ไมค์ เอกเคล เป็นนักศึกษาฝึกงานและช่างภาพของเดอะอีสานเรคคอร์ ที่ตามติดหมอลำคณะระเบียบ วาทะศิลป์ด้วยความตระการตา ขณะไปแสดงที่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น และร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเรื่องราวและผลงานของ ไพบูลย์ จันทะคะมุด ผู้จัดหาเครื่องแต่งกายให้กับหมอลำคณะนี้ 

เรื่องและภาพโดย ไมค์ เอกเคล นักเขียนรับเชิญ 

นักร้องและแดนเซอร์ต่างรีบเร่งสวมเครื่องแต่งกายชิ้นสุดท้ายของพวกเขา ในจังหวะที่เสียงเบสและเสียงแตรที่เป็นการกล่าวต้อนรับในค่ำคืนนั้นก็ดังขึ้นอย่างช้า ๆ นักแสดงกว่า 290 ชีวิตที่ประดับตกแต่งด้วยขนนกและเสื้อผ้าหลากสีระยิบระยับ ต่างเฝ้ารออยู่ด้านหลังเวที พวกเขาคือนักแสดงของหมอลำคณะระเบียบ วาทะศิลป์

การแสดงที่ขอนแก่นกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ถือเป็นการแสดงครั้งสุดท้าย หลังจากที่แสดงมาแล้วกว่า 200 ครั้งในฤดูกาลนี้ ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึง 6 โมงเช้า นักแสดงจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายหลายครั้ง ซึ่งแตกต่างไปตามเนื้อเพลง สไตล์ดนตรีหรือเนื้อหาของนิทานพื้นบ้าน

ในขณะที่นักแสดงเดินขึ้นลงเวที ไพบูลย์ หัวหน้าทีมคอสตูม จะเป็นผู้คอยดูแลให้เครื่องแต่งกายทุกชุดพร้อมต่อแสดงตลอดคืน

นักแสดงเกือบ 300 ชีวิต ไพบูลย์และทีมงานอีกเพียง 3 ชีวิต เป็นผู้ผลิตและดูแลเสื้อผ้าในการแสดงให้ทุกชุด 

การแสดงในแต่ละปี ไพบูลย์และทีมงาน รวมถึงคณะนักแสดงจะเดินทางไปทั่วทุกภาคของไทย บางครั้งก็ไปประเทศกัมพูชาเพื่อแสดงหมอลำและลูกทุ่งผสมผสานกับลิเก รวมถึงเพลงยอดฮิตจากต่างประเทศและเพลงจากภาคอื่นๆ 

“ระเบียบ วาทะศิลป์ เป็นหมอลำซิ่งหรืออีสานลูกทุ่งวงใหญ่มหึมา เล่นเพลงตั้งแต่ลูกทุ่งยุคเก่า ลูกทุ่งอีสาน ไปจนถึงหมอลำซิ่งและอีสานอินดี้” นักมานุษยดนตรีวิทยาชาวออสเตรเลีย เจมส์ มิทเชลล์ อธิบายให้ฟังทางอีเมล 

สิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นในการแสดง มีตั้งแต่การตีความนิทานพื้นบ้านอย่างโลดแล่นอลังการ ไปจนถึงแดนเซอร์ในชุดรัดรึงขยับสะโพกไปกับเพลงป๊อปใหม่ล่าสุดที่นักร้องขับขาน 

การแสดงมีผู้ชมหลากหลาย ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ๆ มักนั่งบนดูบนเสื่อที่ปูบนพื้นแบบได้ทั้งคืน ส่วนพื้นที่ด้านข้างเวทีก็มักมีกลุ่มวัยรุ่นออกท่าเต้นกันอย่างเมามัน

ในขณะที่ผู้ชมตื่นตาไปกับการแสดง ไพบูลย์และทีมงานก็ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยอยู่หลังเวทีตลอดคืน เพื่อจัดเตรียมเสื้อผ้าสำหรับการแสดงและซ่อมแซมเครื่องแต่งกายที่ชำรุดด้วยจักรเย็บผ้ารุ่นเก่า

