ภาพหน้าปกจาก Chris Beale

จอห์น การ์โซลี (John Garzoli) เป็นหนึ่งในชาวตะวันตกเพียงไม่กี่คนที่ซาบซึ้งกับวัฒนธรรมดนตรีอีสาน นักวิชาการชาวออสเตรเลียคนนี้จบปริญญาเอกด้านดนตรีชาติพันธุ์วิทยา เขาได้นำความรู้ความสามารถในฐานะนักดนตรีผนวกเข้ากับงานวิจัยทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับบทบาททางวัฒนธรรมของดนตรีอย่างลงตัว 

จอห์น ทำงานวิจัยในช่วงเรียนปริญญาเอกเมื่อปี 2554 และ 2555 หลังก่อตั้งวงดนตรี บุญฮักษา ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ผสมผสมระหว่างดนตรีอีสานกับดนตรีแจ๊ส การได้ร่วมงานกับ วรงค์ บุญอารีย์ หัวหน้าวงบุญฮักษา ยิ่งทำให้จอห์นหลงใหลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการเล่นแคนและหมอลำในแดนอีสานมากขึ้น 

หลังจากนั้นเพื่อนร่วมวงก็ร่วมเดินทางไปกับจอห์นเพื่อสัมภาษณ์เหล่าปรมาจารย์หมอแคน เพื่อทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของหมอลำแบบดั้งเดิม

พวกเขากังวลว่า ประเพณีดั้งเดิมของอีสานอาจสูญหายไป หากคนรุ่นใหม่ขาดการเชื่อมต่อกับการแสดงหมอลำกลอนดั้งเดิม ซึ่งเป็นการร้องลำคู่ชายหญิงโดยมีแคนเป่าประกอบ

จอห์นยังศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของหมอลำและแคนในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงการสังเคราะห์ดนตรีระหว่างวัฒนธรรม “ด้วยการนำแคนและพิณ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของหมอลำมาผสมผสานให้เข้ากับรูปแบบดนตรีตะวันตก”

เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงใช้โอกาสนี้ชวนจอห์นมานั่งพูดคุยเชิงลึกถึงงานที่เขาทำ เพื่อให้รู้ว่า งานวิจัยของเขาบอกอะไรเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบันและอนาคตของหมอลำ 

(การสัมภาษณ์ครั้งนี้แปลจากภาษาอังกฤษและมีการแก้ไขเพื่อให้กระชับ)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: งานวิจัยของคุณเน้นศึกษาอะไรในประเพณีหมอลำอีสาน 

จอห์น การ์โซลี: จากการพูดคุยกับหมอลำรุ่นใหม่ ผมกังวลว่า ดนตรีหมอลำในบริบทดั้งเดิม ผมหมายถึง การถ่ายทอด การเล่น การเรียนรู้วิธีการเล่น การเรียนรู้ท่วงทำนอง และการเรียนรู้บทบาทของแคนในสังคมระหว่างรุ่นกำลังถูกทำลายความทันสมัยที่เข้ามาในบริบทชนบทไทย

เราอยากรู้ว่า นี่เป็นปัญหาที่อาจทำให้ประเพณีดั้งเดิมอีสานสูญหายไปหรือไม่ นอกจากนี้เรายังรู้สึกว่า ยังไม่มีการบันทึกภาพเป็นเอกสารสำคัญเก็บไว้หรือภาพของหมอแคนและสไตล์การเล่นที่ไม่เหมือนใครไว้เลย ซึ่งตอนนี้อาจไม่เป็นไร เพราะมีการบันทึกมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อปี 2554 แทบไม่มีการบันทึกเก็บไว้ในมหาวิทยาลัยเลยและในยูทูปก็มีน้อยมาก  

เราจึงอยากทำวิจัยของเราเอง ได้แก่ ผม ยอด [วรงค์ บุญอารีย์] จากอุบลราชธานี และนักดนตรีคลาสสิกคนไทยอีกคน ปกป้อง คำประเสริฐ์ ซึ่งก็มาจากตระกูลนักดนตรี

