กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ เรื่อง
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าสังเกตการณ์กิจกรรม “ขอนแก่นพอกันทีครั้งที่ 2” ที่ลานอเนกประสงค์ ด้านข้างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโดยนักศึกษากลุ่ม มข. พอกันที
บริเวณทางเข้ามีการแจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19
ขณะเดียวกัน บนเวที แกนนำนักศึกษาที่ปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลก็มีข้อเรียกร้องสำคัญ ได้แก่ 1. ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน 2. ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และ 3. ยุติบทบาทของวุฒิสภาตามบทเฉพาะการของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560
การณรงค์ของนักศึกษากลุ่ม #มข.พอกันที เพื่อให้คนไปร่วมชุมชนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 ที่ลานอเนกประสงค์ข้างคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น
เมื่อเทียบกับการชุมนุม #มขพอกันที เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่คาดการว่ามีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คนแล้ว การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 กลับพบว่า มีผู้ชุมนุมเข้าร่วมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแกนนำอย่างจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง
จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่า ผู้มาชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 ก็ยังเป็นกลุ่มปัญญาชนชนชั้นกลางและนักศึกษา มีส่วนน้อยที่เป็นชาวบ้านหรือชาวรากหญ้า
ผู้เขียนได้แลกเปลี่ยนกับผู้มาร่วมงานบางส่วนก็พบว่า สาเหตุที่คนไม่มาร่วมนั้นอาจเกิดจากอากาศที่ร้อนขึ้น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บางส่วนก็บอกว่า การจัดกิจกรรม มข.พอกันที ครั้งแรกถือเป็นการระบายระอารมณ์และเกาะติดกระแสการยุบพรรคอนาคตใหม่จึงทำให้มีคนเข้าร่วมมากกว่า บางคนให้เหตุผลว่า “คิดว่ามาชุมนุมก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ จากที่ไปชุมนุมรอบแรกแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น”
เสื้อแดง ปัญญาชน ความสัมพันธ์แนวดิ่ง
หากนำปรากฎการณ์นี้เทียบกับการชุมนุมเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยอย่างการชุมนุมของกลุ่ม ‘คนเสื้อแดง’ หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 ที่มีการเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่ามีการแทรกแซงทางการเมืองจนนำมาสู่การยุบพรรคพลังประชาชน แล้วจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
เว็บไซต์ 101.world ได้สัมภาษณ์ เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า แม้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นชนชั้นล่างจะถูกขับเคลื่อนด้วยแกนนำที่เป็นปัญญาชนและนักการเมือง แต่บุคคลที่สำคัญมากๆ ในเครือข่ายคนเสื้อแดงคือ ผู้จัดรายการวิทยุที่เชื่อมโยงระหว่างแกนนำปัญญาชนและชนชั้นล่าง ความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำและชาวบ้านจึงมีลักษณะแนวดิ่ง (vertical connection) มากกว่าจะเป็นแนวราบ (horizontal connection)
และหลังการรัฐประหารปี 2557 ได้มีการไล่ล่าและจับกุมคนกลุ่มจัดรายการวิทยุและแกนนำชาวบ้าน จนบางส่วนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ บางรายถูกฆาตกรรมอย่างไม่สามารถจับมือคนผิดได้ ทำให้ขบวนการเสื้อแดงขาดการเชื่อมต่อกัน รวมทั้งคำพูดของทักษิณในวาระครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์ราชประสงค์ในปี 2555 ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบของทักษิณ จนกระทั่งหลังรัฐประหารก็ไม่มีกระบวนการเยียวยาคนเสื้อแดงที่เป็นเหยื่อ จนนำไปสู่การล่มสลายของขบวนการเสื้อแดง
