ภาพปกจาก : Houston Ruck

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ถ้าย้อนไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน มิวสิควิดีโอเพลงอีสาน มักจะมี ‘ภาคบังคับ’ ของตัวละครอยู่ เช่น หญิงสาวหอบกระเป๋าเดินข้ามถนนงกๆ เงิ่นๆ เพื่อมาหางานทำในกรุงเทพฯ หรือหนุ่มผู้ใช้แรงงานทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อเงินไม่กี่บาท และต้องทนมองดูคู่รักของตัวเองไปกับชายคนใหม่ที่รวยกว่า เป็นต้น 

ภาพเหล่านี้สะท้อนความจริงบางอย่างของคนอีสานที่ต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดี และการขยายตัวของอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ แต่ปัจจุบัน เพลงลุกทุ่งอีสานเปลี่ยนตัวเองไปมาก ทั้งเนื้อร้อง เนื้อเรื่อง ท่วงทำนองดนตรี และภาพของนักร้อง อย่างในเพลง โอ้ละน้อ ของ ก้อง ห้วยไร่ เขาก็สวมเสื้อหนังร้องเพลง โดยมีฉากหลังเป็นมือกีตาร์กรีดสายด้วยท่วงทำนองแบบร็อค

คำถามสำคัญก็คือ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เพลงลูกทุ่งอีสานแปลงร่างกลายเป็น ‘ความม่วนที่ซุผู้ซุคนฟังได้’ ได้อย่างไร

หากมีโอกาสเลาะไปตามหมู่บ้านในภาคอีสาน ภาพชาวบ้านนั่งดูวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือบนท้องไร่ท้องนา กลายเป็นเรื่องปกติพอๆ กับที่เราเห็นคนเมืองยืนกดโทรศัพท์บนรถไฟฟ้า คนหนุ่มสาวในชนบทดูมิวสิกวิดีโอใหม่ของ Blackpink ได้พร้อมๆ กับคนที่สีลมในเมืองกรุงฯ พวกเขาฟังเพลงได้หลากแนวจากทั่วทุกมุมโลก หรือสามารถเชียร์ฟุตบอลสดๆ ได้เหมือนคนที่ลานเบียร์ในเมือง และเสพสื่อมหาศาลได้จากอำนาจอินเทอร์เน็ตที่มีในมือ ดังนั้น การจะแบ่งว่า คนในเมืองหรือคนในชนบทใครมีความรู้มากกว่ากัน จึงกลายเป็นเส้นแบ่งที่เลือนราง

ยังไม่นับว่าคนหนุ่มสาวอีสานที่อาศัยอยู่นอกเมืองในยุคนี้ ใช้เวลาเดินทางเข้าไปในเขตตลาดโดยเพียงใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที และเดินทางไปทั่วประเทศและทั่วโลกได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ที่ต้องใช้เวลาเดินเป็นวัน กว่าจะฝ่าทางลูกรังออกมาได้ พวกเขาเห็นโลกในทั้งมิติ ‘ออฟไลน์’ และ ‘ออนไลน์’ จนกลายเป็นส่วนผสมของสายตาแบบใหม่ที่ผันเปลี่ยนตามยุคสมัย

เพลงดังอย่าง ผู้สาวขาเลาะ, ห่อหมกฮวกไปฝากป้า, บักแตงโม, โอ้ละน้อ, คำแพง, มะล่องก่องแก่ง ฯลฯ ล้วนเป็นการเล่าวิถีชีวิตของชาวอีสาน โดยมีการใส่ท่วงทำนองแบบใหม่ นอกจากพิณและแคนแล้ว พวกเขายังใส่กีตาร์และเครื่องดนตรีสากลอื่นๆ เข้าไปในเพลงด้วย 

ที่น่าสนใจก็คือ นักร้องเพลงลูกทุ่งอีสานส่วนมากที่กำลังโด่งดังในยุค ‘อีสานอินดี้’ หรือ ‘อีสานป๊อป’ อายุประมาณ 18-35 ปี เท่านั้น ดังนั้น วิธีการนำเสนอความเป็นอีสานของพวกเขาจึงเปลี่ยนกลิ่นและรสไปตามโลกที่เติบโตมา

จากที่ต้องเดินทางเข้ามาหาค่ายเพลงใหญ่ในกรุงเทพฯ พวกเขาก็บันทึกเสียงกันที่บ้าน แล้วปล่อยออกมาทางยูทูบ โดยไม่ต้องผลิตแผ่นซีดีจำนวนมหาศาล เฉกเช่นในอดีตที่ไม่อาจทำได้เอง เนื้อเพลงที่แต่งออกมาหลายเพลงจึงทลายความเชื่อและกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ ที่แม้แต่คนอีสานเองก็อาจฟังไม่ทันและฟังไม่รู้เรื่อง

