ภาพปกโดย เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ 

หนองบัวลำภู – เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ออกแถลงการณ์ร่วมกับ 6 เครือข่าย ได้แก่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กรณีการทำเหมืองหินปูน จ.หนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย จ.มุกดาหาร กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กรณีขุดเจาะสำรวจแร่โพแทชตามอาชญาบัตรพิเศษเพื่อขอสำรวจแร่โพแทช จ.สกลนคร กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ กรณีการทำเหมืองแร่โพแตชและขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า

ถ่านหินเพื่ออุตสาหกรรมแร่โพแทช จ.ชัยภูมิ และกลุ่มรักษ์บ้านแหง กรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน จ.ลำปาง เพื่อให้ล็อคดาวน์เหมืองแร่และเรียกร้องให้หยุดสัมปทานเหมือง  

แถลงการณ์ระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างไม่มีแผนรองรับ ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งข้อกำหนดข้อหนึ่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน  เนื่องจากห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่วันที่  26 มีนาคม – 30  เมษายน 2563 และมีแนวโน้มจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน 

ใจความสำคัญของแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า การประกาศใช้  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ถือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการออกมาใช้สิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน  อีกทั้งจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กรณีการทำเหมืองหินปูน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู อ่านแถลงการณ์ด้านหน้าเหมืองหินปูน เพื่อเรียกร้องให้หยุดสัมปทานเหมืองแร่ ภาพโดยเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

“เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานทั้งหมดต้องหยุดกระบวนการพิจารณาด้านต่างๆ  ที่จะนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้กับโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทุกประเภทไว้ก่อน  จนกว่าจะยกเลิกการบังคับใช้  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเป็นปกติ” แถลงการณ์ช่วงหนึ่งระบุ 

นอกจากนี้แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ที่ได้รับการอนุมัติอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ไปแล้วนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม  และเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ต่อการติดโรคโควิด-19  จากการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ชุมชนของผู้ประกอบการ 

“สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการมีความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ ทั้งจากการสำรวจและการทำเหมืองแร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน  เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ต้องต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน” เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เรียกร้อง 

image_pdfimage_print