ภาพหน้าปกจาก The Isaan Record/Mike Eckel
Christopher Burdett และ ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง
ซีรีส์ชุดลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ ตอนที่ 18 “ฝากหวังถึงหมอลำรุ่นหลัง” ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดชวนคุยกับศิลปินนักร้องหมอลำอีสานรุ่นเก่าที่มีความเก๋าตามยุคสมัย เริ่มตั้งแต่ บุญช่วง เด่นดวง ณัฐพล เสียงสุคนธ์ ดาว บ้านดอน ราตรี ศรีวิไล และ พิชัย พรหมผุย
ศิลปินหมอลำทั้ง 5 คน ล้วนเป็นผู้ที่สร้างตำนานให้ดนตรีอีสานก้องกังวาลดังไกล แม้กระทั่งในเวทีระดับโลก ทว่ายุคสมัยผันผ่านก็ทำให้ผู้สร้างตำนานเป็นเพียงผู้มาก่อน การพูดคุยครั้งนี้จึงเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของหมอลำอีสานที่ต้องการฝากรักและหวังให้ศิลปะด้านวรรณศิลป์นี้ยังคงอยู่จนรุ่นลูกรุ่นหลาน

“บุญช่วง เด่นดวง” หมอลำกลอนเสี่ยงสูญพันธุ์
บุญช่วง เด่นดวง คือตำนานหมอลำสไตล์คลาสสิคที่ตอนแรกๆ จะมีเพียงหมอแคนมาช่วยขับเสียงเพลง แต่ทุกวันนี้ก็มีวงเต็มชุดหรืออิเล็คโทนมาร่วมบรรเลงแล้ว
บุญช่วงสนใจศิลปะพื้นบ้านศาสตร์นี้ตั้งแต่อายุ 16 ปี เริ่มจากการเดินฟ้อนเดินลำ ปัจจุบันเธออายุ 75 ปี และยังคงสืบทอดหมอลำตามแบบฉบับดั้งเดิม ความดั้งเดิมตามแบบฉบับของเธอคือ การพูดถึงเรื่องพระพุทธศาสนา พระธรรม และสัจธรรมของการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งปัจจุบันหาฟังได้ยาก
“จะไม่ให้มีเรื่องสองแง่สามง่ามเข้ามา จะมีแต่เรื่องปฐมสมโภช หรือเรื่องประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เพราะสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ มันจะสะกดพระสงฆ์องค์เจ้าได้ พอพระเดินผ่าน ก็หยุดแล้วยืนฟังเลย” บุญช่วงกล่าว
บุญช่วงกล่าวอีกว่า การลำแบบนี้ ผู้ชมมักตั้งใจนั่งฟังเนื้อหาและวาทศิลป์ของกลอนมากกว่าการลุกขึ้นเต้นหย่าวๆ แบบม่วนซื่นๆ
สำหรับแม่บุญช่วง การลำกลอนแบบนี้ แม้จะมีคนฟังเฉพาะกลุ่มแต่ก็ยังมีคนจ้างไปแสดงไม่ขาดสาย โดยมักจะจ้างไปแสดงที่งานบุญหรืองานศพ และมีค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 60,000-70,000 ต่อครั้ง
แต่บุญช่วงก็ยังกังวลว่า เมื่อเธอและลูกศิษย์ลูกหา (ซึ่งตอนนี้ก็เข้าสู่วัย 40-50 ปีกันแล้ว) ไม่มีการแสดงในอนาคต การแต่งกลอนลำแบบดั้งเดิมที่บรรจงแต่งให้เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาอันลึกซึ้งทางพุทธศาสนาก็จะเลือนหายไปด้วย
“แม่คิดว่า เมื่อไม่มีแม่แล้ว ไม่มีผู้ประคบประหงม ก็กลัวว่าเด็กรุ่นหลังๆ จะต้านคลื่นมวลนี้ไม่ได้ มันเกี่ยวกับความละเอียดด้วยนะลูก การทำงานเนี่ย ไม่ใช่ทำงานสุกเอาเผากิน เหมือนพวกหมอลำซิ่ง” บุญช่วงแสดงความกังวลต่อวงการหมอลำอีสานในอนาคต

“ณัฐพล เสียงสุคนธ์” หัวหน้าวง Paradise Bangkok
ณ วันนี้ วง The Paradise Bangkok Molam International Band น่าจะเป็นวงหมอลำร่วมสมัยที่ดังติดปากติดหูชาวต่างชาติมากที่สุดก็ว่าได้ แต่เกิดอะไรขึ้นกับนักเรียนนอกจากเมืองกรุงฯ คนนี้ ถึงหันมาเป็นมือฉิ่งและหัวหน้าวง Paradise Bangkok ที่นำเสียงดนตรีหมอลำอีสานดังกังวาลไปทั่วโลก?
