง ในหัวข้อ “social movement” มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียน 300 กว่าคน 

หลังสอนจบได้แจกใบงานให้นักศึกษาคิดแคมเปญการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาในสังคมที่พวกเขาคิดว่ามีจำเป็นอย่างยิ่ง 

เมื่อนั่งตรวจงานสิ่งที่นักศึกษาสะท้อนว่า เป็นปัญหาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง กว่าร้อยละ 60 เป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นผลมาจากรัฐบาล คสช. และรัฐบาลปัจจุบัน เช่น ผู้บริหารประเทศไม่มีภาวะผู้นำ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศล้มเหลว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และปัญหาการคอร์รัปชั่น พวกเขาเสนอให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและรณรงค์เลือกตั้งใหม่เพื่อคืนสิทธิ์ให้ประชาชน 

ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชุมชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจราจร ความรุนแรงทางเพศ และยาเสพติด ที่เหลือเป็นเรื่องระบบการศึกษาและคุณภาพชีวิตในมหาวิทยาลัย 

เสียงและข้อความจากใบงาน เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า นักศึกษามีความตื่นตัวและมีความรับรู้ทางการเมืองสูง 

พวกเขาเฝ้าติดตามสถานการณ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ รวมทั้งการเคลื่อนไหวทางสังคม และสร้างเครือข่ายแบบใหม่ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ดังปรากฏการแชร์คลิป การ # แฮชแท็กต่างๆ เช่น #บัตรเขย่ง #SaveThanaton  #มึงมาไล่ดูสิ 

หลายครั้งที่ผู้เขียนกำลังมึนงงกับเหตุการณ์ทางเมือง นักศึกษากลับเป็นผู้ตั้งคำถามต่อผู้เขียนในฐานะอาจารย์ว่า “แล้วอาจารย์ไม่คิดจะทำอะไรเลยเหรอ?” 

จริงๆ แล้ว พลังนักศึกษาไม่ตายหรือหายไปอย่างที่ใครหลายคนเคยตั้งคำถามและกังวล แต่พวกเขากลับมีปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการสะสมคลังความรู้นอกห้องเรียนและสร้างเครือข่ายบนสังคมออนไลน์ที่ลึกและเกาะเกี่ยวอารมณ์ร่วมของผู้คนที่ประสบซะตาเดียวกันไว้ด้วยการโพสต์ การคอมเม้นต์ และแฮชแท็ก 

ขณะเดียวกัน การมีชีวิตในชนบทอีสานทำให้พวกเขาเห็นความทุกข์ยากที่พ่อแม่และคนในชุมชนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นราคาผลผลิตที่ตกต่ำ การแย่งชิงทรัพยากร และการละเมิดสิทธิชุมชน โดยเฉพาะกรณีโครงการสำรวจแร่โพแทชวานรนิวาส โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงนโยบายรัฐที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ  เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า การไล่ที่เพื่อประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน ตลอดจนการใช้อำนาจรัฐโดยเฉพาะทหารและตำรวจคุกคามข่มขู่ ตลอดจนจับกุมคุมขังชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม

กระทั่งเมื่อพวกเขาสูญเสียตัวแทนทางการเมืองจากยุบพรรคอนาคตใหม่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การออกมาชุมชน flash mob แบบโดมิโน่ครั้งใหญ่จึงปรากฏขึ้น

กลุ่มนักศึกษาสิงห์ภูพานรัฐศาสตร์ราษฎร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จ.สกลนคร จัดกิจกรรม “รัฐศาสตร์ราษฎรไม่นอกนา สิงห์ภูพานสบตาบรรพชน” จุดเทียนไว้อาลัยหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เครดิตภาพจากเว็บไซต์ประชาไท

Flash mob ปฏิบัติการท้าทายแบบซึ่งหน้า 

เย็นย่ำของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ลานด้านหน้าคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สกลนคร คลาคล่ำไปด้วยนักศึกษา นักเรียน และประชาชนคนวัยทำงาน กระทั่งผู้สูงอายุ 

จากการกะด้วยสายตาและคาดคะเนจากประสบการณ์ที่เคยใช้พื้นที่จัดกิจกรรม น่าจะมีคนมาร่วมไม่ต่ำกว่า 400-500 คน เพราะบริเวณลานหน้าคณะมนุษยศาสตร์ฯ แน่นขนัดจนล้นออกมานอกถนนและบริเวณใต้ตึก 

นักศึกษา–นักเรียนชายหญิง คนแล้วคนเหล่าสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยและอ่านบทกวี 

