ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง 

การประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพื่อจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย เพราะประกาศดังกล่าวเป็นการรวมอำนาจจากเจ้ากระทรวงต่างๆ ให้มาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและข้าราชการประจำ แม้ด้านหนึ่ง การรวมอำนาจเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ของพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาล ส่วนอีกด้านหนึ่ง ต้องการแก้ไขปัญหาของระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจแบบแยกส่วน (fragmented centralization) ที่การทำงานมีลักษณะล่าช้า ต้องอาศัยการประสานงานหรือสอบถามไปยังผู้ที่มีอำนาจในแต่ละกระทรวงก่อนถึงจะปฏิบัติงานได้

“จังหวัดขอนแก่นอยู่ในกลุ่มที่ 2 คาดว่าอาจจะขยายเวลาการล็อกดาวน์ออกไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม” สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจด่านคัดกรองโควิด-19 สภ.ย่อยพระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภาพโดย Chris Beale

การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลได้ประกาศให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในแต่ละพื้นที่ ผลที่ตามมาคือ แต่ละจังหวัดต่างออกประกาศโดยอาศัยอำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ในพื้นที่จังหวัดของตัวเอง 

ในบทความนี้ ผู้เขียนมีคำถาม ข้อสังเกต และข้อเสนอต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในระดับจังหวัด 10 ประการดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง เมื่อจังหวัดรับอำนาจจากส่วนกลางให้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 จังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยได้ทยอยออกประกาศการปิดจังหวัด 

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ เกณฑ์ในการปิดแต่ละจังหวัดใช้เกณฑ์อะไร ทำไมแต่ละจังหวัดมีช่วงเวลาการปิดไม่เท่ากัน บางจังหวัดปิดทั้งเดือน บางจังหวัดปิดประมาณ 20 วัน หรือบางจังหวัดไม่ปิดเลย 

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาอีกคือ การปิดจังหวัดช่วยลดการแพร่กระจายการติดเชื้อมากน้อยเพียงใด และการปิดจังหวัดจะมีถึงเมื่อไหร่ เพราะอย่าลืมว่า ยิ่งปิดนานเท่าใด ยิ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างต้องหยุดชะงักลง ประกอบกับในสภาวะที่รัฐบาลกลางมีปัญหาในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ยิ่งส่งผลให้คนในจังหวัดที่มีการประกาศปิดนั้นได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ประการที่สอง การออกประกาศของจังหวัดไม่ตรงกับความเป็นจริงของสภาพสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลักคิดที่สำคัญคือ กลัวคนจะซื้อมาดื่มและรวมกลุ่มกันในช่วงสงกรานต์ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค จังหวัดต่างๆ จึงสั่งงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมคือ เมื่อมีการประกาศล่วงหน้าออกมาก่อน 1 วัน ประชาชนต่างพากันออกไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กักตุนไว้ มากกว่านั้น การประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ละจังหวัดก็มีระยะเวลาการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เท่ากัน เช่น  จังหวัดตราดสั่งห้ามขายเหล้าเบียร์ 9-19 เมษายน 63  จังหวัดจันทบุรีสั่งห้ามขายเหล้าเบียร์ 13-30 เมษายน 63 จังหวัดอุบลราชธานี 10-20 เมษายน 63 จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ดสั่งห้ามขายเหล้าเบียร์ 13-20เมษายน 63 ตอนหลังขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 เมษายน 63 เป็นต้น  

คำถามที่สำคัญคือ ทำไมไม่มีกฎเกณฑ์ระเบียบขั้นพื้นฐานที่ใช้ร่วมกันของจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่อยู่ใกล้กัน ทำไมต่างคนต่างออกกฎระเบียบในการบังคับใช้ ไม่กลัวว่าประชาชนชนจะข้ามไปซื้อเหล้าเบียร์จากจังหวัดข้างเคียงที่ยังไม่มีประกาศสั่งห้ามจำหน่ายมากักตุน?

