ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง

ปัจจุบันมีเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานที่ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดยศิลปินอีสานหน้าใหม่และไร้สังกัดจนโด่งดังและได้รับความนิยมในระดับประเทศจำนวนมาก 

ความโด่งดังดังกล่าวการันตีผ่านยอดจำนวนผู้ชมในยูทิบ (YouTube) หลายร้อยล้านวิว บางเพลงถูกนำไปร้องซ้ำโดยศิลปินทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น จนอาจจะกล่าวได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคของเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสาน 

อะไรคือสาเหตุความสำเร็จของวงการเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานในยุคปัจจุบัน? 

ซีรีส์หมอลำตอนนี้ พูดคุยกับ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย อดีตนักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษา “อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่” เกี่ยวกับความต่างระหว่างลูกทุ่งหมอลำอีสานอดีตกับปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย อดีตนักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันทำงานในกองบรรณิการ The101.world ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ 

เพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานฟีเวอร์ 

ปาณิสบอกว่า เวลาถามว่า ทำไม “เพลงลูกทุ่งอีสานฟีเวอร์” หรือเพลงอีสานเป็นนิยมโด่งดังนั้น จริงๆ มีเหตุผลหลักๆ อยู่ 2 เหตุผล แต่เธอขอเล่าก่อนว่า เพลงอีสานช่วงที่ผ่านมา (15-20 ปีที่ผ่านมา) มันโด่งดังอยู่แล้ว โดยเฉพาะในยุคของ ไมค์ ภิรมย์พร, จินตหรา พูนลาภ, สุนารี ราชสีมา และนกน้อย อุไรพร มันเป็นความโด่งดังคนละแบบกับเพลงลูกทุ่งอีสานยุคใหม่ ที่เพลงเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา เช่น ผลงานเพลงของศิลปินอย่าง ก้อง ห้วยไร่, แซค ชุมแพ และลำใย ไหทองคำ

“ศิลปินเหล่านี้เป็นคนอีสานรุ่นใหม่ ที่เติบโตในสังคมอีสานที่มีความเจริญทางวัตถุ วิถีชีวิตของคนอีสานก็ไม่ได้ลำบากยากจนเหมือนในอดีต จึงทำให้เนื้อหาของเพลงลูกทุ่งอีสานยุคนี้ไม่เหมือนเดิม” ปาณิสกล่าว

เธอกล่าวอีกว่า ถ้าจะให้เปรียบเทียบเนื้อเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานสมัยก่อนกับตอนนี้ มันแตกต่างกันมาก สมัยก่อนเราก็จะเห็นเลยว่าเพลง เนื้อเพลง จะเป็น “ลูกทุ๊ง ลูกทุ่ง” เนื้อเพลงก็จะมีเนื้อหาประมาณว่า คนอีสานหนีความลำบากจากที่บ้านเกิด เข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ หอบความฝันมา อยากจะรวย มาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เพราะอยู่บ้านยากลำบากมาก ทำนาขายข้าวไม่ได้ราคา

มิวสิควิดีโอในเพลงดอกหญ้าในป่าปูนของ ต่าย อรทัย สะท้อนวิถีชีวิตของคนอีสานเมื่อ 15-20 ปีก่อนโดยนำเสนอวิถีชีวิตคนอีสานที่มักจะหนีความลำบากจากบ้านเกิดเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ

“ถ้าสังเกตมิวสิควิดีโอเพลงดอกหญ้าในป่าปูนของ ต่าย อรทัย จะเห็นภาพว่า สาวอีสาน ต้องเป็นชาวบ้านชนบท หอบกระเป๋ามากรุงเทพฯ แล้วข้ามถนนในกรุงเทพฯ ไม่เป็น หรืออย่างเพลงของ ไมค์ ภิรมย์พร ที่เป็นตัวแทนของคนใช้แรงงาน ที่มาทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อความฝัน อันนั้นคือลูกทุ่งอีสานเมื่อประมาณ 10-20 ปีที่แล้ว” ปาณิสกล่าว

มิวสิควิดีโอในเพลง นักสู้ ม. 3 ของ ไมค์ ภิรมย์พร เป็นการนำเสนอภาพคนอีสานที่มักเข้ามาใช้แรงงานในกรุงเทพฯ เพื่อหาเงิน 

