นพดล ดวงพร ขณะถือภาพถ่ายเก่าแก่ ถ่ายที่สตูดิโอของเขาในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2559 ภาพโดย คริส บีล

ฟาเบียน ตระมูน เรื่อง

สิบปีที่แล้ว คริส บีล หยิบแผ่นเสียงไวนิลเก่าๆ แปลกๆ แผ่นหนึ่งออกมาจากร้านขายแผ่นเสียงใกล้บ้านที่ซานฟรานซิสโก

“ไม่มีภาษาอังกฤษ แล้วก็ไม่มีเบาะแสข้อมูลอะไรเลย แต่ซองมันเท่ห์มาก ผมก็เลยซื้อมา” เขาเล่าความหลังให้ฟัง “ครั้งแรกที่เปิดฟัง ผมรู้สึกทึ่งมาก แล้วก็ชอบมากๆ”

คริสไม่เคยคิดว่า เวลาต่อมาชีวิตของเขาจะมาเกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อันเป็นรากเหง้าที่มาของดนตรีชนิดนี้และอีกไม่กี่ปีถัดมา ดนตรีที่ว่าก็ได้พาเขาเข้ามาสู่เส้นทางการถ่ายภาพอย่างไม่น่าเชื่อ

“เพลงหมอลำ” หญิงสาวชาวขอนแก่นคนหนึ่งที่เขารู้จักในซานฟรานซิสโก อธิบายให้เขาฟัง หลังจากที่เขาเปิดแผ่นเสียงแผ่นนั้นให้เธอฟัง ขณะที่ทั้งคู่ออกเดตกันวันแรก หลังจากนั้นทั้งสองคนก็ตกลงปลงใจคบหาและแต่งงานกันในเวลาต่อมา

ขณะนั้นคริสทำธุรกิจ ด้านการจัดการภูมิทัศน์ในเขตเบย์ แอเรีย (Bay Area) หรือ อ่าวซานฟรานซิสโก ซึ่งทำให้เขาหลงใหลในภาพถ่ายขาวดำบนฟิล์มขนาด 35 มม.

ต่อมาเมื่อปี 2554 เขาเดินทางไปยังรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ เพื่อท่องเที่ยว และมีแผนระยะยาวในการถ่ายภาพบันทึกชะตากรรมของชาวโรฮิงญา คริสใช้เวลา 6 ปี เพื่อบันทึกภาพชีวิตของคนกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวในประเทศเมียนมาร์ บังกลาเทศ มาเลเซีย ภาคใต้ประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการหลายแห่ง

หลังจากถ่ายภาพความโหดร้ายต่างๆ ที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญมาหลายปี คริสเริ่มมองหาหัวข้อการถ่ายภาพอื่นๆ ที่แตกต่างจากประเด็นก่อนหน้านั้น เพื่อที่เขาจะได้ทุ่มเทพลังงานสร้างสรรค์ของตัวเองให้เป็นประโยชน์อีกครั้ง และระหว่างการเดินทางมากรุงเทพฯ เมื่อปี 2559 เขาก็นึกถึงแผ่นไวนิลเก่าๆ ที่เปิดโลกให้เขารู้จักเพลงหมอลำ เขาจึงบอกกับภรรยาที่อยู่สหรัฐฯ ในขณะนั้นว่า เขาอยากถ่ายภาพนักดนตรีอีสาน

เกือบ 24 ชั่วโมงต่อมา คริสก็นั่งอยู่ในรถกับพ่อตา พร้อมกับล่ามอีกคน ทั้งหมดกำลังเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากที่ภรรยาของคริสบอกกับเขาว่า “จะถ่ายรูปหมอลำ ก็ต้องไปหา นพดล ดวงพร!”

“พ่อตาของผมไม่รู้จักกับคุณนพดลเป็นการส่วนตัว แต่ว่าเขาติดต่อคุณนพดลให้ผมทางเฟซบุ๊ก” คริสกล่าวพร้อมหัวเราะ “และมันก็เกิดขึ้น เขาจัดการทุกอย่างให้ผมภายในเวลาไม่ถึงวัน”

นพดล ดวงพร ไม่ได้เป็นเพียงแค่นักดนตรีอีสานเท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้ก่อตั้งวงเพชรพิณทอง วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำอีสานที่ยิ่งใหญ่จากอุบลราชธานีที่หลอมรวมเอาแนวเพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง และอื่นๆ ในยุค 1970 (2513) เข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นลูกทุ่งหมอลำอีสานชื่อดัง โดยค่ายเพลงอิสระที่เขาก่อตั้งขึ้น นอกจากจะผลักดันให้ศิลปินท้องถิ่นจากภาคอีสานมีชื่อเสียงแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญให้เพลงลูกทุ่งอีสานได้รับความนิยมอีกด้วย

