สถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานีต้นเดือนเมษายนดูเงียบเหงากว่าปกติ หลังจากสถานที่แห่งนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เดินทางมาลงที่นี่จึงทำให้ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ มีผู้มาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะประมาณ 30 คน และมีรถโดยสารจอดให้บริการผู้โดยสารอยู่บนชานชาลาเพียง 3-4 คันเท่านั้น  

“ไม่รู้เลยว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 ผ่านมาลงที่นี่ด้วย ตรงนี้ถือเป็นจุดเสี่ยง ก็เห็นแต่เทศบาล ผู้ว่าฯ มาแจกหน้ากาก เจลล้างมือ และมาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อทุกวัน” วันนา บุญรอด คนขับรถสามล้อเครื่องรับจ้างวัย 51 ปี เล่าเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอและผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ภายในบริเวณสถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานีแทบไม่มีรายได้ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงกับการรับเชื้อโควิด-19 เพราะต้องพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะ “ผู้โดยสาร”  

“ตอนนี้มีคนขับสามล้อเหลืออยู่แค่ 10-20 คัน จากเดิมมี 60-70 คัน พวกเขาคงกลัวโรคเลยไม่มา เราก็กลัว แต่กลัวไม่มีกินด้วย เราไม่ใช่คนหาเช้ากินค่ำ แต่เป็นคนหาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ หาไม่ได้ก็คงต้องไปพึ่งคนมาบริจาค จึงจะมีกิน” เธอบอกเล่าความอัดอั้นตันใจที่เกิดขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดอุดรธานี 

 ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดอุดรธานี ณ วันที่ 8 เมษายน 2563 มีจำนวน 8 คน เกินกว่าครึ่งเดินทางผ่านสถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานีแห่งนี้ 

“หากยังเป็นแบบนี้ ลูกทั้งสองคนอาจต้องหยุดเรียน” วันนา บุญรอด คนขับรถสามล้อเครื่องรับจ้าง จ.อุดรธานี กล่าวในภาวะที่กำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ในชีวิต

สิ่งที่วันนากังวลใจที่สุดไม่ใช่เรื่องการติดเชื้อไวรัส แต่เป็นเรื่องรายได้ที่ลดลง จากที่เคยมีรายได้พอถูๆ ไถๆ แบบเดือนชนเดือน แต่ช่วงนี้คนเดินทางน้อยลง ทำให้เธอแทบไม่มีรายได้ อีกทั้งภาระหนี้สินจากไฟแนนซ์รถสามล้อ ค่าเช่าบ้าน และเรื่องการศึกษาของลูกๆ 

“ลูกคนโตอยู่ชั้น ม.6 สอบติด ม.ขอนแก่น กะว่าจะหาเงินให้เขาเข้าเรียนตอนเปิดเทอม พอมาเจอแบบนี้ แค่คิดให้ผ่านไปวันๆ ยังยาก กะว่าจะไปยืมเงินจากญาติมาใช้ก่อน ถ้าไม่ได้คงต้องหยุดเรื่องเรียนไว้ก่อน ส่วนคนเล็กอยู่ชั้น ม.3 ถ้าเปิดเทอมแล้วยังเป็นแบบนี้อยู่ ก็คงต้องหยุดเรียนเหมือนกัน” เธอบอกสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับอนาคตของลูกทั้ง 2 คน 

 หลังรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของไวรัสโคโรนาฯ ระยะที่ 1 โดยให้ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนผ่านเว็บไซตฺ์ “เราไม่ทิ้งกัน.com” ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อรับเงินเยียวยาคนละ 5 พันบาท เป็นเวลาต่อเนื่อง 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยกว่า 14.6 ล้านคน รวมทั้งเกษตรกรจำนวนกว่า 7.2 ล้านครัวเรือน ผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3 ล้านคน และผู้ถูกเลิกจ้างกว่า 14 ล้านคน ซึ่งวันนาถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับสิทธิ์นี้ด้วย 

เธอจึงฝากให้ลูกลงทะเบียนรับเงินเยียวยาแทน โดยหวังจะนำเงินมาต่อความหวังของครอบครัว รวมทั้งจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่าบ้าน ส่วนที่เหลืออาจเก็บไว้ให้ลูกเรียนตอนเปิดเทอม 

