ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ เรื่อง 

วิกฤตโควิด-19 ทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาก่อนหน้าวิกฤต ในยามที่นักสิ่งแวดล้อมออกมารณรงค์ให้ยุติโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความมั่นคงทางอาหาร ที่มักจะมีคนที่สุดโต่งชี้นิ้วใส่นักสิ่งแวดล้อมว่า “ให้ไปอยู่ถ้ำ” หรือไม่ก็ไล่ให้ไป “ขี่เกวียน”

ผมนึกถึงเรื่องนี้ ไม่ต้องการเยาะเย้ย แต่เพราะอยากให้พวกเราฉุกคิดถึงการพัฒนาที่ผ่านมา ที่มุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ที่ดูเหมือนว่าไม่มีวันสิ้นสุด เช่น ความต้องการพลังงาน น้ำ ฯลฯ โดยไม่สนใจใยดีต่อความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความมั่นคงทางอาหาร

ตอนนี้ สภาพชีวิตของพวกเรา ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลก ก็ไม่ต่างกับอยู่ถ้ำมากนัก แต่ละคนรักษาสุขภาพสุดชีวิต แต่ละคนหรือครอบครัวล้วนวิตกกังวลถึงความมั่นคงทางอาหาร 

ส่วนการขี่เกวียนนั้น อย่าว่าแต่ได้ขี่เลย ช่วงเวลาของการประกาศเคอร์ฟิว แค่จะเดินออกนอกบ้านด้วย 2 เท้าก็ยังไม่ได้ ขณะที่เวลาปกติ แต่ละคนต้องระมัดระวัง เราห่วงหน้ากากอนามัยราวกับทองคำ 

วันนี้ที่โควิด-19 ระบาด ผมคิดว่าคนในเมือง แม้จะมีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงและมีเสียงมีพลังทางการเมืองดังที่สุด แต่น่าจะมีความเปราะบางในการรับมือกับวิกฤตมากกว่าคนชนบท และภายในเมืองก็ยังมีกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด ดังเช่น คนไร้บ้าน ที่ยากจะช่วยเหลือตัวเอง 

ขณะที่คนชนบท แม้ว่าหลายพื้นที่พอจะเอาตัวรอดจากการผลิตอาหารเองได้ แต่หลายพื้นที่ก็น่าเศร้า เพราะทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายจากโครงการพัฒนาต่างๆ จนแทบไม่เหลือซาก อย่างชุมชนริมโขงที่ทุกวันนี้แทบไม่มีปลาและพืชอาหารตามธรรมชาติ

วิกฤตโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองและระบบการเมืองแบบเดิมๆ ไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดหลุมดำในการแก้ไขปัญหา ดังเช่น ระยะแรก การควบคุมแพร่ระบาดถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าเศรษฐกิจ การเกิดภาวะขาดหน้ากากอนามัย จนประชาชนต้องเย็บหน้ากากผ้าใช้กันเอง ทั้งที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหน้ากากส่งออก 

นอกจากนี้ยังพบการให้กักตัวแบบไร้มาตรฐานและไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน เช่น การให้แรงงานที่กลับจากเกาหลีพักอยู่ในเต้นท์ติดกันราวกับค่ายลูกเสือ การให้แรงงานประมงที่กลับจากมาเลเซียพักในเต้นท์กลางถนนที่กลางวันร้อนระอุและเสี่ยงต่อการเปียนปอนหากมีฝนตก 

และล่าสุดคือการให้เงินเยียวยาที่ไม่ยึดหลักสวัสดิการถ้วนหน้า แต่เป็นการให้แบบกลับหัวกลับหาง เพราะคนที่ควรจะได้ตามเกณฑ์กลับไม่ได้ แต่คนที่ได้กลับเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์

นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังเผยให้เห็นว่าสังคมของเราเป็นสังคมที่เปราะบางมาก เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรงและพร้อมที่จะระเบิดใส่หรือไล่ล่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การเหยียดเพื่อนมนุษย์ด้วยกันราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง 

ขณะที่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งต่อผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่เสี่ยงจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ บ่อยครั้งที่ในกลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ก หรือแม้แต่สื่อกระแสหลักก็เปิดเผยชื่อบุคคล และข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ เช่น หมายเลขหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เอกสารทางการแพทย์ บางกรณีถึงขั้นเปิดเผยรูปภาพผู้ติดเชื้อเพื่อเป็นการยืนยัน พร้อมกับมีข้อความประจานไปถึงการคุกคามและเหยียดหยามทางเพศ และรุนแรงถึงขั้นมีการรวมกลุ่มกันเดินขบวนและกดดันให้เจ้าหน้าที่ย้ายผู้ติดเชื้อออกไปจากชุมชน