“จุดเริ่มต้นคือความคลั่งไคล้ในการค้นพบเสียงดนตรีที่ไม่ซ้ำรอยเดิม หรือการเก็บสะสมแผ่นเสียง” เป็นเหตุผลให้ ณัฐพล เสียงสุคนธ์ ได้นำ collection แผ่นเสียงของเขาไปเปิดให้นักเที่ยวยามราตรีฟังตามผับและคลับต่างๆ ในยุโรป ในฐานะ DJ Maftsai ระหว่างที่เรียนปริญญาตรีที่ประเทศสหราชอาณาจักร พอย้ายกลับมาเมืองไทย ก็ได้ค้นพบแผ่นเสียงดนตรีไทยเพิ่ม ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง และหมอลำ
“ตอนแรกคือ มันไม่ได้ว่ามาฟังปุ๊บแล้ว วุ้ย! เป็นเพลงอีสาน กูชอบ! คือมันเป็นเพลงอะไรก็ตาม แต่ผมชอบจังหวะนี้ ชอบอารมณ์นี้ ผมก็เลยชอบขึ้นมา พอชอบขึ้นมาปุ๊บ มันก็เลยเริ่มศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ” ณัฐพลเล่าย้อนเมื่อครั้งที่เขาค้นพบเสียงดนตนรีหมอลำยุคแรกๆ
จากนั้น เขาจึงออกเดินทางเพื่อตามหาศิลปินหมอลำอีสานรุ่นเก๋าๆ อย่าง ดาว บ้านดอน ศักดิ์สยาม เพชรชมภู อังคนางค์ คุณไชย เย็นจิตร พรเทวี ฯลฯ เพื่อชักชวนมาแสดงคอนเสิร์ตสดที่กรุงเทพฯ
คอนเสิร์ตที่ชื่อว่า Paradise Bangkok จึงบังเกิด โดยเขาได้เชิญศิลปินนักร้องหมอลำมาแสดงอย่างไม่ซ้ำหน้า
แต่แน่นอนว่า กว่าจะเชิญมาแสดงได้นั้น ต้องใช้เวลาตามหาและเกลี้ยกล่อมอยู่นานพอสมควร บางทีก็นานถึงครึ่งปีเลยทีเดียว และยังพบความลำบากในการหานักดนตรีมาเล่นเป็นวงให้อีก เพราะศิลปินแต่ละคนก็มักจะมีนักดนตรีในใจที่อยากจะให้มาเล่นด้วยอยู่แล้ว แต่มันยากที่หาจนครบวงแล้วสะดวกพร้อมกัน
“ตอนนั้นผมก็ต้องไปหานักดนตรีใหม่ แต่ละครั้งที่จะจัดงาน คือผมก็อยากได้นักดนตรีของแต่ละวงอะไรอย่างนี้ แต่ว่าพอทำไปทำมามันยาก คือใช้เวลา 6-7 เดือน เพื่อหานักดนตรีเพื่อมาจัดงานแค่คืนเดียว”
ณัฐพลจึงตัดสินใจก่อตั้งวง ซึ่งตอนแรกเจตนาว่าจะให้เป็นวงประจำงานคอนเสิร์ต Paradise Bangkok แต่พอได้ลองมาแจมกันเป็นวงแล้วก็รู้สึกว่า เสียงของวง Paradise Bangkok นั้นมีเอกลักษณ์เกินกว่าที่จะเป็นเพียงวง backing ของนักร้องรับเชิญแต่ละคน จึงได้โปรโมทวงนี้ให้เป็นวงศิลปินอย่างเต็มตัวเสียเลย
แม้วงดนตรีสไตล์หมอลำผสมผสานคลื่นลูกใหม่อย่าง Paradise Bangkok จะยังไม่ครองใจและยังมีคนส่วนน้อยรู้จัก แต่สำหรับณัฐพล พวกเขาเป็นเหมือนพริก เหมือนขิง หรือเหมือนกระเทียมในจานอาหาร ที่แม้จะมีปริมาณน้อย แต่ก็เพิ่มกลิ่นและรสชาติให้กับอาหารทั้งจานได้อย่างเกินตัว