จอห์น การ์โซลี ขณะเล่น “The pursuit of imaginary sounds” (การแสวงหาเสียงจากจินตภาพ) ร่วมกับวงดนตรี เครื่องสายผสมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คุณสัมภาษณ์ใครบ้าง แล้วได้เรียนรู้อะไร 

จอห์น การ์โซลี: เราสัมภาษณ์หมอแคนรุ่นเก่าประมาณ  7 – 8 คน ที่อุบลราชธานี พวกเขาเป็นชาวนาหรือบางคนก็ทำเกษตร ไม่ได้เป็นนักดนตรีมืออาชีพหรือนักวิชาการเลย 

พวกเราไปหาพวกเขาที่บ้าน แล้วให้พวกเขาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความเป็นมาและการเล่นดนตรีอีสาน แล้วก็ขอให้พวกเขาเล่นดนตรีตามแบบฉบับของตัวเองให้เราฟัง สไตล์ดนตรีที่ว่าต่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพราะพวกเขาแต่ละคนก็มีสไตล์เป็นของตัวเอง ซึ่งพัฒนามาด้วยตนเองทั้งนั้น ขณะเดียวกันทุกคนต่างก็มีพื้นฐานลักษณะท่วงทำนองการเล่นตามแบบฉบับของชาวอุบลฯ 

พวกเราได้เรียนรู้ว่า หมอแคนทุกคนที่เราไปพบ ต่างมีความเชื่อมโยงกันผ่านตัวแทนคนเดียวกัน โดยเมื่อราวปี 2513 พวกเขาได้รู้จัก กลม ทาฏวงค์ ซึ่งเป็นหมอแคนอาวุโสที่สุดในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ และหลายคนก็เคยเล่นแคนที่ กลม ทาฏวงค์ ทำขึ้นมาเองกับมือ หมอแคนหลายคนก็เรียนรู้การเป่าแคนจากเขาด้วย

หมอแคนอาวุโสแต่ละคนต่างเห็นตรงกันว่า ประเพณีการแสดงหมอลำและแคนแบบอุบลเป็นแบบเก่าไปแล้ว จึงไม่มีใครเชื่อว่าการเป่าแคนจะมีต่อไปในอนาคต 

จริงๆ แล้ว [พวกเขาต่างก็พูดว่า] การเป่าแคนได้ตายไปแล้วหรือกำลังถูกทำให้หายไป ไม่มีนักเรียนและคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านสนใจที่จะมาเป่าแคนแล้ว เหล่าหมอแคนต่างรู้สึกว่า ความหมายทางวัฒนธรรมของการเป่าแคนที่ได้ลงทุนลงแรงไปก่อนหน้านี้ถูกลบหายไปหมดแล้ว

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สิ่งต่างๆ ที่พวกเขาหวงแหนอย่างสุดซึ้งอาจจะไม่เหลือรอดเกินรุ่นของพวกเขา แต่ละคนจึงถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นคำพูด ซึ่งผมไม่คิดว่า ประเพณีของพวกเขากำลังจะสูญหาย ผมคิดว่าพวกเขามีความเชื่อ ทั้งแบบส่วนตัวและแบบรวมหมู่ว่า ในยุคนั้นพวกเขาอาจเป็นคนสุดท้ายที่สืบทอดประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานหลายร้อยหรืออาจหลายพันปี 

** ดูจอห์นขณะเล่นร่วมกับวงบุญฮักษาได้ที่นี่ **

“ผมไม่คิดว่าแคนจะหายไป หรือดนตรีอีสานจะหายไป เพราะมหาวิทยาลัยและสื่อต่างๆ ให้การยอมรับถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมของดนตรีอีสาน แคนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ยอดนิยมที่นำมาใช้สื่อถึงอัตลักษณ์อีสาน”จอห์น การ์โซลี