อย่างเนื้อเพลง “ขอโทษที่เข้าไปเป็นมะริ่งกิ่งก่อง สะระน๊องก่องแก่ง มะน่องมะแน่งมั๊บ ปะล่องป่องแป่ง ง้องแง้งง้องแง้งในชีวิตเธอ” ของ พจน์ สายอินดี้ ที่ดาราหลายคนเอาไปร้องในสตอรี่ไอจี (การเผยแพร่วิดีโอขนดาสั้นบนแอปพลิเคชั่นอินสตาแกรม) จนกลายเป็นกระแสดังไปทั่วนั้น ก็เป็นเนื้อหาที่ว่ากันตรงๆ ถ้าใจไม่ ‘เฉียบ’ และ ‘มัน’ พอ เพลงที่ต้องฟังทวน 5 รอบนี้ก็ไม่อาจปรากฏขึ้นมาบนบรรณพิภพ แต่ด้วยความอิสระทั้งในแบบรูปธรรมและนามธรรม ก็ทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานสร้างสรรค์และเข้าถึงผู้คนได้หลากหลายมากขึ้น

เรายังเห็นภาพนักแสดงชั้นนำร่วมกันร้องและเต้นเพลง “ผู้สาวขาเลาะ” ต่อหน้าสายตาผู้ชมเรือนหมื่น ในงานฉลองวันเกิดของสถานีโทรทัศน์ หรือได้ยินเพลงอีสานในสนามแข่งวอลเลย์บอลรายการระดับสากล โดยมีคนลุกขึ้นเต้นและร้องตามได้อย่างไม่เคอะเขิน 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเพลงลูกทุ่งอีสานจำนวนมากไปร้องในรายการประกวดร้องเพลงหรือนำไปเป็นเพลงประกอบละครหลังข่าว ทำให้ช่วงที่ผ่านมา มีคำเรียกขานว่า เป็นช่วง ‘อีสานฟีเวอร์’ ในวงการเพลงไทย

เพลงอีสานไม่จำเป็นต้องแต่งเพื่อให้คนอีสานฟังอีกต่อไป จากเพลงลูกทุ่งของไมค์ ภิรมย์พร, ตั๊กแตน ชลดา หรือ ไผ่ พงศธร ฯลฯ ที่มีไว้เพื่อปลอบประโลมหัวใจคนอีสานไกลบ้าน แต่ทุกวันนี้ เปลี่ยนเป็นคนอีสานอยู่บ้านของตัวเอง แล้วร้องเพลงเพื่อปลอบประโลมใจคนทั้งประเทศ ความสนุกสนานผ่านบทเพลงที่ไม่ได้จมอยู่กับความทุกข์ยากที่ติดตัวคนอีสานมาตลอด ทำให้เพลงอีสานขยายขอบเขตของตัวเองไปสู่คนภูมิภาคอื่นได้อย่างเนียนเนียน

เนื้อร้องในยุคอีสานอินดี้ ส่วนมากมักจะว่าด้วยเรื่องความรักของหนุ่มสาวและวิถีชีวิตตามชนบทของคนอีสาน โดยแต่งแต้มท่วงทำนองของเพลงสากลเข้าไปผสมกับเสียงอันคุ้นเคยของพิณและแคน จากเนื้อร้องที่ค่อนขอดตีอกชกตัว ก็กลายเป็นเล่าวิถีชีวิตด้วยความภูมิใจและม่วนซื่น มีบ้างที่บ่นถึงความลำบาก แต่นั่นก็เป็นการเล่าผ่านน้ำเสียงทีเล่นทีจริง     

ในท่อนขึ้นต้นของเพลง “ห่อหมกฮวกไปฝากป้า” ที่ร้องว่า “มื้อนี้ เฮียนข่อย เพิ่นไปประสาฮีตฮอย ลงท่งหาหอย หาเห็ด และหาปลา เพิ่นส่อนอยู่บวก เพิ่นได้ฮวกมา เขียดจีนา แมงดา และกบน้อย” ก็เป็นการเล่าวิถีชีวิตชนบทอีสาน ก่อนจะไล่เรียงเรื่องราวไปถึงความชุลมุนวุ่นวายจากการที่แม่ใช้ให้เอาหมกฮวกไปให้ป้า แต่ป้าไม่อยู่บ้าน พอผสมกับดนตรีสนุกสนานก็กลายเป็นลูกผสม แม้คนจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็เพลิดเพลินไปด้วยการเล่นเสียงพยัญชนะและทำนองเพลงที่ติดหู