“อยากเห็นรัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบมากกว่านี้” เธอกล่าวด้วยความหวัง 

ประจักร-สมเพชร ไชยราช และหลานสาว ขณะนั่งขายของพื้นถิ่นที่หามาได้จาก อ.เพ็ญ บริเวณฟุตบาทตลาดหนองบัว ได้รับผลกระทบยอดขายลดลงแทบจะไม่เหลือกำไร

ยอดคนซื้อหาย พ่อค้าแม่ค้าบ่นระนาว  

ถัดจากสถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานีไม่ไกลนัก เพียงแค่ข้ามทางรถไฟไปจะเป็นตลาดหนองบัว ซึ่งเป็นตลาดริมถนนที่ผู้คนนำสินค้าหลากหลายมาขายช่วงเช้าถึงเย็น 

ความพิเศษของตลาดแห่งนี้ หนีไม่พ้นที่พ่อค้า-แม่ขายจากต่างอำเภอ นำสิ่งของตามฤดูกาลมาวางเรียงราย และนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาให้คนเมืองได้ลิ้มรส 

 บ่ายสามโมงครึ่ง ประจักร และ สมเพชร ไชยราช กำลังง่วนอยู่กับการจัดเรียงวางอาหารท้องถิ่นที่ 2 สามีภรรยาหามาได้ในช่วงเช้า เพื่อวางขายให้ลูกค้าได้จับจ่าย ทั้งเขียด ไข่มดแดง และพืชผักผลไม้พื้นถิ่นที่มาไกลจากบ้านดงเข็ง อำเภอเพ็ญ ห่างจากตลาดแห่งนี้ไปกว่า 40 กิโลเมตร  

 “รายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม จากที่เคยขายให้ 100 บาท ก็ลดเหลือ 30-40 บาท คนเดินน้อยมาก ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน” ประจักรวัย 65 ปี เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการระบาดของเชื้อร้าย 

“พอหักค่าน้ำมัน ค่าเดินทางก็เหลือนิดหน่อย แต่ก็ต้องทำ ถ้าไม่มาขาย ก็ไม่มีกิน โรคก็กลัว แต่จะให้ทำไง ค่าน้ำค่าไฟก็ต้องจ่ายอยู่ ไหนจะต้องเลี้ยงหลานอีก ส่วนลูกก็ไปทำงานต่างถิ่นและถูกพักงานเหมือนกัน” สมเพชร วัย  59 ปี กล่าวเสริม 

แม้อายุของทั้ง 2 คน จะพ้นวัยทำงาน อีกคนใกล้เกษียณ ส่วนอีกคนเกินวัยเกษียณ แต่ 2 ตายายก็ยังต้องทำงาน เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูหลานที่พ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น 

 “เป็นห่วงแต่เจ้าตัวเล็ก แม้ตอนนี้จะปิดเทอม แต่ก็ไม่รู้จะได้เปิดทอมตอนไหน ถ้าโรคยังไม่หาย ก็อาจต้องให้มาช่วยขายของ เพราะอยู่บ้านก็ไม่มีใครดูแล” สมเพชร คาดการณ์ถึงอนาคตที่เธอมองไม่เห็น 

สมเพชร ไชยราช (ซ้าย) กำลังดูหน้ากากอนามัยผ้าที่หลานสาววัย 11 ปี เพิ่งซื้อมาในราคา 15-20 บาท เนื่องจากหน้ากากอนามัยที่ราคาเพียงชิ้นละ 2.50 บาทขาดตลาด

หน้ากากอนามัยราคาถูก ยากต่อการเข้าถึง 

ไม่นานนัก หลานสาววัย 11 ปี ที่กลับมาจากเดินเล่น เธอเข้านั่งประจำที่เป็นเก้าอี้ขนาดเล็กสำหรับนั่งขายของ ในมือเป็นหน้ากากผ้ามาใหม่ 2 ชิ้น ที่เธอเพิ่งซื้อมา 