ไพบูลย์เร่งมือเย็บเสื้อของแดนเซอร์ด้วยจักรเย็บผ้าที่ใช้มานาน โดยรถบรรทุกถูกดัดแปลงให้เป็นห้องทำงานเคลื่อนที่ของไพบูลย์ที่มีจักรเย็บผ้าหนึ่งตัวและอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซมเสื้อผ้า เมื่อคณะฯ ต้องเดินทางไปแสดงยังที่ต่าง ๆ 

ไพบูลย์เกิดและเติบโตที่จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนที่ตามพี่สาวไปทำงานที่ภูเก็ตเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ระหว่างนั้นเขาได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดและได้ไปดูการแสดงหมอลำ ซึ่งทำให้เขาตกหลุมรักศิลปะแขนงนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ไพบูลย์ตัดสินใจลาออกจากงานที่ภาคใต้ และมาสมัครทำงานกับคณะหมอลำระเบียบ วาทะศิลป์ แต่เขาไม่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายมาก่อน งานแรกที่ได้ทำคือเป็นแดนเซอร์ เขาเป็นแดนเซอร์อยู่กว่า 5 ปี ตะลอนทัวร์ไปทั่วประเทศกับหมอลำคณะนี้ ก่อนจะค้นพบว่า เสียงเรียกร้องอยู่หลังจักรเย็บผ้านั่นเอง

“เวลามองย้อนกลับไปตอนที่ตัวเองเป็นแดนเซอร์ก็รู้สึกว่าตัวเองเหมือนเด็ก” เขาบอกและว่า “เราเริ่มรู้สึกว่าอยากจะอยู่เบื้องหลังมากขึ้นเรื่อยๆ”  

ช่วงที่เป็นแดนเซอร์ในวง ไพบูลย์เริ่มสนิทสนมกับเหล่านักออกแบบเครื่องแต่งกายนักแสดงจึงเรียนรู้จากพวกเขา ทั้งเรื่องการใช้ผ้าแบบต่าง ๆ และการประดับเครื่องแต่งกายให้สวยงามออกมาเหมือนภาพวาด 

“เราชอบกระบวนการของมัน การทำงานกับผ้าและทุกๆ อย่าง” เขาเล่าและว่า “พี่ๆ ที่เคยทำงานด้วย เขาเห็นเราสนใจก็เลยสอนให้อย่างจริงจัง พอเขาออกจากวงไป เราก็ทำงานแทนเขาได้”

หลังจากที่มาถึงสถานที่ที่ต้องแสดง เหล่าแดนเซอร์ก็สร้าง “ห้องแต่งตัว” ชั่วคราวด้านหลังเวทีอย่างรวดเร็ว คุณภาพของห้องแต่งตัวและสถานที่พักผ่อนหลังเวทีแตกต่างกันไปแล้วแต่สถานที่ บางวันนักแสดงก็ได้แต่งตัวในวัดหรือในโกดัง บางครั้งต้องตั้งเต็นท์บนดิน แต่วันนี้นักแสดงได้ห้องแต่งตัวเป็นชั้นแรกของตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จ

ค่ำคืนนี้เริ่มต้นอย่างช้า ๆ ในขณะที่นักแสดงใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงสำหรับแต่งหน้า ทำผม เมื่อการแสดงเริ่มขึ้นตอน 4 ทุ่ม พื้นที่ด้านหลังเวทีจะกลายเป็นสถานที่ที่ทุกคนต้องเปลี่ยนชุด แต่งหน้าทำผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าเวียนไปจนถึง 6 โมงเช้า

แต่ละปีคณะหมอลำระเบียบ วาทะศิลป์ จะมีงานแสดงติดต่อกันนาน 9 เดือน ทีมงานจะได้หยุดพักระหว่างการแสดงในแต่ละที่และแต่ละฉาก

สุมิตศักดิ์ พลลัม ผู้จัดการทั่วไปของคณะฯ กล่าวว่า ในแต่ละปีจำนวนครั้งที่แสดงจะแตกต่างกันไป ส่วนมากอยู่ระหว่าง 100-200 ครั้ง ซี่งปีที่แล้วระเบียบ วาทะศิลป์ มีการแสดงมากกว่า 200 ครั้ง

เครื่องแต่งกายก็ขึ้นอยู่ฤดูกาล “หน้าหนาวหรือช่วงที่เราเปิดฤดูกาลแสดง เราก็จะเต็มที่เลย คือ เครื่องแต่งกายจะใหญ่และอลังการที่สุด” ไพบูลย์กล่าว

