ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา จินตหรา พูนลาภ ศิลปินลูกทุ่งและหมอลำอีสานชื่อดังของประเทศ เผยแพร่บทเพลงใหม่ชื่อ “โควิดมาน้ำตาไหล” บนเว็บไซต์เผยแพร่วิดีโอหรือช่องยูทูบ (YouTube) ของตัวเอง ชื่อ JINTARA CHANNEL OFFICIAL

เพลง “โควิดมาน้ำตาไหล” โดย จินตหรา พูนลาภ พูดถึงการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในไทย และให้กำลังใจคนไทยที่ป่วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาด

เนื้อหาเพลงพูดถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย และเนื้อหาเพลงยังให้กำลังใจผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องพลัดพรากห่างจากครอบครัวนานหลายวัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการระบาดของเชื้อโรคชนิดนี้ พร้อมกันนี้เนื้อเพลงยังมีการสอดแทรกวิธีการดูแลและป้องกันตัวเองให้แก่ผู้ฟังในเวลานี้ด้วย

ไม่กี่วันก่อนนั้น “พิณ พานทอง” ซึ่งเป็นนามแฝงของนักร้องและนักแต่งเพลงแถวหน้าแห่งวงการเพลงลูกทุ่งหมอลำที่หลายคนรู้จัก นั่นคือ “สลา คุณวุฒิ” หรือ “ครูสลา” ก็ได้เผยแพร่บทเพลงใหม่ออกมาผ่านทางช่องยูทูบของตนเองด้วย โดยบทเพลงดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “โควิดซา สิมากอดเด้อ” ซึ่งเนื้อหาก็มีการกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เช่นกัน

บทเพลง โควิดซา สิมากอดเด้อ ของ สลา คุณวุฒิ มีเนื้อหาสื่อถึงความห่วงใยและความเสียใจที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านไปเจอคนรักเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ลุกลามยากเกินจะป้องกันไหว

นอกจากนี้ เพชร สหรัตน์ ศิลปินและนักประพันธ์เพลงลูกทุ่งอีสานรุ่นใหม่ ก็เผยแพร่บทเพลง “โควิดรักษาหาย หลายใจรักษายาก” บอกเล่าเรื่องราวความอันตรายของโรคชนิดนี้ โดยแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาลาวอีสาน มีการบอกเล่าถึงอาการและความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคโควิด และเปรียบเทียบความร้ายกาจของโรคที่กลายสายพันธุ์ชนิดนี้ถึงหญิงคนรักที่ทำให้คนร้องใจสลายและเจ็บปวดรวดร้าวไม่ต่างกัน

บทเพลง กลอนลำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

ปรากฏการณ์ที่การเกิดขึ้นของบทเพลงเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากนักร้องและนักประพันธ์เพลงลูกทุ่งหมอลำอีสาน สำหรับ พงศพร อุปนิ (อ้น แคนเขียว) ศิลปิน นักร้อง นักประพันธ์เพลงและทำนองลูกทุ่งหมอลำอีสาน และอาจารย์ (พิเศษ) สาขาดุริยางคศิลป์ แขนงดนตรีพื้นบ้าน คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น มองว่าเป็นอีกครั้งในประวัติศาสตร์สังคมไทย โดยเฉพาะสังคมอีสานที่มีบทเพลง บทกลอนลำลูกทุ่งและหมอลำอีสาน ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน

เขากล่าวอีกว่าบทเพลงลูกทุ่งและกลอนลำถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสังคมอีสานในแต่ละยุคที่สำคัญ เพราะทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมอีสาน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งเป็นการบันทึกวิถีชีวิตของคนอีสานที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย

“กรณีที่เกิดบทเพลงเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโรค ถือเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมในเวลานี้” พงศพรกล่าว

“โควิดรักษาหาย หลายใจรักษายาก” ของ เพชร สหรัตน์ ศิลปินและนักประพันธ์เพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานรุ่นใหม่บอกเล่าเรื่องราวความอันตรายของเชื้อโคโรนาโรคสายพันธุ์ใหม่ 2019โดยได้แต่งเนื้อร้องเป็นภาษาลาวอีสาน

สื่อที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายกว่าการพูดของรัฐ

สำหรับพงศพร เมื่อภาครัฐใช้ภาษาและคำศัพท์ในสื่อสารที่ทำให้ชาวบ้านรู้จักและเข้าใจถึงอันตรายของโรคโควิด-19 และรณรงค์วิธีป้องกันโรคที่เข้าใจยาก บทเพลงและกลอนลำของศิลปินอีสาน จึงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ส่งถึงกับชาวบ้านได้ผลกว่าที่สิ่งที่รัฐกำลังทำ

“บทเพลงและกลอนลำอีสานยังทำหน้าที่สื่อสารความน่ากลัวของเชื้อโรค รวมถึงสื่อสารวิธีการดูแลตัวเองของประชาชนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรค ถือเป็นการช่วยเหลือภาครัฐในการประชาสัมพันธ์ต่อสังคม” พงศพรกล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า หมอลำในอดีตเคยช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลในการรณรงค์ให้ชาวบ้านในอีสานดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บมาแล้ว อย่างช่วงที่ภาคอีสานมีผู้ล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคพยาธิใบไม้ในตับ จากการกินอาหารในลักษณะดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ภาครัฐจากส่วนกลางจึงขอให้ศิลปินหมอลำช่วยแต่งกลอนลำ เพื่อเป็นบทเพลงรณรงค์ให้ชาวบ้านรู้ถึงอันตรายจากการกินอาหารปรุงดิบ  