“ตอนนี้ต้องใส่ผ้าปิดปากตลอดเวลา เราต้องซื้อเอง ราคาประมาณ 15-20 บาท แล้วแต่ความสวยงาม ส่วนหน้ากากอนามัยหาซื้อที่ไหนก็ไม่มีแล้ว ไปถามซื้อตามร้านขายยาทุกร้าน ก็หมด” ประจักรพูดถึงสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเป็นสินค้าควบคุมและหาชื้อได้ในราคาไม่เกิน 2.50 บาท 

ทั้ง 2 คนอยากให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือมากกว่านี้ แม้จะรู้ว่ารัฐบาลมีมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ แต่การต้องลงทะเบียนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตก็เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับพวกเขา

เมื่อเราถามว่า ถ้ารัฐบาลสั่งปิดตลาดนี้จะทำอย่างไร สองตายายมองหน้าหลานสาวแล้วตอบพร้อมกันว่า “คงอดตายแน่ๆ” พวกเขาตอบพร้อมกับแค่นเสียงหัวเราะ 

นงค์ จันทร์ดวง พ่อค้าส้มตำหาบเร่ขาย กำลังหาบอุปกรณ์ทำกิจฝ่าเปลวแดดข้ามทุ่งศรีเมือง เพื่อไปยังหน้าธนาคารแห่งหนึ่ง โดยหวังว่าจะมีลูกค้ามาซื้อบ้าง

พ่อค้าหาบเร่ถูกมอง “อาหารไม่สะอาด” 

ข้ามฝั่งเมืองมาที่ทุ่งศรีเมือง ลานจัดกิจกรรมกลางเมืองจังหวัดอุดรธานี นงค์ จันทร์ดวง พ่อค้าส้มตำหาบเร่ วัย 63 ปี กำลังหาบร้านส้มตำเคลื่อนที่ผ่านลานกว้างจากธนาคารไทยพาณิชย์ไปยังธนาคารกรุงไทยที่อยู่ห่างออกไปราว 300 เมตร

“แดดปีนี้ร้อนมาก เดี๋ยวผมขอเข้าร่มก่อน ตรงนั้นก็ได้ เผื่อมีคนมาซื้อของจะได้ขายไปด้วย” พ่อค้าส้มตำหาบเร่บอก พร้อมปาดเหงื่อที่กำลังไหลอาบแก้ม  

นงค์ไม่ใช่คนเมืองอุดรธานีแต่กำเนิด เขามีถิ่นเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด แต่หอบหิ้วความหวังไว้บนบ่าสองข้าง ในตะกร้าที่มากับไม้หาบมีถั่วต้ม มะม่วง และตำสารพัด ทั้งตำกล้วย ตำมะขาม ตะไคร้ และตำมะละกอ เขาทำอาชีพนี้เลี้ยงปากท้องมากว่า 10 ปี 

“ผมหยุดขายไปตั้งแต่ผู้ว่าฯ ประกาศปิดร้านต่างๆ (วันที่ 23 มีนาคม 2563) ผมก็เพิ่งกลับมาขายเมื่อไม่นานมานี้เอง ตามจริงผมก็กลัวเหมือนกัน แต่ต้องมา ไม่อย่างนั้นอดตาย” พ่อค้าขายส้มตำหาบเร่บอกเหตุผลของเขา 

 นงค์จะเลือกจุดขายบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน อย่างหน้าธนาคารและหน้าห้างสรรพสินค้า แต่ด้วยวิกฤตความหวาดกลัวโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่ออกจากบ้านเพื่อใช้ชีวิตเหมือนเช่นภาวะปกติ ทำให้ยอดขายจากเดิมเคยขายได้วันละ 300-400 บาท ก็ลดลงเหลือเพียงวันละ 100 หรือบางวันขายไม่ได้ 

ยิ่งในภาวะวิกฤตเช่นนี้ อาหารที่นงค์ปรุงกลับถูกมองว่าไม่สะอาดเพียงพอ ทำให้เขาต้องซื้อวัตถุดิบใหม่ทุกวัน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เขาต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน 

“หลังออกห้องเช่า เราไม่มีทีวีดู ก็ฟังแต่วิทยุเพื่อรับรู้ข่าวสาร แต่ก็ไม่รู้ว่าไวรัสชนิดนี้มันเป็นยังไง ก็มีแต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกเราว่า โรคนี้มันน่ากลัว” เขาเล่า  

