ขอนแก่น – กลุ่มสื่อมวลชนอีสาน ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องให้คืนเสรีภาพต่อสื่อมวลชนในการรายงานข่าวหลังช่วงเวลาหลังเคอร์ฟิว
จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวมีข้อความระบุว่า หลังนายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และต่อมาได้ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019) หรือ โควิด-19 เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
จดหมายเปิดผนึกยังระบุอีกว่า ต่อมาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สื่อมวลชนไม่ใช่อาชีพที่ได้รับการยกเว้นให้ออกนอกเคหสถานเพื่อปฏิบัติงานในช่วงเคอร์ฟิว ถ้าพบว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการยกเว้นออกนอกเคหสถาน จะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤตของโรคระบาดและภัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรอบด้านของประชาชน” จดหมายเปิดผนึกระบุ

จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มสื่อมวลชนอีสานถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้คืนเสรีภาพต่อสื่อมวลชนในการรายงานข่าวหลังช่วงเวลาหลังเคอร์ฟิว
จดหมายฉบับดังกล่าวระบุอีกว่า ในสภาวะที่สังคมเกิดวิกฤต ความเชื่อมั่นในการนำเสนอข้อมูลข่าวที่มีการส่งต่อหรือแชร์ ซึ่งอาจจะเป็นข่าวลวง ข่าวปลอม ไม่มีแหล่งที่มา ขาดความน่าเชื่อถือ ความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความเข้าใจผิดและสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
“ทางกลุ่มสื่อมวลชนจึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี โดยขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงได้รับการยกเว้นให้ปฏิบัติหน้าที่ได้หลังช่วงเคอร์ฟิว” จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มสื่อมวลชนอีสานระบุ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 กลุ่มสื่อมวลชนอีสานได้ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลต่อการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะข้อ 6 เรื่องการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนและขอให้นายกรัฐมนตรีงดใช้อำนาจลิดรอนการทำงานของสื่อมวลชนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19