ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง
อาชีพขายล็อตเตอรี่ก็ไม่ต่างจากการขายฝัน-ขายความหวังที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้กำหนด แต่หลังการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศเลื่อนการขายฝันออกไปก่อน ทำให้ผู้ค้าล็อตเตอรี่รายย่อยต้องน้ำตาตกใน เพราะขาดรายได้และมีภาระหนี้สินที่ต้องผ่อนส่ง
“ล็อตเตอรี่กระดาษใบเล็กๆ ที่เคยเป็นเสมือนเงิน ตอนนี้เป็นแค่กระดาษและกินไม่ได้ด้วย”
เคน ศรีพุทธา พ่อค้าขายล็อตเตอรี่ วัย 54 ปี ชาวบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวถึงผลกระทบจากกรณีที่กองสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติเลื่อนวันออกรางวัลงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 พร้อมกับงดออกรางวัลงวดวันที่ 16 เมษายน 2563 และงวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับเขา การเลื่อนวันประกาศรางวัล ทำให้สลากที่เขาและภรรยารับซื้อมาเกือบ 1,000 ใบ ไม่สามารถนำไปเร่ขายได้ เท่ากับว่าเขาและภรรยาสูญเสียรายได้รวมกันในเดือนเมษายนไปแล้วเกือบ 15,000 บาท
ชาวบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย ออกเร่ขายล็อตเตอรี่ ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านกว่าร้อยละ 70 ทำอาชีพขายล็อตเตอรี่เป็นอาชีพเสริมนอกฤดูการเกษตร
รายได้เสริมนอกจากการทำเกษตร
บ้านนาหนองบง เป็นหนึ่งในหมู่บ้านหลายแห่งในจังหวัดที่ผู้คนหารายได้เสริมด้วยการเดินทางออกไปเร่ขายล็อตเตอรี่ตามต่างจังหวัด หลังเว้นว่างจากอาชีพหลักคือการทำการเกษตร
พวกเขาจะตระเวนไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อย่าง กรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ช่วง 10 วัน ก่อนถึงวันประกาศผลรางวัลสลากในงวดทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน ก่อนออกเดินทาง เคนและภรรยา รวมถึงเพื่อนบ้านในบ้านนาหนองบงกว่า 30 หลังคาเรือน จะไปซื้อสลากชุดกับผู้ค้าส่งสลากชุด (ยี่ปั๊ว – ผู้รับซื้อสลากมาจากรัฐบาลอีกครั้ง) ที่ตลาดขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในตัวเมืองอำเภอวังสะพุง
จากนั้น พวกเขาจะลงขันค่าน้ำมันให้แก่เจ้าของรถที่ชาวบ้านร่วมกันโดยสารเดินทางไปยังจังหวัดปลายทางเพื่อเร่ขายสลาก
เคนและภรรยามักจะไปเร่ขายสลากกินแบ่งในพื้นที่ตัวเมืองกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เป็นประจำ
“พวกเราจะช่วยกันออกค่ารถคนละ 600 บาท เป็นค่าโดยสารทั้งไป-กลับ แล้วก็มีค่าเช่าห้องพัก 9 วัน ประมาณ 1,600 บาท กับข้าวก็เตรียมอาหารแห้ง ปลาแห้ง ปลาร้า ข้าวเหนียวจากบ้านไปกินระหว่างทำงาน” เคนกล่าว
แผงขายลอตเตอรี่ของผู้ค้าเร่ขายรายย่อย ภาพจาก istock.com/WachiwitStreet vendor selling Thai Lottery.