ประโยคที่ได้รับเสียงตอบรับและขานรับจากผู้คนจนดังกระหึ่มคือ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” “ประยุทธ์ออกไปๆ” 

ภาพเหล่านี้ไม่เคยปรากฏและไม่คิดว่าจะปรากฏในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ 

วันก่อนหน้านั้นและวันถัดๆ มา flash mob ก็เกิดปรากฎการณ์ลักษณะเดียวกันในสถาบันการศึกษาแห่งแล้วแห่งเล่า กระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

หากนับย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 หรือตั้งแต่เกิดการรัฐประหารปี 2557 การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบท้าทายซึ่งหน้า (direct action) กับรัฐบาลของนักเรียนและนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเดินขบวน การชุมนุม และการประท้วงในรูปแบบต่างๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ หรือมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ตามภูมิภาค เช่น ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และม.บูรพา เป็นกิจกรรมเฉพาะพื้นที่ 

แต่ในครั้งนี้กลับพบว่า มหาวิทยาลัยขนาดเล็กตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ถูกมองว่ามีขนบของความไม่ขบถ กลับออกมาเคลื่อนไหวสอดประสานร่วมด้วยราวกับพลุไฟแห่งประชาธิปไตยถูกจุดขึ้นพร้อมกัน

กรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ผลักให้นักศึกษาประกาศตัวท้าทายกับรัฐบาลและความอยุติธรรมอย่างซึ่งหน้า การยุบพรรคการเมืองดังกล่าวทำให้พวกเขารู้สึกสูญเสียตัวแทนที่ต่อสู้ในสนามการเมือง 

ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศชนกับอำนาจเผด็จการอย่างถึงพริกถึงขิง ในช่วงเวลานั้นนักเรียนนักศึกษาทำหน้าที่ได้แต่เฝ้ามอง สนับสนุน ให้กำลังใจ และสร้างเครือข่ายเพื่อต่อต้านเผด็จการอย่างไม่เป็นทางการบนโลกสังคมออนไลน์ไปพร้อมๆ กัน

การเคลื่อนไหวของนักศึกษามีรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีผู้นำหรือแกนนำในการจัดตั้งชัดเจน เป็นการเคลื่อนไหวเฉพาะหน้าและเป็นขบวนการมวลชนแนวระนาบที่เน้นการมีส่วนร่วมและเปิดให้ทุกคนสร้างอำนาจร่วมกัน 

เท่าที่สังเกต เวที flash mob ที่สกลนคร ใครที่ต้องการไฮด์ปาร์กสามารถไปยืนต่อแถวข้างเวทีแล้วขึ้นไปได้เลย แสดงให้เห็นว่า พวกเขารู้สึกเชื่อมั่นและไว้วางใจว่าทุกคนต่างมีอุดมการณ์และเป้าหมายเดียวกัน คือการไม่เอาและไม่ยอมจำนนต่อรัฐเผด็จการอำนาจ  

เวลาไม่กี่ชั่วโมงของ flash mob การไม่เอาเผด็จการ ได้รับการอธิบายและตีแผ่ถึงความล้มเหลวของการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ศีลธรรมของผู้บริหารประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการบังคับใช้กฏหมายที่ไม่เป็นธรรม การรับมือกับไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงการทวงถามและตามหาสิทธิ์ที่ถูกลิดรอนไป ขณะเดียวกันก็เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตและสร้างสรรค์โลกแห่งประชาธิปไตย

ข้อความบนกระดาษที่นักศึกษาสิงห์ภูพานรัฐศาสตร์ราษฎร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จ.สกลนคร เขียนระบายความรู้สึก หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เครดิตภาพจากเว็บไซต์ประชาไท

อย่าลดทอนนักศึกษาให้เป็น “ผู้ไร้เดียงสา” ทางการเมือง  

การที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 ต่อกรณีการออกมาชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาว่า “…รู้สึกกังวลกับเด็กเหล่านี้ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจถูกชักชวน อาจถูกปลุกมาโดยฟังความข้างเดียว ขอให้นักศึกษาทุกคนที่ชุมนุมเวลานี้ ช่วยฟังข้อมูลของรัฐบาลที่ได้แถลงออกไป…”

คำพูดดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีและการรับลูกต่อจากบรรดากองเชียร์ของรัฐบาล นับเป็นความพยายามในการลดทอนให้นักศึกษากลายเป็นผู้ไร้เรียงสาทางการเมือง เป็นผู้อ่อนด้อยประชาธิปไตย ประหนึ่งว่านักศึกษาที่บรรลุนิติภาวะเหล่านี้ เป็นผ้าขาวที่บริสุทธิ์ และไม่ประสีประสาต่อโลกที่นอกเหนือจากห้องเรียนและตำรา  

การออกมาชุมนุมจึงเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีคนยุยงปลุกปั่นอยู่เบื้องหลัง (ซึ่งก็คือนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรืออาจารย์)

หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว การทำให้นักศึกษากลายเป็นผู้ไร้เดียงสาทางการเมือง คือความพยามในการลดทอนความชอบธรรมในกระบวนการสร้างและฟื้นฟูประชาธิปไตยที่นักศึกษากำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางความคิด (trend setter) ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการและอภิสิทธิ์ชน ซึ่งรัฐบาลอาจจะรับมือยากกว่าพรรคอนาคตใหม่หลายเท่าตัว 

นายที่แท้จริง

ผลจากการออกมาเคลื่อนไหว ทำให้แกนนำนักศึกษาหลายคนถูกติดป้ายสีให้เป็น “พวกชังชาติ” และพวก “ป่วนชาติ” ถูกไล่ล่าคุกคาม ทั้งในชีวิตจริงและโลกไซเบอร์

ประเด็นเรื่อง “ชาติ“ (nation) เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ จำได้ว่ากลางปี 2562 ในห้องเรียนวิชาหนึ่ง ผู้เขียนเคยตั้งคำถามกับนักศึกษาว่า “ชาติ” คืออะไร กลับพบคำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สรุปว่า “ชาติ” คือประเทศไทย คือคนไทยกว่า 70 ล้านคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นนิยามชาติบนจินตนากรรมของการเป็นชุมชน ทั้งเชิงพื้นที่และเชิงสังคมของคนที่อยู่รวมกันหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา 

เมื่อถามต่อว่า ใครเป็นเจ้าของชาติ จำได้ว่านักศึกษาตอบเหมือนกันทั้งห้องว่า “ประชาชน/คนไทย” ต่อจากสองคำถามนี้ก็มีคำถามให้วิเคราะห์ถกเถียงต่อจากคำตอบของพวกเขาอีกมาก แต่ที่ยกมาเพื่อให้เห็นความคิดแว็บแรกของการจินตนาการความเป็นชาติเท่านั้น 

คำตอบเหล่านั้นไม่ได้อ้างอิงทฤษฎีชาติ (nation) หรือรัฐประชาชาติจากนักคิดสำนักใดๆ แต่มาจากมโนสำนึก (moral conscience)  

เด็กยุคใหม่เติบโตมากับความเข้าใจว่าพวกเขามีอำนาจในการเลือกผู้นำประเทศ และเติบโตมาพร้อมความเข้าใจในเรื่องอำนาจของประชาชนเป็นผู้สร้างรัฐ  

อำนาจรัฐ คืออำนาจที่ถูกใช้ในนามประชาชนที่ออกสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งและจ่ายภาษี “ชาติ” ในมโนสำนึกของพวกเขาจึงไม่ใช่ของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดที่จะอ้างอำนาจเหนือชาติได้อย่างสิทธิ์ขาด โดยเฉพาะอภิสิทธิ์ชนที่เคยปล้นสิทธิ์การเป็นเจ้าของบ้านและนำไปปู้ยี่ปู้ยำได้ตามอำเภอใจมานานหลายปี 

การตระหนักรู้ว่า อำนาจเป็นของประชาชนและประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ อันหมายถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนในวิถีประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ผู้คนควรยึดถือเป็นหลัก 

เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาพของคนที่ยืนกุมเป้า เกรงกลัวเมื่อเจอนักการเมือง รัฐมนตรี ข้าราชการ หรือ “นาย” จึงค่อยๆ หายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ แทนที่ด้วยความเข้าใจว่า ประชาชน คือคนที่เสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศและเป็นผู้จ่ายเงินเดือนเป็น “นายที่แท้จริง” 

สำนึก “นายที่แท้จริง” เป็นสถานะแห่งสิทธิที่ทรงพลังของประชาชน ที่ไม่อาจยอมให้อภิสิทธิ์ชนในรูปเผด็จการกดขี่และดำรงอยู่เหนือประชาชน 

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาจุดติดแล้ว “ยากที่จะดับลง” ตราบเท่าที่พวกเขายังไม่ได้สถานะแห่งสิทธิและอำนาจในฐานะเจ้าของชาติคืนกลับมา 

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print