นพดล ดวงพร ขณะอยู่ภายในบ้านที่อุบลราชธานีเมื่อปี 2559 นอกจากจะเป็นศิลปินหมอลำผู้ยิ่งใหญ่ นพดลยังเป็นเจ้าของค่ายเพลง นักแสดงตลก และนักแสดงภาพยนตร์ โดยเขาเสียชีวิตลงเมื่อปีที่แล้วด้วยวัย 77 ปี ภาพโดย คริส บีล

ก่อนที่คริสจะเดินทางไปพบกับนพดลที่บ้านในวันนั้น เพื่อนคนหนึ่งของคริสที่อยู่กรุงเทพฯ เตือนเขาว่า ศิลปินหมอลำคนนี้ “ไม่ชอบพบปะกับคนแปลกหน้ามากนัก” และก็เป็นเช่นนั้นจริง ตอนแรกที่คริสได้พบกับนพดล เขาดูไม่มีอารมณ์อยากให้สัมภาษณ์เท่าใดนัก

“เขาจะพูดอยู่ฝ่ายเดียวนาน 30 นาที แล้วก็ทำเหมือนกับว่าผมไม่ได้อยู่ตรงนั้น”คริสเล่า

แต่ก็ใช้เวลาไม่นาน ก่อนที่ศิลปินหมอลำในตำนานคนนี้จะยอมเปิดใจรับช่างภาพชาวอเมริกันอย่างคริส วันถัดมานพดลก็พาเขาเดินทางไปยังชายแดนลาวที่อำเภอช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อซื้อบุหรี่และวิสกี้ราคาถูก จากนั้นเขาก็ชวนคริสมาอยู่บ้านของเขาด้วย

“นพดลเป็นคนอารมณ์ดี แล้วมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร” คริสกล่าว “ผมถ่ายรูปเขา แล้วเขาก็จะถ่ายรูปผมคืนด้วย แล้วเขาก็จะร้องเพลงอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่เขากำลังคุยกับผมอยู่ เขาเป็นคนร่าเริงแล้วก็มีชีวิตชีวามากๆ”

นับจากนั้นเป็นต้นมา นพพลก็จะคอยให้คำแนะนำแก่คริสและติดต่อศิลปินหมอลำคนชื่อดังคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกันให้กับคริส

คริสสัมภาษณ์และถ่ายภาพ ทองใส ทับถนน ศิลปินดนตรีอีสานสมาชิกวงเพชรพินทองอีกคนหนึ่ง ทองใสนับว่าเป็นปรมาจารย์ด้านพิณอีสานที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งในประเทศ พิณถือเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยม ทั้งในภาคอีสานและประเทศลาว

เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 (2513) ทองใสรับอิทธิพลการเล่นดนตรีจากศิลปินชาวต่างประเทศหลายคน อย่าง ซานตาน่า (Santana) นักกีต้าร์ชาวเม็กซิโก-อเมริกา ซึ่งทำให้เสียงดนตรีหมอลำของเขามีจังหวะสนุกสนานยิ่งขึ้น เขายังเป็นคนแรกที่วาดลีลาเล่นพิณสองสาย ซึ่งพิณทั่วไปจะมีสามสาย แต่เขาได้ปรับเปลี่ยนด้วยการนำสายโทรศัพท์มาใช้ปรับเสียงแทน ทำให้เป็นพิณกลายเป็นพิณไฟฟ้าได้

ศิลปินวัย 72 ปี คนนี้ ทำหน้าที่สอนหมอพิณคนรุ่นหลังมาหลายต่อหลายรุ่น และเขาเองยังเล่นดนตรีในแบบของตัวเอง รวมถึงแต่งเพลงให้ศิลปินคนอื่นๆ อีกมากมาย

นพดล ดวงพร และ ทองใส ทับถนน ขณะแสดงร่วมกันกับวงเพชรพิณทองในงานเลี้ยงส่วนตัวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2559 ภาพโดย คริส บีล

การแนะนำของนพดลยังช่วยปูทางให้คริสได้พบกับ อังคนางค์ คุณไชย นักร้องหมอลำชื่อดังที่บ้านเกิดของเธอที่จังหวัดอำนาจเจริญ