“เดี๋ยวนี้มันมีวงใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจุลโหฬาร รัศมีอีสานโซล ฯลฯ เมื่อก่อนก็ยังไม่ค่อยมีโปรเจคเพลงที่มีความเป็นอีสาน ถึงจะเป็นคนอีสานก็ตาม แต่พอทำแล้วก็มีคนสนใจมากขึ้น มันก็เลยทำให้คนกล้าที่จะออกมาทำอะไรมากขึ้นด้วย”
สำหรับอนาคตของดนตรีหมอลำ ณัฐพลมองว่าต้องสนับสนุนให้นักดนตรีได้นำเสนอเนื้อหาของตัวเองมากขึ้น
“ปัญหาของวงการดนตรี สำหรับนักดนตรีหน้าใหม่คือ ถ้ามึงไม่เล่นเพลง cover ทางร้านก็ไม่ให้มึงเล่น เขาต้องการให้เป็นเพลง cover เพลงที่ทุกคนรู้จัก ถ้าทำอย่างนี้ ความสร้างสรรค์ในชีวิตของนักดนตรีก็หายหมด มันก็ต้องไปเล่นแต่เพลงคนอื่น ผมก็เลยเปิดร้านให้นักดนตรีเล่นทุกแนวที่เป็นตัวเอง ถ้าคุณเล่นเพลง cover เราไม่ให้คุณเล่น ก็ทำตรงข้ามไปเลย”
เพราะณัฐพลมองว่า นี่คือหัวใจสำคัญของการทำให้ศิลปะดิ้นได้และต่อลมหายใจไปได้เรื่อยๆ
“ถามว่าผมชอบเพลงสไตล์เก่าๆ เดิมๆ ไหม ก็ต้องว่าชอบ แต่ถ้าเกิดเราจะทำเพลงใหม่ของเรา ทำไมเราต้องไปเลียนแบบแต่ซาวด์เก่าๆ เดิมๆ เหมือนกางเกงเลที่สวนลุมฯ ไนท์บาซาร์สมัยก่อน ทำไมมึงต้องมาเปิดร้านข้างๆ กันแล้วขายกางเกงเลลายเดียวกันเหมือนกันหมดเลย คือมันง่าย แต่มันไม่สนุกและไม่สร้างสรรค์เลยสำหรับผม” ณัฐพลเปรียบเปรยเสียจนเห็นภาพ

“ราตรี ศรีวิไล” ราชินีหมอลำซิ่ง
นอกจากปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของศิลปินเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานรุ่นใหม่ ที่นำบทกลอนลำและเครื่องดนตรีพื้นบ้านลาวอีสานไปโลดแล่น เล่นร่วมกับแนวเพลง แนวดนตรีสากลที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว
ปรากฏการณ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ การแสดงหมอลำกลอนประยุกต์ หรือที่คนอีสานเรียกกันว่า “หมอลำซิ่ง” บนเวทีที่อลังการไปด้วยแสง สี เสียง แดนเซอร์ทั้งหญิง-ชายและผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ความนิยมนี้ทำให้ ราตรี ศรีวิไล “ราชินีหมอลำซิ่ง” หรือ ราตรี ศรีวิไล บงสิทธิพร วัย 68 ปี ผู้ให้กำเนิดหมอลำกลอนประยุกต์ หรือที่คนในวงการเรียกกันว่า หมอลำซิ่ง เห็นว่า ปัจจุบันการแสดงหมอลำประเภทนี้เปลี่ยนไปจากหมอลำประยุกต์ที่เธอเป็นผู้คิดค้นขึ้นอย่างมาก