ส่วนช่วงหน้าร้อน เครื่องแต่งกายก็จะใช้ขนนกน้อยลง เพื่อให้แดนเซอร์ไม่ร้อนจนเกินไปและจะลดลงในช่วงหน้าฝน เพื่อไม่ให้ขนนกเปียก

พบูลย์อธิบายว่า เสื้อผ้าในการแสดงทุกชุดจะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ ชุดรองด้านในสุด เครื่องประดับศีรษะ กระโปรง ส่วนหลังหรือหาง และเครื่องประดับ

เครื่องแต่งกายของการแสดงหมอลำมีความซับซ้อนมากขึ้นแตกต่างกันแต่ละยุค  ไพบูลย์กล่าวว่า “ในอดีตชุดที่ใส่แสดงจะมีเสื้อข้างในแล้วก็กางเกง แล้วก็จะเปลี่ยนสีเสื้อกับกางเกงเวลาเปลี่ยนเพลงร้อง แต่ทุกวันนี้ เรามีบอดี้สูทเต็มตัวก็เลยเปลี่ยนเสื้อผ้าทั้งชุดเลย เพราะไม่มีเสื้อกับกางเกงข้างในแล้ว”

คณะระเบียบ วาทะศิลป์ มีการแสดงหลายแบบที่ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ชม ความหลากหลายและขนาดความอลังการของการแสดง สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมมากที่สุด คือ ขนนกสีแดง ส้ม และชมพูที่แดนเซอร์ใส่ ซึ่งเป็นประเภทชุดที่ใส่มากที่สุดและใช้ในการแสดงประมาณ 6-7 เพลง

พบูลย์บอกอีกว่า ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากการแสดงของคาบาเรต์ ซึ่งเขาจะนำธีมและการออกแบบบางอย่างมาจากคาบาเรต์ แล้วนำมาปรับให้เข้ากับสไตล์ของระเบียบ วาทะศิลป์

“เราต้องดูว่าอะไรเหมาะสมกับเพลงและนักแสดง” ไพบูลย์กล่าว “ถ้าเสื้อผ้ามันเป็นเหมือนการแสดงโชว์มากไป มันจะใหญ่ไปและดูเทอะทะ แต่ถ้าเสื้อผ้าน้อย มันก็ไม่เหมาะกับเนื้อหาของเพลง”

การทำเสื้อผ้าตามแบบคาบาเรต์เป็นสิ่งที่กินเวลาและพลังงานของไพบูลย์และทีมงานเป็นอย่างมาก ก่อนการแสดงจะเริ่มในแต่ละครั้ง พวกเขาต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพื่อปักขนนกลงบนเครื่องประดับศรีษะและส่วนหางของชุดที่จะใช้ในการแสดง

เราต้องเอาขนนกออก เก็บและเปลี่ยนขนนกทุกวัน สิ่งที่เหลืออยู่คือตัวชุด” ไพบูลย์กล่าวและว่า “เครื่องแต่งกายจะโดนน้ำไม่ได้ ถ้าเปียกน้ำต้องตากให้แห้งทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้น”

นับตั้งแต่คณะระเบียบ วาทะศิลป์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2500 เสื้อผ้าของคณะก็มีความเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายมากขึ้น

“พูดง่าย ๆ คือ ชุดการแสดงหมอลำดั้งเดิมทำมาจากชุดธรรมดาแบบพื้นบ้าน”ไพบูลย์เล่าพร้อมกล่าวอีกว่า “แต่ทุกวันนี้สไตล์มันก็แรงขึ้น มีอะไรใหม่ๆ ขึ้น แตกต่างจากหมอลำแบบดั้งเดิมเยอะมาก” 

การเปลี่ยนแปลงโดยรวมๆ ของเครื่องแต่งกายในยุคถัดมา คือ การใส่กระจกและเครื่องประดับปลอมเข้าไป “แต่ก่อนนักแสดงจะใส่อะไรก็ได้ แบบพื้นบ้านก็จะใส่ผ้าถุงทั้งชายและหญิง จะเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าพื้นบ้านก็ได้”ไพบูลย์เล่าและว่า “แต่จะไม่มีการประดับตกแต่งด้วยหินสวย ๆ หรือเครื่องประดับ” 

