ยศพนธ์  เกิดวิบูลย์ เรื่อง

หากจะพูดถึงวงดนตรีหมอลำอีสานสมัยใหม่ที่เคยชื่อเสียงดังกระฉ่อนไปทั่วประเทศและทั่วโลก ชื่อเสียงของ “โปงลางสะออน” คงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ไม่ใช่เฉพาะกับคนอีสาน แต่เป็นคนไทยทั้งประเทศ 

หากย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว วงดนตรีที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาสาขานาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้สร้างประวัติศาสตร์การแสดงหมอลำพื้นบ้านอีสาน 

จากเดิมที่มักอยู่ตามงานบุญ งานวัดงานวาในหมู่บ้าน แต่หมอลำอีสานของคนรุ่นใหม่คณะนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีใครคาดคิด โดยเคยไปแสดงที่หอประชุมขนาดใหญที่กรุงเทพฯ อย่างอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และมีคนดูเต็มทุกเก้าอี้  

โปงลางสะออนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นคือ การนำรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์อีสาน ประกอบเข้ากับดนตรีพื้นบ้านประยุกต์กับเครื่องดนตรีสากล แล้วแสดงสดได้อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา

ทวิทย์ สิทธิ์ทองสี อดีตสมาชิกวงโปงลางสะออน หรือ ที่สมาชิกในวงเรียกเขาว่า “เน่า โปงลางสะออน” ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

ซีรีส์หมอลำชุด ลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ (10) พูดคุยกับ ทวิทย์ สิทธิ์ทองสี อดีตสมาชิกวงโปงลางสะออน เรียกว่า “เน่า โปงลางสะออน” ถึงสถานะของวงฯ ในปัจจุบัน พร้อมทั้งพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของวง รวมถึงจุดเด่นของวงโปงลางสะออนที่ทำให้มีคนกล่าวขานว่า เป็นวงดนตรีหมอลำอีสานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงการแสดงสดบนเวทีหมอลำไปตลอดกาล

ถามตรงๆ ตกลงโปงลางสะออนวงแตกจริงหรือไม่?

โปงลางสะออนไม่ได้วงแตก ถ้าวงแตกก็วงแตกเพราะผมนี่แหละ (หัวเราะ) เพราะผมไปจีบแดนเซอร์หลังเวทีจนปัจจุบันก็แต่งงานกันแล้ว (หัวเราะ) 

ไม่ใช่หรอก จริงๆ แล้ววงไม่ได้แตก แต่สมาชิกทุกคนต่างแยกทางกันไปทำมาหากินของใครของมันเฉยๆ เพราะพวกเราเดินสายทำอาชีพนักร้อง นักแสดงหมอลำมาหลายปี ตั้งแต่เด็กอายุ 16 – 17 ปี จนอายุ 25 – 30 ปี จะว่าไปแล้วก็ตั้งแต่เด็กจนโต เราเลยคุยกันว่าถึงเวลาที่ต้องแยกย้าย เพราะบางคนในวงก็ไม่ได้อยากทำงานนี้ตลอดชีวิต 

ถ้าใครอยากทำงานอาชีพนี้ต่อ ก็ไปต่อ ใครอยากทำงานอื่นก็แยกย้ายกันไปทำ อย่างผมก็ออกมาเป็นครู สอนดนตรีพื้นบ้านในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคอีสาน แต่ทำได้ไม่นานก็ลาออก เพราะอยากพัฒนาตัวเอง จึงไปเรียนปริญญาต่อปริญญาโทด้านวัฒนธรรมที่ ม.ขอนแก่น ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านวัฒนธรรมที่ ม.ขอนแก่นเหมือนกัน เพราะมีเป้าหมายที่ต้องการทำงานวิชาการด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน

สมาชิกโปงลางสะออนถ่ายภาพร่วมกันก่อนรับประทานอาหาร หลังจากการแสดงเสร็จ ภาพจาก ทวิทย์ สิทธิ์ทองสี

ตอนนี้ยังมีวงโปงลางสะออนอยู่ไหม 

มีครับ วงโปงลางสะออนก็ยังอยู่ งานหลักก็เป็นนักดนตรีให้หลายรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ นอกจากนั้นก็เดินสายแสดงสดที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง แจ้งวัฒนะ เล่นทุกคืนวันพุธและวันอาทิตย์ 

เมื่อครั้งที่โด่งดัง มีชื่อเสียง ดังแค่ไหน 

ถ้าพูดถึงความดังของโปงลางสะออน ให้คิดดูเล่นๆ เดือนหนึ่งมี 31 วันใช่ไหม โปงลางสะออนรับงาน 45 งาน ลองคิดดูว่า งานแสดงมีเยอะขนาดไหน (หัวเราะ) บางวันต้องเล่นถึง 2 หรือ 3 ครั้ง 