ขายสลากก่อน จ่ายเงินทีหลัง
ปัจจุบัน ราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่กองสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดทำขึ้นแล้วส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) ในแต่ละพื้นที่ อยู่ที่คู่ละ 70.40 บาท ซึ่งเป็นราคาเมื่อถึงมือยี่ปั๊ว ก่อนส่งขายให้พ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย ซึ่งราคาจะตกอยู่ที่คู่ละ 80-90 บาท
แต่ด้วยความต้องการระบายสลากออกไปขายให้มากที่สุด ยี่ปั๊วจึงมีข้อเสนอให้พ่อค้าแม่ค้าสลากรายย่อยสามารถทำสัญญาผ่อนซื้อสลากได้ครั้งละมากๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การนำสลากไปขายก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินคืนให้ยี่ปั๊วทีหลัง
เคนและภรรยาจึงต้องทำสัญญาผ่อนซื้อสลากชุดกับยี่ปั๊วครั้งละจำนวน 500 ใบ ซึ่งราคาที่ยี่ปั๊วขายให้จะตกใบละ 80 บาท ซึ่งเขาและภรรยาจะนำไปขายต่อใบละ 100 บาท แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะได้กำไรใบละเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“พวกผมต้องจ่ายค่าสลาก 80 บาท พร้อมดอกเบี้ยใบละ 2 บาทคืนให้ยี่ปั๊ว พร้อมจ่ายค่าเดินทางไป-กลับ จากบ้านไปกบินทร์บุรี 600 บาท และจ่ายค่าที่พักคืนละ 200 บาทเป็นเวลา 9 วัน พร้อมกับจ่ายค่าน้ำดื่ม ค่าอาหารในแต่ละวันที่ไปเร่ขายลอตเตอรี่ด้วย” เคนกล่าว
กำไรจากการขายลอตเตอรี่งวดล่าสุด คืองวดวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เขาและภรรยาได้เงินกลับมาใช้จ่ายหนี้สินที่บ้านและซื้ออาหารกินรวมกันเกือบ 15,000 บาท
“มันเป็นรายได้ที่ดีมากในช่วงฤดูแล้ง ที่อาหารตามธรรมชาติในหนองน้ำในป่าหายาก และการทำไร่ทำสวนที่ไม่ได้ผล” เคนกล่าวและว่า “แต่ตอนนี้ เงินที่ได้มาก็เริ่มจะหมดแล้ว เพราะไม่ได้ออกไปขายสลากเกือบจะ 1 เดือน”
พ่อค้าแม่ค้าเร่ขายล็อตเตอรี่รายย่อยกำลังเดือนร้อน เนื่องจากไม่สามารถออกไปเร่ขายลอตเตอรี่ หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
ไม่มีรายได้แล้ว ยังไม่มีเงินไปจ่าย “ยี่ปั๊ว”
หลังจากเคนและภรรยาไม่ได้ออกไปขายลอตเตอรี่ รายได้ส่วนนี้ก็หายไป พวกเขาทั้งสองจึงไม่รู้ว่า ในอนาคต หากขายสลากที่เหลืออยู่ไม่ได้ พวกเขาจะหาเงินหลายหมื่นบาทจากที่ไหนไปจ่ายคืนให้ยี่ปั๊ว
“เงินเก็บก็เหลือน้อยลง แต่ไม่ห่วงเรื่องกินอยู่ เพราะที่บ้านมีข้าวสาร มีอะไรก็กินได้หมด แต่คิดหนัก หากต้องหาเงินไปจ่ายยี่ปั๊ว เพราะไม่มีคนซื้อ และออกไปขายไม่ได้” เคนกล่าว
สถานการณ์ของสองสามีภรรยาคู่นี้คล้ายกับ รวงทอง สุทธิสอน แม่ค้าเร่ขายลอตเตอรี่ วัย 35 ปี ชาวบ้านนาหนองบง ที่เหลือล็อตเตอรี่ในมือขณะนี้มากถึง 600 ใบ รวมกับของสามีอีก 500 ใบ รวมทั้งหมดเป็น 1,100 ใบ
ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่พวกเขาต้องรีบเดินทางกลับเข้าหมู่บ้านด่วน ขณะกำลังออกเร่ขายล็อตเตอรี่ที่ตัวอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เพราะรัฐบาลจะบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศ และมีคำสั่งห้ามเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19
“คนขายล็อตเตอรี่ด้วยกันลือกันว่า ถ้าไม่กลับบ้าน จะออกจากฉะเชิงเทราไม่ได้ 2 สัปดาห์ พวกเราจึงรีบกลับบ้านให้เร็วที่สุด ทั้งที่ขายได้เพียงแค่ 3 วัน” รวงทองกล่าว
ทำให้ตอนนี้ครอบครัว “สุทธิสอน” กังวลใจอย่างหนักกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากไม่สามารถขายลอตเตอรี่ที่เหลือให้หมด พวกเขาก็ไม่มีเงินไปจ่ายยี่ปั๊ว
“ตอนแรกก็หวังจะนำเงินจากการขายล็อตเตอรี่ไปจ่ายหนี้สินที่ธนาคารออมสิน รวมถึงหนี้กองทุนหมู่บ้านประจำเดือน แต่กลับกลายเป็นว่าออกไปขายไม่ได้ ถึงจะออกไปขายช่วงนี้ก็ไม่มีคนซื้อ เพราะรัฐบาลเลื่อนประกาศรางวัลงวดวันที่ 1 เม.ย. ไปออกเป็นวันที่ 2 พ.ค ซึ่งนานเกินไป” รวงทองกล่าว
รวงทองเพิ่งได้รับแจ้งจากยี่ปั๊วที่เธอและสามีไปรับสลากมาขายว่าจะไม่มีการรับซื้อล็อตเตอรี่คืน เพราะเชื่อว่ายังขายได้อยู่ อีกทั้งเชื่อว่า อีกไม่นาน รัฐบาลจะอนุญาตให้ทุกคนออกนอกบ้านและเดินทางข้ามจังหวัดได้
“พวกเรารอไม่ได้ ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ พวกเราต้องคิดว่าจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้สินและซื้อกับข้าวให้คนในครอบครัวกิน”
