ธีร์ อันมัย เรื่อง 

นับตั้งแต่ปลายปี 2554 เป็นต้นมา ผมกับเพื่อนมักจะได้รับจดหมายจากเรือนจำเป็นประจำ คนที่เขียนจดหมายมาก็คือ นักโทษการเมือง คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

นักโทษการเมืองเขียนจดหมายหาเพื่อนและผม ก็คงเป็นเพราะในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 พวกเราประกอบด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักกิจกรรมจากเชียงใหม่ และเพื่อนผู้ติดตามความเป็นไป กรณีรัฐใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 รวมทั้งคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีและเชียงใหม่ ได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงขึ้น เพื่อระดมทุนทั้งการขอรับบริจาค ทำเสื้อยืดและเข็มกลัดขาย เพื่อนำเงินที่ได้ไปมอบให้กับครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมือง 

เบื้องต้นเน้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและเชียงใหม่ ภายใต้สโลแกน “อย่าลืมว่าพวกเขาถูกขัง อย่าขังพวกเขาจนถูกลืม” และยังดำเนินการช่วยเหลือพวกเขาอยู่จนปัจจุบัน

กรณีจังหวัดอุบลราชธานีนั้น หลังศาลากลางจังหวัดถูกเผา ทางตำรวจได้ออกหมายจับตามภาพถ่ายที่ถ่ายได้ในเหตุการณ์ถึง 412 หมาย ในเบื้องต้นมีคนถูกจับจำนวน 60 คน จากนั้นก็ทยอยยกฟ้องจนเหลือ 21 คน ซึ่งขึ้นฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ผลการพิพากษาแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 จำคุกตลอดชีวิต 4 คน ลดโทษเหลือหนึ่งใน 3 เหลือจำคุก 33 ปี 12 เดือน 

กลุ่มที่ 2 จำคุก 3 ปี 4 คน ลดโทษเหลือ 2 ปี  

กลุ่มที่ 3 จำคุก 1 ปี  3 คน แต่ลดเหลือ 8 เดือน  

กลุ่มที่ 4 ยกฟ้อง 9 คน เพราะหลักฐานของโจทก์มีเพียงภาพถ่ายของผู้ต้องหาขณะเข้าร่วมชุมนุม แต่ไม่มีหลักฐานอื่นที่แสดงว่าโจทก์ได้ร่วมกระทำความผิดอื่นตามฟ้อง

กลุ่มที่ 5 จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา เขาเป็นแกนนำกลุ่มเสื้อแดงและถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งฟ้องข้อหาก่อการร้ายนั้น ศาลมีคำพิพากษาว่า พฤติกรรมไม่เข้าข่ายเป็นผู้ก่อการร้าย แต่กระทำผิดฐานโฆษณาออกอากาศชักชวนให้มีการชุมนุม แต่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดการเผาทำลายอาคารศาลากลางจังหวัด จึงพิพากษายกฟ้องข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย และให้ลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา และได้รับประกันตัวในเวลาต่อมา

ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา 13 คน ในจำนวนนี้มีเขาด้วย โดยศาลฎีกาได้พิพากษากลับคำพิพากษาลงโทษจากเดิมจำคุก 1 ปี ศาลฎีกาพิพากษาเป็นประหารชีวิต แต่ลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังพิพากษาเพิ่มโทษ 2 คน จากจำคุก 2 ปี เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน กลับคำตัดสินจากยกฟ้อง เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน 1 คน 

ส่วนที่เหลือ ศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ส่วน 4 คนที่ติดคุก ต้องโทษจำคุก 33 ปี 12 เดือน ศาลฎีกาพิพากษาลดให้เหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน  

นับตั้งแต่ปลายปี 2554 นักโทษการเมืองอุบลราชธานีและหลายจังหวัดถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 

นับตั้งแต่นั้นมา ผมและเพื่อนมักได้รับจดหมายจากเรือนจำ โดยเฉพาะคนที่ต้องโทษหนักจำคุก 33 ปี 12 เดือน ส่วนใหญ่จะเขียนมาเล่ามาระบายถึงความรู้สึกต่อความอยุติธรรมที่พวกเขาได้รับ บางครั้งก็พูดถึงอุดมการณ์ของคนเสื้อแดงที่เขามี 