“ผมไม่ได้รับเงินเยียวยาอะไรเลย ลงทะเบียน 5 พัน ก็ทำไม่เป็น แต่ก็คงต้องตามสภาพ เพราะไม่หวังอะไร เราต้องพึ่งตัวเอง” นงค์ จันทร์ดวง พ่อค้าส้มตำหาบเร่ขาย จ.อุดรธานี

เงินเยียวยา 5 พันบาท สิทธิ์ที่ยากต่อการเข้าถึง 

นงค์ถือเป็นประชากรแฝงในเมืองอุดรธานี ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ อย่างสิทธิ์ในการรับแจกหน้ากากผ้าที่แต่ละหลังคาเรือนจะได้รับ 3-4 ผืน แต่ด้วยทะเบียนบ้านของเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทำให้ไม่กล้าไปรับสิทธิ์นี้ 

“ผมไม่ได้รับเงินเยียวยาอะไรเลย ลงทะเบียน 5 พันก็ลงไม่เป็น ทะเบียนบ้านก็ไม่ได้เอามาด้วย ได้แต่เงินคนแก่เดือนละ 600 บาท (เบี้ยยังชีพคนชรา) แต่ก็คงต้องตามสภาพ เพราะไม่หวังอะไร เราต้องพึ่งตัวเอง หน้ากากผ้าก็หาซื้อได้ในตลาดราคา 20 บาท” พ่อค้าส้มตำหาบเร่กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

นงค์มีภาระค่าใช้จ่าย ค่าเช่าห้อง และค่าน้ำค่าไฟ เดือนละ 1,700 บาท สำหรับตัวคนเดียว เขาไม่ต้องการอะไรมาก ขอแต่ให้กลับมาเป็นภาวะปกติดั่งเดิม จะได้ขายของได้ พอเลี้ยงปากท้อง  แต่ถ้าวิกฤตมันหนักข้อขึ้น เขาขายของไม่ได้ ทางเลือกที่คิดไว้คือ กลับบ้านเกิดจังหวัดร้อยเอ็ด แต่ด้วยทุกคนหวาดกลัวกันและกัน ทำให้เขายังไม่ติดสินใจกลับบ้าน 

“ขายไม่ได้ ผมคงต้องกลับบ้าน อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียค่าเช่าห้อง แต่กลับไปตอนนี้ไม่ได้ เพราะคนจะมองว่าเราเป็นตัวนำเชื้อโรคไปแพร่ในหมู่บ้าน คงต้องรอให้โรคนี้ซาลงก่อน ถ้าไม่ไหวจึงจะกลับ” นงค์กล่าวด้วยความกังวล 

เป็ดเหลือง 3 ตัว ที่เป็นสัญลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวในหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ต้องใส่หน้ากากอนามัยที่เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องตัวเองจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ร้านนวดแผนไทยปิดอย่างไม่มีกำหนด 

สวนสาธารณะหนองประจักษ์ ซึ่งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองอุดรธานี ในยามปกติ ห้วงเวลาประมาณ 5โมงเย็นจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาออกกำลังกาย แต่วันนี้บรรยากาศต่างออกไป มีผู้คนเพียง 3-4 คนเท่านั้นที่ยังมาวิ่งและปั่นจักรยาน พร้อมกับสวมหน้ากากอนามัย 

หลังผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประกาศ ‘ล๊อกดาวน์’ เมือง ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสต้องหยุดประกอบกิจการ โดยมีร้านนวดแผนไทยรวมอยู่ในนั้น   

ป้ายกระดาษมีข้อความว่า “หยุดให้บริการเพื่อป้องกันแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 18-31 มีนาคม 2563” ถูกติดไว้ที่ด้านหน้าร้านนวดแผนไทยที่ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างหนองประจักษ์ 10 กว่าร้าน 

ร้านนวดแผนไทยที่อยู่ด้านข้างหนองประจักษ์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องปิดตัวตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด

“ร้านนวดยังปิดอยู่จ้า ยังไม่เปิดให้บริการ ปิดมาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมแล้ว และปิดต่อไป ไม่รู้จะได้เปิดตอนไหน” ฉวีวรรณ กระจ่างอภิวัฒ หมอนวดแผนไทยวัย 54 ปีสนทนาผ่านโทรศัพท์หลังจากโทรไปสอบถามเบอร์ที่ติดไว้หน้าร้านนวดแผนไทยแห่งหนึ่ง  

ฉวีวรรณกับสามียึดอาชีพนี้มาเป็นเวลานาน หลังร้านนวดแผนไทยถูกจัดอยู่กลุ่มเสี่ยง เพราะถือว่าเป็นอาชีพที่ต้องสัมผัสร่างกายลูกค้า ทำให้ตอนนี้พวกเขาไม่มีรายได้เลย

“มันแย่มาตั้งแต่หลังปีใหม่แล้ว พอมีข่าวโควิด-19 ระบาด คนก็กลัว ไม่มีเข้าร้านนวด มันแย่มากเลย ยิ่งตอนนี้ก็ยิ่งแย่ ไม่มีช่องทางทำมาหากินแล้ว” เธอโอดครวญ 

ฉวีวรรณมีลูก 2 คน คนหนึ่งเปิดร้านขายน้ำปั่นข้างหนองประจักษ์ที่อยู่ไม่ห่างจากร้านนวดของเธอก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่อครอบครัวไม่มีรายได้ แต่ยังมีภาระผ่อนบ้านที่เธอซื้อผ่านโครงการของรัฐเดือนละ 1,600 บาท ทำให้เธอทุกข์หนัก 

“ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ลงทะเบียน 5 พันก็หวังว่านำเงินมาจ่ายค่าบ้าน แต่ตอนนี้ก็ไม่มีจะกินกันแล้ว ในบัญชีเหลืออยู่ 500 บาท” 

เสียงร้องไห้ที่หวังคนได้ยิน 

ครอบครัวเธอได้รับผลกระทบเกือบทั้งครอบครัว มีเพียงลูกสาวอีกคนที่ยังมีรายได้จากการขายก๋วยจั๊บเส้นแห้งผ่านเฟซบุ๊กและนำเงินมาจุนเจือครอบครัว 

“มีแต่ร้องไห้แล้วตอนนี้ เราทำอาชีพนี้มานาน ไม่ได้คิดเผื่อไว้ ความรู้ก็น้อยจบแค่ชั้น ป.2 ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรกิน อายุก็มากแล้วด้วย” เธอกล่าวพร้อมเสียงสะอึกสะอื้นดังมาตามสายโทรศัพท์ 

นอกจากเธอและสามี ร้านนวดแห่งนี้ยังมีเพื่อนร่วมร้านอีก 13 คนที่อายุเกิน 50 ปีที่ตอนนี้ยังมืดมนกับอนาคต เพราะไม่รู้ว่าร้านนวดแผนไทยที่เคยทำมาเกือบตลอดชีวิตจะกลับมาเปิดได้เมื่อใด 

“เพื่อนๆ ก็ได้แต่โทรมาร้องไห้ ไม่รู้จะทำยังไง หนักทุกคน บางคนรถจะโดนยืด ไฟฟ้าจะโดนตัด ไม่มีจ่ายค่าเช่าบ้านแล้ว มืดแปดด้าน” เสียงของเธอคราวนี้หยุดสะอื้นเป็นห้วงๆ 

เธอก็ได้แต่หวังว่าจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็เผื่อใจว่าอาจจะไม่ได้ ฉวีวรรณก็ไม่แตกต่างจากผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ โดยเธอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือมากกว่านี้ 

“แม่ไม่รู้ต้องทำยังไง เพราะใกล้จะถึงวันจ่ายค่าไฟแล้ว ถ้ารู้ว่าต้องทำแบบไหน บอกแม่ด้วยนะ จนปัญญาแล้ว” เธอกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะวางสายสนทนา  

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการจ่ายเงินเยียวในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” 5,000 บาท เป็นระยะที่ 3 ขยายเวลาจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน โดยผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 

ทว่าสิทธิ์นี้ก็เป็นสิ่งที่หลายคนเข้าไม่ถึง…

image_pdfimage_print