ขอนแก่น – สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิฯ ออกจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 15 เมษายน ถึงนายกรัฐมนมนตรี เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังเพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นคดีลหุโทษ คนแก่ ผู้ป่วย และหญิงมีครรภ์

จดหมายเปิดผนึกมีใจความสำคัญว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความร้ายแรงจนทำให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และห้ามคนออกจากบ้าน รวมทั้งงดการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากและให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ 

“ตอนนี้มีผู้ต้องขังทั่วประเทศ 377,769 คน เกินความจุของเรือนจำกว่า 123,000 คน เป็นสภาวะล้นคุก กระทั่งกรมราชฑัณฑ์ได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำต่างๆ ได้แก่ การงดเว้นการเยี่ยม การงดเว้นการนำผู้ต้องขังออกไปทำงานนอกเรือนจำ เป็นต้น” จดหมายเปิดผนึกระบุ 

จดหมายของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังในภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังบางกลุ่มที่สมควรตามข้อเสนอของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศ (องค์การมหาชน) ที่ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังบางกลุ่มที่สมควรอยู่ในเรือนจำน้อยที่สุด โดยพิจารณาจากลักษณะความผิด 

จดหมายเปิดผนึกของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เรียกร้องนายกฯ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังเพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นคดีลหุโทษ คนแก่ ผู้ป่วย และหญิงมีครรภ์

“ผู้ที่สมควรได้รับการปล่อยตัวต้องไม่ใช่ผู้ต้องขังคดีร้ายแรง ความประพฤติโทษคงเหลือ ตลอดจนภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม อาทิ การปล่อยตัวก่อนกำหนด การพักโทษ การปล่อยตัวชั่วคราว และการเปลี่ยนโทษจำคุกที่เหลือเป็นการควบคุมตัวที่บ้าน” จดหมายระบุ  

โดย สสส. เสนอว่า ผู้ต้องขังที่ควรได้รับการปล่อยตัว ได้แก่ 1.ผู้ต้องขังระหว่างที่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด ประกอบด้วย ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวน การไต่สวนพิจารณา รวมทั้งผู้ถูกกักกันและผู้ต้องกักขัง 2.ผู้ต้องขังที่อายุมากกว่า 60 ปี 3.ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรังและโรคมะเร็ง 4.ผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์ 5.ผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีลงไป 6.ผู้ต้องขังกลุ่มอื่นๆ ที่มีความผิดไม่ร้ายแรง และ 7.ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสาธารณะและผู้ต้องขังคดีที่มีสาเหตุทางการเมือง 

ทั้งนี้มีองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมลงชื่อกับสมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) อีก 14 องค์กร ได้แก่ 1. ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR) 2. Fairy Tale 3. Fortify Rights 4. International Federation for Human Rights (FIDH) 5. Human Rights Watch (HRW) 6. โครงการอินเทอเน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 7. Manushya Foundation 8. Protection International 9. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) 10. Working Group for Political Prisoners (Thailand) 11. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มพส.) 12. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) 13. มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม และ 14. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

 

image_pdfimage_print