ถ้ายึดตามตรรกะของรัฐที่ห้ามขาย เพราะกลัวคนจะซื้อไปดื่มและรวมกลุ่มกัน ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรค หรือกลัวจะเกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ที่คนเดินทางกลับบ้าน เราควรที่ต้องห้ามขายเครื่องดื่มน้ำอัดลมน้ำผลไม้ด้วยไหม เพราะมันอาจจะนำไปสู่การรวมกลุ่มตั้งวงจัดปาร์ตี้กันก็เป็นไปได้ 

ถ้ากลัวเกิดอุบัติเหตุเพราะคนเมาแล้วขับ ทำไมสงกรานต์ในแต่ละปีที่ผ่านมาถึงไม่ห้ามขาย  ประสบการณ์ของผู้เขียนที่มีต่อการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ ผู้เขียนได้ไปซื้อเครื่องดื่มเบียร์ Non-Alcohol เป็นเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์ 0% ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในช่วงที่มีประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พนักงานไม่ขายให้ เพราะเขาบอกว่ามันเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งที่มันไม่มีแอลกอฮอล์เหมือนน้ำผลไม้น้ำอัดลมทั่วไป ซึ่งวางขายได้ตามปกติ ยังไม่รวมถึงการมีกำหนดระยะเวลาห้ามขายแอลกอฮอล์ ที่แต่ละจังหวัดมีกำหนดการที่แตกต่างกันไป คำถามคือ เมื่อหมดช่วงจำกัดเวลาแล้ว ไม่กลัวคนแห่ออกไปซื้อและมานั่งดื่มสังสรรค์กัน?

ประการที่สาม การออกประกาศคำสั่งของจังหวัดนั้นมีการเปลี่ยนไปมาและไม่แจ้งล่วงหน้า บางจังหวัดประกาศว่าจะมีการปิดเมืองหรือล็อคดาวน์ 15 วัน ต่อมาเปลี่ยนไปเป็นถึงสิ้นเดือนเมษายน สิ่งเหล่านี้มันส่งผลให้คนในจังหวัดไม่สามารถที่จะเตรียมแผนการในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ทำอาชีพค้าขายหรือคนที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อทำธุระ เนื่องจากเขาไม่รู้ว่าจังหวัดที่เขาไปนั้นปิดหรือไม่ปิด ปิดถึงเมื่อไหร่ และถ้าปิดจะต้องทำอะไรบ้าง 

ที่สำคัญ ลักษณะการประกาศของจังหวัดคือ ไม่ประกาศล่วงหน้าให้คนเตรียมตัว แต่จะประกาศตอนเย็นและบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้นทันที สิ่งเหล่านี้สร้างความสับสนให้แก่คนที่อยู่ในจังหวัดและคนที่ต้องเข้ามาทำธุระในจังหวัดที่มีการประกาศใช้

ประการที่สี่ การทำงานส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่เป็นลักษณะของการใช้ดุลยพินิจ อำนาจการทำงานของราชการ มีที่มาจากกฎหมายให้อำนาจ ในการบริหารจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนั้น จังหวัดใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ พระราชบัญญัติการควบคุมโรคติดต่อ ในการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการ 

สิ่งที่พบคือ บางประกาศที่ออกมาจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้นออกเกินกว่าอำนาจกฎหมายที่ตนมี เช่น การออกประกาศให้คนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้านต้องถูกปรับเงิน กรณีดังกล่าว ศาลศรีษะเกษได้มีการตัดสินแล้วว่า การออกประกาศให้มีการปรับเงินนั้นเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าอำนาจที่ผู้ออกประกาศมี หรือ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นก็แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพราะให้เป็นดุลยพินิจ “ทั้งให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตั้งแต่ระดับนายอำเภอขึ้นไปเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการออกคำสั่งและระบุสถานที่กักตัว หากมีปัญหาให้หารือแจ้งมาทางจังหวัด” 

ส่งผลให้ไม่เกิดมาตรฐานในการปฏิบัติเดียวกันและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เช่น ขับรถข้ามสามจังหวัด แต่การปฏิบัติทั้งสามจังหวัดนั้นแตกต่างกัน บางจังหวัดต้องเรียกหาใบผ่านด่าน บางจังหวัดปล่อยผ่าน เพียงแค่เอาเครื่องวัดอุณหภูมิตรวจ หรือบางจังหวัดเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจตลอด 

ประการที่ห้า การที่แต่ละจังหวัดมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ต่างกัน สิ่งที่พบคือ การสื่อสารให้ประชาชนนั้นมีความยากลำบากโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความจำเป็นที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อกลับบ้านในต่างจังหวัด 