สำหรับสื่อมวลชน ก็มีปัญหาเรื่องจรรยาบรรณ เพราะมีทั้งการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลมาเผยแพร่ ไปจนถึงการบิดเบือนข่าวใส่ร้ายชุมชนและไม่มีคำ “ขอโทษ” 

ภาพด้านลบที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ได้ปิดบังภาพด้านบวกของมนุษย์จนแทบมองไม่เห็น ท่ามกลางวิกฤตที่ทุกคนหวาดกลัวและหวาดระแวง ภาพเลือนรางที่เกิดขึ้นในสังคม ก็คือการแบ่งปันอาหารให้ผู้ยากไร้และคนไร้บ้าน การช่วยเหลือด้านอาหารของชาวบ้านที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ การทำงานปิดทองหลังพระเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศให้ได้กลับบ้าน และการส่งเสียงเรียกร้องไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หากโควิด-19 สิ้นสุดลงวันใด สิ่งที่ผมอยากเห็นที่สุดก็คือ 

ความคิดเกี่ยวกับการพัฒนา เราต้องทบทวนความคิดในการพัฒนาอย่างจริงจัง เราต้องฉุกคิดให้ได้ว่าชุมชนของเรา ประเทศชาติของเรา และโลกของเรา จะหันกลับไปเดินในหนทางที่เสี่ยงแบบเดิมหรือไม่ บางทีเราต้องหันหลังให้กับแนวทางการพัฒนาอย่างที่ผ่านมา รวมไปถึงการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะกำหนดให้เรากลับไปเป็นแบบเดิม หรือว่าเราควรเน้นการพัฒนาที่มีมิติของสิทธิมนุษยชน สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงของมนุษย์ เป็นแกนกลางของการพัฒนา ไม่ใช่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา

การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในทุกมิติ จากการที่วิกฤตโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมในหลากหลายมิติ ดังนั้นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมควรเป็นอีกแกนกลางของการพัฒนา เพื่อให้เราได้อยู่ร่วมกันในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด-19 ดูเหมือนว่ารัฐกำลังตั้งใจจะฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นหลัก และคนในสังคมไม่น้อยก็คิดเช่นนั้น แต่ผมเห็นว่าสังคมเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แหล่งทรัพยากรและแหล่งผลิตที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางสุขภาพ

เราอาจต้องถกกันอย่างจริงจังในการยกเลิกการใช้งานโครงการขนาดใหญ่ที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน การรื้อเขื่อนบางแห่งทิ้งหรือเลิกใช้งานเพื่อให้ปลากลับคืน อย่างเขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล เขื่อนไซยะบุรี รวมไปถึงการยุติการทำการเกษตรที่อันตราย เต็มไปด้วยสารพิษ เปลี่ยนไปเป็นการทำการเกษตรให้มุ่งเน้นไปที่รักษาระบบนิเวศน์และปลอดภัยต่อสุขภาพ

การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ที่ทำให้สังคมมีความเข้าใจ มีความพร้อม และมีความเข้มแข็งในการรับมือกับภัยพิบัติทั้งที่เกิดจากมนุษย์ เกิดจากธรรมชาติ รวมถึงการระบาดของเชื้อโรคหรือเกิดจากทั้งสองอย่างผสมกันและการสร้างระบบให้รัฐมีประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทุกประเภท

การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งยามปกติและยามวิกฤต จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมของเราต้องมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน การเคารพต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การจัดการศึกษาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชนและทุกคนสังคม แต่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน 

ส่วนในระยะยาว ครอบครัว และทุกหลักสูตรการศึกษาจะต้องปลูกฝังให้คนในสังคมยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นแกนกลางในการอยู่ร่วมกัน และให้มองเห็นคุณค่าความมนุษย์ แทนการปลูกฝังค่านิยมที่อิงกับชาตินิยมและจารีตที่ไม่ทันต่อสถานการณ์

การเมือง เราต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงให้มากที่สุด อำนาจนิยมและการแสวงหาประโยชน์แอบแฝง ทั้งในยามปกติและในยามวิกฤตจะต้องถูกกำจัด การผูกขาดอำนาจจะต้องหมดไป โดยต้องมีการรื้อทิ้งและสร้างใหม่ระบบการเมืองที่เอื้อให้คนดีมีความสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองและบริหารประเทศ การดำเนินการนี้หมายรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำให้องค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การตัดสินคดีทางการเมืองสามารถตรวจสอบได้

บทความนี้ เป็นเพียงตุ๊กตาสำหรับการฉุกคิดเกี่ยวกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 รวมถึงการมองไปข้างหน้าในวันที่วิกฤตโควิด-19 ยุติลง และควรเป็นวันที่เราควรเห็นโลกใบใหม่ที่สดใสและน่าอยู่ แทนโลกใบเก่าที่ได้เห็นกันแล้วว่ามันเปราะบางเกินกว่าที่เราจะกลับไปใช้ชีวิตในโลกใบนั้นได้อีก

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print