อังคนางค์ ชื่อจริง คือ ทองนาง คุณไชย เธอเกิดในครอบครัวยากจน มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน และอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบทห่างไกล ติดชายแดนประเทศลาว เมื่อตอนเป็นเด็ก ขณะกำลังช่วยครอบครัวทำนา เธอมักจะร้องตามเพลงหมอลำที่ได้ยินจากวิทยุอยู่เสมอ ต่อมาเธอก็มาอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของนักร้องหมอลำชื่อดัง ฉวีวรรณ ดำเนิน

ด้วยวัยเพียง 16 ปีเท่านั้น อังคนางค์ก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักร้องนำของคณะอุบลพัฒนา เพลงฮิตของเธอ “อีสานลำเพลิน” ที่เปิดตัวเมื่อปี 2515 ก็กลายเป็นเพลงหมอลำคลาสสิกที่อยู่ยั้งยืนยงที่สุดอีกเพลงหนึ่ง

การประสบความสำเร็จจนสามารถสร้างรายได้มากมายในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 อังคนางค์ก็ได้รับโอกาสสร้างชื่อเสียงอีกครั้ง เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากความร่วมมือแลความสนใจที่นานาประเทศมีต่อดนตรีหมอลำ

เมื่อปี 2560 อังคนางค์ได้ร่วมร้องเพลงกับเดอะบอยเวย์ (DaboyWay) แร็ปเปอร์อดีตวงฮิปฮอปชื่อดัง อย่างไทเทเนียม (Thaitanium) นักร้องหมอลำวัย 65 ปี คนนี้ยังได้ตระเวนแสดงคอนเสิร์ตในประเทศต่างๆ และร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศญี่ปุ่นด้วย

อังคนางค์ คุณไชย ที่บ้านเกิดจังหวัดอำนาจเจริญ เจ้าของบทเพลง “อีสานลำเพลิน” เพลงยอดนิยมช่วงปี 2515 ถือเป็นเพลงหมอลำอีสานสุดคลาสสิคที่ได้รับการนำมาร้องใหม่อีกหลายครั้ง ภาพโดย คริส บีล

นอกจากนั้นคริสยังได้สัมภาษณ์และถ่ายภาพ สมบัติ สิมหล้า หมอแคนตาบอดที่มากความสามารถ ด้านการเล่นแคนจนได้รับการกล่าวถึง

“สมบัติเป็นปรมาจารย์ด้านการเป่าแคนคนหนึ่งและเขาเป่าได้ทุกเสียง” คริสกล่าว “เขาบอก ‘ฟังนะ ผมเป่าให้เสียงแคนเหมือนกีตาร์ได้ และตอนนี้ก็เสียงเหมือนรถไฟ’ เขารักการเป่าแคนมาก”

สมบัติเกิดเมื่อปี 2506 ที่จังหวัดมหาสารคาม พ่อแม่เขาบอกว่า เขาเกิดมาร่างกายปกติดี แต่สูญเสียการมองเห็น หลังหมอตำแยที่ทำคลอดให้ยาสมุนไพรที่ทำขึ้นเอง มาทดลองป้ายที่ตาของเขาตอนแรกเกิด 

สมบัติจึงกลายเป็นคนตาบอด โดยเขาสามารถเรียนรู้เทคนิคการเป่าแคนจากพ่อของเขา ซึ่งเป็นหมอแคนมือฉมังอีกคน ต่อมาเขาได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเป่าแคนจากหมอแคนคนอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทำให้เขาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นหมอแคนที่เก่งกาจที่ยังมีชีวิตอยู่อีกคนหนึ่ง

การได้มีโอกาสสัมภาษณ์สมบัติถือเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างสนุก คริสกล่าวพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ความหลงใหลอันดับสองรองจากการเป่าแคนที่หมอแคนตาบอดคนนี้มีกลับเป็นน้ำอัดลมหวานๆ เท่านั้น “ผมไม่เคยเห็นใครชอบดื่มโคคาโคล่ามากเท่ากับสมบัติมาก่อน” คริสหัวเราะ

“เขาเป็นคนที่น่าทึ่งมากๆ!” คริสกล่าว “เขาเป่าแคนมือเดียวได้ เอามืออีกข้างล้วงกระเป๋ากางเกงตัวเอง แล้วหมุนรอบตัวเองและก็ทำท่าหวีผมเท่ห์ๆ”

ต่อมาเมื่อปี 2555 สมบัติได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดงจากมหาวิทยาขอนแก่น ทั้งนพดล ดวงพร ทองใส ทับถนน และอังคนางค์ คุณไชย ต่างก็ได้รับรางวัลในปีเดียวกัน

สมบัติ สิมหล้า เป่าแคนบริเวณหน้าบ้านตัวเองที่จังหวัดมหาสารคาม หมอแคนตาบอดชื่อดังในอดีตคนนี้ยังได้รับการขนานนามว่า “เทพแห่งเสียงแคน” อีกด้วย ภาพโดย คริส บีล

ชาวนาจากอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ขณะเล่นพิณและแคน คริสบอกว่า การตามคนทั่วไปที่เล่นดนตรีหมอลำได้นั้น ยากกว่าที่คาดคิดไว้ ภาพโดย คริส บีล

ครูช่างทำแคน บุญตา ซ้ายศิริ  เรียนรู้ทักษะการทำแคนจากพ่อของตัวเอง ตั้งแต่เมื่อยังเป็นวัยรุ่น ฝีมือการทำแคนของบุญตาต่างเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย คริสถ่ายภาพเขาที่บ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ด “ตอนที่ผมพยายามถ่ายรูปของครูช่างทำแคนคนนี้ เหมือนกับว่าผมกำลังพยายามถ่ายรูปของปลาที่แหวกว่ายอยู่ในทะเลสาบสักแห่ง เขาทำแคนเก่งมาก เคลื่อนไหวรวดเร็ว แล้วก็ว่องไวปราดเปรียวอย่างกับคนอายุ 18 ปี แม้ว่าเขาจะอายุ 70 ปีแล้วก็ตาม” ภาพโดย คริส บีล

แม้ว่าคริสจะบอกว่าเขารู้สึกโชคดีที่มีโอกาสถ่ายรูปศิลปินหมอลำชื่อดังหลายคน แต่การมุ่งถ่ายภาพคนดังๆ เช่นนี้ไม่ใช่แผนการของเขาในตอนแรก

“เป้าหมายของผมไม่ได้มีเพียงแค่บันทึกภาพหมอลำชื่อดังเหล่านี้” เขากล่าว “ผมจินตนาการไว้ว่า เราจะขับรถตะลอนไปทั่วอีสาน แล้วก็พบกับชาวนาทั่วไปที่เล่นดนตรีหมอลำเป็น แต่กลับกลายเป็นว่า การทำอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่นพดลเสียชีวิตขณะอายุ 77 ปี ทำให้คริสรู้สึกว่า โครงการถ่ายภาพของเขาที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นได้กลายมาเป็นโครงการที่มีเป้าหมายมากกว่านั้น

“เมื่อนพดลเสียชีวิต ผมก็รู้สึกว่า ผมจะต้องถ่ายรูปศิลปินหมอลำต่อไป” คริสกล่าว “นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงถ่ายภาพเหล่านี้ ก็เพราะศิลปินหมอลำเหล่านี้ บางคนอาจจะไม่ได้อยู่กับเราอีกต่อไป”

นอกเหนือจากการบันทึกภาพแล้ว คริสยังหวังว่า ผลงานของเขาอาจจุดประกายให้คนหนุ่มสาวชาวอีสานสนใจเกี่ยวกับประเพณีหมอลำ “หมอลำเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอีสานที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่ได้หลงใหล ผลงานของผมอาจช่วยทำให้พวกเขาสนใจขึ้นมาได้”

คริส บีล ที่  Y.M.D. Artspace จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเขาได้แสดงผลงานการถ่ายภาพของตัวเองชื่อว่า “To the Root” โดยนิทรรศการดังกล่าวจะจัดแสดงจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

การแสดงภาพปรมาจารย์หมอลำดั้งเดิมในภาคอีสานเป็นแรงบันดาลใจให้คริสขยายขอบเขตโครงการของเขาให้กว้างขึ้น เขาได้ติดตามดูหมอลำทั่วทั้งลุ่มแม่น้ำโขง และเพื่อดูว่าหมอลำในลาวแตกต่างจากหมอลำในภาคอีสานอย่างไร

“หมอลำอีสานกับหมอลำลาวมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน” คริสกล่าว “ผมมีโอกาสไปร่วมงานบุญที่ปากเซ (ทางตอนใต้ของลาว) ที่มีการแสดงคอนเสิร์ตหมอลำ แล้วคณะหมอลำที่เล่นก็มาจากอุบลราชธานี”

เขายังวางแผนที่จะค้นหาข้อมูลมากขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวไม่เฉพาะแต่ศิลปินหมอลำเท่านั้น แต่จะดูถึงชีวิตความเป็นอยู่และบริบททางวัฒนธรรมของแนวเพลงดนตรีหมอลำด้วย

“ผมอยากจะไปไกลกว่าการถ่ายภาพผู้คนที่เล่นดนตรีอีสาน” คริสกล่าว “ผมอยากบันทึกชีวิต วัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ดนตรี”


The Soul of Molam (17) – Roaming with the giants of molam

image_pdfimage_print