สิ่งที่พบคือ ประชาชนไม่ทราบว่าแต่ละจังหวัดที่ผ่านมีกฎเกณฑ์อะไรบ้างในการผ่านจังหวัด นำมาสู่ความกลัวว่าจะเดินทางได้ไหม หรือบางครั้งเกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของด่านในจังหวัดดังที่ได้กล่าว เพราะว่าเกณฑ์ในการตรวจสอบของแต่ละจังหวัดต่างกันและอำนาจขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้เรามี 77 จังหวัดในประเทศไทย จะผ่านไปจังหวัดไหนต้องศึกษากฎหมายของจังหวัดนั้นให้ดี บางครั้งก็ไม่รู้ว่าประกาศออกมาเมื่อไหร่ ตอนไหนเพราะมีข้อจำกัดในการสื่อสาร

ประการที่หก การให้อำนาจจังหวัดในการบริหารสถานการณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่เป็นเพียงการกระจายการบริหารงานเท่านั้น 

สาเหตุที่กล่าวถึงประเด็นนี้ เพราะโฆษกฯ ศูนย์โควิด (ศบค.) ได้กล่าวออกมาทำนองว่า รัฐบาลได้กระจายอำนาจให้จังหวัดมีอำนาจบริหารจัดการสถานการณ์เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ตามหลักวิชาทางด้านรัฐศาสตร์นั้น สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ ไม่ได้เรียกว่า การกระจายอำนาจ แต่เป็นการกระจายการบริหาร หรือเพียงแบ่งอำนาจบางส่วนให้แก่ทางจังหวัดบริหารเท่านั้น เพราะถ้าเป็นการกระจายอำนาจจริง อำนาจที่มีมันต้องผูกและเชื่อมโยงกับประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและการตัดสินใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีความรับผิดชอบ และถูกตรวจสอบได้จากประชาชน (accountable) มีอิสระในการทำงาน (autonomy) แต่ระบบที่เรามีอยู่คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคเท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้งและรับคำสั่งโดยตรงมาจากรัฐบาล ซึ่งต้องทำตามคำสั่งมากกว่ารับผิดชอบหรือฟังเสียงของประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา ที่กล่าวมาเป็นทฤษฎีในหลักวิชาการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ

หลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า การให้จังหวัดมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น คือ คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคในระดับจังหวัด ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่เป็นข้าราชการส่วนภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่ได้มีตัวแทนของประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าไปร่วมออกความเห็นหรือมีอำนาจในการออกมาตรการต่างๆ ในการควบคุมแพร่ระบาดของโรค

ประการที่เจ็ด การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่ผู้นำมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค หน่วยงานเหล่านี้ไม่สามารถที่จะโยกงบประมาณทำงานหรือเบิกจ่ายเงินเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากติดระเบียบราชการ และต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางว่าท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง 

ภายหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีอำนาจในการบริหารสถานการณ์ในจังหวัด การทำงานของท้องถิ่นยังคงรอคำสั่งจากส่วนกลาง เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเพียงผู้ที่ถ่ายทอดคำสั่งจากส่วนกลางลงมาให้ท้องถิ่นเท่านั้น 

มากไปกว่านั้น บางคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีลักษณะที่สั่งการลงมา แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้ท้องถิ่นทำงานลำบาก เพราะถ้าดำเนินการในการเบิกจ่ายหรือตั้งโครงการไปก่อน อาจจะถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช)  ในภายหลัง เนื่องจากใช้เงินผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ตัวอย่างเช่น การที่กระทรวงมหาดไทยตีความการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เข้าข่ายการสาธารณภัย ก็ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดึงงบประมาณจากส่วนกลางมาใช้

ประการที่แปด การใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจาหมู่บ้าน (อสม.)ในการควบคุมประชาชน สืบเนื่องจากประการที่ 7 เมื่อการทำงานของท้องถิ่นมีปัญหาติดขัดกับกฎระเบียบ การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสในระดับพื้นที่นั้น ทางจังหวัดได้มีการใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจาหมู่บ้าน (อสม.) ในการควบคุมการเข้าออกของประชาชนในพื้นที่และแจ้งต่อทางเจ้าหน้าที่อำเภอ

ประการที่เก้า การบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสในระดับจังหวัดนั้น มีลักษณะที่ใช้การควบคุมเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยเป็นหลัก กล่าวคือ การบริหารจัดการที่เกิดขึ้น มาจากแนวทางการทำงานของรัฐบาลกลางที่ถูกนำลงมาปฏิบัติในพื้นที่ มีการออกกฎหมายในการควบคุมคน และมีการแสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันของจังหวัดว่ามีจำนวนน้อยลงจากการใช้มาตรการเข้มข้นที่ถูกออกมา หลังจากนั้น จะเป็นการขอความร่วมมือกับประชาชนไม่ให้ออกจากบ้าน หรือให้เล็งเห็นถึงความปลอดภัยในชีวิตมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น การสั่งให้ปิดร้านเร็วขึ้น การห้ามออกนอกบ้าน ตามประกาศเคอร์ฟิว (22.00-5.00 น.) การปิดตลาด หรือห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรม 