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คุณคิดว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ดนตรีอีสานเปลี่ยนไปมากไหม  

จอห์น การ์โซลี: เปลี่ยนครับ ผมคิดว่า ดนตรีอีสานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อย่าง การนำวงโปงลางเข้ามาก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง เพราะโปงลางมีการนำระนาด แคน พิณ และเครื่องดนตรีอื่นๆ มาประกอบ

บางคนอาจจะมองว่า โปงลางเป็นสิ่งที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมา โดยเมื่อไม่มานานมานี้ มีนักวิชาการบางคนตั้งคำถามว่า โปงลางสะท้อนอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสานหรือวัฒนธรรมดั้งเดิมบ้าง เพราะมันเป็นแนวคิดที่เพิ่งถูกคิดค้น แต่โปงลางเป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยมในโรงเรียนต่างๆ แล้วก็ได้กลายมาเป็นแนวเพลงในแบบของตัวเอง 

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบการร้องลำซิ่งให้เป็นรูปแบบเพลงป๊อปหรือเพลงยอดนิยม ซึ่งประวัติของลำซิ่งนั้นน่าสนใจมาก เพราะมาจากการร้องลำกลอน ซึ่งเป็นการร้องเพลงประเภทหนึ่งระหว่างนักร้องชายและหญิง โดยมีแคนเป่าประกอบ ก่อนที่จะค่อยๆ ขยายออกไปเป็นลำหมู่ และลำเพลิน ซึ่งไม่ได้มีแต่หมอลำและหมอแคนเท่านั้นที่เล่น แต่ยังมีเครื่องดนตรีไฟฟ้าอื่นๆ อีก แล้วก็มีคนเต้นประกอบ มีโปรดักชั่นขนาดใหญ่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีวงดนตรีอีกหลายวง เช่น เดอะพาราไดซ์ แบงค็อกหมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล (Paradise Bangkok Molam International Band) กับ บุญฮักษา (Boonhugsa) ที่ผสมผสานดนตรีตะวันตกและแนวความคิดตะวันตกร่วมสมัยของดนตรีแนวเต้นรำเข้ากับเครื่องดนตรีอีสานและรากเหง้าความเป็นอีสาน ทั้งสองวงเป็นวงดนตรีที่มีคุณภาพสูง พวกเขาเป็นคนจริงทำจริง จึงไม่ใช่กลุ่มนักเรียนที่กำลังทำสิ่งประดิษฐ์อะไรขึ้นมา แต่เป็นนักดนตรีจริงที่มีทักษะในการเล่นประกอบลำกลอนในบริบทอื่น

เมื่อไม่นานมานี้ อาจจะช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเพลงแนวเต้นๆ แบบอิเล็กทรอนิกหรือแม้แต่เพลงป๊อปแบบเรียบง่ายหรือมินิมอลลิสต์ ก็นำแคนเข้ามามีส่วนประกอบ โดยมีวงดนตรีในฝรั่งเศสวงหนึ่งที่ทำแบบนี้ ชื่อวง ลีมูซีน (Limousine) และพวกเขาก็เล่นดนตรีร็อคแบบเรียบง่าย มันจึงเป็นเหมือนวงดนตรีแจ๊สหรือวงร็อคที่นำองค์ประกอบจากอีสานมารวมกัน แล้วมันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก คงที่มาก แล้วก็มีดนตรีแนวเต้นๆ แบบอิเล็กทรอนิก ที่ผสมการร้องแบบอีสานกับแคนมาประกอบกัน อาจจะมีพิณมาใช้ในบางคร้ัง

การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรก มันเป็นการเติบโตภายใน ซึ่งผู้ที่อยู่ในประเพณีได้ปรับทักษะการเล่นแบบสไตล์ “เก่า” ให้เข้ากับบริบทใหม่ๆ และอีกอย่างคือ การนำเครื่องดนตรีอีสานเข้าไปผสมกัยดนตรีตะวันตกมากขึ้น