“ทั้งกลอนลำ เนื้อร้อง มีการใช้คำหยาบ ลามกมากขึ้น อีกทั้งไม่ได้พูดถึงเรื่องคำคม ผญา บาปบุญ ธรรมะ หรือสอนให้คนมีสติ ธรรมะสอนใจ ตักเตือนให้คนฟังมีสติในการใช้ชีวิตแล้ว เพราะเครื่องดนตรี จังหวะเพลง ก็รวดเร็วขึ้น เน้นสนุกสนานอย่างเดียว” ราตรีกล่าว
เธอออกตัวว่า การแสดงความเห็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอิจฉาความโด่งดังของศิลปินหมอลำซิ่งรุ่นใหม่ แต่อยากให้คำแนะนำในฐานะศิลปินหมอลำรุ่นเก่าว่า อยากให้ศิลปินหมอลำทุกแขนง ทุกประเภทคำนึงถึงความเป็นหมอลำ ที่คนทั่วไปยกให้เป็นอัจฉริยะด้านการลำกลอน บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม ให้คำแนะนำ สอนใจ ตักเตือนสติผู้คน ด้วยทำนองที่ไพเราะ
“อย่าหลงของเก่า อย่าเมาของใหม่ ให้อยู่ระหว่างกึ่งกลาง อย่าไปมัวเมาของใหม่จนลืมรากเหง้าของเก่า” ราตรีกล่าวเป็นกลอนลำ
สำหรับราตรี ถ้าหมอลำรุ่นใหม่อยากประยุกต์เปลี่ยนแปลงหมอลำ กลอนลำให้ทันสมัยขึ้น ควรเพิ่มเติมเสริมแต่งจากรากเหง้าความเป็นหมอลำเก่าดั้งเดิม อย่างน้อยก็ควรมีคำร้องว่า โอ้ละน้อ… ขึ้นต้นกลอนลำ มีลายดนตรีอย่างลายสุดสะแนน ลายเต้ย อยู่ในการแสดงแต่ละคืนด้วย
“ศิลปินทุกสาขาพาให้สุข ถึงจะทุกข์ก็แต่กายใจไม่เหงา
ถึงเป็นจิตวิญญาณคนอีสานบ้านเรา ฝากลูกเต้าได้จดจำเป็นตำนาน
ถึงจะซิ่งก็แต่ชื่อคือลำซิ่ง ความเป็นจริงคือศิลปะชาวอีสาน
โปรดจงช่วยพยุงไว้ให้ยืนนาน ฝากลูกหลานได้สืบทอดตลอดไป…”
ราตรีร้องกลอนลำฉบับสั้นเพื่อเตือนใจหมอลำรุ่นใหม่เป็นการทิ้งท้าย

“ดาว บ้านดอน” ครูเพลงหมอลำผู้บุกเบิกหมอลำหน้าฮ้าน
น้อยคนในประเทศไทยที่ไม่เคยได้ยินชื่อ “ดาว บ้านดอน” (ชื่อจริง เทียม เศิกศิริ) ศิลปินนักร้องหมอลำในตำนาน และผู้ประพันธ์เพลงให้ศิลปินหมอลำหลายรุ่นจนโด่งดัง
แม้เขาจะเคยบวชเรียนเป็นสามเณรตอนอายุ 12 ปี แต่ก็ไม่เคยทิ้งความฝันที่อยากจะเป็นนักร้องหมอลำ เขาจึงสึกจากการเป็นพระเมื่ออายุ 19 ปี เพื่อเดินตามความฝัน ดาว บ้านดอน ก็กลายเป็นศิลปินหมอลำรุ่นบุกเบิกของหมอลำร่วมสมัยที่เราได้ฟังกันจากลำโพงเครื่องเสียงอย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้