หากเทียบความน่าสนใจนี้กับขบวนการนักศึกษา ถือเป็นกลุ่มปัญญาชนและเป็นลูกหลานของชนชั้นกลางที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ยังเน้นการเรียกร้องเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นรากของปัญหาที่เกิดขึ้น
แม้จะมีการเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงดนตรีพื้นบ้าน โดยหมอลำแบงค์ ปฏิภาณ ลือชา และหมอแคนบัวตอง ถือเป็นความพยายามที่จะดึงมวลชนคนรากหญ้าเข้ามาร่วมอุดมกาณ์ แต่ก็ไม่เพียงพอ ทำให้การชุมนุมของนักศึกษาจำกัดอยู่แต่เพียงปัญญาชนคนชั้นกลาง โดยขาดความเชื่อมโยงไปถึงชนชั้นล่าง
อาจเป็นไปได้ว่า นักศึกษารู้สึกแปลกแยกกับชนชั้นล่างและรู้สึกว่าไม่ได้มีอุดมการณ์เดียวกัน สืบเนื่องจากเหตุการณ์การเลือกตั้งซ่อมเขต 7 จังหวัดขอนแก่นที่ สมศักดิ์ คุณเงิน ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ชนะพรรคเพื่อไทยไปกว่า 2,000 คะแนน ซึ่งสอดคล้องกับที่เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ เสนอว่า คำว่าประชาธิปไตยสำหรับกลุ่มคนเสื้อแดงมีอยู่ 2 ความหมาย ได้แก่ การกระจายอำนาจทรัพยากรให้คนเข้าถึงกันทุกๆ ที่ และอีกความหมายคือ การเรียกร้องความยุติธรรมในการตัดสินคดีความของคนเสื้อแดงซึ่งวางอยู่บนอคติ
ประชาธิปไตยสำหรับเสื้อแดงจึงเป็นเรื่องของความเท่าเทียมและการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้วางอยู่บนความโปร่งใส เพราะเสื้อแดงบางส่วนมองว่า “นักการเมืองประเทศไทยทุกคนก็คอรัปชั่นกันหมดแหละ” และ “พวกเขาสนใจว่า เขาจะได้รับการกระจายทรัพยากรและความยุติธรรมหรือไม่”
นั่นเพราะสำหรับกลุ่มคนเสื้อแดงเก่าและชนชั้นล่าง ประชาธิปไตยสำหรับเขาก็คือ การเลือกคนที่เขามั่นใจว่าจะสามารถดึงทรัพยากรเข้ามาในชุมชนได้มากกว่าจะเลือกพรรคที่ปัญญาชนมองว่า “มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ” หรือ “ชาวบ้านโง่ เลือกเพราะเงินไม่กี่บาท คอยดูเศรษฐกิจจะแย่กว่านี้อีก”
หรือนักศึกษามองว่า ชาวบ้านรากหญ้าไม่ได้เป็นพรรคพวกเดียวกับพวกเขา ไม่สามารถจะดึงเข้ามาในขบวนการหรือเชื่อมต่อกับชนชั้นล่างได้ เพราะชาวบ้านบางส่วนเลือกพรรคเพื่อไทย
สำหรับนักศึกษาบางส่วนก็มองว่า “สาเหตุที่เขาเลือกพรรคอนาคตใหม่ เพราะดูเป็นทางออกของปัญหาการเมืองที่เวียนวนอยู่กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มที่มีทักษิณเป็นเบื้องหลัง” พวกเขานิยมพรรคอนาคตใหม่ เพราะมีผู้นำที่เป็นปัญญาชนรุ่นใหม่ มีความรู้จบต่างประเทศหรือสถาบันชั้นแนวหน้าของเมืองไทยมากกว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยที่ถูกมองว่า “เป็นลิ่วล้อของทักษิณ” หรือ “เป็นพรรคของชาวบ้านและเป็นการเมืองแบบเก่า”
พรรคเพื่อไทยของชาวบ้าน สำหรับนักศึกษา เมื่อมาเทียบกันแล้วไม่ได้มีนิยาม “ความเป็นประชาธิปไตย” อย่างที่นักศึกษานิยาม โดยเฉพาะปรากฏการณ์พิจารณา พ.ร.ก.โอนกำลังพลในสภาผู้แทนราษฎรที่มีเพียงพรรคอนาคตใหม่โหวตไม่เห็นด้วย ยิ่งสร้างความร้าวฉานและแสดงถึงอุดมการณ์ของ 2 พรรคการเมืองเป็นที่ไปคนละทิศคนละทาง
นั่นทำให้การร่วมมือระหว่างนักศึกษาและชาวบ้านยังไม่มีความชัดเจน
นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นดูจะเป็นที่แรกๆ ที่พยายามเชื่อมโยงขบวนการกับชาวบ้าน ต่างจากที่อื่นๆ ที่มักพูดถึงแต่บทบาทของนักศึกษาปัญญาชนเป็นหลัก
ทว่าการเคลื่อนไหวไม่ทันไรก็ทานการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไม่ไหว ทำให้การออกมาชุมนุมต้องถูกระงับเหลือเพียงกิจกรรมชุมชนบนสื่อออนไลน์ เช่น การติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์หรือการเรียกร้องคืนค่าเทอมบางส่วนในเฟซบุ๊กเท่านั้น