การเปลี่ยนแปลงของเครื่องแต่งกายได้รับอิทธิพลมาจากการผสมผสานของสไตล์ดนตรีหลายรูปแบบในการแสดงหมอลำ

“ก็เหมือนกับทุกอย่างในยุคนี้ที่สไตล์มันก็มีความทันสมัยขึ้น การออกแบบก็ได้รับการแก้ไขให้เป็นสากลขึ้น”ไพบูลย์ บอก 

“การปรับปรุงรูปแบบได้อิทธิพลมาจากอินเทอร์เน็ต แล้วก็การแลกเปลี่ยนความคิดกันทางออนไลน์ และลิเก มันก็เหมือนเอาสไตล์ของลิเกมาเพื่อให้ดูเซ็กซี่ ดูระยิบระยับ มีประกาย ดูสวย”

นักมานุษยดนตรีวิทยา เจมส์ มิทเชลล์ กล่าวว่า การแสดงหลายชุดของ ระเบียบ วาทะศิลป์ ดัดแปลงมาจากการแสดงลำหมู่ในช่วงทศวรรษ 1960 (ปี พ.ศ.2503) และการแสดงลูกทุ่งอีสานในทศวรรษ 1970 (ปี พ.ศ.2513) ที่การแสดงหมอลำมีความคล้ายคลึงกับลิเก ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านของไทย

ลิเกมีเครื่องแต่งกายที่อลังการ ซึ่งนักแสดงทั้งหญิงและชายต้องแต่งหน้าจัด ด้วยการเขียนขอบตาดำและทาปากสีแดง

เครื่องประดับศีรษะมักมีความอลังการหลากหลายสีสันและระยิบระยับ รวมถึงเครื่องประดับปลอมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเสื้อผ้าของการแสดงลิเก

ลิเกชายใส่กางเกงครึ่งท่อนสีสันสดใส หรือชุดที่มีเครื่องประดับระยิบระยับ พร้อมกำไลข้อมือและเครื่องประดับศีรษะแบบทรงสูง โดยลิเกมักนำเนื้อเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้านหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้วนำมาผสมกับมุกตลก

คณะระเบียบ วาทะศิลป์ เปิดการแสดงทั่วทุกภาคของประเทศไทย การแสดงจึงถูกปรับให้เข้ากับผู้ชมในแต่ละภาค แต่ก็ยังผสมผสานความเป็นอีสาน ในภาคใต้การแสดงมักมีการร้องเพลงลูกทุ่งของภาคใต้ ซึ่งหลายครั้งมีความเป็นอินเดียหรืออาหรับผสม แต่ก็ยังมีความเป็นเพลงพื้นบ้านทางภาคใต้อยู่ นักมานุษยดนตรีวิทยา เจมส์ มิทเชลล์กล่าว

การแสดงและเสื้อผ้าของ ระเบียบ วาทะศิลป์ ขึ้นอยู่กับสิ่งผู้ว่าจ้างแสดงขอมา การแสดงมักแตกต่างกันไป โดยทุกปีจะไปแสดงทั่วทุกภาคของประเทศ และบางครั้งก็ไปแสดงถึงประเทศกัมพูชา หรือบางครั้งก็ไปแสดงให้ผู้ชมชาวจีนและชาวตะวันตกดู  

ไพบูลย์กล่าวว่า หากชาวต่างชาติเป็นผู้ว่าจ้างหรือต้องแสดงให้ชาวต่างชาติดู พวกเขาจะเริ่มการแสดงด้วยการร้องเพลง I will survive ของ Gloria Gaynor ซึ่งเป็นเพลงที่มักขาดไม่ได้ในการแสดงหมอลำมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว

ถึงแม้ว่าคณะจะปรับการแสดงให้เข้ากับรสนิยมอันหลากหลายของผู้ชม ซึ่งการแสดงก็มักจะมีส่วนประกอบของวัฒนธรรมอีสาน แม้ว่าจะแสดงในภาคอื่นของไทยก็ตาม

“เห็นได้ชัดว่าปรัชญาเบื้องหลังคือต้องการเผยแพร่รูปแบบของวัฒนธรรมอีสานในอดีตให้แก่ผู้ฟังได้รู้” มิทเชลล์กล่าวถึงการแสดงของคณะฯ

แม้ว่า ระเบียบ วาทะศิลป์ จะมีชุดแบบดั้งเดิมมากมายในการแสดง แต่ก็มีการผสมผสานชุดแบบตะวันตกเข้าไป เพื่อให้เข้ากับรสนิยมของผู้ฟังที่หลากหลาย