หมอลำชั้นครูเพลงที่อยู่กับวงการดนตรีมากว่าครึ่งศตวรรษคนนี้ ไม่เคยคิดจะยับยั้งการเปลี่ยนแปลง หรือแช่แข็งดนตรีลูกทุ่งหมอลำอีสานไว้ เพราะมองว่า ศิลปะแขนงนี้มันดิ้นได้ สามารถผสมผสานและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาได้ ซึ่งจะทำให้หมอลำยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปนั่นเอง
“พ่อก็คิดว่า การที่นำดนตรีทางตะวันตกมาประยุกต์กับทางเรา พูดง่ายๆ คือ มันก็ทำให้มีจุดเด่น ทำให้มีจุดขาย แล้วก็ทำให้แฟนเพลง แฟนหมอลำมีอารมณ์ร่วม” ดาว บ้านดอนกล่าวและว่า “ด้วยความมันส์ของดนตรีทางฝั่งทางตะวันตก และทางเรามาประยุกต์ใส่กัน มันก็เป็นเรื่องที่แปลก แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าฟัง”
ด้วยความที่มีหมอลำรุ่นใหม่หลายคน ที่ถือว่าเป็นทายาททางแนวดนตรีของดาว บ้านดอน เขาจึงอยากฝากความหวังต่อวงการหมอลำในอนาคตไว้ว่า
“พ่ออยากจะฝากเด็กรุ่นใหม่ ในวงการลูกทุ่งและวงการหมอลำ อยากให้เด็กรุ่นใหม่ช่วยกันรักษาศิลปวัฒนธรรมอีสานหรือมรดกอีสานไปให้นานๆ อย่าให้ขาดหาย สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราฝัน สักวันต้องสำเร็จและเป็นจริงจนได้ ถ้าเราไม่ท้อแท้และมีจุดยืนของตัวเองจริงๆ” ดาว บ้านดอนกล่าว
ส่วนตัวดาว บ้านดอนเอง ก็ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนและพิสูจน์ให้เห็นว่า คำพูดข้างต้นนั้นไม่ใช่เพียงคำพูดที่สวยหรู เพราะเขาเคยไปร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับวงหมอลำสไตล์อีสาน fusion อย่าง Paradise Bangkok มาแล้ว จึงถือว่ามีส่วนในการได้ประกาศศักดาของตำนานหมอลำไปยังต่างประเทศ
“เหมือนเราส่งคืนให้เขา เราได้แนวใหม่ๆ มาจากทางตะวันตก เราก็ส่งแนวใหม่ไปให้เขาฟังบ้าง” ดาว บ้านดอนกล่าวทิ้งท้าย

“พิชัย พรหมผุย” ศิลปินหมอลำกลอน
“หมอลำกลอน” ถือเป็นรูปแบบการแสดงหมอลำตามแบบฉบับเก่าแก่ของภาคอีสาน หมอลำประเภทนี้มีเนื้อร้องเป็นบทร้อยกรอง กาพย์กลอน ซึ่งเนื้อหาการลำจะเป็นการลำเรื่องเกี่ยวกับนิทานโบราณคดีอีสาน โดยการแสดงจะมีหมอลำกับหมอแคนเท่านั้น
