ภาณุพงศ์ ธงศรี เรื่อง 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทำให้หลายคนต่างเตรียมตัวและป้องกันตัว เพื่อไม่ให้ใกล้ชิดกันด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ซึ่งเป็นมาตรการที่สาธารณสุขและรัฐเป็นผู้ออกกฎ 

“บุญซำฮะบ้าน” บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เผยแพร่เมื่อ กรกฎาคม 2561 ภาพถ่ายโดย ชลธิชา แถวบุญตา จาก ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย.

ส่วนผม ต้องการมองมิติเชิงสังคมวิทยาผ่านประเพณีเพื่อทำความเข้าใจมากกว่า เหยียดหยันเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่มีนัยทางพิธีกรรม ที่ใช้ในการต้านโรคระบาดของชุมชนชนบทภาคอีสานผ่านฮีตสิบสองคองสิบสี่ โดยในพิธีกรรมของชาวอีสานที่สำคัญ มี 5 พิธีกรรม ประกอบด้วย บุญซำฮะ การแต่งเสียเคราะห์ บุญเบิกบ้าน สูดอุบาทว์ แตกบ้าน บทความนี้ผมอยากชวนมาพิจารณารายละเอียดของ “บุญเบิกบ้าน หรือบุญซำฮะ (บุญเดือนเจ็ด)” ดังจะกล่าวต่อไปนี้ครับ

“หลักบ้าน” บ้านหนองยอ ตำบลจิกดู่ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มิถุยน 2561 ภาพจากเว็บไซต์สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลจิกดู่

บุญเบิกบ้านหรือบุญซำฮะ (บุญเดือนเจ็ด) เป็นประเพณีในฮีตสิบสองคองสิบสี่ โดยชาวบ้านจะรวมกันในแต่ละคุ้ม โยงสายสิญจน์จากแต่ละคุ้มไปยังบริเวณปะรำพิธี แล้วนิมนต์พระให้มาสวดเจริญพระพุทธมนต์หรือ “ตั้งมุงคุน” แล้วชาวบ้านจะมีขันน้ำมนต์ และไม้ตีนกาคาบปากขันน้ำมนต์ทุกขัน โดยพระสงฆ์จะสวดเจริญพระพุทธมนต์จนครบทุกคุ้ม

เมื่อถึงวันงานของชุมชน โดยปกติจะประกอบพิธีบริเวณศาลากลางบ้าน และทำ “ทงหน้างัว” (น่าจะมาจากลักษณะที่เป็นสามเหลี่ยมคล้ายหน้าของวัว เลยเป็นที่มาของชื่อเรียก) นำมาประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ในทงหน้างัวจะมีข้าวดำ ข้าวแดง หมาก พลู และข้าวปลาอาหาร วางเรียงบริเวณ “หลักบ้าน” หรือ “บือบ้าน”

พอประกอบพิธีสงฆ์เสร็จก็จะเป็นพิธีกรรมแบบพราหมณ์ของอีสาน โดยจะใช้มนต์คาถาแบบโบราณที่เรียกว่า “การกันบ้าน” ส่งใส่ทงหน้างัว ข้าวสาร และหิน ในส่วนของทงหน้างัว เมื่อเสร็จพิธีก็จะนำไป “โผด” (ทิ้ง) ในป่า ส่วนข้าวสารและหินจะนำกลับบ้านเพื่อบูชา

ลักษณะของ “ทงหน้างัว” บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เผยแพร่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ภาพถ่ายโดย ชลธิชา แถวบุญตา ภาพจาก ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย

ถ้ามองในมิติ “พิธีกรรม ความเชื่อ ศาสนา ผี” ผมจะไม่ขอกล่าวถึง เพราะมีผู้ตีความพิธีกรรมนี้ไว้มาก และเขียนไว้เยอะแล้ว แต่ผมจะชวนมอง “การเปลี่ยนแปลงจากภายใน (endogenous changes) ที่ก่อให้เกิดพิธีกรรมนี้” โดยมีแง่คิดในเรื่องของชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งปกติแล้วการทำนาจะเริ่มเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี เพราะภาคอีสานมีความแห้งแล้ง หากปีนั้นน้ำแล้ง เชื้อโรคจะเพาะตัวได้ง่าย เช่น อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง เป็นต้น