ความโด่งดังดัง มันดังมากๆ จนทำให้พวกเราต้องกิน นอน แต่งตัวในรถตู้ ตอนนั้นรถตู้เปรียบเสมือนบ้านของพวกเราไปเลย เพราะต้องเดินสายไปแสดงทั่วประเทศ ระหว่างเดินสายแสดงทั่วประเทศ เช่น เล่นเสร็จที่กาฬสินธุ์ในอีสานต้องเดินทางต่อเพื่อไปเล่นที่สุโขทัยที่ภาคกลาง เสร็จจากสุโขทัยก็ต้องเดินทางไปจังหวัดตรังภาคใต้ 

“สำหรับผม ช่วงนั้นมันเป็นช่วงโด่งดังสูงสุดของโปงลางสะออนแล้ว มันสุดยอดของความสุดยอด”

ภาพปกซีดีบันทึกการแสดงสดของวงโปงลางสะออนที่แสดงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552 
ภาพจาก coverdvdponglang

ทราบว่าได้ไปเล่นที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักดนตรีดังๆ จากหลายประเทศก็เคยมาแสดงที่นั่น  

ใช่ครับ พวกเราได้มีไปแสดงที่อิมแพ็ค อารีน่า โดยมีผู้สนับสนุนเรา เราได้นำความเป็นพื้นบ้านอีสานไปแสดงให้คนทั้งประเทศและชาวต่างชาติได้เห็น การได้ไปเล่นที่อิมแพ็คฯ มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงเราเลย เพราะหลังจากนั้น วงก็เป็นที่รู้จัก จนทำให้เกิดเรื่องแปลกขึ้นในช่วงนั้นคือ มีคนจ้างโปงลางสะออนไปแสดงในผับกรุงเทพฯ ให้นักท่องเที่ยวกลางคืนได้เต้นสนุกสนานกับดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน 

ส่วนใหญ่ในผับจะเปิดเพลงสตริง เพลงสากล ผมจำได้ ผมแปลกใจมากจึงถามหัวหน้าว่า จะไปเล่นหมอลำในผับได้อย่างไร หัวหน้าวงก็บอกว่า แค่ปรับการแสดงและนำเครื่องดนตรีพื้นบ้านประยุกต์ร่วมกับเครื่องดนตรีสากล ปรับคีย์เครื่องดนตรีพื้นบ้านให้เข้ากับเครื่องดนตรีสากล แล้วก็ปรับการแสดงสดบนเวทีเพื่อให้ถูกใจคนในผับ

การแสดงสดของวงโปงลางสะออน ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เมื่อปี 2550 ชื่อชุดการแสดงว่า “อะเมซซิ่งไทยแลนด์” ภาพจากเว็บไซต์ RS

จุดเด่นของวงโปงลางสะออนคืออะไร 

ผมคิดว่า เป็นการนำเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน เพลง และทำนองเพลงพื้นบ้านลาวอีสาน มาเปลี่ยนคีย์ แล้วประยุกต์เพื่อให้เล่นกับเครื่องดนตรีสากลและทำนองเพลงสากลได้ เป็นการนำเพลงหมอลำบ้านเรา มาเรียบเรียงทำนองใหม่ มาร้องใหม่ แต่ในเพลงก็ยังคงทำนองเนื้อร้องดั้งเดิมที่มีความเป็นลาวอีสานอยู่ เพื่อให้คนฟังที่ไม่ใช่คนอีสานฟังได้ แล้วให้ชาวต่างชาติฟังได้และสนุกสนานไปด้วยกัน 

การไปแสดงแต่ละภาค ล้วนมีผู้ฟังแตกต่างกันไป บางคนก็ไม่เคยฟังมาหมอลำมาก่อน ต้องมีการปรับตัวและปรับการแสดงอย่างไร 

การปรับตัวให้เข้ากับผู้ฟังแต่ละภูมิภาคเป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่คนฟังต่างอายุ อย่างคนแก่ เด็ก วัยรุ่น การแสดงก็แตกต่าง เพื่อให้ผู้ชมผู้ฟังสนุกไปกับดนตรีที่เราบรรเลงและการแสดง ขณะเดียวกันเราก็ต้องปรับความเป็นหมอลำดั้งเดิมมาผสมผสานความเป็นพื้นบ้านของแต่ละภูมิภาคด้วย 

จุดเด่นอีกอย่างคือ มีการแสดงตลก ล้อเลียนโฆษณาด้วย การแสดงของเราแต่ละครั้งจะต้องปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่น และขยายเวลาแสดงตามความเหมาะสม

ทวิทย์ สิทธิ์ทองสี (คนที่ 3 นับจากซ้าย) ขณะกำลังเป่าโหวดเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานให้ อิ๊ด โปงลางสะออน หัวหน้าวงฯ ฟังระหว่างการแสดง ภาพจาก ทวิทย์ สิทธิ์ทองสี

คิดว่าความโด่งดังของโปงลางสะออนในอดีต ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์วงการหมอลำอีสานยุคใหม่ไหม