จุดเด่นของหมอลำประเภทนี้คือ การลำกลอนจะเป็นการลำสองคน ลักษณะโต้ตอบกัน เรียกว่าลำ “โจทย์แก้” ซึ่งเป็นการลำแบบตอบคำถาม เช่น หมอลำฝ่ายชายถามเพื่อให้หมอลำฝ่ายหญิงตอบ รวมถึงมีตัวละคร พระเอก นางเอก ตัวร้าย ในการดำเนินเรื่องระหว่างลำ
สำหรับ พิชัย พรหมผุย ศิลปินหมอลำกลอนทำนองชัยภูมิ อายุ 74 ปี ยอมรับว่า หมอลำประเภทนี้หาดูและหาฟังยากขึ้นในปัจจุบัน เพราะคนนิยมฟังน้อย คนฟังส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป
“อีกเหตุผลคือ ตอนนี้ หมอลำหมู่จะดีกว่าหมอลำเดี่ยวอย่างหมอลำกลอน หมอลำหมู่มีการแสดงบนเวที แต่งตัวเหมือนลิเก มีตัวละคร มีเรื่องราว มีการแสดง มีดนตรี มีจังหวะที่หลากหลาย สนุกสนานกว่าหมอลำเดี่ยว” พิชัยกล่าว
เขากล่าวอีกว่า หมอลำหมู่ที่เขาว่าคือหมอลำซิ่ง ซึ่งเป็นหมอลำที่ประยุกต์มาจากหมอลำกลอน โดยมีการประยุกต์คำกลอน เนื้อร้อง แต่ทำนองเพลงยังเหมือน เพียงแต่เร่งจังหวะในการเล่นให้เร็วขึ้น
“หมอลำซิ่งในปัจจุบันมักจะลำพูดเรื่องความรัก การชู้สาว ไม่ค่อยพูดถึงวรรณคดีอีสานหรือกลอนลำวนเวียนอยู่กับธรรมะสอนใจ ศีลธรรม ตักเตือนให้คนฟังมีสติในการใช้ชีวิต” พิชัยกล่าว
อีกหนึ่งเหตุผลที่หมอลำกลอนในยุคนี้ไม่ได้รับความนิยมคือ หมอลำไม่ได้เป็นสื่อหรือทำหน้าที่สั่งสอนเรื่องการใช้ชีวิตของคนในสังคมในเชิงธรรมะ ศีลทางธรรม รวมถึงให้ความรู้เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมอีกแล้ว
“เด็กรุ่นใหม่สามารถค้นหาความรู้ด้วยตัวเองผ่านทางสื่อออนไลน์ อินเทอร์เน็ต ทั้งวิชาการเรียนและวิชาการใช้ชีวิต จึงทำให้หมอลำกลอนค่อยๆ หมดความนิยมลง”พิชัยเล่าสภาพสังคมปัจจุบันที่เขาพบเห็นและว่า “หมอลำกลอนรุ่นเก่าอย่างผมก็อยากฝากความหวังไว้กับหมอลำรุ่นใหม่ว่า อยากให้พัฒนาต่อยอดและประยุกต์ศิลปวัฒนธรรมอีสานประเภทนี้ให้ร่วมสมัยมากขึ้น”
“ไม่จำเป็นต้องยึดรูปแบบเก่าในการเล่น การร้อง การแสดง เพราะอาจทำให้มันไม่พัฒนาไปไหน วงการหมอลำต้องมีการประยุกต์ ต่อเติม พัฒนาไปเรื่อยๆ เหมือนหมอลำหมู่ก็ได้รับการพัฒนามาจากหมอลำกลอน หมอลำซิ่งก็พัฒนามาจากหมอลำหมู่” หมอลำกลอนรุ่นเก่ากล่าวทิ้งท้าย