ภาพปกจาก Cyrille Andres

วันเพ็ญ มอลเลอร์ เรื่อง

ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ศพ และบาดเจ็บอีกนับพันคน จากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เป็นเหมือนบาดแผลในใจที่ทำให้หดหู่ทุกครั้งที่นึกถึง ในฐานะสื่อมวลชนที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ 

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 เมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง กลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่ถนนราชดำเนิน และกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่หน้ากองสลาก (เดิม) ยาวไปจนถึงหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีศูนย์กลางอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ คู่ขนานไปกับเวทีแยกราชประสงค์ เพื่อเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

โดยพวกเขาเชื่อว่า มีการแทรกแซงคำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์สลับขั้วขึ้นมาเป็นรัฐบาลและมีกองทัพอยู่เบื้องหลังทำให้การชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ ยืดเยื้อมาจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2553 

คนเสื้อแดงชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2553 ภาพจาก Cyrille Andres

เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ยังคงอยู่ในความทรงจำ 

จำได้ว่า ช่วงสายของวันนั้น (10 เมษายน 2553) ได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าโต๊ะข่าวให้เปลี่ยนแปลงหมายข่าวด่วน โดยให้รีบเข้าไปสังเกตการณ์ที่เวทีชุมนุมสะพานผ่านฟ้าฯ หลังมีการเสริมกำลังทหารจากต่างจังหวัดเข้ามาในพื้นที่ โดยมีรายงานว่า อาจมีการสลายการชุมนุม 

เราไปถึงสนามข่าวประมาณ 11 โมง ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มตึงเครียดแล้ว โดย ขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรฯ (ตำแหน่งในขณะนั้น) นำผู้ชุมนุมบางส่วนเคลื่อนออกจากสะพานผ่านฟ้าฯ ไปปิดล้อมกองทัพภาคที่ 1 พร้อมระดมอาสาสมัครชายแล้วกระจายตัวปิดกั้นทางเข้า-ออกโดยรอบเพื่อสกัดกั้นการสลายการชุมนุม ส่วนคนที่เหลือให้มารวมตัวด้านหน้าเวที 

เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นคนแก่และผู้หญิง เพราะช่วงกลางวันอากาศร้อนจัด และอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงมีผู้ชุมนุมไม่มากนัก

กระทั่งเข้าสู่ช่วงบ่าย ขณะกำลังส่งข่าวอยู่ด้านข้างเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ ก็มีพี่นักข่าวผู้ชายคนหนึ่งที่สังเกตการณ์อยู่บริเวณด้านหน้ากองทัพภาคที่ 1 โทรศัพท์มาแจ้งว่า เกิดการปะทะกันแล้ว ถือเป็นจุดที่ 2 ที่มีการประจันหน้ากัน 

เขาบอกว่า ทหารยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำขับไล่ผู้ชุมนุมเพื่อเคลียร์พื้นที่บนถนนราชดำเนิน ตั้งแต่ด้านหน้ากองทัพภาคที่ 1 ไปถึงบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ 

จากนั้นก็เริ่มได้ยินเสียงดังคล้ายปืนและเสียงคล้ายระเบิดดังออกมาเป็นระยะๆ 

ตอนนั้นเราเริ่มเห็นผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บถูกนำตัวมาปฐมพยาบาลด้านหลังเวทีตรงสะพานผ่านฟ้าฯ อย่างต่อเนื่อง 

ก่อนหน้านั้นก็มีรายงานว่า มีผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวต่างชาติถูกยิงเสียชีวิต ต่อมาทราบชื่อคือ เกรียงไกร คำน้อย ผู้ชุมนุม ถูกยิงบริเวณด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และ ฮิโรยูกิ มูราโมะโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงเข้าที่หน้าอก ด้านหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ใกล้แยกคอกวัว