** ดูจอห์นขณะเล่นดนตรีเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ที่นี่ **

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คุณคิดว่า ในอนาคต หมอลำหรือลำกลอนจะสูญหายไปไหม

จอห์น การ์โซลี: ลำกลอน ในบริบททางสังคมนั้นได้เลือนหายไปค่อนข้างมากแล้ว เพราะการดำเนินชีวิตในหมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลง มีการนำแคนมาสอนในระดับมหาวิทยาลัยและมีการแข่งขันเป่าแคน ซึ่งเป็นการให้โอกาสและสร้างแรงจูงใจให้คนมาเข้าร่วมแข่งขัน แต่การเป่าแคนก็ไม่เหมือนเดิม คือโดยพื้นฐานแล้วมันถูกแทนที่ด้วยความบันเทิงในกิจกรรมสาธารณะ ดังนั้นลำกลอนที่เป็นพื้นฐานของการเป่าแคนก็ถูกลดบทบาทลง แต่ผมไม่เห็นว่ามันเสี่ยงที่สูญหายไปในลักษณะเดียวกันกับที่ผมเคยเป็นห่วงเมื่อ 2-3 ปีก่อน

ผมไม่คิดว่าแคนจะหายไป หรือดนตรีอีสานจะหายไป เพราะมหาวิทยาลัยและสื่อต่างๆ ให้การยอมรับถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมของดนตรีอีสาน แคนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ยอดนิยมที่นำมาใช้สื่อถึงอัตลักษณ์อีสาน แล้วก็มีเหตุผลในทางการเมืองที่จะทำให้ดนตรีอีสานอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมอย่างมาก แล้ว ตอนนี้ก็ถือว่าได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามดนตรีอีสานจะยังคงเปลี่ยนแปลงตัวเองต่อไป เพราะมีการนำดนตรีอีสานมาใช้ในดนตรียอดนิยมร่วมสมัย ซึ่งมีวิธีการร้องที่แตกต่าง มีการทิ้งท่วงทำนองการร้องแบบดั้งเดิม

เดอะอีสานเรคคอร์ด: หมอลำที่คุณไปคุยด้วยได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของประเพณีหมอลำนี้ไว้อย่างไรบ้าง

จอห์น การ์โซลี: ความกลัวในหมู่หมอลำยุคก่อนๆ ที่ผมไปพูดคุยด้วย พวกเขากลัวว่าการแสดงเฉพาะทางที่เป็นการเป่าแคนตามลำกลอนนั้นจะหายไป เพราะหมอลำรุ่นเยาว์หรือรุ่นหลังๆ ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้

ในความคิดของหมอลำยุคก่อนคือ หมอแคน หมายถึงคนที่เล่นประกอบหมอลำได้ การมีทักษะและคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ในครอบครองหมายถึงการเป็นหมอแคนจริงๆ ไม่ใช่แค่จะเป่าเป็นท่วงทำนองได้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเป่าตามท่วงทำนองลำกลอนได้ต่างหาก สำหรับคนเป่าแคน นั่นหมายถึงการเข้าใจรูปแบบสำคัญ ทั้งทางสั้นและทางยาว ซึ่งเป็นโหมดดนตรีหลักเลย แม้ว่าทางสั้นและทางยาวจะมีความหมายว่าสั้นและยาวตามลำดับ คำเหล่านี้ไม่ได้อธิบายถึงการเล่นดนตรีตรงๆ อธิบายง่ายๆ ก็คือ ทางสั้นเป็นโหมดเสียง “เมเจอร์” และทางยาวเป็นโหมดเสียง “ไมเนอร์” ซึ่งโหมดเหล่านี้มีความไพเราะแตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาค โดยทั่วไปแล้วแต่ละโหมดก็จะต้องใช้ความรู้และทักษะในระดับสูง

