ภาพหน้าปกจาก หนังสือ “ประวัติศาสตร์อีสาน” ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ

วิทยากร โสรวัตร เรื่อง

บทความนี้ผมตั้งใจใช้คำว่า “ผู้มีบุญ” ตามชื่อบทที่ 3 ในหนังสืออุบลราชธานี 200 ปี  ซึ่งเป็นเอกสารชิ้นที่ผมอ่านแล้วประทับใจ เพราะเห็นว่าเป็นข้อเขียนที่ค่อนข้าง “ยุติธรรม” กับคนอีสานที่เข้าร่วมขบวนการในยุคนั้น และข้อเขียนนี้ก็ยังทำให้ผมตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ในข้อเขียนของเติม วิภาคย์พจนกิจ ในหนังสือเล่มสำคัญของเขาคือ ประวัติศาสตร์อีสาน ซึ่งอ่านมาก่อน  

และเอกสารส่วนมากก็ใช้คำว่า “ผู้มีบุญ” หรือ “ผู้วิเศษ” พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงเป็นพระองค์แรกที่ใช้คำว่า “ผีบุญ” ในกองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2.18/3  โทรเลขที่ 60 31 มีนาคม ร.ศ. 120 กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ หน้า 62. 

จากนั้น คำนี้ก็กลายเป็นที่นิยมและขยายเพิ่มเติมไปในทำนองติดลบ เช่น เติม วิภาคย์พจนกิจ ใช้ว่า “กบฏผีบาปผีบุญ” ซึ่งข้อเขียนนี้ของเติมถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในวงวิชาการหรืออย่าง พ่อใหญ่คำพูน บุญทวี นักเขียนลูกอีสานที่ได้รางวัลซีไรต์คนแรกของประเทศไทย จากนิยายเรื่อง ลูกอีสาน ก็ใช้ว่า “ผีบ้า ผีบุญ” ในหนังสือ เกร็ดประวัติศาสตร์อีสาน ผีบ้า ผีบุญ ของแก ซึ่งเมื่ออ่านดูแล้ว ก็เป็นการเขียนแบบสาระนิยาย โดยใช้ข้อมูลทั้งหมดจากข้อเขียนเรื่อง “กบฏผีบาปผีบุญ” ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ

พวกกบฏ “ผีบุญ” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ซึ่งทหารควบคุมตัวไว้ ณ ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี (ภาพจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์อีสาน” โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ) *ข้อความจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

การสร้างวาทกรรมในทางลบ โดยการเปลี่ยนชื่อ “ผู้มีบุญ”/ “ผู้วิเศษ” (ตามที่คนอีสานที่ร่วมขบวนการและเอกสารส่วนใหญ่เรียก) มาเป็น “ผีบุญ” ”ผีบาปผีบุญ” ”ผีบ้า ผีบุญ” เป็นต้น นี้อาจยังไม่ถึงขั้นเป็นอาชญากรรม แต่ก็ถือเป็นใบเบิกทางให้เกิดความเข้าใจไปในทางสร้างความชอบธรรมให้เกิดการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมรุนแรง ทั้งต่อการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์และประวัติศาสตร์บอกเล่าสืบเนื่องยาวนานมา เพื่อให้คนอ่านศึกษาที่จะตามมามองศูนย์กลางอำนาจรัฐว่ามีความชอบธรรมในการใช้ความป่าเถื่อนโหดร้ายรุนแรง

เรื่อง “ขบถผู้มีบุญ” (ตามคำเรียกของคนอีสานสมัยนั้นและเอกสารชั้นต้นส่วนมาก) หรือ “ผีบุญ” (ที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเรียกตามที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐเรียกนั้น) ได้มีผู้เขียนไว้เยอะแล้ว รายละเอียดหาอ่านได้  

ถ้าจะให้แนะนำเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด ผมแนะนำให้อ่าน “การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ปริญญานิพนธ์ ของ ไพฑูรย์ มีกุศล เสนอต่อวิทยาลัยวิชาการศึกษา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต 30 สิงหาคม 2515 เล่มที่ผมอ่านนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรณกิจเทรดดิ้งปี 2516 (ไพฑูรย์ มีกุศล ได้ชี้แจงไว้ในคำปรารถตอนหนึ่งว่า – – ในการพิมพ์ครั้งนี้ ผู้เขียนได้เปลี่ยนหัวข้อเรื่อง “การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสาน สมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่ (พ.ศ. 2436 – 2453) เป็น “การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เพื่อให้กะทัดรัดยิ่งขึ้นและเพื่อให้หัวข้อเรื่องคลุมเนื้อหาภายในเล่มอีกด้วย) เพราะเห็นว่า ใช้หลักฐาน/เอกสารอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด รอบด้านที่สุด และยังเป็นแหล่งข้อมูลหลักของบทที่ 3 ขบถผู้มีบุญ ในหนังสืออุบลราชธานี 200 ปี ด้วย