แต่เนื้อเพลงเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานแบบใหม่ ซึ่งปาณิสเรียกว่า “ลูกทุ่งอีสานป๊อบ” นั้น ศิลปินรุ่นใหม่ที่แต่ง มักจะแต่งเนื้อหาซึ่งแสดงถึงความไม่ค่อยเดือดร้อนของคนอีสานในยุคปัจจุบัน 

“อย่างบางเพลง เนื้อเพลงไม่เศร้า หรือถ้าเศร้า ก็เศร้าแบบม่วนๆ สนุกสนาน แล้วเนื้อเพลงส่วนมาก ก็ไม่ได้เล่าว่าคนอีสานต้องมาตามหาความฝันในเมืองกรุงฯ เพลงยุคนี้มันเล่าชีวิตที่บ้านนอกที่ชนบทว่า ชีวิตคนอีสานทุกวันนี้เป็นอย่างไร บางเพลง เนื้อเพลงแต่งมาจากความภูมิอกภูมิใจในความเป็นบ้านนอกอีสานด้วยซ้ำ” ปาณิสกล่าว

เพลง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า ของศิลปิน ลำเพลิน วงศกร และ เต๊ะ ตระกูลตอ มีการนำเสนอภาพวิถีชีวิตของคนอีสานหลายฉาก 

ที่มาของลูกทุ่งอีสานป๊อบ

นอกจากเนื้อเพลงที่เปลี่ยนแปลง ดนตรีหรือเครื่องดนตรีในเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานป๊อบก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน  

ปาณิสบอกว่า ตัวเพลงอีสานป๊อบไม่ได้ทำเพลงเหมือนเพลงลูกทุ่งหมอลำในยุคปู่ย่า ตายาย เช่น หมอลำกลอนร้องร่วมกับพิณ แคน และกลองทอมเท่านั้น เพลงอีสานทุกวันนี้ใส่กีตาร์ ใส่ไวโอลีน ใส่เปียโนเข้ามาในเนื้อเพลงอีสานด้วย ทำให้สินค้าทางวัฒนธรรมตัวนี้มีรสชาติใหม่ขึ้นมา 

“พอเพลงอีสานเปลี่ยนหีบห่อสินค้าของตัวเอง สินค้าทางวัฒนธรรมนี้ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ใช่ดังเฉพาะในหมู่คนอีสานเท่านั้น” ปาณิสกล่าว

มิวสิควิดีโอเพลง โอ้ละหนอ ของ ก้อง ห้วยไร่ นำเสนอวิถีชีวิตคนอีสานที่ภาคภูมิใจในความเป็นอีสาน โดยมีการนำรถไถมาตกแต่งให้มีสีสันโดดเด่น 

“ถ้าเห็นในเพลง โอ้ละหนอ ของ ก้อง ห้วยไร่ ก็จะมีเนื้อเพลงว่า “คั่นเจาะเลือด เจ้าสิเห็นแต่ลาวอ้อยต้อย” ซึ่งหมายความ ถ้าเจาะเลือดออกมา ก็เป็นเลือดลาวเลย ก็จะอธิบายไปอีกว่า เกิดเป็นคนอีสาน มีบุญมีงานก็ต้องมีหมอลำ มีลาบ มีก้อย มีจุ๊ซอยจ้ำ ยังจดยังจำวิถีบ้านเฮา คือเป็นการอธิบายวัฒนธรรมของตัวเองออกมาด้วยความภาคภูมิใจ” 

หรือแม้แต่เพลงผู้สาวขาเลาะ ที่เป็นเรื่องของวัยรุ่นแอบชอบผู้ชาย ก็จะเป็นการเล่าให้เห็นภาพว่า ผู้หญิงขับมอเตอร์ไซค์รอบหมู่บ้าน เพื่อไปเที่ยวตามงาน เพื่อไปแอบมองผู้ชาย ซึ่งก็จะสนุกขึ้น ใส่ดนตรีแนวใหม่ขึ้นที่ไม่ใช่แค่พิณ แคน แล้วไม่ได้พูดว่าคนอีสานนั้นต้อยต่ำและทุกข์ทนแค่ไหน

อินเทอร์เน็ตและอำนาจการผลิตสื่อบันเทิงของคนอีสาน

นอกจากเนื้อหาของเพลงและดนตรีของเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ช่องทางการนำเสนอเพลงและขายเพลงไปสู่ผู้ฟังหรือสู่ตลาดดนตรีในยุคนี้ ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานในปัจจุบันโด่งดัง