ตลอดช่วงบ่าย เรายังเฝ้าสังเกตการณ์อยู่แถวสะพานผ่านฟ้าฯ แม้ผู้ชุมนุมจะอ่อนล้า แต่พวกเขายังดูมีขวัญและกำลังใจดี โดยพวกเขาเชื่อว่า “วันนั้นโชคอาจเข้าข้าง” เพราะหลังจากทหารยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาในการชุมนุม กระแสลมก็ตีกลับไปยังฝั่งทหาร ทำให้ต้องยุติปฏิบัติการณ์ชั่วคราว 

ก่อนที่ทหารจะเคลื่อนกำลังรอบ 2 ก็มีข่าวลือออกมามากมาย โดยอ้างข่าวลือจากทหารแตงโมที่ระบุว่า ภายในกองทัพขาดเอกภาพ เพราะ พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาค 1 (ขณะนั้น) ปฏิเสธคำสั่งจากระดับบนในการล้อมปราบประชาชน 

ปรากฎการณ์ในเวลาต่อมาได้ตอกย้ำข่าวลือมากยิ่งขึ้น เมื่อพบว่ามีทหารป่า สายบูรพาพยัคฆ์ ภายใต้การนำของ พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตสุวรรณ รองเสนาธิการทการบก (ยศขณะนั้น) และ พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ. (ยศขณะนั้น) เข้ามาดูแลพื้นที่แทนกองทัพภาคที่ 1 ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ 

การบุกยึดสะพานผ่านฟ้าของเจ้าหน้าที่รัฐ ผิดไปจากการประเมินของแกนนำ นปช. ที่มองว่า เป้าหมายแรกของการยึดพื้นที่คืนของทหารน่าจะเป็นแยกราชประสงค์ เพราะเป็นศูนย์กลางทางการค้าของคนกรุงเทพฯ 

เหตุเผชิญหน้าระหว่างคนเสื้อแดงกับตำรวจบริเวณสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ภาพจาก Matt Aho (ได้รับอนุญาตให้ใช้ภาพแล้ว)

คืนนั้น (10 เมษายน 2553) แกนนำหลักอย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์ และวีระ มุสิกพงศ์ จึงรวมกันอยู่ที่เวทีแยกราชประสงค์ ส่วนเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ เท่าที่จำได้ แกนนำหลักๆ มี ขวัญชัย ไพรพนา, สุพร อัตถาวงศ์, อดิศร เพียงเกษ และ ส.ส.กทม. บางคน 

เมื่อพื้นที่โดยรอบถูกบล็อกการเข้า-ออก ผู้ชุมนุมจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ ด้วยการโดยสารทางเรือมาขึ้นที่ท่าสะพานผ่านฟ้าฯ ด้านหลังเวทีชุมนุมแทน 

ยิ่งมืดคนที่เวทีสะพานผ่านฟ้าฯ ก็ยิ่งเยอะ…

ตอนนั้นก็ได้ยินข่าวว่าการ์ดจากเวทีราชประสงค์ได้ตามไปสมทบบริเวณแยกคอกวัว เพื่อสกัดทหารที่วางกำลังตีวงล้อมโอบเข้ามาทางโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ถนนตะนาว ถนนข้าวสาร และแยกคอกวัวมากขึ้น 

จากนั้นเราได้ไปสังเกตการณ์อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ราวๆ 6 โมงเย็นก็เห็นว่า เริ่มมีการโยนแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ 

ส่วนผู้ชุมนุมก็ยิงพลุขึ้นตอบโต้ เท่าที่เห็น อาวุธส่วนใหญ่ของพวกเขาคือ ท่อนไม้ ขวดน้ำ อิฐตัวหนอนที่งัดออกมาจากฟุตบาท บางรายใช้กาละมังแบบโลหะเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัว หรือสุดแล้วแต่ใครจะหาอะไรได้ในห้วงเวลาชุลมุน

