กรุงเทพฯ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยวันนี้ (วันที่ 25 มีนาคม 2563) เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงโรคโควิด-19 โดยจะมีผลตั้งแต่ 26 มีนาคมนี้เป็นต้นไป
การออกข้อกำหนดเป็นไปตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 มีใจความว่า เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
ข้อกำหนดดังกล่าวมีทั้งหมด 16 ข้อ โดยจะสรุปเฉพาะที่สำคัญดังนี้ 1. ห้ามประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งให้ถือเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
ส่วนข้อ 2. การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค เช่น สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สนามม้าในทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น รวมทั้งสถานบริการ อาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกำลังกาย สถานบันเทิง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
“สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุด สถานีขนส่งหรือโดยสาร ห้างสรรพสินค้า ให้พิจารณาสั่งปิดเฉพาะส่วนหรือทั้งหมด” ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ระบุ
สำหรับข้อ 3 การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าทางอากาศยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ส่วนข้อ 4 ห้ามกักตุนสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างเพียงพอและไม่เกิดภาวะขาดแคลนหรือเดือดร้อนเกินสมควร

ข้อกำหนดออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับข้อ 3 การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าทางอากาศยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ส่วนข้อ 4 ห้ามกักตุนสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างเพียงพอและไม่เกิดภาวะขาดแคลนหรือเดือดร้อนเกินสมควร
“ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ข้อกำหนดข้อ 5 ระบุ
ส่วนข้อ 6 เรื่องการนำเสนอข่าว ระบุว่า ห้ามการแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อโรคโควิด-19 อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
สำหรับข้อกำหนดตั้งแต่ข้อ 7-16 ถือเป็นมาตรการเตรียมรับมือสถานการณ์และแนวทางป้องกัน รวมทั้งบทลงโทษ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งเป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติและรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย
“ในช่วงนี้ประชาชนพึงงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดโดยไม่จำเป็น และควรพักหรือทำงานอยู่ ณ ที่พำนักของตน กรณีจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ต้องรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวมารับการตรวจอาการหรือกักกันตัว” ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อ 13 ระบุ