ปาณิสกล่าวว่า คนมักจะบอกว่าปัจจัยที่เพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานในยุคนี้โด่งดังและเป็นที่นิยม ก็เพราะคนฟังเยอะ เพราะมีคนอีสานอาศัยอยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเท่านั้น 

ก้อง ห้วยไร่ เขียนและบันทึกเพลงผ่านการใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ แล้วนำมาเผยแพร่ในแฟนเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง

แต่งานศึกษาของปาณิสพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลงอีสานโด่งดังนั้น เกิดจากการเปลี่ยนอำนาจในการผลิตสื่อบันเทิง หลังจากมีอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ 

ปาณิสยกตัวอย่างว่า แต่ก่อน เวลานักร้องอีสานอยากเป็นนักร้องหรือศิลปินชื่อดัง พวกเขาต้องหอบกระเป๋าเข้ามาหาค่ายเพลงใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ในอีสาน 

“แต่ว่าทุกวันนี้ไม่ต้องแล้ว คนอีสานถ้าอยากเป็นนักร้องมีชื่อเสียง สามารถอัดเพลงในห้องอัดตัวเองที่บ้านได้ เมื่ออัดเพลงเสร็จ ก็นำเสนอผลงานเพลงของตัวเองในสื่อออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ากรุงฯ มาหาค่ายเพลงเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว” ปาณิสกล่าว

ไม่มีค่ายเพลงและนายทุน เพลงอีสานจะร้องอย่างไรก็ได้

ปาณิสบอกว่า เมื่อนักร้องอีสานไม่จำเป็นต้องแต่งเพลงและอัดเพลงกับห้องอัดที่มีนายทุนหรือนักธุรกิจตลาดดนตรีอยู่เบื้องหลัง เนื้อเพลงและดนตรีของศิลปินอีสานก็จะมีความเฉพาะตัวมากขึ้น 

“เนื้อเพลงบางเพลงใช้ภาษาลาวอีสานทั้งเพลง อาจทำให้คนภาคกลาง คนภาคอื่น ฟังไม่รู้เรื่องเลย” ปาณิสกล่าว

เพลง คู่คอง ที่ก้อง ห้วยไร่ ประพันธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนอง เพื่อเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง นาคี ออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2559

สำหรับปาณิส เธอมองว่า มันคือปรากฏการณ์ในวงการเพลงลูกทุ่งอีสาน เพราะเพลงของศิลปินเหล่านี้มีความสดใหม่ พวกเขาตั้งใจอยากจะทำอะไรใหม่ๆ แตกต่างจากจากเดิม ความใหม่ตรงนี้ผสมกับอำนาจในการเผยแพร่สื่อที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต มันจึงทำให้การเดินทางของเสียงจากภาคอีสานมันมาเร็วขึ้นกว่าสมัยก่อน พอมันเร็วขึ้นแล้ว สื่อกระแสหลักก็หยิบเพลงเหล่านี้ไปเผยแพร่มากขึ้น 

“เราจะเห็นว่า รายการประกวดร้องเพลง หรือแม้แต่ละครโทรทัศน์ ก็นำนักร้องอีสานเหล่านี้ไปร้องเพลงในช่วงเวลาไพร์มไทม์ที่คนจะได้เห็นเยอะๆ สิ่งนี้ทำให้ความเป็นชายขอบมันเข้าไปอยู่ตรงกลางได้” ปาณิสกล่าว

เพลง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า ของศิลปิน ลำเพลิน วงศกร (คนที่ 3 นับจากซ้าย) และ เต๊ะ ตระกูลตอ (คนแรกนับจากซ้าย) แสดงที่รายการไมค์ทองคำ ทางสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ (Workpoint TV)

โลกทัศน์ใหม่ของศิลปินมีผลต่อเพลงอีสานยุคใหม่

ถ้าจะพูดถึงเหตุผลว่า ทำไมเพลงอีสานยุคใหม่จึงเปลี่ยนไป ปาณิสอธิบายว่าเป็นเพราะวิถีของคนอีสานไม่เหมือนเดิม ความเป็นชนบทกับความเป็นเมืองมันพร่าเลือนลงมาก ยกตัวอย่างสมัยก่อน จะออกจากหมู่บ้าน ถ้าเดินต้องเดินเป็นวัน แต่ปัจจุบันขับมอเตอร์ไซค์ 5 นาทีก็เข้ามาในเขตตลาดเทศบาลแล้ว และอีกสาเหตุหนึ่งคือ อินเทอร์เน็ตทำให้การรับสื่อของทุกคนเท่ากัน 