เริ่มมืด…เจ้าหน้าที่ยิ่งบีบพื้นที่ กระชับวงล้อมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สองฝ่ายต่างผลักดันกันไปมา หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงดังคล้ายปืน เสียงโห่ร้อง ตะโกนโหวกเหวก และผู้ชุมนุมแตกกระจาย แยกทิศทางแทบไม่ได้ ชุลมุนไปหมด 

ตอนนั้นเราวิ่งหลบออกมาทางแยกอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ผ่านศาลาว่าการ กทม. กลับมาหลบรวมกับผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ที่ด้านหลังเวทีผ่านฟ้าฯ (บริเวณหลังป้อมมหากาฬ) ระหว่างนั้นเฮลิคอปเตอร์ยังคงบินโปรยใบปลิวแถวเวทีชุมนุม เพื่อเตือนผู้ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเสียงดังคล้ายปืนจากแยกคอกวัวก็ยังดังมาถึงสะพานผ่านฟ้า แม้บนเวทีจะยังมีการปราศรัยสลับร้องเพลงเพื่อปลุกขวัญกำลังใจให้ผู้ชุมนุม แต่พวกเขาส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงก็ดูกระวนกระวายใจและขวัญเสียไม่น้อย

สิ้นเสียงปืน…หลังการเจรจาหยุดยิงประมาณประมาณ 3 ทุ่มกว่าๆ ศพแรกถูกนำกลับมาที่เวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ  

เรายังจำกลิ่นคลุ้งคาวเลือดตอนที่ศพถูกลำเลียงผ่านหน้า ร่างผู้เสียชีวิตถูกทยอยนำขึ้นไปรวมกันไว้บนเวที รวมกับอาวุธปืนที่ยึดมาจากฝ่ายทหารได้อย่างไม่ลืมเลือน

ที่น่าเศร้าและหดหู่ใจคือ การประกาศตามหาญาติ คนรู้จักที่พลัดหลงกัน บางคนพ่อประกาศตามหาลูกชาย เพื่อนประกาศตามหาเพื่อน 

มีคุณป้าคนหนึ่งประกาศตามหาสามี หลังจากเธอยืนรออยู่ในเต้นท์ด้านหลังเวทีที่เธอประกาศนัดพบสามีอย่างยาวนาน ก็มารู้ข่าวภายหลังว่า สามีของเธอ คือหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะคืนนั้น

วันรุ่งขึ้น เรากลับไปแยกคอกวัว บริเวณที่มีการปะทะ แล้วเดินดูรอบๆ ยังคงมีคราบเลือดและซากรถหุ้มเกราะของทหารที่ถูกทำลายจนหมดสภาพ 

ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็มีร่องรอยกระสุน ผลสรุปยอดของผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะเมื่อวันที่ 10 เมษายน อยู่ที่ 26 ราย แยกเป็นทหาร 5 นาย และพลเรือน 21 ราย 

ต่อมาศพผู้ชุมนุมบางส่วนถูกบรรจุในโลงสีแดง นำมารวมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนขบวนแห่ไปตามถนนเส้นต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อประจานรัฐบาล 

สำหรับเรื่องปืนของทหารที่การ์ดของ นปช. รวบรวมมาไว้บนเวทีผ่านฟ้าฯ ของคืนวันที่ 10 เมษายน นาทีแรกที่เราเห็นก็คิดในใจว่า ต้องเป็นเรื่องแน่ 

และแล้วก็เป็นไปตามคาด…

วันที่ 11 เมษายน บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางฉบับลงภาพการแสดงอาวุธบนเวที พร้อมข้อความว่า “นั่นคือชายชุดดำ ผู้ชุมนุมมีอาวุธสงคราม” ซึ่งเป็นชุดข้อความที่อีกฝ่ายใช้กล่าวอ้างในเวลาต่อมา 

และกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาปราศรัยบนเวทีการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ ในค่ำวันที่ 11 เมษายน ซึ่งเพิ่มความโกรธแค้นให้กับผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น ตอนนั้นผู้สื่อข่าวหลายคนเริ่มเห็นสถานการณ์ที่ตึงเครียด จึงเข้าไปหลบใน สน.นางเลิ้ง ซึ่งต่อมาผู้ชุมนุมก็ตามมาปิดล้อม เพราะไม่พอใจการนำเสนอข่าว กว่าสถานการณ์จะคลี่คลายก็ปาไปหลายชั่วโมง 

หลังความสูญเสีย กลุ่มคนเสื้อแดงจึงยุบเวทีชุมนุมบนถนนราชดำเนิน (บนสะพานผ่านฟ้าฯ) เพื่อไปรวมกับเวทีราชประสงค์ เท่ากับว่าเวทีชุมนุมเหลือเพียงแห่งเดียว 

ต่อมาเดือนพฤษภาคม ฝ่ายรัฐบาลได้พยายามเสนอแผนปรองดอง แล้วกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ พร้อมขีดเส้นตายให้ยุติการชุมนุมภายในวันที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งแกนนำกลุ่ม นปช. ก็ตอบรับ แต่มีเงื่อนไขคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ. (ตำแหน่งในขณะนั้น) ต้องมอบตัวแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุม 10 เมษายน 

ถือเป็นเงื่อนไขที่แทบเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลก็อ้างถึงการมีกลุ่มชายชุดดำโจมตีฝ่ายทหารที่นำไปสู่ความสูญเสียเช่นเดียวกัน

เมื่อการเจรจาล้มเหลวจึงนำไปสู่เหตุความรุนแรงในเดือนพฤษภาคมขึ้น

เดือนพฤษภาคมจึงเกิดเหตุความไม่สงบหลายจุดต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง คนวางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีตั้งรับให้กับกลุ่ม นปช. ที่ถูกกระสุนปริศนายิงเข้าที่ศรีษะ ขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 

การตายครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเสียงปืน เสียงระเบิด และเหตุนองเลือดในเวลาต่อมา เพราะการตายของ เสธ.แดง สร้างความระส่ำระสายและส่งผลต่อขวัญกำลังใจผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกลุ่มการ์ด นปช.

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง นอนบนพื้นหลังจากถูกยิงเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2253 ซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา ภาพจาก : Cyrille Andres(ได้รับอนุญาตให้ใช้ภาพแล้ว)

ปฏิบัติการณ์กระชับพื้นที่ของฝ่ายรัฐบาล เริ่มขึ้นวันที่ 14 พฤษภาคม โดยแยกราชประสงค์ถูกปิดล้อม ตัดขาดจากภายนอกด้วยรถหุ้มเกราะและกำลังทหารหลายพันนาย พร้อมติดป้ายประกาศ “พื้นที่ใช้กระสุนจริง” 

การปะทะเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายจุดตั้งแต่ช่วงบ่ายวันนั้น รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ต่อมาเช้าวันที่ 16 พฤษภาคม ขณะที่อยู่บนทางด่วน มุ่งหน้าไปสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อไปรายงานข่าวการประชุมองค์กรความร่วมมืออิสลามที่ประเทศรัสเซีย 

ภาพที่เห็นและเป็นภาพที่ลืมไม่ลงคือ ใจกลางกรุงเทพมหานครขณะนั้นปกคลุมไปด้วยควันสีดำจากการเผ้าไหม้ยางรถยนต์ สภาพไม่ต่างไปจากสงครามกลางเมือง 

ระหว่างที่ทำข่าวอยู่ต่างประเทศ เรายังคงติดตามสถานการณ์จากเมืองไทยอย่างใกล้ชิด และภาพการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษาคม 2553 ก็กลายเป็นข่าวพาดหัวของสื่อต่างชาติหลายสำนัก 

แม้กระทั่งสำนักข่าวในประเทศรัสเซีย…

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print