ภาพหน้าปกจาก istock.com/suriyasilsaksom

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้กลุ่มสื่อมวลชนอีสานออกแถลงการณ์เรื่องการทำหน้าที่สื่อมวลชนในสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ระบาด โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งดปกปิดข้อมูลและห้ามลิดรอนสิทธิสื่อ

แถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งทางกลุ่มสื่อมวลชนอีสานมีข้อห่วงกังวล โดยเฉพาะข้อ 6 เรื่อง การเสนอข่าวที่ระบุว่า

“ห้ามการนำเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

รวมทั้งให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นศูนย์กลางจัดให้มีการแถลงข่าวหรือชี้แจงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นประจำและต่อเนื่อง ในกรณีจำเป็น จะขอความร่วมมือจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจด้วยก็ได้” ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ที่คัดมาจากข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า กลุ่มสื่อมวลชนอีสานเข้าใจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความยากลำบากต่อการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี แต่ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ทางกลุ่มฯ จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ลิดรอนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์การระบาดและเตรียมรับมือ ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน ทางกลุ่มฯ จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

“ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีงดใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งนี้เพื่อให้สื่อได้ทำหน้าที่เสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” แถลงการณ์การระบุและว่า “2. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลที่ครบถ้วน โดยปราศจากการปิดบัง และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามแทนประชาชนจนสิ้นสงสัย เพื่อลดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน” 

นอกจากนี้ กลุ่มสื่อมวลชนอีสานยังขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องงดใช้อำนาจทางกฎหมายข่มขู่หรือคุกคามสื่อมวลชนและประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยสุจริต หรือนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นไป และมีข้อกำหนด 16 ข้อที่ใช้บังคับ เพื่อเป็นมาตรการลดการแพร่เชื้อโควิด-19 

image_pdfimage_print