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 – 15 ปีที่แล้ว ก็ต้องบอกว่า “ใช่”  โปงลางสะออนถือเป็นจุดเปลี่ยนของการแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสานหรือดนตรีหมอลำเลย ทั้งการแสดง การนำดนตรีพื้นบ้าน และมีการบันทึกเทปการแสดงสด นอกจากบันทึกเทปแล้วเรายังมีการนำเทปไปเผยแพร่บนอินเตอร์เน็ตอีก สื่อออนไลน์ในยุคแรกๆ ทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงการแสดงของเรา 

ทำไมต้องเปลี่ยนรูปแบบหมอลำให้ร่วมสมัย ไม่อยากรักษาแบบเก่าไว้เหรอ

เราอยากนำเสนอความเป็นพื้นบ้านอีสาน ทำนองเพลง ดนตรีพื้นบ้านอีสานสู่สายตาชาวโลก ให้ชาวต่างชาติเห็นว่า โอ้โห ดนตรีพื้นบ้านอีสานทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ  

รู้สึกอายไหม เมื่อนำความเป็นไทบ้านไปเล่นให้คนกรุงเทพฯ ที่เคยดูถูกคนอีสานว่า บ้านนอกได้ดู 

ไม่อายครับ เราอยากผลักดันความเป็นลาวที่คนบางกลุ่ม บางภาคมักดูถูกว่า ไอ้ลาว บักลาว ไอ้บ้านนอก เราอยากพัฒนาความเป็นบ้านนอกที่มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ให้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก 

“พวกเราอยากทำให้เห็นว่า ศิลปะพื้นบ้านอีสานมีดีกว่าที่พวกคุณคิดนะ ความเป็นหมอลำ ตอนนั้นเราคิดว่า ความเป็นพื้นบ้านมันจะไม่ทำให้วงการดนตรีในอีสาน วงการดนตรีในไทยเปลี่ยนแปลงไปเลยเหรอ” 

“โปงลางสะออนทำวงขึ้นมาเพื่อนำเสนอความเป็นพื้นบ้านอีสาน เพื่อให้ชาวโลกได้เห็นว่า โอ้โห ดนตรีพื้นบ้านอีสานทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ” เน่า โปงลางสะออน ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ 

ตอนนี้เห็นแววนักดนตรี วงดนตรีหมอลำพื้นบ้านใหม่ ที่คล้ายกับวงโปงลางสะออนในอดีตไหม

ทุกวันนี้ วงดนตรี ศิลปินหมอลำมีแววหลายวง เพราะพวกเขาตั้งใจนำเสนอความเป็นหมอลำในแบบของเขาคือ ไม่เหมือนเดิม มีการผสมผสานดนตรีหลายแนวมาใช้ในการแสดง อีกทั้งยุคนี้มีสื่อออนไลน์ที่เป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานของหมอลำ ศิลปิน ทำให้วงดนตรีสามารถนำดนตรีและเพลงที่ตัวเองแต่งขึ้นมา แล้วโพสต์ลงบนสื่อออนไลน์ หรือถ่ายทอดสดผ่านในเฟซบุ๊ก 

บางคน บางวง เปิดตัวบนโลกออนไลน์ ไม่นานก็โด่งดัง เพราะเนื้อเพลงทุกวันนี้ก็พูดถึงวิถีชีวิตคนอีสานสมัยใหม่ แต่เพลงเนื้อเพลงก็ยังคงวิถีชีวิตเดิม ยังคงเป็นวิถีชีวิตอีสานมีไร่นา มีฮวก (ลูกอ๊อด) ศิลปินอีสานก็แต่งขึ้นมาหรือมีการนำคำพูดแบบอีสานไทบ้าน โซงโลงเซงเลง มะริ่งกิ่งก่องมาใส่ในเนื้อเพลง แล้วใส่กับดนตรีสมัยใหม่ นำมาผสมกัน มันจึงเกิดเป็นดนตรีแนวใหม่ เกิดเป็นแนวเพลงแบบแร๊พอีสาน มีแนวเพลงอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นหมอลำพื้นบ้าน 

หมอลำแบบเก่าผสมกับหมอลำแนวใหม่ เพลงหมอลำอีสานจะอยู่รอดไหม

ผมคิดว่า การนำเสนอของศิลปินที่เป็นตัวของตัวเองมันดี แต่ต้องคำนึงถึงคำสอนของครูเพลงอีสานแบบเก่า แม้อาจไม่เห็นด้วยกับเนื้อเพลงและทำนองเพลงที่ไม่เหมาะสมหรือที่พูดตรงเกินไป ซึ่งผมคิดว่าอยากให้นำความเป็นหมอลำเก่า ยกบทกลอนเก่าๆ มาผสมกับยุคใหม่ แล้วนำความเป็นหมอลำเก่ามาใส่กับสำเนียงและทำนองเพลงใหม่ โดยเอาของเก่ามารวมกับของใหม่ ครึ่งต่อครึ่งวงการเพลงอีสานถึงจะไปรอด

image_pdfimage_print