อรนุช ผลภิญโญ เรื่อง
ร้อยเอ็ด – หลังการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้หลายพื้นที่ขาดอาหาร อีกทั้งคนในชุมชนตกงานและขาดรายได้ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤต กลุ่มคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด จึงรวบรวมข้าวหอมมะลิกว่า 500 กิโลกรัมจากธนาคารข้าวหอมมะลิร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน จากธนาคารอาหารเพื่อชุมชนนำไปบริจาคให้แก่ผู้ขาดแคลน
วิทยา พุทธทรวง ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เปิดเผยถึงแนวคิดการนำอาหารจากชุมชนภายใต้ธนาคารอาหารเพื่อชุมชนไปบริจาคให้ผู้ประสบปัญหาว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้การหาอยู่หากินลำบาก จากเดิมที่เคยไปรับจ้างหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ ก็ทำไม่ได้
“แนวคิดเรื่องธนาคารอาหาร ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและเป็นคลังอาหารให้กับสมาชิกในเครือข่าย รวมถึงประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนผลผลิตและทรัพยากรที่มีในแต่ละชุมชน” วิทยากล่าว
ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้ประสานงานกับเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อนำข้าวหอมมะลิมาสมทบ เบื้องต้นมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจำนวน 269 ครอบครัว ใน 7 พื้นที่ โดยพรุ่งนี้ (28 เมษายน) จะไปรับข้าวสารจากเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด จากนั้นจะส่งข้าวสารและอาหารที่หาได้จากป่าไปทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้เดือดร้อนในเครือข่ายฯ อาทิ ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าชุมชนบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ กลุ่มเครือข่ายผู้ไร้สัญชาติ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น
หนูปา แก้วพิลา (ซ้าย) ตัวแทนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ส่งข้าวหอมมะลิให้ผู้ขาดแคลนอาหาร หลังการระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่ หนูปา แก้วพิลา ตัวแทนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า พื้นที่ทุ่งกุลาถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ แต่ตอนนี้นายทุนกลับจะเข้ามาสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล พอเกิดวิกฤตแบบนี้ ข้าวปลาจึงมีความสำคัญกว่าโรงงาน
“วิกฤตคราวนี้เห็นได้ชัดว่า ทุกคนต้องพึ่งพาทรัพยากรที่มี และพื้นที่บ้านเราก็สามารถปลูกข้าวหอมมะลิเลี้ยงดูคนได้ทั่วประเทศ ตอนนี้ก็รวบรวมข้าวสารได้แล้วถึง 500 กิโลกรัมเพื่อส่งไปช่วยเหลือพี่น้อง และอยากเชิญชวนให้ทุกคนหันมาพึ่งพาตัวเอง เพราะหมดหวังกับรัฐบาล” ตัวแทนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด กล่าว
ขณะที่ ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโควิค-19 เศรษฐกิจเชิงศีลธรรมถือเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีมาแต่ดั้งเดิม คือการนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน แม้ตอนนี้สังคมไทยจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่แล้ว แต่ชาวอีสานยังใช้เศรษฐกิจแบบดั้งเดิม คือ ชาวนาเอาปลาแดกไปแลกข้าว เช่น ชาวนาศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี นำข้าวไปแลกปลากับชุมชนเวินบึก อ.โขงเจียม เป็นต้น
“ผลจากการระบาดของโควิค-19 ครั้งนี้ ผมจึงขอเสนอว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันปกป้องแหล่งผลิตอาหาร โดยเฉพาะนโยบายแย่งยึดพื้นที่ทำกินชาวบ้านมาทำเป็นสวนป่า ถือเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง รัฐต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เพราะมีวิธีการอีกมากที่จะให้คนอยู่กับป่าได้โดยไม่ต้องคุกคามชาวบ้าน เพราะชาวบ้านต้องมีที่ดินทำกินจึงจะอยู่รอด โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตแบบนี้” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าว
สำหรับพื้นที่ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน แต่บริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ได้เตรียมก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 24,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล 80 เมกะวัตต์ แต่ชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนไม่เห็นด้วย