ภาณุพงศ์ ธงศรี เรื่อง 

หมอลำเป็นศิลปะการแสดงของชาวอีสานที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งเรื่องของสื่อบันเทิงที่สร้างสรรค์และจรรโลงศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนวรรณคดี วรรณกรรมที่สำคัญที่สามารถสร้างสรรค์จากพื้นฐานความคิดและพัฒนาการทางสังคมของภาคอีสาน 

บทความนี้ ผมจะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับพัฒนาการของหมอลำในยุคต่างๆ ที่ผ่านมา ก่อนจะเป็นหมอลำในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในภาคอีสาน

ก่อนที่จะกล่าวถึงหมอลำในครั้งอดีต ผมอยากชวนให้ผู้อ่านพิจารณาถึงมูลเหตุของการรวมคนให้มาฟังบางสิ่งบางอย่างเสียก่อน 

แน่นอนว่า การรวมกันของคนในอดีต ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ทุกวัน โดยปกติจะเกิดขึ้นกับวาระพิเศษหรือวาระสำคัญของคนในชุมชน (กลุ่มคน) ตรงนี้เอง ผมจึงค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2561: ออนไลน์) ที่กล่าวว่า คนทั้งหมดอยู่ในพิธีกรรมหลังความตาย (เพราะพบเครื่องมือสำริดในหลุมศพ) มีการละเล่นเต้นฟ้อนเป่าแคนและขับลำเพื่อเรียกขวัญและส่งขวัญไปสู่โลกหลังความตาย (สมัยหลังเรียก งันเฮือนดี) 

เมื่อเราพิจารณาจากหลักฐานหน้ากลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอนเมื่อ 2,000 – 3,000 ปีที่ผ่านมา ผมอยากแย้งสักหน่อยว่า วัฒนธรรมการขับลำที่ปรากฎบนหน้ากลองมโหระทึกนี้ น่าจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการขอฝน ที่ยังคงร่องรอยจนถึงปัจจุบัน คือ การเซิ้งบั้งไฟ เป็นวัฒนธรรมการขับร้องง่ายๆ ตามจังหวะแคน ไม่ได้ถือระเบียบของกาพย์มาก โดยผมจะยกตัวอย่าง ดังนี้

บั้งไฟบูชา พระยาแถนเจ้า

ฝนอั่งเอ้า ตกหล่นลงมา

พันธุ์พฤกษา พืชผักต่าง ๆ

แสนดูทาง เฮ็ดอยู่เฮ็ดกินนอกจากลักษณะของกาพย์ง่ายๆ จำนวนน้อยคำ ในการร้องประกอบแคนเพื่อขอฟ้าขอฝนก่อนเริ่มต้นทำนาแล้ว กาพย์ได้ถูกพัฒนาไปเป็นโคลงสารที่มีการบังคับลักษณะของวรรณยุกต์ เพื่อเพิ่มความสละสลวยของภาษา

ภาพหน้ากลองทองมโหระทึก พบในเวียดนาม ภาพจากเว็บไซด์มติชน และการแต่งกายเซิ้งบั้งไฟของชาวอำเภอเสลภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด ภาพจาก เฟซบุ๊ก November25  

จุดสังเกตของการร้องเซิ้งบั้งไฟแทบทุกท้องถิ่นจะกล่าวถึงวรรณกรรมการขอฝน เช่น ผาแดง-นางไอ่ ในสมัยโบราณ การอ้อนวอน เนื้อหาก็คือการบวงสรวงเพื่อขอฝนทำนา หลักฐานปรากฎอีกอย่างที่สำคัญ คือ การสวมกะหว่อมหรือกระโจม บนศีรษะ ซึ่งยังคงปรากฎหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน 

ด้วยเหตุผลนี้ พัฒนาการของกาพย์ กลอน และโคลงสาร จึงเกิดขึ้นในวาระสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการอ้อนวอนต่อธรรมชาติ โดยใช้ทั้งถ้อยคำและดนตรีในการอ้อนวอนให้พระยาแถนส่งฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล 

เมื่อสังคมมีการพัฒนาการ สื่อบันเทิง เช่น หมอลำ ก็เข้ามามีบทบาทในการชุมนุมของคนมากยิ่งขึ้น

หมอลำนั่ง หรือ ลำพื้น เป็นลักษณะของการลำที่นั่งบนพื้น มีบทกลอนที่เน้นการเกี้ยวพาราสี ภาพจาก www.tded.zocialx.com

พัฒนาการที่สำคัญอีกครั้งในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสังคมอีสานหรือบริเวณที่รับหมอลำมีพัฒนาการของการเล่าเรื่องและโคลงสารเกิดขึ้น จึงมีลำดับเนื้อหาเป็นการลำสั้นๆ เกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสี ที่ยังคงมีหลักฐานปรากฎ เช่น ลำคอนสวรรค์ ลำมหาชัย และลำสีพันดอน แต่ผมยังไม่กล้าระบุว่า ในอดีตเรียกว่า หมอลำ หรือไม่ 

ต่อมาเมื่อช่วง พ.ศ. 2063 – 2090 ของพระยาโพธิสาลราช เป็นช่วงที่มีนักปราชญ์แต่งวรรณกรรมทั้งคดีโลกและคดีธรรม ที่มีชื่อเสียง เช่น พระอริยวงสา พระสมุทรโฆษ และพระมหาเถรปาสมันต์พระเทพมงคล ที่แต่งตำนานต่างๆ เป็นวรรณกรรมมีลักษณะของฮ่ายและโคลงสาร ซึ่งเรียกกันโดยรวมว่า ลำ (lam) เช่น ลำพระแก้ว ลำมหาชาติ ลำพระบาง หรือบางทีอาจใช้คำว่า พื้น (pʉ́ʉn) เช่น พื้นอุบลราชธานี พื้นเวียงจันทร์ พื้นพระแซกคำ เป็นต้น

ร่องรอยตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการเรียก หมอลำ (mɔ̌ɔ lam) โดยพิจารณาจากคำแรกคือ คำว่า หมอ (mɔ̌ɔ) เป็นคำไทดั้งเดิม ออกเสียงต่างกันไป เป็นคำที่ปรากฎในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะได หมายถึง ผู้รู้ ผู้ชำนาญ ส่วนคำว่า ลำ (lam) ผมคิดว่ามาจากคำว่า ลำนำ (lam nam) ซึ่งหมายถึง บทกลอนที่ใช้ขับร้องเป็นท่วงทำนอง โดยอยากให้สังเกตความแตกต่างของวรรณยุกต์กับคำว่า ลำน้ำ (lam nám) สองคำนี้แตกต่างกันที่วรรณยุกต์โท ถ้าตัดวรรณยุกต์ออกไปก็ถือเป็นคำเดียวกัน

แล้วสำคัญอย่างไร ผมอยากชี้ให้ดูว่า ปกติธรรมชาติของคนไทย เรามักตัดเสียงพยางค์ให้เหลือสองพยางค์ จากคำว่า หมอลำนำ (mɔ̌ɔ lam nam) ซึ่งแปลว่า ผู้เชี่ยวชาญในการขับร้องบทประพันธ์ที่ยาวๆ มาเหลือแค่ คำว่า หมอลำ (mɔ̌ɔ lam) คำว่า ลำนำ (lam nam) ตัดไปใส่กับคำว่า กลอนลำ (glɔɔn lam) หมายถึง บทประพันธ์ที่มีสัมผัสใช้ในการขับลำ (นำ) 

โดยมีเนื้อหาในโคลงสาร* อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์อีสานมีการบังคับเสียงวรรณยุกต์ ส่วนจำนวนคำที่ใช้ในกลอนลำไม่กำหนดชัดเจน แต่จะไม่เกิน 9 คำ  โดยโคลงสารจะเป็นฉันทลักษณ์ที่บอกเล่าวรรณคดีโลกและวรรณคดีธรรม เป็นลักษณะของนิทาน หรืออิงคำสอนในพระพุทธศาสนา

*ศึกษาเรื่องโคลงสารเพิ่มเติมได้ในหนังสือโองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดย จิตร ภูมิศักดิ์ : ลักษณะของกาพย์กลอนแห่งชนชาติไทย หรือในหนังสือ ลำอีสานหรือนิทานของชาวอีสาน เรื่อง พระยาคันคาก)

หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ และหมอลำคูณ ถาวรพงษ์ หมอลำคู่แรกของภาคอีสานที่ได้รับการอัดเสียง จากยูทูบที่โพสต์โดย โต้ง อนุรักษ์ 

หากมองจากจุดนี้ ผู้อ่านพอจะเห็นแล้วว่า กลอนลำนั้นมีความเป็นมาอย่างไร หมอลำร้องกลอนลำอย่างเดียว สร้างความบันเทิงได้น้อย จึงนำแคนมาเป็นเครื่องดนตรีประกอบการร้องกลอนลำหรือเล่าลำนำ สร้างความบันเทิงมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยรูปแบบของลายแคนคล้ายคลึงกับการเซิ้งบั้งไฟ 

ในอดีตไม่มีแคนในการประกอบหมอลำหลายเต้า หมอลำแต่ละคนมีคีย์เสียงที่แตกต่างกัน 

หลักฐานคือ การเรียกลายแคนว่า ลายอ่านหนังสือ อ่านหนังสือนั่นแหละ คือการอ่านลำนำของวรรณคดีโลกวรรณคดีธรรม ด้วยเหตุนี้ ต้องมีการเทียบเสียงด้วยการ โอ (oo) เพื่อเทียบเสียงของตนเองในการลำ 

ต่อจากนั้น เมื่อเข้าสู่ยุคการจดบันทึกลำนำ จึงมีการนำคำว่า “โอนอ…”

หรือ โอละนอ…

 

มาเป็นบทขึ้นต้นของกลอนลำที่เป็นโคลงสาร (ในฮ่ายไม่นิยมขึ้นต้นด้วย โอนอ…) การใช้โอนอ ก็เพื่อเทียบเสียงที่จะใช้ในการร้องประกอบแคนและแสดงถึงการรำพึงถึงเรื่องที่จะบอกเล่าไปพร้อมกัน ความสั้น-ยาวของการโอ… ก็ต่างกัน เพราะหมอลำมีทางยาวและทางสั้น อธิบายเพิ่มเติมนะครับ ลำทางยาว จะมีลักษณะเฉพาะเป็นการเอื้อนเสียงช้า เนิบ (ตัวอย่างคลิปเสียงลำทางยาว : ลำล่องยาว ชุดประวัติเวียงจันทน์ ลำโดย ทองแปน พันบุปผา) ส่วนลำทางสั้น จะมีจังหวะเร็ว กระชับ ไม่เอื้อนเสียงยาวยืด เดินทำนองรวดเร็ว (ตัวอย่างคลิปเสียงลำทางสั้น : ลำทางสั้นคู่ ลำโดยหมอลำเดชา นิตะอินทร์ หนูรงค์ ไชยภักดิ์) โดยเทียบเสียงของหมอลำ และใช้ลายแคนในการร้องหมอลำตามลำดับ ดังนี้

ลำทางยาว : ลายใหญ่ ลายน้อย และลายเซ

ลำทางสั้น : ลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย และลายสร้อย (ติดสูด)

การใช้ลายแคนนั้น หากเราย้อนฟังดูในเทปของหมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ และหมอลำคูณ ถาวรพงษ์ หมอลำคู่แรกของภาคอีสานที่ได้รับการอัดเสียงในปี 2483 จะเห็นว่าลายแคนของการลำและวาดลำยังมีความก้ำกึ่ง ขาดช่วงและจังหวะของแคนอยู่ ต่อมาในยุคหลัง หมอลำวาทอุบลจึงมีลักษณะของลายแคนและกลอนลำเป็นจังหวะเดียวกันในการเดินทำนองที่เนิบช้า เพื่อรักษาจังหวะของแคนและเก็บคำให้ลงตามจังหวะของห้องดนตรี

คณะหมอลำจากคุ้มเหล่า ขณะแสดงบริเวณลานวัดคืนก่อนบุญผะเหวด จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. 2507 ภาพจากเว็บไซต์ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยลำนำหรือกลอนลำที่เป็นวรรณคดีโลกวรรณคดีธรรมนี้เอง ที่ทำให้หมอลำได้รับยกย่องว่าเป็น ผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ด้านต่างๆ โดยพื้นฐานก็ต้องมีความจำดีหรืออ่านหนังสือได้ ขั้นสูงกว่านั้นก็แต่งกลอนลำหรือที่เรียกว่า แต่งหนังสือได้ ถือเป็นทักษะชั้นสูงในการแสดงออกทางวรรณศิลป์ของชาวอีสาน  

ผมหวังว่า บทความเรื่องนี้จะทำให้ผู้รู้หลายท่านได้ออกมาวิจารณ์ แลกเปลี่ยน และนำเสนอประเด็นในเรื่องของพัฒนาการของหมอลำให้ต่อยอดและสืบสานต่อไปไม่สูญหายนะครับ

เอกสารอ้างอิง

  • พรสรวง เถาว์ทวี. (2543). พัฒนาการของหมอลำในเมืองอุบลราชธานี . เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • สนอง คลังพระศรี. (23 มกราคม 2563) ทำไมหมอลำต้องร้อง “โอละนอ”. ค้นหาที่มาคำนี้มาจากไหน เข้าถึงได้จาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2540: https://www.silpa-mag.com/culture/article_18409

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print