เดอะอีสานเรคคอร์ดได้รับเสียงตอบรับ หรือ Feedback เข้ามาค่อนข้างมาก หลังจากเผยแพร่คลิปวิดีโอ “จากแรงงานอีสานสู่ชีวิตไร้บ้านกลางกุรง” เมื่อวานนี้ (8 พฤษภาคม 2563) ซึ่งเป็นเรื่องราวของ ไพวัน ชะหล้า แรงงานจากจังหวัดขอนแก่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้เขาตกงานและต้องย้ายออกจากบ้านเช่าที่กรุงเทพฯ เพราะไม่มีเงินจ่าย บางครั้งต้องอาศัยนอนใต้สะพานลอย และต่อมากลายเป็นคนไร้บ้าน ขณะนี้เขาอาศัยอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์คนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี 

หลังการเผยแพร่คลิปวิดีดังกล่าว ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ยัง’เท่” เขียนคอมเมนต์ใต้คลิปวิดีโอว่า “ผู้ชายที่อยู่ในคลิปวิดีโอ คือ พ่อของเขาที่ขาดการติดต่อมานานหลายปี และเขากำลังตามหาอยู่” เนื่องจากไพวันไม่มีโทรศัพท์ ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดจึงประสานงานให้ไพวันกับลูกชายได้พูดคุยกันผ่านโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ศูนย์คนไร้บ้านฯ จ.ปทุมธานี

โชคชัย หรือ เท่ ชะหล้า วัย 25 ปี ลูกชายของไพวัน เปิดเผยว่า ได้คุยกับพ่อผ่านวิดีโอคอลล์ ทำให้เห็นหน้ากัน และพ่อบอกว่า สบายดีไม่ต้องเป็นห่วง แต่ไม่ยอมบอกว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน 

“ผมเห็นพ่อร้องไห้ นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผมเห็น ปกติเขาไม่ร้องไห้เลย” โชคชัยกล่าวและว่า “พ่อขาดการติดต่อไปประมาณ 10 ปีและกลับมาบ้านเมื่อปีที่แล้ว จากนั้นก็หายไป ไม่เคยติดต่อกันอีกเลย วันนี้ ผมเห็นว่าเขายังมีชีวิตอยู่ก็ดีแล้ว”  

ส่วนที่ถามว่า จะมีโอกาสได้เจอหน้าพ่อหรือไม่ โชคชัย บอกว่า ไม่แน่ใจ เพราะพ่อบอกว่า ไม่ต้องมาหา ถ้าอยากเจอจะติดต่อไปเอง และเขาก็รู้จากย่าว่าพ่อชอบใช้ชีวิตอยู่คนเดียว 

หลังโรคโควิด-19 ระบาด คาดว่า มีตัวเลขของคนตกงานมีมากถึง 7 ล้านคน และบางส่วนกลายเป็นคนไร้บ้าน สมพร หาญพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า ระหว่างลงพื้นที่ได้พบไพวันอยู่ใต้สะพานปู่โพธิ์ ย่านบางกระดี่ จึงชักชวนให้มาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้ จ.ปทุมธานี 

“พี่ไพวันมาอยู่ที่ศูนย์ฯ ได้ประมาณ 10 วันแล้ว ถือเป็นคนไร้บ้านกลุ่มใหม่ที่เราเจอระหว่างการระบาดของโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ในศูนย์มีคนไร้บ้าน 41 คน โดยร้อยละ 40 เป็นชาวอีสานที่ถูกเลิกจ้าง” สมพรกล่าว

เต็นท์ที่พักคนไร้บ้านภายในศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่พักของ ไพวัน ชะหล้า ชาว จ.ขอนแก่น เครดิตภาพ : สมพร หาญพรม

ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยยังบอกอีกว่า ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้น สมาชิกที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่อาจจะต้องอยู่ในเต็นท์ ที่แบ่ง 1 เต็นท์ออกเป็น 10 ห้อง มีที่พักและอาหาร ทางศูนย์ฯ จะพยายามหางานให้สมาชิกทำเพื่อจะได้มีเงินไว้ใช้จ่าย นอกจากนี้ หลังจากเหตุโรคระบาด ยังไม่มีหน่วยงานเก็บตัวเลขคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง 

“ตอนนี้เราไม่รู้ตัวเลขว่า คนไร้บ้านใน กทม. และพื้นที่อื่นๆ มีกี่คน ตัวเลขล่าสุดที่มูลนิธิฯ ทำร่วมกับ พม. (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เมื่อปีที่แล้ว มีคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ 2,700 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ที่มีมากถึง 1,200 คน” สมพรกล่าว  



image_pdfimage_print