“พูดง่ายๆ ว่า บ้านอยู่กลางนาก็สามารถดูบอลพรีเมียร์ลีกได้พร้อมกับคนที่นั่งดูบอลอยู่ลานเบียร์ที่ห้างกลางกรุงเทพฯ เลย การรับสื่อแบบนี้ทำให้ความเป็นบ้านนอกหายไป แล้ว ทำให้ความรู้และโลกทัศน์ของคนอีสานเปิดกว้างมากขึ้น” ปาณิสกล่าว 

ปาณิสกล่าวอีกว่า ประสบการณ์ ความรู้ และโลกทัศน์ของคนอีสานเปิดกว้างจากการได้รับสื่อที่เท่ากัน ทำให้ศิลปินอีสานแต่งเนื้อเพลงที่มีความแตกต่างจากเมื่อก่อน เนื้อเพลงมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่จมอยู่กับเรื่องเดิม 

“เราจะเห็นว่า เพลงอีสานทุกวันนี้ มีการนำจังหวะดนตรีแบบอาร์แอนบี (R&B) มีจังหวะแบบแร็ป (Rap) โซล (Soul) เหมือนอย่างเพลงของ รัสมี อีสานโซล ที่มีทั้งภาษาเขมรและภาษาอีสาน ใส่ดนตรีแบบโซล” ปาณิสกล่าว

ปาณิสกล่าวอีกว่า ตรงนี้มันเป็นความกล้าของศิลปินในยุคนี้ ที่กล้านำเสนอสิ่งใหม่ ซึ่งมาจากสื่งที่พวกเขารับมาจากสื่อ หรือการได้ออกเดินทางไปเจอสิ่งใหม่ในโลกนี้ วัฒนธรรมอีสานที่มันเป็นอยู่เดิมๆ จึงต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย คนฟังอยากฟังอะไรที่มันใหม่ขึ้น ศิลปินยุคปัจจุบันต้องทำอะไรใหม่ขึ้น 

นำเสนออัตลักษณ์ความเป็นอีสานอย่างภาคภูมิ

ปาณิชกล่าวถึงบทสรุปของงานวิจัยของเธอว่า ปัจจุบัน คนอีสานอยากจะนำเสนออัตลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้คนทั่วประเทศยอมรับ 

“คนอีสานอยากบอกว่า เราเป็นคนอีสาน คนลาว คนภาคอีสาน ก็มีความสามารถ ก็เจ๋งนะ ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ได้ปิดกั้นจากวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ไม่ได้ปิดกั้นแนวดนตรีแบบตะวันตกหรือจากที่อื่นๆ มิหน้ำซ้ำยังนำมาผสมผสานกับความเป็นพื้นบ้านอีสานด้วย” ปาณิสกล่าว

ปาณิชสรุปภาพรวมจากการศึกษาว่า จะเห็นได้ว่า ศิลปินอีสานที่เป็นคนรุ่นใหม่อีสาน มี โลกทัศน์ไม่เหมือนคนอีสานยุคเก่าก่อน พวกเขารับสื่อจากทั่วโลก ไม่ใช่รับสื่อจากทีวีวิทยุเหมือนแต่ก่อน คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีชีวิตอยู่ระหว่างกึ่งบ้านนอกกับในเมือง ชนบทกับเขตเทศบาลเป็นเนื้อเดียวกัน เขาจะเดินทางไปไหนก็ได้ เพราะการเดินทางสะดวก จะเดินทางข้ามประเทศไปไหนก็ได้ถ้ามีเงิน เขาจึงมีโอกาสได้ไปในสถานที่ที่มีความเจริญและมีการพัฒนา 

“พอมันเป็นแบบนี้ ไอ้ความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราเป็นลาว เป็นอีสาน เราไม่มีทางที่จะมีชีวิตที่ดีได้ โดนดูถูก มันเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้เป็นแค่คนอีสานหรือเป็นแค่คนไทย แต่เราเป็นพลเมืองโลก เพราะโลกทุกวันนี้มันผสานกันจนไม่มีเขตแดนอะไรแล้ว เพลงอีสานป๊อบสะท้อนภาพเหล่านี้ได้ชัดมาก” ปาณิสกล่าวทิ้งท้าย

image_pdfimage_print