ความรู้และทักษะเฉพาะทางในระดับนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้จริงมากนักในดนตรีสมัยใหม่ ดังนั้นนักดนตรีอาวุโสจึงกังวลว่า แม้มหาวิทยาลัยจะฝึกฝนให้มีคนเล่นแคนได้ดีและเก่ง แต่ความหลากหลายแตกต่างในระดับภูมิภาค ไปจนถึงความไพเราะสมบูรณ์ของประเพณีดนตรีอีสานก็อาจจะหายไปพร้อมกันกับรูปแบบการเล่นแบบยุคเก่าๆ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ในอนาคต คุณอยากเห็นดนตรีอีสานเป็นอย่างไร

จอห์น การ์โซลี: ส่วนตัวผมอยากให้ดนตรีอีสานและความหลากหลายของดนตรีอีสานประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางที่สุด ผมเข้าใจว่า การสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จริงจะต้องได้รับการสนับสนุนจากสถาบันต่างๆ ผมจึงขอให้มหาวิทยาลัย เท่าที่ผมจะมีส่วนช่วยได้ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมดนตรีอีสาน พยายามทำให้มีการพูดคุยสนทนาเกี่ยวกับแคน สอนการเป่าแคน แล้วก็รักษาระบบความรู้เกี่ยวกับแคน ถ่ายทอดความรู้และทักษะจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนที่สูญหายไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะพามันกลับมาได้อีกไหม

แคนมีความสำคัญในชีวิตทางสังคมในภาคอีสานอย่างมาก มากจนดูเหมือนว่ามันไม่ใช่แค่สิ่งที่พิเศษที่คนอีสานปฏิบัติกันมา แต่แคนเป็นสิ่งที่ยึดติดอยู่ในชีวิตทางสังคมในภาคอีสาน แต่แคนเป็นระบบดนตรีที่ยอดเยี่ยมและเป็นบทกวีที่เป่าประกอบลำกลอนที่ต้องไม่สูญหายไป ลำกลอนเป็นรูปแบบเฉพาะของกวีนิพนธ์ที่มีเอกลักษณ์และมีความพิเศษสูง และจะต้องมีการฝึกฝนทักษะอย่างมาก

ส่วนลำกลอนก็ค่อนข้างจะแยกจากกันอยู่ แต่ก็ไม่ได้แยกออกจากการเป่าแคนทั้งหมด เพราะแคนพยายามจะจับคู่หรือเข้าจังหวะกับลำกลอน ผมอยากให้สนับสนุนเรื่องนี้ อย่างน้อยมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ผมอยู่ตอนนี้ก็ให้การสนับสนุนเรื่องนี้อยู่พอสมควร

อาจฟังดูเหมือนกับว่าผมมองเชิงลบเกินไป แบบห่วงเกี่ยวกับการถ่ายทอดความรู้ประเพณีดั้งเดิมอีวานไปสู่คนรุ่นใหม่จะสูญหายไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในตอนนี้ ก็ดีที่กว่าที่ผมคิดไว้เมื่อ 10 หรือ 15 ปีก่อน

ตอนนี้มี อ้นแคนเขียว  ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากการแสดงเป่าแคนและเขาก็ยังได้รับการสนับสนุนอจากนักการทูตที่ติดตามเขาไปทั่วโลกและให้เงินสนับสนุนการเดินทางด้วย ผมจึงรู้สึกว่า มีบางอย่างเดิมพันอยู่ตรงนี้

ผมคิดว่า อัตลักษณ์ของอีสานอาจสะท้อนออกมาให้เห็นในแง่ดีๆ ได้ โดยไม่ต้องพยายามทำอะไรเพิ่ม อย่างนักดนตรีแคนสมัยใหม่ อย่างอ้น ที่แสดงร่วมกับหมอลำจริงๆ เป็นคนที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีอย่างลึกซึ้งและเป็นนักดนตรีที่มีทักษะสูง เขาแสดงให้เห็นจากมุมมองทางดนตรีและวัฒนธรรมว่า มันมีบางสิ่งที่น่าสนใจที่จะต้องพูดออกมาและมีสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และจะต้องไม่ทำให้สูญหายไป