นอกจากนั้นก็ส่งมาเพื่อถามข่าวคราวครอบครัวของพวกเขา บางครั้งก็เขียนมาขอบคุณที่กองทุนฯ ยังคงช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขาทั้ง 8 คนอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เขา ที่ถูกศาลฎีกาเพิ่มโทษจำคุกตลอดชีวิตและถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ก็เริ่มทยอยเขียนจดหมายถึงผมและเพื่อน สำหรับประเด็นที่เขาเขียนถึงนั้น มีตั้งแต่ความภาคภูมิใจในความเป็นคนเสื้อแดง ความเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย และเยาะเย้ยต่อความอยุติธรรมที่เขาได้รับ บางครั้งก็เขียนวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง บางครั้งก็วิเคราะห์เศรษฐกิจ รวมถึงประสบการณ์ในวัยหนุ่มของเขา 

ข้อจำกัดบางประการที่เราต้องรู้คือ จดหมายที่ผู้ต้องขังเขียนถึงคนข้างนอกคุกแต่ละฉบับนั้น มีความยาวได้ไม่เกิน 15 บรรทัด ฉะนั้น หากเขามีเรื่องราวยาวๆ อยากเขียนอยากเล่า เขาจะต้องเขียนจดหมายหลายฉบับและทยอยส่งออกมา และจดหมายทุกฉบับจะต้องถูกอ่าน ถูกตรวจสอบ พร้อมมีลายเซ็นของผู้ตรวจและมีตราประทับว่า ‘ตรวจแล้ว’ 

ที่สำคัญ ก่อนปิดผนึกซองจดหมาย ต้องมีข้อความขออนุญาตที่เขาต้องเขียนด้วยลายมือตรงด้านในซองจดหมายว่า “นช…คดีความมั่นคง ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมสังกัดกลุ่มผู้สูงอายุ ขออนุญาตเขียนจดหมายถึงอาจารย์”

สองเดือนมานี้ ผมได้รับจดหมายจากเขาทีละ 2 ฉบับ เพราะข้อความต่อเนื่องกัน เนื้อหาส่วนใหญ่จะเล่าถึงปัญหาสุขภาพของผู้ต้องขัง ความเจ็บป่วย และความตายในเรือนจำ อย่างในฉบับนี้ เขาเขียนถึงความป่วยไข้ของนักโทษสูงวัย และความตายก่อนพ้นกำหนดโทษ พร้อมระบุว่า เรื่องทั้งหมดก่อนที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเริ่มระบาดทั่วประเทศ

ผมอยากให้ลองอ่านจดหมายจากเรือนจำ 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 8 เมษายน 2563 ที่เขาเขียนถึงผมและเพื่อน ดังต่อไปนี้

 ‘บับที่ 1

31 มีนาคม 63

อาจารย์ธีร์และอาจารย์ปูที่นับถือ

พ่อใหญ่ ‘งาย’ เป็นผู้สูงวัยอายุร่วม 74 ปี เป็นคนรูปร่างผอมบาง แต่กระฉับกระเฉง คล่องแคล่วว่องไว เหมือนคนวัยกลางคนทั่วไป แต่หูค่อนข้างจะตึงอยู่หน่อยๆ ฉะนั้น เวลาจะสื่อสารกับแก ผมต้องใช้เสียงให้ดังกว่าปกติ ผมใช้สรรพนามเรียกแกว่า ‘น้า’ ทุกคำ ส่วนแกเรียกผมว่า ‘ตา’ ทุกคำเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าแกเห็นสีขาวบนหัวของผม ซึ่งมีมากกว่าแกค่อนข้างมากก็เป็นได้

ผมรู้จักและค่อนข้างสนิทกับน้างายมาตั้งแต่ที่ไปอยู่คลองไผ่ใหม่ๆ แล้ว แถมได้นอนห้องเดียวกันอีกด้วย ไปอยู่คลองไผ่ในช่วงปีแรก ผมจะรู้สึกปวดตามข้อมือข้อเท้าและปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวอยู่เป็นประจำ ก็ได้น้างายนี่แหละคอยบีบคอยนวดให้เรื่อยมา ซึ่งอาการที่ผมเป็นอยู่นี้ปรากฏว่านักโทษเป็นกันทุกคน ดีที่ผมไม่เป็นหิด กลาก เกลื้อน และสมอย เหมือนกับคนอื่นๆ ด้วยความที่น้างายหูตึง แถมเป็นคนจังหวัดเลย ประกอบกับฟันด้านหน้าทั้งข้างบนและข้างล่างหายไปหลายซี่ จึงทำให้คำพูดที่แกสื่อออกมาฟังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร หรือบางครั้งก็ไปในทำนอง ไปไหนมา สามวาสองศอกไปโน่นเลย แกจึงอยู่เงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร แต่ถ้าใครปวดเมื่อยเส้นเอ็น มาขอให้บีบนวดให้ แกก็ไม่ละเลยที่จะบีบนวดให้ทันทีเช่นกัน หลายคนดีกับแก แต่ก็มีพวกแย่ๆ เหมือนกันที่ชอบดุด่าและหาเรื่องกลั่นแกล้งแกอยู่ตลอดเวลา จนผมเองบางครั้งถึงกับทนไม่ไหว จนต้อง…