รวงทองโอดครวญ พร้อมกับกล่าวว่า “ในอนาคตเธออาจต้องไปกู้เงินจากนายทุนนอกระบบมาใช้จ่าย”
เรียกร้องกองสลากรับซื้อคืนในราคาสูง
ครอบครัวของรวงทองและครอบครัวของเคน กำลังตั้งหน้าตั้งตารอให้รัฐบาลอนุมัติเงินเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนละ 5,000 บาท แต่ก็ไม่รู้ว่าความหวังนี้จะสิ้นสุดวันไหน
พวกเขาทั้งสองจึงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพนี้ โดยขอให้กองสลากฯ รับซื้อลอตเตอรี่งวดวันที่ 1 เมษายนคืน ในราคาที่สูงกว่าราคาส่งประมาณ 5-10 บาท เพราะจะได้นำเงินไปส่งคืนยี่ปั๊ว
“พวกเราไม่อยากเป็นหนี้เป็นสินตอนแก่เฒ่า อยากให้รัฐบาลรับซื้อคืนในราคา 80-85 บาท จะได้มีเงินไปคืนยี่ปั๊ว และมีเงินติดตัวไว้ใช้จ่าย” รวงทองอธิบายเหตุผล
ภาพประกอบแถลงการณ์ของพรรคสามัญชนต่อกรณีความเดือดร้อนของผู้เร่ขายล็อตเตอรี่ ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก พรรคสามัญชน
พรรคสามัญชนออกแถลงการณ์ รัฐต้องช่วยเหลือคนขายลอตเตอรี่
“หยุดผลักภาระให้คนขายลอตเตอรี่ กองสลากต้องรับซื้อลอตเตอรี่คืนและเยียวยาคนขายลอตเตอรี่ทันที” เป็นบางส่วนในแถลงการณ์ของพรรคสามัญชนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา บนหน้าเพจเฟซบุ๊ก พรรคสามัญชน – Commoners Party
บางส่วนของแถลงการณ์ยังระบุว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรัฐวิสาหกิจที่สร้างรายได้ให้รัฐเป็นอันดับ 1 โดยจัดส่งรายได้เข้ารัฐกว่า 41,916 ล้านบาทต่อปี โดยมีกลไกที่ทำให้คนขายลอตเตอรี่รายย่อยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการจำหน่ายลอตเตอรี่ พรรคสามัญชนจึงมีข้อเสนอต่อปัญหาผลกระทบที่เกิดกับคนขายลอตเตอรี่จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19
“สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องรับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรี่งวดวันที่ 1 เมษายน 2563 จากคนขายลอตเตอรี่รายย่อยทุกคนที่มีความประสงค์จะขายคืนในราคาเท่ากับที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำหน่าย โดยกำหนดช่วงวันในการรับซื้อคืนอย่างชัดเจน” แถลงการณ์ของพรรคสามัญชนระบุ
ขณะเดียวกัน พรรคสามัญชนยังเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยรายได้ให้คนขายล็อตเตอรี่ที่สูญเสียรายได้จากการลงทุน (งวดวันที่ 1 เมษายน 2563) ที่ต้องหยุดขายแล้วกลับมากักตัว 14 วัน เพราะไม่สามารถเดินทางไปขายลอตเตอรี่ได้
“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาคนขายลอตเตอรี่คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ให้เหมือนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19” เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของพรรคสามัญชน
สุดท้าย ขอให้เลื่อนการออกรางวัลของงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 จากเดิมที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลแห่งประเทศไทย มีมติให้ออกในวันที่ 2 พ.ค. 63 ออกไปก่อน เพราะคนขายลอตเตอรี่รายย่อยไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ไปขายลอตเตอรี่ได้
สุนทร หงชัย ชาวบ้านนาหนองบง สมาชิกพรรคสามัญชนและผู้เคยทำอาชีพเร่ขายลอตเตอรี่ กล่าวว่าเข้าใจความรู้สึกของคนขายลอตเตอรี่รายย่อยที่เป็นชาวบ้านจริงๆ เพราะตนเคยทำอาชีพนี้มา และทราบว่า เพื่อนบ้านหลายคนกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน
“พอพวกเขาออกไปขายล็อตเตอรี่ไม่ได้ ก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้คืน เพราะบางคนทำสัญญาต้องส่งเงินคืนยี่ปั๊วทุกวัน” สุนทรเล่าจากประสบการณ์และเสนอว่า รัฐบาลควรพิจารณาข้อเสนอของพรรคสามัญชนเพื่อแก้ไขปัญหานี้
”รัฐบาลควรอนุมัติเงินเยียวยาให้กับคนทำอาชีพที่มีรายได้ไม่มั่นคงเหล่านี้ทั้งหมด เพราะพวกเขาขาดรายได้จากนโยบายรัฐบาลที่วางแผนไม่รอบคอบ” สมาชิกพรรคสามัญชนเสนอ
การประกาศเลื่อนรางวัลออกไปเป็นวันที่ 2 พฤษภาคม ไม่ได้มีเพียงแต่ 2 ครอบครัวจากบ้านนาหนองบงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีอาชีพผู้เร่ขายความหวังจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ค้าล็อตเตอรี่รายย่อยที่ได้รับผลกระทบอีกไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคน