ภาพหน้าปกจาก Matt Aho

วีระวรรธน์ สมนึก เรื่อง 

10 ปีที่แล้วกลางเปลวแดดระอุเมษาฯ ในฤดูร้อนที่ไม่เป็นเช่นเคยของใครหลายคน โทรทัศน์และสื่อออนไลน์ในประเทศไทยต่างลงข่าวครึกโครมถึงการโรมรันในการต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชนกลางเมืองหลวง เมืองที่ได้ชื่อว่าฟ้าอมรของบ้านนี้เมืองนี้

ย้อนไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ได้ชุมนุมเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่  

หลังการชุมนุมอันยืดเยื้อยาวนานเกือบ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม – วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลจึงประกาศสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. 

ความสูญเสีย ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่างฝ่ายต่างปัดความรับผิดชอบ เพราะฝ่ายหนึ่งบอกว่าทหารยิง ส่วนอีกฝ่ายบอกว่าเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายและมีชายชุดดำป่วนเมือง

ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ออกรายงานเมื่อปี 2555 ระบุว่า การสลายการชุมนุมมีการใช้กระสุนจริงจำนวน 111,303 นัด ทำให้มวลชนประกาศยอมแพ้ แต่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ ส่วนหนึ่งได้หลบเข้าไปในวัดปทุมวนารามที่ขอใช้เป็น “เขตอภัยทาน” แต่กลับมีคนถูกยิงตาย เป็นพยาบาลที่อยู่ในเต็นท์กาชาด ร่างของเธอมีกระสุนฝัง 11 นัด 

หลังวันเวลาผันผ่าน บุคคลสำคัญในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กลับมามีบทบาทสำคัญในรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) และหลายคนได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว.ชุดใหม่ หลังการเลือกตั้งปี 2562

เราจะชวนผู้อ่านย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่ยังคงกระเทือนความรู้สึก พร้อมตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบอันน่าเคลือบแคลงของรัฐที่กระทำต่อประชาชน หลายคนต้องสังเวยชีวิต บางคนต้องกลายเป็นคนพิการ บางคนต้องติดคุกติดตาราง และบางคนต้องหลบภัยหนีออกนอกประเทศ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีทางได้กลับบ้านเกิด

กลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงค่ำวันที่ 13 เมษายน 2553 ที่เวทีบริเวณสีลม กรุงเทพฯ ภาพลิขสิทธิ์ โดย Adam Cohn

สูญสิ้น  94 ศพ สิ่งที่พบในปีที่ฝุ่นตลบอบอวลการเมืองไทย  

“…เขาตาบอด เพราะกระสุนนัดหนึ่งฝังในกะโหลก

แต่กลับตาสว่าง เพราะกระสุนนัดเดียวกันนี้

และทันทีที่ตาสว่าง เขากลับพบว่าประเทศที่ตนอาศัยอยู่

ช่างมืดมน ไม่มีทางออก ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีความยุติธรรม

ไม่มีสิ่งซึ่งสามารถไว้วางใจ ทุกสิ่งที่เคยมองเห็น

ล้วนแต่เป็นเพียงภาพลวงตา…”

(คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ และคณะ, ตาสว่าง  2563)

12 มีนาคม 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เปิดฉากรณรงค์ชุมนุม “กิจกรรม 12 มีนา 12 นาฬิกา ลั่นกลองรบเปิดศึกเขย่าขวัญอำมาตย์” และ นปช.ต่างทยอยเดินทางจากทั่วประเทศเพื่อเข้ามาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ  

สองวันถัดมา มีการจัดตั้งเวทีขนาดใหญ่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง 

ด้านสื่อต่างประเทศประเมินว่า มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2 แสนคน นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย   

ระหว่างนั้นการชุมนุมได้ขยายออกไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ หน้าทำเนียบรัฐบาล และที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา พร้อมออกแถลงการณ์ว่า (1) ให้ยุบสภาทันที (2) ยืนยันไม่มีข้อเรียกร้องอื่นใดนอกเหนือจากนี้ (3) ยินดีให้มีการเจรจา (4) เมื่อยุบสภาแล้วทุกฝ่ายต้องสลายตัวทันที และ (5) ให้จัดการเลือกตั้งที่สุจริตและยุติธรรม ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับฝ่าย นปช. แต่ไม่บรรลุผล เนื่องจากรัฐบาลกำหนดกรอบเวลายุบสภาภายใน 9 เดือน ขณะที่ฝ่าย นปช. ยืนยันให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วัน

ก่อนรัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และจัดตั้งหน่วยงานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อควบคุมสถานการณ์และยุทธการขอคืนพื้นที่หรือ “การสลายการชุมนุม” 

ปฏิบัติการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน สี่แยกคอกวัว ถนนตะนาว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และโรงเรียนสตรีวิทยา มีผู้บาดเจ็บถึง 838 ราย และมีผู้เสียชีวิต 26 คน ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 21 คน ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น 1 คน และทหาร 5 คน จากนั้นกลุ่ม นปช.ก็ย้ายไปปักหลักชุมนุมบริเวณราชประสงค์นับตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2553 เป็นต้นมา

จนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซนทรัลเวิลด์กลางกรุง คู่ขนานไปกับศาลากลางหลายแห่งในภาคอีสาน 

ท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบทางการเมือง ในจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย  68 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 มี 1 คนได้รับบาดเจ็บระหว่างสลายการชุมนุม กระทั่งเสียชีวิตภายหลัง จากการถูกลูกหลงระหว่างการกระชับพื้นที่การชุมนุมในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ทำให้กลายเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยศาลสั่งว่าไม่ใช่การเสียชีวิตจากการถูกยิงโดยตรง

ศปช.ยังบอกอีกว่า ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 36 คน มีบัตรประชาชนที่มีภูมิลำเนาในภาคอีสาน ในจำนวนผู้เสียชีวิต 94 คน มีร้อยละ 16 มีที่อยู่ไม่แน่นอน 

สำหรับคดีไต่สวนการตายที่ศาลมีคำสั่งแล้วมี 19 คดี ( 29 ราย จาก 94 ราย) เป็นคดีที่ศาลระบุว่า วิถีการยิงมาจากฝั่งทหารชัดเจน แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดลงมือ

ส่วนความคืบหน้าของคดี มีคดีไต่สวนการตายที่ศาลมีคำสั่งแล้ว 19 คดี แต่ไม่ได้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด นอกจากนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2561 มีรายงานว่า มีนายทหารเดินทางไปเจรจากับฝ่ายอัยการเพื่อขอให้ทำเป็น “สำนวนมุมดำ” เพราะหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ จึงไม่ต้องส่งฟ้องศาล และเมื่อเดือนมีนาคม 2562 อัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องทหาร 8 นาย กรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีพยานหลักฐาน 

เพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้ากลางกรุง- ศาลากลางวอด  

ข้อกล่าวหาที่เกิดกับกลุ่มคนเสื้อแดงขณะนั้นคือ “เป็นพวกเผาบ้าน เผาเมือง” แต่จากข้อเท็จจริงในชั้นศาลกลับต่างออกไป เช่น ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กรณีเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยให้ยกฟ้อง สายชล แพบัว และพินิจ จันทร์ณรงค์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนวางเพลิง 

เหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล ย่านราชประสงค์ เครติดภาพจาก Ratchaprasong (CC BY-NC 2.0)

1 พฤษภาคม 2562 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้บริษัทประกันภัย 6 แห่ง จ่ายเงินประกันค่าเสียหายให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและโจทก์ร่วมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท หลังถูกวางเพลิงวันสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 19 พฤษภาคม 2553 โดยชี้ว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้เป็นเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมือง

ส่วนคดีก่อเหตุวางเพลิงศาลากลางจังหวัดในภาคอีสาน 5 แห่ง ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น และมุกดาหาร ข้อหาที่จำเลยส่วนใหญ่ได้รับคือ วางเพลิงสถานที่ราชการและฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นต้น มีรายละเอียดดังนี้ 

  1. มหาสารคาม (ไม่ได้เผาศาลากลาง แต่เผายางรถยนต์และโรงรถบางส่วน) มีจำเลย 9 คน ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี 8 เดือน ปัจจุบันยังมีจำเลยที่รับโทษในเรือนจำมหาสารคาม แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 มีรายงานว่า อุทัย คงหา หนึ่งในจำเลยเสียชีวิตในเรือนจำ
  2. อุบลราชธานี มีจำเลย 20 คน ศาลฎีกาพิพากษาให้ พิเชษฐ์ ทาบุดดา หนึ่งในจำเลยจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่เหลือรับโทษลดหลั่นลงมา ปัจจุบันมีจำเลยรับโทษในเรือนจำอยู่อีก 4 คน ในจำนวนนี้ 3 คนอยู่เรือนจำคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา และอีก 1 คนอยู่เรือนจำอุบลราชธานี
  3. อุดรธานี มีจำเลย 22 คน ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกสูงสุด 13 ปี 6 เดือน  ปัจจุบันพ้นโทษแล้ว
  4. ขอนแก่น มีจำเลย 4 ราย ศาลพิพากษาจำคุกสูงสุด 13 ปี ปัจจุบันยังมีจำเลยที่รับโทษในเรือนจำกลางขอนแก่น 1 คน
  5. มุกดาหาร มีจำเลย 29 คน ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกจำเลยสูงสุด 15 ปี ปัจจุบันยังมีจำเลยที่รับโทษในเรือนอีก 4 คน

ทหารระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นสิ้นสุดการชุมนุมในกรุงเทพฯ ภาพจาก Matt Aho

หลังรัฐประหาร ‘57 คนยังแฝงเร้นในการเมืองไทย

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โค่นอำนาจรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ข้อสังเกตอันน่าใคร่ครวญคือ รายชื่อผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญของ ศอฉ. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 กลับมามีบทบาทในรัฐบาลและได้รับตำแหน่งสำคัญอีกครั้ง 

ยกตัวอย่าง เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองผู้อำนวยการ ศอฉ. รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้า คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. รับตำแหน่งเป็นสมาชิก คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตกรรมการ ศอฉ. ก็ยังมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในยุค คสช. ก่อนจะไปรับตำแหน่งองคมนตรีอีกทอด

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบุคคลที่ไปดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เช่น พลเอกอภิชาต เพ็ญกิตติ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือ และพลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ

อีกทั้งพลเอกอักษรา เกิดผล อดีตหัวหน้าส่วนยุทธการ ศอฉ. และ พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข อดีตรองหัวหน้าส่วนยุทธการ ศอฉ. ที่สำคัญ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ที่เคยเป็น ผบ.ร.11 รอ. ที่บัญชาการของ ศอฉ. ก็ยังมารับตำแหน่งในสนช. และทั้ง 3 คนยังรับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งที่คัดเลือกโดยคสช. อีกด้วย

หนึ่งทศวรรษแห่งการทวงหาความยุติธรรม

สิบปีล่วงเลยผ่าน ทั้งญาติของผู้เสียชีวิตและแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงพยายามทวงหาความยุติธรรมเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ แต่ความยุติธรรมก็ไม่เคยมาถึง

นับตั้งแต่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2556 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าโดยเจตนา หลังทั้งสองคนออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม แต่คำตัดสินของศาลชั้นต้นไปจนถึงศาลฎีกากลับยกฟ้อง พร้อมระบุว่าคดีนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่้ควรยื่นฟ้องกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ถัดมาเมื่อปี 2558 ป.ป.ช. มีมติว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในเรื่องดังกล่าว และเมื่อปี 2560 ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องอีกครั้ง จากการขอให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมปี 2553 โดยอ้างว่าพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนไม่เพียงพอ ทั้งที่ผลคำวินิจฉัยการไต่ส่วนการตายของศาลหลายครั้งระบุข้อเท็จจริงว่า การสลายการชุมนุมที่สั่งการโดยรัฐบาลและ ศอฉ. ทำให้มีคนตาย 

มาถึงวันนี้ หน้าฉากการเมืองไทยยังคงขัดแย้ง แม้ไม่มีความรุนแรงเชิงกายภาพแบบ 10 ปีที่แล้ว แต่ความเข้มข้นของการต่อสู้ที่ถูกกดทับทั้งการรัฐประหาร การประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งที่ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส ยังรอการปะทุราวกับระเบิดเวลา 

ยิ่งกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกผลักให้อยู่ตรงข้ามกับคณะการปกครองที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร ความตายของคนนับร้อยก็ยังไม่ได้รับความกระจ่างจากกระบวนการยุติธรรม เราจึงเห็นการเรียกร้องความเป็นธรรมของญาติและมิตรสหายของผู้เสียชีวิตผ่านการรำลึกถึงความสูญเสีย โดยไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจึงจะเห็นความยุติธรรม 

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

 

image_pdfimage_print