เขาค่อยๆ ทรงตัวลุกขึ้นอย่างแช่มช้า “มีใครต้องการจะพูดอะไรอีกไหมครับ?” เขาถามแล้วมองไปทั่ว… “ถ้าไม่มีใครจะพูดอะไรแล้ว… ผมขอรบกวนเวลาของท่านทั้งหลายในที่นี้สักเล็กน้อย เพื่อกล่าวข้อความอะไรเพียงนิดหน่อย นิดเดียวเท่านั้น…” 

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้ดูและแชร์คลิป กู่แคน – ลำใส่แคน Thailand ซวยแล้ว ทาง YouTube มีตัวหนังสืออยู่ในภาพที่โชว์ว่า ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด และเนื้อหาก็เจ็บแสบดีมาก เป็นการวิจารณ์สังคมการเมืองไทยในยุคเผด็จการทหารและกึ่งเผด็จการทหารได้ตรงประเด็น และสิ่งแรกที่ผมนึกถึง คือนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์  นิยายฝ่ายก้าวหน้าตลอดกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย ตัวเอนข้างบนนั้นคือบทเริ่มต้นของบทสุดท้าย ซึ่งสำหรับผมแล้ว เป็นฉากที่เท่ที่สุดของเรื่อง

ผมเห็นกู่แคนออกมาลำแบบนี้ แล้วนึกย้อนไปถึงปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ในสายศิลปวัฒนธรรมอีสาน ที่ถือว่าเป็นแนวหน้าคือ สายศิลปะการแสดง เราจะเห็นถึงการขบถต่อโครงสร้างเก่า ไม่ขึ้นต่อวิถีทางความสำเร็จเดิมๆ แต่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (สื่อโซเชียลมีเดีย) เป็นโอกาสและเครื่องมือสร้างตัวตนและรายได้ขึ้นมา ทางฝั่งภาพยนตร์ก็เหมือนกัน การใช้ภาษาของตัวเองให้เป็นภาษาหลักในหนัง เนื้อหาและเรื่องราวก็เป็นอีสาน ไม่ได้ฉายในส่วนกลางหรือโรงทั่วประเทศ ก็ฉายกันที่ในภาค  แล้วเกิดความนิยมแพร่ออกไป

ในส่วนนี้ผมมองว่า อีสานมีฐานวัฒนธรรมรองรับเป็นเนื้อดินที่ดีให้เมล็ดพันธุ์ศิลปะการแสดงนี้เติบโต นั่นคือ ฐานของหมอลำและวงดนตรีลูกทุ่งอีสานและหมอลำลูกทุ่งอีสานคือ ไม่ต้องพึ่งพาส่วนกลางเลยก็ทำเป็นอาชีพได้ คือมีฐานคนฟังคนเสพอยู่แล้วและการเดินสายแสดงไปตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ถ้าต้องการขยายตัวไปภูมิภาคอื่น ก็อาศัยการกระจายตัวผ่านแรงงานอีสานย้ายถิ่น อาจจะมีช่วงอาศัยแผ่นเสียงหรือเทป ซีดี ทั้งที่การผลิตอาศัยส่วนกลางและผลิตเองในท้องถิ่น แต่เมื่อเข้าถึงยุคโซเชียลทุกอย่างก็ทะลุทะลวงไปด้วยตัวของมันเอง

เมื่อเห็นศิลปินกู่แคนปล่อยคลิปนี้ออกมา ทำให้นึกไปถึง “บักหนวดหมอลำเงินล้าน” ที่ใช้กลอนลำและเสียงแคนเป็นแนวทางต่อสู้ทางการเมือง และลักษณะนี้เริ่มมีแนวโน้มมากขึ้น ถามว่าทำไม? คำตอบก็ไม่ต่างจากกรณีของฐานวัฒนธรรมศิลปะการแสดงเดิมอย่างที่ยกตัวอย่างไว้ นั่นคือ ฐานความคิดทางการเมืองประชาธิปไตยของประชาชนหรือประชาธิปไตยที่ประชาชนกินได้จริงๆ และกินอิ่มนั้น มันหยั่งลึกฝังแน่นและแผ่ขยายในแผ่นดินอีสาน ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนก็ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพูดง่ายๆ ว่าเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ 40 ก็ได้

ชนชั้นกลางใหม่ ตามสำนวนนักวิชาการที่กระจายตัวอยู่ตามต่างจังหวัดในชนบทในช่วงเศรษฐกิจจากรัฐธรรมนูญ 40 ที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล มีนโยบายเพื่อประชาชนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2544 วาทะกรรมนักการเมืองเลวก็ดี คนอีสานโง่ จน เจ็บ ก็ดี ถูกลบล้างด้วยประชาชนเอง ยังมีเหลือตกค้างอยู่ก็แต่ในหมู่นักวิชาการและคนชั้นกลางและสูงเก่าเท่านั้น คนที่เป็นชนชั้นกลางใหม่ในตอนนั้นถือเป็นกำลังหลักในฝ่ายประชาธิปไตยตลอดมา ถึงวันนี้ พวกเขามีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 50 – 70 ปี (คนที่เกิดปี 2493 – 2513) 