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ยุติธรรมกับขบวนการขบถค่อนข้างมาก

หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด เราจะได้เห็นความโกลาหล ตื่นตระหนก และพฤติการณ์ท่าทีของศูนย์กลางอำนาจสยามที่มีต่อเหตุการณ์นี้ (ถึงขนาดต้องโทรเลขรายงานถึงกันตลอดเวลา ถึงขั้นต้องประชุมเสนาบดีต่อเรื่องนี้เป็นการเฉพาะถึง 3 วัน) และเหตุการณ์นี้ยังเป็นผลทำให้ศูนย์กลางอำนาจรัฐส่วนกลางวางนโยบายพัฒนาอีสานแทบจะรอบด้าน (แน่ล่ะ ในด้านหนึ่งมันทำลายความเป็นอีสาน – หมายถึงความเป็นอีสานจริงๆ นะครับ ไม่ใช่เฉพาะลาวอีสาน) เป็นรากฐานในการพัฒนาปรับแต่งอีสานมาจนทุกวันนี้และทำให้เกิดมายาคติต่อคนอีสานมากมาย ซึ่งนำมาซึ่งนโยบายต่างๆ เช่น การแบ่งแยกดินแดน (กรณีเสรีไทยสายอีสาน) นำไปสู่การฆ่าอดีต 4 รัฐมนตรีอีสาน เป็นต้น หรือคนอีสานโง่ – จน – เจ็บ ฯลฯ 

อีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจมาก ซึ่งงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ค่อยพูดถึงคือ เหตุการณ์ขบถของผู้มีบุญนี้เป็นการเมืองระดับข้ามประเทศ ด้วยกับศูนย์กลางอำนาจของโลกขณะนั้น นั่นทำให้ศูนย์กลางอำนาจรัฐสยามต้องติดต่อกับศูนย์กลางอำนาจฝรั่งเศส ต่อเมื่อฝรั่งเศสยอมตามให้ปราบปรามได้อย่างอิสระ (เพราะกลุ่มขบถนี้มีที่ฝั่งลาวที่ฝรั่งเศสปกครองด้วย) มันจึงทำให้เกิดการทำลายล้างขบวนการขบถลงจนสิ้นซาก กลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่อย่างที่เรารับรู้กัน

มุมนี้เราจะเห็นถึงความฉลาดของผู้ก่อการขบถ ไม่ว่าการกระจายข่าวสาร เกลี้ยกล่อม และปลุกระดม ผ่านฐานทางวัฒนธรรมความเชื่อและสภาพจริงที่ทำให้เกิดความคับแค้น การใช้ข้อตกลงระหว่างประเทศระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่พื้นที่รัศมี 25 กิโลเมตรห้ามรุกล้ำ ให้กลายเป็นฐานหลบถอยที่ปลอดภัย เพียงแต่กลุ่มขบวนการผู้มีบุญประเมินผิดเท่านั้นเองว่า กองทัพสยามจะรุกเข้ามาในเขตนี้ไม่ได้เพราะกลัวมีปัญหากับฝรั่งเศส เช่นเดียวกับเรื่องของอาวุธในการต่อสู้ชิงชัย 

นั่นทำให้เราเห็นภาพความรุนแรงป่าเถื่อนโหดเหี้ยมของศูนย์กลางอำนาจรัฐ ซึ่งผมจะลำดับให้ดู โดยคัดจากหนังสือ การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ของ ไพฑูรย์ มีกุศล)

สถานการณ์ ณ เวลานั้น 

 “…ด้วยเวลานี้ทางมณฑลอีสานกำลังตื่นผู้มีบุญทุกแห่งทุกตำบล น่ากลัวจะเปนข้างโจรขึ้นใหญ่โต แต่ทางฝ่ายลาวก็ไม่กระไรนัก แต่ทางฝ่ายเขมรนั้น ตัวอ้ายทันผู้มีบุญนั้นเปนลูกพระยาขุขันธ์ที่ตาย พระยาขุขันธ์ก็สั่นครั่นคร้ามเสียแล้ว คนบ้านทั้งปวงก็ตื่นเข้าผู้มีบุญ น่ากลัวจะเปนอกตัญญูปล้นเมืองขึ้นในวันสองวันนี้  ถ้าโปรดให้ทหารโคราชสัก 100 คน โดยเร็วที่สุดได้จะดี…” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/3 โทรเลขที่ 30 กรมขุนสรรพสิทธิ์ประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 120 หน้า 3)

