มาโนช พรหมสิงห์ เรื่อง 

เช้า 8:00 น. ของวันอังคารที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ณ บ้านสวนของผม ผมกับธีร์ อันมัย มีนัดกับนักศึกษาหนุ่มสาวชาวอเมริกันราว 15 คน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเสรีภาพของนักเขียนไทย (อีสาน) ในห้วงแห่งสภาพสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน ผ่าน application zoom video call ข้ามทวีป

งานครั้งนี้ อำนวยการและประสานงานโดย คุณ John แห่งสำนักงานแลกเปลี่ยนนักศึกษา และคุณ Tony กรุณาให้เกียรติทำหน้าที่เป็นล่ามในการสนทนาครั้งนี้

แน่ละว่า ขณะที่บ้านเรามันคือเวลาเช้าตรู่ ทว่าสหรัฐอเมริกานั้นกำลังเข้าสู่ช่วงหัวค่ำ

นักศึกษาอเมริกันกลุ่มนี้ ห้วงหนึ่งไม่นานมานี้ ได้มาเรียนและเก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เรียกว่า Council On International Educational Exchange (CIEE) จ.ขอนแก่น แต่เพราะปัญหาโรคโควิด-19 พวกเขาจึงต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอนแยกไปตามรัฐต่างๆ ก่อนกำหนด 

ผมเองค่อนข้างตื่นเต้นไม่น้อย เพราะไม่นานมานี้ เมื่อสองเดือนที่แล้ว เราก็เพิ่งให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร a day เกี่ยวกับงานวรรณกรรมอีสานและวารสารชายคาเรื่องสั้น และ a day ฉบับ Isan Power ได้วางแผงมาไม่ถึงสัปดาห์ 

ก่อนการสนทนากับนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งเป็นอารยประเทศระดับแนวหน้าประเทศหนึ่งในการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย มันทำให้พลเมืองแห่งประเทศล้าหลังอย่างเรา ออกจะครั่นคร้ามไม่น้อยกับคำถามที่จะเผชิญจากปากของพลเมืองที่คุ้นชินกับเสรีภาพ ในรัฐซึ่งปกป้องด้วยสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีของพลเมือง มาแต่อ้อนแต่ออกอย่างพวกเขา 

ผมเห็นว่าเป็นการพบกันอย่างมีนัยสำคัญของคนต่าง generation เราเป็นผู้เฒ่าจากประเทศล้าหลัง ป่าเถื่อน อยู่ในระบอบการปกครองบิดเบี้ยว น่ากลัว น่าขัน พวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวจากประเทศปัญญาอารยะ ในระบอบเสรีที่เปิดกว้าง เคารพ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ทุก gender ทุกวัย

นัยที่สำคัญยิ่งกว่าอื่นใดก็คือ เราต่างเป็นมนุษย์ แหละเขาต้องการทราบข่าวคราวความเป็นอยู่ของเรา 

ในฐานะเพื่อนมนุษย์ในโลกใบเดียวกัน ห่วงใยกันในสภาวะไร้ระเบียบ (chaos) ของโลกที่ไวรัสร้ายกำลังคุกคาม การหวนกลับมาของผู้นำประเทศแบบชาตินิยมขวาจัด และเผด็จการในคราบประชาธิปไตยที่นำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจกับความเป็นอยู่ของประชาชน

ผมได้รับแจ้งว่า การสนทนาครั้งนี้จะยาวนาน 1.30 – 2 ชั่วโมง พักเบรก 10 นาที และเราสามารถตั้งคำถามเพวกเขาได้ในช่วงเวลาหนึ่ง

ผมทราบว่า พวกเขาสนใจว่าทำไมเราจึงทำวารสารชายคาเรื่องสั้น ที่ทั้งชื่อเล่ม บทบรรณาธิการ เรื่องสั้นที่ผ่านตีพิมพ์ คำตาม ล้วนมีลักษณะที่อาจกล่าวว่า ต้านรัฐ คำถามที่พุ่งสู่เราจึงเป็นไปในแนวนั้น และเขารู้สึกฉงนว่า ทำไมเราจึงทำหนังสือที่สวนทางกับระบอบการปกครองให้ผู้อ่านที่คนส่วนใหญ่ของประเทศดูจะเพิกเฉยหรือเห็นดีเห็นงามไปกับรัฐได้อย่างไร ด้วยวิธีใด

นั่นเป็นคำถามที่แหลมคมที่สุดในวันนั้น แหละคำตอบมันจะเปิดเปลือยให้คนนอกได้เห็นว่า นักเขียนอีสานกลุ่มนี้จริงใจในอุดมคติอุดมการณ์เพียงไร เราเสแสร้งทำตัวให้โดดเด่น ทั้งที่เนื้อแท้คือการรอมชอมหรือปลอมเป็นก้าวหน้า ทั้งที่ก็พอใจจะอยู่กับความล้าหลัง ซึ่งรัฐหยิบยื่นให้ตัวเองและครอบครัว

ผมกับธีร์ อันมัย ชี้แจงว่า เราผ่านการต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา ผ่านการติดตามข่าวการชุมนุมของม็อบเรียกร้องความเป็นธรรมของประชาชนรากหญ้า หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ผ่านการอ่านศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐที่กระทำต่อคนอีสานและคนรากหญ้าอื่นเรื่อยมา 

เราจึงรวมกลุ่มเป็น คณะเขียน (Like to Write, Light to Live) และกลุ่มนักเขียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อประชาธิปไตย (NEW4D) เพื่อต่อสู้และยืนยันในศักดิ์ศรีของมนุษย์ ศักดิ์ศรีและความหยิ่งทะนงของวรรณกรรม ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการต่อสู้เพื่อชีวิตและสังคมที่ดีงาม รวมถึงการบันทึกความเป็นอยู่กับสิ่งที่รัฐกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องต่อประชาชน

แหละบรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้นของคณะเขียนอย่างผม จะทำหน้าที่แก้ไขปรับปรุงต้นฉบับ ซึ่งผ่านการประกวด หากมีข้อความที่ล่อแหลมต่อการกระทำผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องนักเขียน หนังสือ บรรณาธิการ (ซึ่งผมเจ็บปวดมากที่ต้องแก้งานของมิตรสหายคนอื่น) ขณะที่นักเขียนส่วนหนึ่งจะใช้สัญลักษณ์ ความเปรียบ หรือเขียนด้วยกลวิธีเหนือจริง หรือด้วยวรรณศิลป์ที่สูงและแนบเนียนยิ่งขึ้น

ส่วนกลุ่ม NEW4D จะเป็นการรวมตัวกันเพื่อเขียนงานเขียนทุกชนิด ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี บทความ บทสัมภาษณ์ ซึ่งเน้นที่ความเป็นอีสาน ทั้งประวัติการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม สิทธิมนุษยชน เพศสภาพ (gender-LGBTQ) สิ่งแวดล้อม 

โดยจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Isaan Record และอาจจะพิมพ์งานบางประเภทเป็นรูปเล่มหนังสือ บางชิ้นอาจแปลเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ NEW4D อาจออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสังคมการเมืองในห้วงเวลาต่างๆ ด้วย 

ธีร์ อันมัย ไต่ถามพวกเขาว่า ในช่วงที่มาอยู่ประเทศไทย ก่อนจะเกิดปัญหาไวรัส รู้สึกอย่างไรกับประเทศไทย 

พวกเขาเล่าว่า น่าแปลกที่เข้าไม่ถึงความจริงบางอย่าง อาจเป็นเพราะถูกเซ็นเซอร์ และแปลกใจที่เพื่อนนักศึกษาไทยบอกว่า ธนบัตรไทยที่ปลิวตกพื้น หากเผลอหรือไม่ระมัดระวังแล้วบังเอิญไปเหยียบเข้า ก็อาจมีความผิดถูกจับกุมคุมขังได้ เพราะที่อเมริกา พวกเขาไม่ต้องระวังตัวขนาดนั้น จะพูดเขียนหรือชุมนุมประท้วงเรียกร้องอะไร ไม่ต้องถูกความกลัวเข้าครอบงำ

มีประเด็นปลีกย่อยอีกมากมายที่เราคุยกันในวันนั้น เช่น หากพวกเขาจะเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในห้วงขณะนี้ เขาควรจะเขียนอย่างไร ซึ่งเราก็ให้คำแนะนำสั้นๆ ว่า หากคุณจะเขียนเพื่อเผยแพร่ในประเทศของคุณ คุณก็คงเขียนถึงทุกสิ่งได้อย่างเสรี หากต้องการจะเผยแพร่ในไทย ขอแนะนำให้เลี่ยงที่จะเอ่ยถึงตัวบุคคล คุณอาจจะเขียนถึงประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อได้เท่านั้น 

ยังมีประเด็นแหลมคมอีกมากมายที่เราสนทนากันในวันนั้น

บทสนทนาถือว่าเป็นประโยชน์กับตัวเราเองมาก เพราะเราได้จัดกระบวนความคิดและทบทวนตัวเองในบางสิ่ง ซึ่งยังยุ่งเหยิงคลุมเครือให้เป็นระบบระเบียบและแจ่มชัดมากขึ้น 

วันนั้น ผู้เฒ่าอย่างผมยอมรับว่า แค่นั่งคุยอยู่หน้าโทรศัพท์มือถือไม่ถึง 2 ชั่วโมงดี ก็รู้สึกเหนื่อยกับการใช้พลังสมองเรียบเรียงความคิดทั้งชีวิตของตนออกมา พร้อมกับทึ่งกับยุคสมัยที่คนต่างชาติต่างภาษาอยู่คนละมุมโลก ได้สื่อสารอย่างเห็นหน้าค่าตากันได้ทันที โดยมิมีสิ่งใดขวางกั้น

ผมกล่าวขอบคุณพวกเขาที่ไต่ถาม พูดคุย แลกเปลี่ยนกับคนต่างชาติพันธุ์ต่าง generation (ผมจับความรู้สึกของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้ว่า ทุกคำพูดมันเจือความใฝ่รู้ ความเอื้ออาทร ความเป็นมิตร มากกว่าความต้องการแค่คะแนนหรือ paper ในบทวิจัยเท่านั้น) 

เพราะเราต่างจะได้มองเห็นเพื่อนมนุษย์ข้ามโลก ข้ามพรมแดน ข้ามวัฒนธรรมได้ชัดเจน ได้เห็นชะตากรรม ความรู้สึกนึกคิดลึกๆ เพราะเรามิได้อยู่คนละโลก ทว่ามันคือโลกใบนี้ ใบเดียวกัน เพียงแค่ต่างกันในบางด้านอย่างสุดขั้ว 

ผมบอกว่า ผมอิจฉาพวกเขาที่ได้มีชีวิตอยู่ในประเทศที่มีปัญญาอารยะเช่นนั้น แต่ผมก็ภูมิใจในมาตุภูมิของตน ภูมิใจที่ได้มีชีวิตอยู่ในไทยในห้วงขณะนี้ เพื่อจะยืนหยัดถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เสรีและเท่าเทียม ยืนหยัดความหยิ่งทะนงของวรรณกรรมเพื่อความดี ความงาม ความจริงของชีวิตและสังคม เพื่อลูกหลานและสังคมโดยรวมในอนาคต

image_pdfimage_print