หรือในเพลง “โอ้ละน้อ” มีท่อนที่ร้องว่า “เกิดเป็นคนอีสาน เลือดก็คนอีสาน มีบุญมีงาน ก็ต้องมีหมอลำ มีลาบ มีก้อย มีจุ๊ซอยจำ ยังจดยังจำ วิถีบ้านเฮา” ก็สะท้อนวิธีมองภาคอีสานด้วยสายตาที่ภาคภูมิใจมากกว่าเล่าเรื่องความทุกข์ยาก

แม้เนื้อหาในเพลงเหล่านี้จะไม่ได้สะท้อนชีวิตจริงของคนอีสานทั้งหมด เพราะแน่นอนว่า ยังมีคนอีสานจำนวนมากที่ยังลำบาก ยังต้องดิ้นรนต่อสู้ในเมืองใหญ่หรือในที่นาของตัวเอง แต่การสื่อสารของคนอีสานหนุ่มสาวเหล่านี้ก็ทำให้เห็นว่า ความเป็นอีสานที่ถูกแปะวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง เพื่อทำให้คนเห็นว่า มิติของภาคอีสานนั้นมีหลากหลาย และไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่ที่วัฒนธรรมชายขอบเท่านั้น  

ไม่ใช่แค่ในเพลงลูกทุ่งอีสานที่ร้องด้วยสำเนียงอีสานเท่านั้น แต่ยังมีศิลปินอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ภาษาอื่นเข้ามาผสมด้วย เช่น รัสมี อีสานโซล นักร้องชาวอุบลราชธานี ที่ขับขานหมอลำด้วยท่วงทำนองแบบโซล แล้วหยิบเอาภาษาเขมรและอังกฤษเข้ามาร่วมถ่ายทอดเนื้อหาด้วย เธอเคยให้สัมภาษณ์ถึงการทำเพลงหมอลำแบบใหม่ว่า “หมอลำคือรากเหง้า คือวัฒนธรรม แต่หมอลำที่เปลี่ยนไปก็เยอะมาก เพลงอีสานมีความเป็น improvisation อยู่แล้ว จับไปใส่อะไรก็ได้ ง่ายสำหรับการทดลอง แล้วมีจังหวะที่น่าค้นหา มหัศจรรย์มาก” สะท้อนให้เห็นถึงการยึดโยงกับรากเหง้าอีสานและพาความเป็นอีสานทะลวงข้อจำกัดเดิมเพื่อไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ๆ

หรือแม้แต่ VKL หรือ เพทาย วงษ์คำเหลา ลูกชาย หม่ำ จ๊กมก นักแสดงตลกชื่อดัง ที่แม้จะเกิดที่จังหวัดนนทบุรี แต่ความเป็นลูกหลานยโสธรของเขายังเข้มข้นอยู่ในสายเลือด จนออกมาเป็นเพลงแร็ปชื่อ ยโส ที่บอกเล่าความ ‘ยโส’ ของการเป็นคนยโสฯ ผ่านเนื้อร้องภาษาไทย สำเนียงอีสาน และภาษาอังกฤษ

ด้วยการทลายกรอบเหล่านี้ ทำให้เพลงอีสานไปสู่กลุ่มคนฟังต่างชาติ เพลงหมอลำกลายเป็นเพลงที่ทุกคนลุกขึ้นเต้นบนเวทีเทศกาลดนตรีในหลายพื้นที่ทั่วโลก แนวดนตรีแบบรถแห่กระจายไปไกล จนมีคนญี่ปุ่นฝึกเล่น แล้วเอามาแสดงในเทศกาลดนตรีที่ฟังแล้วชวนให้ขาอยู่นิ่งไม่ได้ 

จากหมอลำแคนยุคดั้งเดิมก็ปรับเปลี่ยนเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน ขยับขยายจนเป็นเพลงอีสานป๊อป และผสมกับท่วงทำนองที่หลากหลายจนไม่อาจนิยามได้ ทำให้เห็นว่า ความเป็นอีสานปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอด หลายต่อหลายครั้งที่การถูกกดทับทำให้คนอีสานไม่กล้าสบตากับผู้คน แต่คราวนี้เป็นสถานการณ์การหันหน้ามาสบตากับโลกแล้วบอกว่า ตัวเองไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร

ในวันที่เส้นแบ่งของโลกระหว่างชนบทกับเมือง และเส้นแบ่งของเชื้อชาติได้รางเลือน การพยายามแบ่งแยกจึงกลายเป็นสิ่งตกค้างมาจากอดีตที่กำลังจะหมดสมัยไป 

การนิยามความเป็นอีสานจึงแทบไม่มีความหมายอะไร ในเมื่อความเป็นอีสานนั้นเป็นได้หลากหลายมากกว่าที่เราจะนึกฝัน

ความเป็นอีสานจึงหมายถึงความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคนทุกที่ในโลก

image_pdfimage_print