จอห์น การ์โซลี ขณะเล่นกีตาร์ในจังหวะที่เขาบอกว่า สามารถผสมกับเครื่องดนตรีอีสานได้

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนให้ความสนใจหรือรับรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์อีสานมากขึ้นหรือไม่ ถ้ามี มันเกิดจากอะไร 

จอห์น การ์โซลี: ผมเชื่อว่า มันเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจในภูมิภาคของตัวเอง ผมคิดว่าอาจจะมีหลายปัจจัยด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพวกเขาให้ความสำคัญกับประเพณีดนตรีดั้งเดิมของขอนแก่นเป็นพิเศษ ผ่านวงดนตรีต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ฝังลึกจริงจังและพวกเขาเองก็สร้างเครือข่ายและสถาบันไว้เพื่อสนับสนุนเรื่องนี้

นอกจากนี้ ยังมีการรับรู้ด้วยว่า วัฒนธรรมอีสานถูกกดขี่ทางการเมืองในอดีตและมีการต่อต้านการกดขี่นั้น ผู้คนรู้สึกว่าอัตลักษณ์และวัฒนธรรมอีสานแตกต่างจากอัตลักษณ์และวัฒนธรรมส่วนกลางของไทยหรือกรุงเทพฯ และมีเรื่องของการเมืองที่มาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากสีของเสื้อที่ผู้คนสวมใส่

แล้วก็มีเหตุผลทางการเมืองว่า ทำไมอัตลักษณ์ของอีสานจึงอาจมีความสำคัญในตอนนี้มากกว่าที่ผ่านมา โดยมีโอกาสในการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก แล้วก็ช่องทางอื่นๆ ที่จะนำมาแสดงให้เห็นความสำคัญ ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่องทางเหล่านี้ไม่มีจึงทำให้มีกลุ่มคนมารวมตัวกันบนพื้นที่ต่างๆ เช่น โซเชียลมีเดีย เพื่อเรียกร้องให้อัตลักษณ์หรือภาษาท้องถิ่นของตัวเองได้รับการยอมรับ

ผมคิดว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงผลลัพธ์ที่เกิดจากการถูกกดขี่ทางการเมืองในประเทศ และก็เป็นโอกาสที่ช่องทางของเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ผู้คนแสดงการต่อต้านการกดขี่นั้นกลับไป ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

แต่ดูเหมือนว่าจะมีการยกระดับสถานะของสิ่งที่สื่อถึงความเป็นคนอีสานในช่วง 10 หรือ 15 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และนั่นก็ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยคนขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ที่ฟังเพลงลูกทุ่งกับกินส้มตำ ผมคิดว่า มันน่าจะเป็นผลมาจากการที่ผู้คนในภาคอีสานมีความรู้สึกและเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของความเป็นอีสานเพิ่มมากขึ้น

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คุณบอกว่า จากความคิดเห็นของแหล่งข้อมูลของคุณ เมื่อช่วงปี 2554-2555 การถ่ายทอดการเป่าแคนจากรุ่นสู่รุ่นกำลังจะตาย ตอนนี้คุณรู้สึกมีความหวังมากขึ้นไหม

จอห์น การ์โซลี: ผมคิดว่า เมื่อการถ่ายแบบทอดข้ามรุ่นกำลังจะหายไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติของสังคม รวมถึงโครงสร้างทางสังคมของชนบท ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะนำวิธีการการถ่ายทอดข้ามรุ่นกลับคืนมาได้