ในขณะนั้น มณฑลอีสานมีทหารกรุงเทพฯ ประจำอยู่ 200 คน นอกนั้นเป็นทหารชาวเมืองฝึกหัด รวมทหารทั้งหมดไม่ถึง 500 คน (สมเด็จกรมพระยาดำรง “เรื่องผีบุญ” นิทานโบราณคดี หน้า 339) จึงจำเป็นต้องขอกำลังจากเมืองนครราชสีมา เพื่อป้องกันเหตุร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนทางกรุงเทพฯ เมื่อได้ทราบข่าวนี้ จึงได้มีการประชุมเสนาบดีในวันที่ 26, 27, และ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 ผลของที่ประชุมสรุปได้ว่า ผู้มีบุญที่เกิดขึ้นทางเมืองขุขันธ์ ควรจะใช้ทหารที่มีอาวุธพร้อมประมาณ 100 คน ไปปราบเหตุการณ์คงสงบ และให้กรมยุทธนาธิการโทรเลขถึงกองทหารที่เมืองนครราชสีมาให้เตรียมพร้อมไว้ 200 คน เพื่อรอฟังข่าวจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ให้เป็นที่แน่นอนว่าจะให้กองทหารไปทางเมืองไหน มีจำนวนเท่าไร (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/4 ที่ 1/4 27 กุมภาพันธ์ ร.ศ.120 หนังสือราชการเรื่องผีบุญ) (น.174 – 176)

ลำดับความรุนแรงจากการปราบปราม 

  1. นายร้อยโทหวั่น ได้ร่วมกับกรมการเมืองขุขันธ์ นำกำลังไปจับอ้ายบุญจัน ได้ปะทะกันถึงขั้นตะลุมบอนกับกองระวังหน้าของอ้ายบุญจัน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม และวันที่ 13 มีนาคม เกิดรบกันอีก ยังผลให้อ้ายบุญจันตายในที่รบ กำลังส่วนใหญ่ของอ้ายบุญจันประกอบด้วยชาวบ้านที่ไม่ได้รับการฝึกแบบทหารและมีแต่อาวุธสั้นเป็นส่วนใหญ่ จึงพ่ายแพ้แตกหนีไป (น.177)
  2. ส่วนหน่วยตระเวนอื่นๆ ที่เกิดปะทะกับพวกผีบุญ  คือหน่วยของร้อยตรีหลี ถูกพวกผีบุญล้อมจับ ฆ่าตายถึง 11 คน (พลตระเวนหนีมาได้ 4 คน) (น.178)
  3. ทางด้านร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ร้าย ได้เกณฑ์ประชาชนที่อำเภอประจิมจำนวน 100 คนไปด้วย และปะทะกับกองระวังหน้าของพวกผีบุญจำนวนหนึ่งร้อยคนเศษใกล้บ้านขุหลุ พวกผีบุญร้องขู่ว่า “ผู้ใดไม่สู้ ให้วางอาวุธหมอบลงเสีย” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/11 ที่ 249/3955 30 สิงหาคม 121 ล.ด. หน้า 121) พวกที่หม่อมราชวงศ์ร้ายเกณฑ์มาก็หมอบลงกราบพวกผีบุญทั้งหมด การที่เป็นเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการใช้หลักจิตวิทยาของพวกผีบุญอย่างได้ผล หม่อมราชวงศ์ร้ายกับพลตระเวนอีก 12 คน ได้ต่อสู้กับพวกผีบุญและหนีออกจากวงล้อมไปได้ พวกผีบุญได้ชัยชนะทหารรัฐบาลครั้งแรก จึงมีใจฮึกเหิม ได้ยกกำลังไปตั้งอยู่ที่บ้านกระพือ (สะพือ) แขวงเมืองตระการพืชผล และมีผู้คนเข้าเป็นพรรคพวกกันมากขึ้น (น.178 – 179)

เหตุการณ์ในลำดับที่  3 นี้ ชี้ให้เห็นว่า พวกผู้มีบุญไม่ได้จะฆ่าใครสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ฆ่าคนที่จะไม่สู้ โดยเฉพาะคนที่ถูกทางการเกณฑ์มา ซึ่งก็เป็นคนลาวอีสานด้วยกัน

