ไม่เปิดเผยชื่อผู้เขียน

หลังจากฉันตกงานที่กรุงเทพ ฯ เพราะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตอนนั้นไม่มีรถทัวร์คันไหนวิ่งเลย ฉันตึงต้องกลับบ้านโดยนั่งเครื่องบินมาลงที่ท่าอากาศยานขอนแก่น ก่อนออกเดินทางฉันมาถึงสนามบินนานาชาติดอนเมืองประมาณตี 5 ตอนนั้นแอร์เย็นมาก แม้เจ้าหน้าที่ของสนามบินจะวัดไข้ยังไง อุณหภูมิร่างกายก็ต่ำ

เมื่อดิฉันมาถึงสนามบินขอนแก่นก็ถูกวัดไข้อีกรอบ เหตุการณ์คล้ายกันกับที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง คือแอร์เย็น จะวัดกี่รอบอุณหภูมิร่างกายก็ต่ำ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงให้สแกน QR Code เพื่อสำรวจและติดตามว่าเรามาจากไหน เที่ยวบินอะไร สายการบินอะไร พอมาถึง บขส.3 จ.ขอนแก่น ฉันก็ต่อรถเพื่อกลับบ้าน 

ก่อนออกจาก บขส.3 เจ้าหน้าที่ให้ลงทะเบียนว่า ผู้โดยสารประมาณมาทำอะไรที่ขอนแก่น จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ให้คนขับรถตู้รายงานว่ามีเพศหญิงกี่คน ชายกี่คน อยู่บนรถกี่คน ระหว่างนั้นคนขับรถตู้ก็ตอบแจ้งเจ้าหน้าที่กลับไป พร้อมกับบอกว่ามี “กะเทย” 1 คน

นั่นก็คือ “ฉันเอง” ตอนนั้นฉันรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น…

เมื่อกลับถึงบ้าน ฉันจึงไปรายงานตัวตามหนังสือราชการที่จังหวัดออกให้ โดยมีเนื้อความว่า “ผู้ที่กลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านที่ท่านอยู่”

เนื่องด้วยแม่ของฉันเป็นโรคเบาหวาน ส่วนพ่อเป็นภูมิแพ้ ซึ่งทั้งสองคนมีความอ่อนไหวต่อโรคโควิด-19 

วันต่อมาดิฉันจึงไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาล ซึ่งพยาบาลก็ซักประวัติฉันอย่างละเอียด ฉันบอกเขาว่า มาจากกรุงเทพฯ ทำงานในพื้นที่เสี่ยงเจอชาวต่างชาติทุกวัน และมีไข้ ไอ จาม เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก จากนั้นหมอจึงถามฉันว่าจะตรวจเอดส์ด้วยไหม? 

ฉันตอบไปว่าตรวจเมื่อ 2 ปี ที่แล้วและก็ไม่เคยมีอะไรกับใคร ฉันรู้สึกไม่ดีที่เพศอย่างฉันถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงการเป็นโรคเอดส์ ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

จากนั้นหมอจึงให้กักตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2 วัน แต่ด้วยระบบราชการที่มีหลายขั้น การตรวจโควิด-19 ของไทยจึงต้องรอการอนุมัติ PUI code จากทางจังหวัด จากนั้นจึงจะได้ PUI code ซึ่งในช่วงเย็นวันนั้น นักเทคนิคการแพทย์ก็มาเจาะเลือดไปตรวจผล และจะทราบผลเลือดออกในวันรุ่งขึ้นและให้ฉันกลับบ้านได้  

เมื่อทราบผลเลือดแล้ว ทางโรงพยาบาลจึงโทรศัพท์มาแจ้งที่โรงพยาบาลประจำตำบล หรือ รพสต.ใกล้บ้าน จากนั้นผู้อำนวยการ รพสต. จึงโทรหาผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งฉันได้ยินมาว่า ผอ.รพสต. ถามผู้ใหญ่บ้านว่า ลูกบ้านคนไหนที่เป็น “กะเทย” มาตรวจโควิด-19