แล้วคุยกันใหม่นะครับ

ผมเอง

จดหมายจากนักโทษคดีการเมืองฉบับที่ 2 เขียนถึง อ.ธีระพล อันมัย ลงวันที่ 8 เมษายน 2563 

‘บับที่ 2

8 เมษายน 63

อาจารย์ธีร์และอาจารย์ปูที่นับถือ

…ออกโรงป้องกัน ‘น้างาย’ อยู่หลายครั้ง มาในระยะปีหลังๆ มานี้ รู้สึกว่า ‘น้างาย’ จะหลุดออกจากความเป็นจริงของชีวิตอยู่หลายครั้ง และถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เจอหน้าผม แกมักจะพูดอยู่ตลอด และเหมือนกันทุกครั้งว่า “เดี๋ยวเราก็จะได้กลับบ้านแล้ว ตาอย่าลืมไปส่งผมด้วยนะ” ผมก็ได้แต่พยักหน้าและยิ้ม เพื่อให้กำลังใจแกและเพื่อตอกย้ำความเชื่อของแกอย่างไรไม่ทราบได้ ผมเห็นแกเก็บสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัว เก็บใส่ถุงพลาสติกไว้เป็นอย่างดี ในทุกๆ เย็นวันศุกร์ หลังจากนั้น น้างายก็เริ่มไม่สบาย เป็นไข้ ไอ และจามเกือบทุกวัน ตอนดึกแกก็จะละเมอเกือบทุกคืน…

ก่อนหน้านี้ ‘น้าเซียง’ คนนครพนม ติดคุกมาแล้ว 14 ปี ถูกหามส่งแดนพยาบาล ปรากฏว่า 3 วันต่อมา น้าเซียงได้เสียชีวิตลง ทั้งๆ ที่มีโทษต้องจำต่ออีกร่วม 10 ปี

ก่อนน้าเซียง พ่อใหญ่แดงคนอุบลฯ อายุ 65 ปี นอนห้อง 14 ก็เป็นลมไม่ทราบสาเหตุ อยู่แดนพยาบาลได้ 2 วัน ก็ได้พ้นโทษก่อนกำหนดถึง 5 ปี

น้างายเริ่มทานข้าวไม่ได้ เวลายืนก็เริ่มโซเซ พวกเรานำตัวแกไปส่งแดนพยาบาล แค่ 2 วันต่อมา แกก็จากไปอีกคน…แกไปก่อนที่ ‘โควิด-19’ จะมาเยือนไม่นานนัก

…วันนี้มีนักโทษวัยชราเข้ามาแทนที่แดน 4 อีก 7 คน แต่ละคนมีโทษติดตัวไม่น้อยกว่า 30 ปี…คงไม่ต้องบอกนะครับว่า ทุกคนจะได้กลับบ้านด้วยวิธีไหน

ด้วยความนับถือ

ผมเอง

ผมนับจดหมายจากเรือนจำที่รวบรวมไว้ในมือตอนนี้ มี 85 ฉบับ นี่ยังไม่นับอีกหลายฉบับที่ส่งต่อให้เพื่อนอ่าน หลายฉบับที่ซุกซ่อนอยู่ตามหนังสือ ตามย่าม ตามกระเป๋าเดินทางของผม 

ทุกฉบับคือความคิดเสรี ในขณะที่พวกเขาถูกจองจำ ผมได้แต่หวังให้พวกเขาแข็งแรงและเขียนจดหมายมาหาผมอีก จะดีกว่านี้มาก หากเขาได้รับอิสรภาพ แล้วเราได้นั่งคุยกันเหมือนเดิม

image_pdfimage_print