  1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงวิตกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางมณฑลอีสาน และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีสารตราพระราชสีห์ใหญ่ ที่ 45/12614 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2444/5 (ร.ศ.120) ให้พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิไชย ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา เป็นข้าหลวงพิเศษตรวจราชการระงับปราบปรามผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษในมณฑลอีสานและอุดร (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม. 2. 18/11 ที่ 249/3955 ล.ด.) (น.179)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพให้ทรงทราบเกี่ยวกับพวกผีบุญเข้าปล้นและเผาเมืองเขมราฐ ขอให้ส่งทหารและอาวุธปืนไปโดยด่วนจำนวน 400-600 คน (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม. 2. 18/3 โทรเลขที่ 54 28 มิถุนายน ร.ศ.120 และโทรเลขที่ 60 ลงวันที่ 31 มีนาคม ร.ศ. 120 กรมขุนสรรพสิทธิฯ ทูลกรมหลวงดำรงฯ) (น.181)

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงบัญชาให้ร้อยเอกหลวงชิตสรการ (จิตร) อดีตนายทหารปืนใหญ่ กับร้อยตรีอิน คุมทหาร 24 คน พลเมือง 200 คน และอาวุธปืน 100 กระบอก ไปปราบขบถ จำนวนทหารและตำรวจเมืองอุบลฯ ถูกส่งออกไปปราบขบถจนหมด ดังจะเห็นได้จากโทรเลขทูลกรมดำรงราชานุภาพว่า “ทหารอุบลราชธานีคิดใช้หลายทางหมดแล้ว เรียกตำรวจภูธรขึ้นหมด ปืนกำลังยังไม่พอจะใช้ ถ้าเกณฑ์เชื่อใจชาวบ้านไม่ได้ว่าจะไม่วิ่งเข้าหาองค์ผีบุญ ขอทหารหรือตำรวจปืนดีๆ รีบไปช่วยเร็วๆ สัก 400” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ โทรเลขที่ 60 กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ (รับที่กรุงเทพฯ 3 เมษายน ร.ศ. 121) (น.182)

  1. ทางด้านร้อยเอกหลวงชิตสรการได้ยกไปถึงบ้านสะพือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน เลือกได้ชัยภูมิที่เหมาะ คือ “ที่ตรงนั้น ทางเดินเข้ามาเมืองอุบลเป็นย่านตรง สองข้างเป็นป่าไม้ ต้องเดินมาในตรอก หลวงชิตสรการให้ทหารตั้งซุ่มอยู่ในป่าที่ตรงหัวเลี้ยว และตั้งปืนใหญ่บรรจุกระสุนปรายซ่อนไว้ในซุ้มต้นไม้ หมายยิงตรงไปในตรอกนั้น” (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ “เรื่องผีบุญ” นิทานโบราณคดี หน้า 341)  

ในวันเดียวกันก็ได้เกิดปะทะกับพวกผีบุญ สู้รบกันเป็นเวลา 4 ชั่วโมง พวกผีบุญแตกหนีไป ถูกฆ่าตาย 200 คนเศษ บาดเจ็บ 500 คนเศษ และจับเป็นได้ 120 คน ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้รับอันตราย เพราะใช้ปืนใหญ่ (ยิง 4 นัด) และปืนเล็กยิงตลอดเวลา ฝ่ายขบถมีอาวุธสั้น เช่น มีด ดาบ หอก และปืนคาบศิลา ซึ่งเป็นแบบเก่า จึงสู้อาวุธฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ กำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายขบถเป็นชาวบ้านธรรมดา เมื่อกองทัพฝ่ายรัฐบาลยกเข้าประชิดแล้ว ปรากฏว่าพวกเขาเตือนกันว่า “ใครอย่ายิง อย่าทำอะไรหมด ให้นั่งภาวนา ฝ่ายเราก็ยิงแต่ข้างเดียว” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม. 57/15 29 สิงหาคม 121 พระญาณรักขิตถวายรายงานกรมขุนสรรพสิทธิฯ) (น. 186 – 187)

ลองเทียบเหตุการณ์ต่อไปนี้ ที่ทำตัวหนากับตัวเอนไว้กับเหตุการณ์ในลำดับที่ 1 และ 3 ที่ผ่านมา จะเห็นความโหดเหี้ยมป่าเถื่อนของกองทหารฝ่ายรัฐกับขบวนการขบถผู้มีบุญได้ชัดเจนถึงแก่นถึงรากของจิตใจ