สิ่งเหล่านี้สร้างปัญหาให้แก่ประชาชนบางส่วนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ แรงงานรับจ้าง รวมถึงผู้ที่มีอาชีพค้าขายอย่างมาก แต่เมื่อมีการออกมาตรการควบคุมป้องกันแล้ว ทางจังหวัดต้องมีมาตรการช่วยเหลือตามมาด้วย แต่สิ่งที่พบคือมาตรการช่วยเหลือมีในระดับรัฐบาลกลางส่วน ในระดับจังหวัดนั้นมีเพียงบางจังหวัดที่มีการแจกเงินให้กับผู้ที่มารายงานตัวว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 เช่น จังหวัดกระบี่ เป็นต้น 

ประการที่สิบ การบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสในระดับจังหวัดนั้นมีลักษณะที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการควบคุมคน จนลืมพลังของประชาชนในการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 

การรณรงค์ของรัฐที่บอกว่าให้ social distancing (การรักษาระยะห่างทางสังคม) หรือ stay home (การอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ) นั้น เราต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่คือ เราต้องอยู่ห่างกัน โดยรักษาระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) แต่ในทางสังคมนั้น เราควรที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นอกเห็นใจกันมากกว่าที่ต่างคนต่างอยู่ 

ปัจจุบัน เริ่มมีปรากฏการณ์ทางสังคมในการตั้งกลุ่มใน Facebook เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนมาติดต่อค้าขายกัน หรือการแจกข้าวสาร สิ่งของจำเป็น และเงิน ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบหรือได้รับความยากลำบากมากกว่าพวกเขา มีพลังทางสังคมเกิดขึ้นตรงนี้ 

อย่างไรก็ตาม การกระทำด้วยจิตที่เป็นกุศลอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามยากดังกล่าว มันผิดระเบียบของหน่วยงานของรัฐ ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมคนและการห้ามรวมกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ ด้านหนึ่งเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่รัฐเชื่อว่าใช้ได้ผล แต่อีกด้านหนึ่ง กฎหมายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปิดกั้นการส่วนร่วมของประชาชนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้ และทำให้ประชาชนเป็นเพียงพลเมืองที่รอคำสั่งจากรัฐ (passive citizens) มากกว่าเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (active citizens) ในการเข้ามาช่วยเหลือสังคม ในด้านที่กลไกของรัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ มีหลายคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าสิ้นสุดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ละจังหวัดจะมีการบริหารจัดการอย่างไรกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่จบ จะใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อไหม หรือจะใช้กฎหมายอะไรต่อไป รัฐจะจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ร้านค้า ร้านอาหาร และกิจกรรมต่างๆ จะกลับมาเปิดไหม ถ้าเปิดจะมีมาตรการดูแลอย่างไร การรับมือในระดับจังหวัดจะเป็นอย่างไร จะยังเข้มงวดเหมือนเดิมไหม หรือจะเปลี่ยนไปทิศทางไหน ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบออกมาจากทางรัฐบาลและจังหวัด

จากที่กล่าวมา เป็นข้อสังเกตและปัญหาที่พบในการบริหารจัดการป้องกันและแพร่กระจายของโควิด-19 ในระดับจังหวัด 

ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิหรือว่ากล่าวการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุ่มเททำงาน แต่สิ่งที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกต มีคำถาม และเขียนถึงปัญหาที่พบเจอนั้น เพียงเพื่อต้องการที่จะบอกว่า ระบบการบริหารงานในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคนี้มีปัญหาอย่างไร และหลังจากนี้ เราจะออกแบบสถาบันทางการเมืองหรือร่วมมือกันอย่างไร เพื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ 

แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ เราจะต้องอยู่กับมันให้ได้ ที่สำคัญที่สุด ทุกคนสามารถอยู่รอดได้เหมือนกัน ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีทรัพยากรหรือมีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าคนกลุ่มอื่น แล้วพยายามบังคับให้คนเหล่านั้นต้องทำตามโดยละเลยประเด็นในเรื่องของเสรีภาพ การมีส่วนร่วม และความเป็นจริงในสังคม นี่เป็นสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นในการจัดการสภาวะโรคระบาดในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน


หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print