ไพบูลย์ กล่าวว่า เรามีเครื่องแต่งกายที่หลากหลาย แต่เรามักจะเน้นสิ่งที่เป็นที่นิยมของปัจจุบันหรือสิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเพลงหมอลำ

ดารานำของคณะระเบียบ วาทะศิลป์ หรือที่เรียกว่า พระเอกและนางเอก หรือ พระ นาง เครื่องแต่งกายจะได้รับการออกแบบให้ผู้ชมแยกออกระหว่างพระ นาง กับแดนเซอร์บนเวที “เราไม่อยากให้เขาดูอ่อนโยนไป ดูเซ็กซี่หรือดูหยิ่งไป พวกเขาต้องดูไม่เหมือนตัวร้ายหรือตัวละครอื่น​” ไพบูลย์กล่าว

นางเอกและพระเอกสามารถบอกได้ว่า ต้องการชุดในการแสดงแบบไหน ซึ่งไม่เหมือนแดนเซอร์ที่ไพบูลย์และทีมงานต้องให้พระเอกและนางเอกมีส่วนตัดสินใจในการออกแบบชุดด้วย

ชฎาชิ้นนี้ถูกออกแบบขึ้นตามความเชื่อของชาวลาวในเรื่องพญานาค ที่เป็นสัตว์มีชีวิตมีลำตัวคล้ายงู ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงกราบไหว้บูชา ไพบูลย์บอกว่า พวกเขาพยายามออกแบบให้ใกล้เคียงกับยุคเก่าที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  

การออกแบบชฎาและเครื่องประดับศีรษะนี้ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของไพบูลย์และทีมงาน คณะฯ จะมีทีมงานต่างหากอีก 5-6 คนที่สร้างเครื่องประดับศีรษะนี้ขึ้นด้วยกระดาษทอง โดยนำเทคนิการแปะกระดาษและเครื่องประดับปลอมมาใช้ 

เมื่อเข้าฤดูกาลใหม่ คณะระเบียบ วาทะศิลป์ จะไม่ใช้เพลงเก่า และจะเลือกเพลงใหม่ทั้งหมด สำหรับไพบูลย์และลูกน้อง นั่นหมายความว่าเครื่องแต่งกายก็ต้องแก้ไข ทิ้ง หรือทำใหม่หมด 

“เราซื้อผ้าจากกรุงเทพ​ฯ จากหลายเจ้า ซึ่งเราต้องทำ เพราะคอสตูมมีหลายแบบ แต่เราซื้อทีละเยอะๆ บางทีซื้อผ้าครั้งนึงปาไป 3-5 แสนบาทเลยทีเดียว”

กระบวนการออกแบบของคอสตูม เริ่มจากผู้ออกแบบท่าเต้นและครูเพลงของคณะที่เป็นคนคิดเรื่องเสื้อผ้า ก่อนจะเริ่มแสดงในแต่ละปี ไพบูลย์จะได้ภาพสเกตการออกแบบของเสื้อผ้าแต่ละสไตล์มา 

ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องวางแผนการออกแบบและงบประมาณแล้วนำเสนอต่อผู้จัดการ ไพบูลย์และทีมงาน รวมไปถึงผู้จัดการ ทีมผู้ออกแบบท่าเต้นและครูเพลงจะสรุปแผนงานสำหรับการเตรียมเครื่องแต่งกายสำหรับฤดูการแสดงถัดไปด้วยกัน

สำหรับผู้ชม กระบวนการที่เกิดขึ้นทุกปี ทำให้ทุกคนมั่นใจว่าเสื้อผ้า เพลง และแดนเซอร์ จะไม่เหมือนกันเลยในแต่ละปี

ไพบูลย์แต่งตัวด้วยชุดการแสดงที่สำนักงานของ คณะระเบียบ วาทะศิลป์ในจังหวัดขอนแก่น ที่นักแสดงและทีมงานมารวมตัวกันเพื่อฉลองความสำเร็จ หลังเสร็จสิ้นฤดูการแสดงเมื่อปีที่แล้ว

อ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่นี่ The Soul of Molam (9) – Meet the costume creators behind the marvelous molam show of Rabiab Watasin

image_pdfimage_print