ภายหลังกวาดล้างกลุ่มขบถผู้มีบุญทั่วทั้งอีสานแล้วภายใน 3 เดือน แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ไม่ทรงไว้วางพระทัยในเหตุการณ์ครั้งนั้น  เพราะผีบุญ “มันแทนกันอยู่เสมอ” จึงโปรดให้ทหารไปประจำอยู่ ณ ที่เกิดเหตุ ดังนี้ “ให้กองหลวงโหมหักไพรินทร์ไปตั้งอยู่บ้านไร่สีสุก แขวงเมืองเสนางคนิคม ให้กองหลวงชาญสรกลไปตั้งอยู่บ้านหางแซง แขวงยโสธร… ให้กองนายร้อยเอกนายเชย เลื่อนจากศรีสะเกษ เลื่อนไปเมืองอุบลฯ ให้เลื่อนกองที่อยู่รัตนบุรีไปอยู่เมืองศรีสะเกษ และเลื่อนกองที่บุรีรัมย์ไปอยู่รัตนบุรี แล้วเลื่อนกองทหารที่นครราชสีมา 1 กองมารักษาการณ์อยู่ที่บุรีรัมย์แทน” (น.188-189) และทรงสั่งให้เกณฑ์ทหารไปประจำเมืองต่างๆ คือ “ประจำที่เมืองแซงบาดาล 500 คน กาฬสินธุ์ 1,000 คน ยโสธร 500 คน ให้ตรวจตราประจำการอย่างระมัดระวังและโดยกวดขัน” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/7 โทรเลขกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ “เรื่องส่งทหารไปยังเมืองต่างๆ” น.107)

จากนั้นก็มีการตั้งตุลาการร่วมกันพิจารณาตัดสินขบถผีบุญที่จับได้  

คณะตุลาการพิจารณาพวกที่ตั้งเป็น “องค์” ต่างๆ ฐานขบถก่อการจลาจลภายใน  ให้ลงโทษประหารชีวิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จึงมีกระแสรับสั่งให้เป็นไปตามคำพิพากษาของคณะตุลาการทุกประการ แต่ได้โปรดให้นำไปประหารชีวิตหลายแห่งในที่ซึ่งเกิดเหตุ เพื่อให้ปรากฏแก่ประชาชนตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระอยู่หัว (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/7 ที่ 87/244 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ “เรื่องพิพากษาคดีพวกผีบุญ”) (น.197)

ส่วนพระครูอินวัดหนองอีตุ้มกับพระสงฆ์อีก 3 รูป โปรดให้อยู่ในสมณเพศพระพุทธศาสนาในเขตจำกัดตลอดชีวิต หากสึกออกมาเมื่อใดให้จำคุกตลอดชีวิต (น.198)

ส่วนพวกราษฎร คณะตุลาการพิพากษาว่าเป็นเพียงปลายเหตุ ให้ภาคทัณฑ์สาบานตัวกึกก้องแล้วปล่อยไป (น.199)

ที่ผมไม่ได้เทียบวรรคต่อวรรคในแต่ละช่วงลำดับของการปราบปรามระหว่างหนังสือเล่มนี้ ที่เรียบเรียงเหตุการณ์จากเอกสารชั้นต้นกับหนังสือของเติม วิพากย์พจนกิจ และของคำพูน  บุญทวี ซึ่งมีท่าทีเชียร์ฝ่ายรัฐบาลแต่ถ่ายเดียว หรือแม้แต่บทความของสุวิทย์ ธีรศาศวัต เรื่อง กบฏผู้มีบุญอีสาน 2444-45 กับจดหมายลูกโซ่ ฉบับแรกของเมืองไทย ที่ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมปีที่ 28 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งไม่ลงรายละเอียดความโหดร้ายที่รัฐกระทำนี้เลย (ซึ่งเข้าใจได้ว่าไม่ใช่ประเด็นหลักในตัวบทความ) เพราะถ้าลงเทียบแล้ว มันจะยิ่งขับเน้นสีสันของความโหดร้ายของศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กระทำต่อคนอีสานมากขึ้นอีกหลายเท่า

จากบทเรียนนี้และอีกหลายๆ เหตุการณ์ในบ้านเมืองนี้ มันเหมือนจะบอกกับเราว่า ศูนย์กลางอำนาจรัฐไทยฆ่าเราได้อย่างโหดเหี้ยมทุกเมื่อและอย่างไร้ความปราณี

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print