ประสบการณ์ที่ฉันได้รับทั้งจากที่โรงพยาบาลและรพสต. ทำให้ฉันก็รู้สึกเหมือนถูกเลือกฏิบัติจากอัตลักษณ์ทางเพศ ทำให้ฉันดูแตกต่างจากสังคม เมื่อคนในตำบลรู้ว่า ฉันไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งผู้อำนวยการ รพสต. กำนัน และผู้ใหญ่บ้านก็มาที่บ้านเพื่อเก็บข้อมูล แต่ผู้อำนวยการ รพสต. ไม่กล้าเข้ามาภายในบ้าน ได้แต่ยืนอยู่หน้าบ้าน กระทั่งพ่อฉันบอกว่า ถ้ากลัวคนไข้ขนาดนั้น ก็ไม่ต้องมาก็ได้

ทุกคนมารอฟังผลการตรวจเลือดที่บ้านฉันและผลก็ออกมาในช่วงเย็น ปรากฏว่า เลือดเป็นลบ “ไม่ติดโควิด-19”  หลังจากนั้นฉันต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน 

ตอนที่ดิฉันอยู่โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ใส่ชุด PPE ทุกคน ยกเว้นฉัน ฉันสงสัยว่าทำไมพวกเขาไม่ป้องกันคนที่อาจจะเป็นคนไข้ ถ้าฉันติดเชื้อจากคนอื่นล่ะ จะทำอย่างไร 

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน หมอก็แนะนำให้มี Social Distancing โดยฉันกินข้าวกับพ่อ แม่ไม่ได้ ต้องแยกกิน จากที่เคยใช้ห้องน้ำห้องเดียวก็ต้องแยกกันใช้ พ่อแม่ก็ไม่กล้าที่จะสัมผัสกับของใช้ของฉัน ฉันไม่กล้าที่จะไปซื้อของในหมู่บ้าน ต้องไปซื้อของที่หมู่บ้านอื่นที่เขาไม่รู้จักฉัน ไม่รู้ว่าฉันมาจากไหน

จากประสบการณ์ที่ฉันพบเจอ ทำให้เห็นได้ชัดว่า โครงสร้างสังคมชนบทของภาคอีสาน ใครทำอะไร ที่ไหน พวกเขาจะรู้กันอย่างรวดเร็ว ตอนนี้คนทั้งตำบลรู้แล้วว่า

ฉันเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อโควิด-19 

ผู้คนยังระหวาดระแวงไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ฉัน บางวันฉันเข้าไปทำธุระในตัวเมือง แต่ด้วยความที่ฉันหายใจลำบากจึงเปิดหน้ากาอนามัยเพื่อสูดยาดมให้หายใจสะดวกขึ้น ทว่าผู้คนที่นั่งข้างขนาบข้างฉันก็เดินหนีไปเลย ทั้งที่เขาให้นั่งห่างกันถึง 2 เมตรแล้ว 

ฉันเริ่มจิตตก ด้วยความที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอเหตุการณ์แบบนี้สภาพจิตใจก็ยิ่งแย่ ทั้งๆ ที่ฉันเป็นเพียงกลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ แต่ก็ได้รับการปฏิบัติเหมือนผู้เป็นโรคร้าย

ฉันเห็นข่าวบนโลกโซเซียลมีเดียที่เกิดปรากฏการณ์ด่าทอผู้ป่วยว่านำเชื้อมาปล่อยทำไม ถ้าหากพิจารณากรณีของฉัน เมื่อฉันตกงานก็กลับบ้าน ไม่ได้มีเจตนาที่จะมาแพร่เชื้อ และฉันก็ไม่ได้ติดเชื้อด้วย 

Social distancing สำหรับฉันเหมือนกับว่า สังคมรังเกียจมากกว่า การเว้นระยะห่าง ทำให้ผู้คนมองดิฉันเหมือนตัวประหลาด ด้วยโครงสร้างทางสังคมชนบทที่อยู่ท่ามกลางโรคระบาด ผู้คนจึงตื่นตระหนกและมีความเข้าใจแบบผิดๆ เพราะความจริงเชื้อโรคนี้สามารถป้องกันได้

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ควรรณรงค์ให้ความรู้กับคนในชุมชนเพื่อเฝ้าระวังโรคเพื่อป้องกันการระบาดในสังคมอีสานมากกว่านี้  

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print