แต่ผมไม่คิดว่า ผมจะรู้สึกมีหวังขึ้นมา ถ้าผมกลับไปถามนักดนตรีหรือหมอแคนรุ่นเก่าๆ ที่ผมคุยด้วยว่า พวกเขาจะรู้สึกมีหวังที่จะฟื้นฟูวิธีการถ่ายทอดความรู้แบบดั้งเดิมแบบที่เคยสอนเป่าแคนกันมาแต่ก่อนหรือไม่

ผมคิดว่า สิ่งที่น่ายินดีมากก็คือ การที่แคนได้มาอยู่ในพื้นที่การเรียนรู้ ที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งผลที่ตามมาของการเพิ่มความสนใจและสนับสนุนอัตลักษณ์ของภูมิภาคแบบนี้ หมายถึง มันมีการส่งเสริมประเพณีดั้งเดิมอีสานในสถาบัน นั่นหมายความว่า นักเรียนและนักศึกษาสามารถเรียนที่โรงเรียนหรือที่มหาวิทยาลัยหรือในที่อื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาตามชายขอบมาสู่การจัดสอนในสถาบันแทน ทำให้หัวข้อเหล่านี้ได้รับเกียรติมากขึ้น 

ข้อกังวลเดียวที่ผมมีและผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ร้ายแรงเพียงใด นั่นคือ ความหลากหลายของประเพณีการเป่าแคนแบบดั้งเดิมแบบในชนบทนำมาไว้ในหลักสูตรมหาวิทยาลัยทั้งหมดไม่ได้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านดนตรีที่เข้มแข็ง แต่หลักสูตรนี้จะสอนการเป่าแคนในรูปแบบของท้องถิ่นของจังหวัดขอนแก่นหรือในส่วนนี้ของภูมิภาค การไม่มีหลักสูตรการเรียนดนตรีที่คล้ายคลึงกัน อย่าง กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด หรืออุบลฯ มันหมายความว่า ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเพณีเหล่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันให้เหมือนกัน

ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงอยู่เล็กน้อยว่า การสูญหายของประเพณีต่างๆ หมายถึงการสูญหายของความหลากหลายและการทำให้บางอย่างเข้าไปอยู่ในสถาบัน เช่น แคน หมายถึง ความตั้งใจ ความเอาใจใส่ ในรูปแบบการเล่นของแต่ละบุคคลจากแต่ละภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ นี่เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่หายไปก็คือ ความหลากหลายในระดับภูมิภาคและสไตล์ของหมอแคนแต่ละคนที่ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาในระบบ

ผมหวังว่า ความนิยมของแคนที่เกิดขึ้นล่าสุด เห็นได้จากการปรากฎตัวในดนตรีป๊อปหรือแนวเพลงยอดนิยม จะไม่ทำให้ประเพณีดนตรีแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหรือต้นกำเนิดของการเป่าแคนสูญหายไป

จอห์น กราโวลี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านดนตรีชาติพันธุ์วิทยา จากมหาวิทยาลัยโมนาช ( Monash) และมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวิจัย จอห์นได้รับรางวัลและทุนการวิจัยมากมาย ได้แก่  “รางวัล Asia Endeavour Award 2011” และ “ทุนวิจัยหลังปริญญาเอก “2016 Endeavour Post-doctoral Research Fellowship” และได้รับเชิญเป็นนักวิชาการนานาชาติที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายครั้ง และเคยเข้าร่วม “โครงการศิลปินในพำนัก (Artist in Residence)” ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นการนำกีตาร์มาใช้ในเพลงไทยดั้งเดิม

งานวิจัยของจอห์นเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับดนตรีอีสาน เพลงไทยดั้งเดิมและร่วมสมัย หลักสูตรการสอน การสังเคราะห์ดนตรีต่างวัฒนธรรม การแสดงดนตรี สุนทรียภาพ และดนตรีแจ๊ส โดยจอห์นได้เผยแพร่ผลงานวิชาการอย่างกว้างขวางทั้งในวารสารอย่าง  Musicology Australia และ The International Journal of Community Music

image_pdfimage_print