ศิลปินที่ผันตัวเองมาเป็นครูบาอาจารย์ยังบอกอีกว่า บทเพลงหรือกลอนลำที่พูดถึงอันตรายของยาเสพติดก็ถือเป็นอีกตัวอย่างกลอนลำที่ช่วยรณรงค์ให้คนในอีสานในพื้นที่ห่างไกล รู้จักถึงอันตรายของยาเสพติด  รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจากโรค และการป้องกันการตั้งท้องโดยไม่พร้อม เป็นต้น

“บทเพลงลูกทุ่ง กลอนลำ และหมอลำถือเป็นสื่อเครื่องมือสื่อสารในภาคอีสานที่สำคัญอีกสื่อหนึ่ง หากภาครัฐสื่อสารขอให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือในการหยุดการระบาดของเชื้อโรค โดยใช้คำศัพท์ทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ชาวบ้านอาจจะไม่เข้าใจได้ดี” พงศพรกล่าว

เขากล่าวอีกว่า ชุมชมอีสานบางแห่งยังเชื่อฟังศิลปินหมอลำในยุคเก่า ทำให้คนเฒ่าคนแก่หลายคนยอมลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนั้น การที่รัฐจะขอให้ศิลปินหมอลำมาแต่งเพลงหรือแต่งกลอนลำในเชิงให้คำแนะนำ ขอความร่วมมือ และขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านนั้น ภาครัฐจะต้องมีการบอกข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้หมอลำรับทราบ เพราะหมอลำจะได้นำข้อมูลที่ถูกต้องไปเปลี่ยนเป็นกลอนลำที่ชาวบ้านเข้าใจง่าย 

“ส่วนบทเพลงหรือกลอนลำรณรงค์เรื่องโรคระบาด หมอและพยาบาลต้องเขียนเอกสารเกี่ยวกับโรคระบาดให้ถูกต้อง ต้องบอกที่มาของการเกิดโรค การป้องกันตัวเองอย่างถูกต้องให้หมอลำ จากนั้นหมอลำจะนำไปแต่งเป็นกลอนและใส่ทำนองเพลงลงไป” พงศพรกล่าว

สอดคล้องกับ ทวิทย์ สิทธิ์ทองสี นักศึกษาปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศิลปกรรมและการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ศึกษาเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานในยุคปัจจุบัน ที่บอกว่า บทเพลง กลอนลำเชิงสังคม ยังถือเป็นสื่อที่เข้าถึงคนจำนวนมากในภาคอีสานอยู่ เพราะการใช้ภาษา คำศัพท์ที่ใช้เป็นคำพื้นบ้านที่ชาวบ้านใช้พูดคุยในชีวิตประจำวันแล้วหมอลำนำมาแต่งเป็นบทเพลงและกลอนลำ 

“มันจึงทำให้บทเพลงและกลอนลำอีสานกลายเป็นสื่อชี้นำให้คนในสังคมอีสานทำตามได้ดีอีกสื่อหนึ่ง อย่างกรณีที่บทเพลงพูดถึงการขอให้ชาวบ้านกักตัวอยู่ในบ้านและใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโคโรนาโรคสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เป็นต้น” ทวิทย์กล่าว 

ทวิทย์ยังยกตัวอย่างเนื้อเพลง “โควิดซา สิมากอดเด้อ” ของครูสลา ซึ่งตัวเนื้อหาเองก็พยายามสื่อสารให้ประชาชนอยู่ห่างกันตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข

แต่ครูสลาไม่ได้พูดตรงๆ ในเนื้อเพลง เพียงแต่ขอให้ทุกคนอยู่ห่างกัน เฉกเช่นนักสู้ชีวิตหนุ่มจากอีสานที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง ส่งข้อความผ่านไลน์บอกหญิงสาวคนรักของตนว่า อย่าเข้าใกล้ใครและอย่าให้ใครเข้าใกล้ ไม่ใช่เพราะหึงหวง แต่เป็นห่วงเพราะเชื้อโรคโคโรนาสายพันธุใหม่ หรือโควิด-19 มักติดต่อกันผ่านคนที่ใกล้ชิด คล้ายกับการสอดแทรกคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลในการป้องกันการติดเชื้อโรคที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้

รัฐสั่งชาวบ้านอาจไม่ฟัง

ทวิทย์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ประชาชนมีสถานการณ์ความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่แล้ว หลังจากรัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทันท่วงที จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ ประชาชนหรือชาวบ้านทั่วไปไม่เชื่อฟังคำพูด รวมทั้งคำแนะนำของรัฐบาล ซึ่งมักจะมีลักษณะของการสั่งการให้ประชาชนปฏิบัติตาม ไม่ได้เป็นไปในแนวทางของการขอความร่วมมือ ลักษณะดังกล่าวนี้แตกต่างจากบทเพลงลูกทุ่งและกลอนลำของศิลปินและหมอลำอีสานที่เนื้อหาหรือกลอนลำไม่ได้เน้นสั่งสอนหรือบังคับให้ปฏิบัติตาม แต่เป็นการบอกกล่าวเล่าความ รวมถึงขอความร่วมมือจากทุกคนให้ร่วมกันดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดนี้ 

image_pdfimage_print