ทีนี้ เมื่อมีกระแสความคิดทางการเมืองประชาธิปไตยสากลเกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ เอาง่ายๆ แค่ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และคนที่จบมาทำงานใหม่ๆ ตอนนี้ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 12 – 30 ปี (คนที่เกิดช่วงปี 2551 – 2547) คนสองกลุ่มนี้พูดภาษาการเมืองเดียวกัน ไม่มี “ช่องว่าง” ของความคิดทางการเมืองเลย

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น… ถ้าใครเข้ามหาวิทยาลัยและทำงานกิจกรรมนักศึกษาสายการเมืองและคนที่ทำงาน NGOs ในช่วงก่อนปี 2544 มันยากมากที่จะทำให้ชาวบ้านทั่วไปมาพูดคุยหรือสนใจการเมือง แม้แต่พี่น้องของตัวเอง เพราะตอนนั้นการเมืองมันถูกทำให้ห่างจากชีวิตของพวกเขามาก เขารู้แหละว่าการเมืองมันมีผลต่อเขา แต่ผลประโยชน์ที่เขาจะได้มันถูกทำให้ห่างไกลจากตัวเขามากเกินไป

นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยมีมา และจึงเป็น “ภัยคุกคาม” ที่กลุ่มอำนาจนิยมเก่าที่พวกเขาหวาดกลัวอย่างแท้จริง

“แน่นอนทีเดียว ความผิดแผกแตกต่างกันในสมัยและเวลาทำให้คนเรามีความคิดผิดแผกแตกต่างกันด้วย ผมไม่ได้เป็นผู้รุกรานท่านที่อยู่ในปราสาทช้างสูงส่ง แต่เมื่อท่านที่อยู่บนปราสาทนั้นถ่มน้ำลายลงมายังพื้นดิน ผมก็จำต้องเช็ดน้ำลายนั้นเสีย เพราะมันเป็นสิ่งปฏิกูล สำหรับท่านที่อยู่ในปราสาทนั้น ไม่จำเป็นจะต้องแตะต้อง เพราะอย่างไรก็จะต้องเสื่อมสลายไปตามเวลา ท่านไม่สามารถจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาได้ดอก…” (ปีศาจ, หน้า 264, สนพ.มติชน, 2557)

คนที่เกิดในช่วงรอยต่อของคนสองกลุ่มนี้ ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 31 – 49 ปีหรือที่เกิดปี 2514 – 2532 (แต่โดยสภาพการอาจยกเว้นช่วงอายุ 31 – 35 เพราะส่วนใหญ่จะเกาะอยู่กับกลุ่มอายุ 16 – 30 และช่วงอายุ 45 – 49 ส่วนใหญ่จะเกาะอยู่กับกลุ่มอายุ 50 – 70) ไม่ว่าจะโรแมนติกในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบหรือยุคเปรมอย่างไร เราก็หางานหากินสร้างรายได้ได้ง่ายและเป็นกอบเป็นกำในช่วงปี 2544 – 2556 และเผชิญความลำบากยากแค้นในยุค คสช. ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นช่วงสร้างเนื้อสร้างตัวพอดี และเหตุการณ์และวิกฤติการณ์ต่างๆ หลังการปกครองของ คสช. มาถึงวันนี้ ความไม่น่าเชื่อถือของสถาบันหลักต่างๆ ประกอบกับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายทั่วถึง โดยเราไม่ต้องพึ่งโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐและตัวแทนของรัฐอีกต่อไป ยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดการพลิกผันหรือเปลี่ยนทัศนคติจากความโรแมนติกนั้นมาสู่ความจริงหรือเรียลิสติก

ตรงนี้เองจะไปเชื่อมกับคนรุ่นอายุ 12 – 30 ปี คนกลุ่มนี้จะไม่ยึดโยงหรืออินกับสถาบันต่างๆ อีกต่อไป เพราะเขารู้เขาเห็นความจริงที่ปรากฏ เด็ก ป.6 – ม.6 ท่องทวิตเตอร์  รับรู้ปรากฏการณ์และข่าวสารต่างๆ เร็วมาก พูดคุยการเมือง วิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างๆ ชื่นชมนักการเมืองคนรุ่นใหม่อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ ไม่ยึดถือฮีโร่แบบเดิมอีกต่อไป พวกเขาเป็นเสรีชนและเสรีนิยมมากขึ้น และใช้เหตุผลนำความเชื่อฟัง ยุวชนเหล่านี้โต้เถียงพ่อแม่ที่โรแมนติกอยู่กับสถาบันและโลกเก่าในเรื่องการเมือง ถ้าไม่โต้ตรงๆ พวกเขาก็ไม่ฟัง พวกเขาเชื่อในตัวเองในการที่จะแสวงหาความจริงเองได้