ถือเป็นการเชื่อมโยงมาจาก “พิธีกรรมแตกบ้าน” ที่มีความเชื่อเชื่อมโยงมาถึงการเกิดโรคระบาด โดยวันขึ้นหรือแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร หรือ ขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร ในความเชื่อว่า เป็น “มื้อฮ้อน มื้อฮน มื้อคนตกยาก มื้อปากบ่ออก” ในทางโหราศาสตร์อีสานโบราณก็เชื่อว่าวันนี้เป็น “วันแข็ง” จะเห็นว่าความไม่ดีมีความข้องเกี่ยวกับความร้อน เพราะ “อากาศร้อนก่อให้เกิดโรคระบาด ข้าวปลาอาหารเสียหาย”

พิธีบุญเบิกบ้าน (ช่วงเช้า) ณ บ้านท่าสี ตำบลแสงสว่าง อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ภาพจากเว็บไซด์ กระทรวงวัฒนธรรม

ด้วยเหตุนี้ “บุญเบิกบ้าน” จึงไม่ใช่เพียงพิธีกรรมกรวง ๆ ที่มีแต่ความเชื่อ แต่เป็นเรื่องของข้อตกลง “มิติชุมชน” ที่ในอดีตจะเริ่มคุยกันว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายบ้าน เพราะ “เดือนเจ็ดมาถึงต้องทำนา แต่ฝนไม่ตก ทำนาไม่ได้ ยิ่งอากาศร้อน โอกาสเกิดโรคระบาดยิ่งสูง”

เรื่องนี้มีนวนิยายเล่มสำคัญของ คำพูน บุญทวี เป็นเครื่องยืนยันว่าสังคมอีสาน หากเกิดความแห้งแล้ง จำเป็นต้องย้ายหมู่บ้าน เพื่อหาที่ดินที่เรียกว่า “เมืองดินดำน้ำซุ่ม ปลากุ่มบ้อน คือ แข้แก่งหาง” เมื่อประเพณีเกิดขึ้นก่อนการตกลงของชุมชน “พิธีกรรมเบิกบ้าน” จึงเกิดขึ้น เพื่อเบิกให้ทำนาได้ พร้อมด้วย “การซำฮะ” โรคภัยไข้เจ็บที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนในชุมชน

ผู้คนเสียชีวิตจากโรคอหิวาห์ เมื่อปี  2392 ภาพถ่ายโดย โรม บุนนาค ภาพประกอบบทความห่าลงปีระกา จากเว็บไซต์ผู้จัดการ 

หลายคนอาจบอกว่า “ผมกล่าวลอย ๆ ในเรื่องโรคระบาด” ซึ่งขอให้ผู้อ่านย้อนดูประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดในเมืองไทยและลาวก่อน ว่ามีความเชื่อมโยงกับห้วงเดือนเมษายน – มิถุนายน ตามหลักฐานที่ให้เห็นและตีความต่อได้ 

เมื่อปี 2363 รัชกาลที่ 2 เกิดไข้ป่วง ขึ้นเมื่อ 6 ค่ำ เดือน 7 เเมื่อปี 2381 รัชกาลที่ 3 แรม 1 ค่ำ เดือน 7 เมื่อปี 2403 รัชกาลที่ 4 เดือน 5 เมื่อปี 2416 รัชกาลที่ 5 เดือน 7

นี่เป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงทุกมิติของชุมชนที่ก่อให้เกิดประเพณีที่เชื่อมโยง ทั้งโรคระบาด การเกษตร ความเป็นอยู่ และความมั่นคงทางจิตใจของคนในชุมชน ด้วยเหตุนี้ ทำให้มี “ประเพณีบุญเบิกบ้าน หรือบุญซำฮะ (บุญเดือนเจ็ด)” ขึ้น 

“ลานข่วงกลางชุมชน” เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม พิธีกรรม และประชุมของชุมชน ภาพจากเว็บไซต์ isangate.com

ถ้าเปรียบเทียบกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะเห็นว่าพิธีกรรมนี้ ก็เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งที่ทำให้คนมีแนวปฏิบัติและยึดถือให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จนกลายเป็นระเบียบแบบแผนประเพณี ไม่ยุ่งยาก 

สรุป สุดท้ายจะเห็นว่า “ประเพณีบุญเบิกบ้าน หรือบุญซำฮะ (บุญเดือนเจ็ด)” ก็เป็นอีกมิติหนึ่งทางวัฒนธรรมที่มีความเชื่อ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และจิตวิทยา หลอมรวมกลายเป็นประเพณีที่คนยึดถือ มีแนวทางในการดูแลกันและกันอย่างเรียบง่าย หลอมรวมจนกลายเป็นวิถีทางวัฒนธรรมที่ช่วยให้ชุมชนผ่านพ้นวิกฤติไปได้ในแนวทางที่ทุกคนในชุมชนเห็นพ้องต้องกัน

image_pdfimage_print