ในส่วนของนักศึกษาและเยาวชนนอกสถาบันการศึกษาก็เช่นกัน ความรับรู้ การเรียนรู้ และโลกของพวกเขาหมุนผ่านหน้าจอมือถือ

ดูอย่างศิลปินอย่างกู่แคนนี้ก็ได้ การที่กล้าออกมาทำแบบนี้ นั่นหมายความว่า เขาจะโดนกาหัวทิ้งจากทำเนียบศิลปินแห่งชาติ (ถ้าเขาอยู่เป็น เขาควรจะสร้างสรรค์งานไปให้ได้แล้วค่อยออกมาเคลื่อน) แต่นี่ยืนยันถึงทัศนคติที่ก้าวข้าม ไม่ยึดโยงกับสถาบันเหล่านั้น พวกเขาจัดคอนเสิร์ตเฉพาะกิจมีแฟนคลับตามฟังและสนับสนุน และคนเสพงานนอกกระแสแบบนี้มากขึ้นๆ และคนที่เสพส่วนใหญ่ก็มีจำนวนคนที่มีทัศนคติทางการเมืองที่ก้าวหน้ามากขึ้นๆ  

ทีนี้ลองหันไปดูฝ่ายทางศิลปินขาใหญ่ทั้งหลายหรือที่อยู่เป็นทั้งหลายทุกสาขาเลยก็ว่าได้ ศิลปินเหล่านี้ที่เกลียดชังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน พร้อมที่จะเป็นแนวร่วมล้มหลักการประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเสมอ พอทหารออกมากุมอำนาจก็วางเฉย (จริงๆ คือสนับสนุนนั่นแหละ) และพอรัฐบาลทหารหรือพรรคที่หนุนทหารเป็นหัวหน้าเอื้อประโยชน์ชาติให้กลุ่มเจ้าสัวหรือคนรวยหยิบมือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศิลปินเหล่านี้สร้างตัวตนและคะแนนนิยมขึ้นมาด้วยการวิจารณ์ พวกเขาก็นิ่งเฉย ออกตัวว่าไม่ยุ่งการเมือง  

จริงๆ คือยังเชื่อมใจต่อสถาบันรางวัลที่กลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมและนายทุนเหล่านี้กุมอำนาจไว้ ด้วยอยากได้รางวัลและยกระดับตัวเองขึ้นไปด้วยรางวัลนั้น ลักษณะแบบนี้คนรุ่นใหม่เขาดูออก เขารู้ทัน และแนวโน้มก็เป็นว่าศิลปินเหล่านี้มีฐานแฟนรุ่นใหม่น้อยลงๆ 

ลองจินตนาการถึงอีก 10 ปีข้างหน้า คนช่วงอายุ 70 – ขึ้นไป จะแก่หง่อมและตายไปเป็นจำนวนมาก คนช่วงอายุ 50 – 70 ปี จะกลายเป็นคน 60 – 80 ปี คนช่วงอายุ 31 – 49 ปี จะมีอายุ 41 – 59 ปี และคนอายุ 12 – 30 ปี จะมีอายุ 22 – 40 ปี แล้วทีนี้ลองขยายมุมมองออกไปทั่วประเทศ มันก็จะมีสภาพแบบเดียวกันนี้

และในวันนั้น ธนาธรและแกนนำพรรคอนาคตใหม่ก็จะหลุดพ้นจากการตัดสิทธิ์ทางการเมือง (จริงๆ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงธนาธรและแกนนำพรรคก็ได้ ที่ยกอ้างมาก็เพื่อเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม) หรือจะใครก็ได้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เป็นสากล ประเด็นบทความของผมก็คือ ชี้ว่า ในวันนั้น – รุ่งอรุณของปีที่ 11 จากวันนี้ อีสานและประเทศนี้จะเต็มไปด้วยผู้คนที่มีทัศนะทางการเมืองที่ก้าวหน้าเป็นฐานเสียง

พวกเขาจะกลายเป็นปีศาจที่กาลเวลาสร้างขึ้นมามากมายกว่ายุคไหนๆ เหมือนที่ สาย สีมา ยืนขึ้นประกาศกร้าวต่อหน้าสมาคมชั้นสูงในนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า  ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้  เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก… โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน” (ปีศาจ, หน้า 264 – 265, สนพ.มติชน, 2557)

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print